เส้นทาง "ทีวีมลายู" ชายแดนใต้ "คืนภาษา-คืนศักดิ์ศรี" คนพื้นที่ขานรับ
"ที่ผ่านมารัฐบาลและ ศอ.บต.อยากให้มีทีวีของประชาชนที่เป็นภาษามลายู ให้พี่น้องประชาชนได้มีช่องทีวีมลายูของเขา เพราะตอนนี้มีทีวีที่เป็นภาษาไทยเยอะมาก จึงอยากให้มีช่องเฉพาะ โดย ศอ.บต.จะเป็นผู้ช่วยในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดช่องทีวี และจะมีสถานีวิทยุที่เป็นภาษามลายูด้วย"
เป็นคำกล่าวของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่อธิบายถึงหลักคิดและแนวทางการจัดตั้ง "ทีวีมลายู" และ "สถานีวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู" ซึ่งรัฐบาลมีดำริมาก่อนหน้านี้หลายเดือน และได้ดำเนินการกันอยางเงียบๆ ต่อเนื่องมา กระทั่งจะเปิดตัวทั้งทีวีและวิทยุมลายูอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 3 ม.ค.2556 ภายใต้ชื่องาน "วันแห่งเสียงประชาชน" หรือ Hari Suara Kita ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2555 ว่า "ต้องเริ่มเสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่นอกจากการดูแลความปลอดภัย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญและหาช่องทาง อาทิเช่น ทางด้านของทีวีหรือการสื่อสารให้เป็นภาษายาวี เพื่อจะได้ถ่ายทอดความเข้าใจ..."
ที่ผ่านมารัฐบาลใช้การสื่อสารภาษายาวี (มลายูถิ่น) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านสื่อของรัฐที่มีอยู่แล้ว คือ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 วันละ 3 ชั่วโมง แต่นายกฯมองว่ายังไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดจัดตั้ง "ทีวียาวี" หรือ "ทีวีมลายู" ขึ้นมา
นอกจากช่อง 5 กับช่อง 11 ยังมีรายการ "ดีสลาตัน ณ แดนใต้" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ด้วย แต่ออกอากาศเพียงสัปดาห์ละครั้ง คือ ทุกวันจันทร์เวลา 13.30-14.00 น. และภาษาที่ใช้ในรายการส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย
แม้จะมี "ฟรีทีวี" ถึง 3 ช่องที่มีรายการภาษามลายู หรือมีเนื้อหา (คอนเทนท์) เกี่ยวกับชายแดนใต้โดยเฉพาะ ทว่าทุกรายการกลับไม่ได้รับความนิยม และมีผู้ชมเพียงวงแคบๆ สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนส่วนใหญ่ในพื้นที่นิยมติดจานดาวเทียม หรือเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่น ขณะที่รายการต่างๆ ดังกล่าวทางฟรีทีวีทั้ง 3 ช่องต้องรับสัญญาณจากเสาก้างปลาหรือหนวดกุ้งเท่านั้น
ส่วนรายการทาง "ทีวีดาวเทียม" ที่เป็นภาษามลายู หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับชายแดนใต้โดยเฉพาะ และได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่ก็มีอยู่หลายรายการ แต่ทั้งหมดเป็นรายการของเอกชน เช่น "ยาติมทีวี" นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเด็กกำพร้า สลับกับบทละครเกี่ยวกับโลกอิสลาม และข่าวสารจากทั้งไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวกับโลกอิสลาม โดยรายการเกือบทั้งหมดเป็นภาษาไทย
"ไวท์ชาแนล" เป็นสถานีข่าวเกี่ยวกับกระแสโลกมุสลิม เป็นสถานีที่กลุ่มปัญญาชนมุสลิมและอุสตาซ (ครูสอนศาสนา) ติดตามรับชมกันเยอะ มีภาพลักษณ์เป็นมุสลิมสายใหม่ เนื้อหารายการส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย
"ทีวีมุสลิม" ของ บรรจง โซ๊ะมณี เน้นรายการเกี่ยวกับศาสนาตลอด 24 ชั่วโมง ได้รับความนิยมจากคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก เนื้อหารายการส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย
จะเห็นได้ว่าทั้งฟรีทีวี และทีวีดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ยังไม่มีทีวีที่เป็น "ช่องมลายู" คือใช้ภาษามลายูเป็นภาษาหลักทั้งช่องแม้แต่สถานีเดียว
นี่จึงเป็นจุดเริ่มของ "ทีวีมลายู" ของรัฐ ที่ผลักดันโดย ศอ.บต.
"ทีวีช่องนี้เปิดขึ้นมาเพื่อเคารพและให้เกียรติในภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาอาเซียน และเป็นภาษาที่คนในพื้นที่ใช้กันอยู่ ฉะนั้นจึงควรมีช่องทางให้กับประชาชน อย่างน้อยได้ศึกษาและสื่อสารเรื่องภาษา การศึกษา และการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน สถานศึกษา และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยรายการต้องเป็นพื้นที่หรือเวทีให้กับประชาชน รวมทั้งกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นด้วย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
การระดมความคิดความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ในการจัดตั้ง "ทีวีมลายู" ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2555 ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมืองปัตตานี เพื่อออกแบบรายการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชน แม้แต่โลโก้ของสถานีก็มีความคิดว่าจะให้ประชาชนช่วยกันออกแบบแล้วนำมาประกวดกัน
ส่วนเนื้อหามีการเสนอว่าน่าจะมี "สภาประชาชน" ทำหน้าที่กำหนดเนื้อหาและรูปแบบรายการ ขณะที่คณะกรรมการดำเนินงานต้องเน้นภาคประชาชนเป็นหลัก มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหาร ดึงตัวแทนภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการศึกษา ทั้งปอเนาะ ตาดีกา และภาคศาสนา ผู้นำท้องถิ่น มาร่วมกันขับเคลื่อน มีรายการในลักษณะ "คลายทุกข์" และ "สร้างความเข้าใจ" ไม่ใช่พื้นที่ตอบโต้กัน แต่ต้องนำไปสู่สมานฉันท์และสันติสุข
สำหรับความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ต่อ "ทีวีมลายู" นั้น ส่วนใหญ่ขานรับ...
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า การสื่อสารด้วยภาษาที่ประชาชนเข้าใจย่อมเป็นเรื่องดี ส่วนจะสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้หรือไม่คงไม่มีใครตอบได้ เพราะทุกเรื่องต้องใช้เวลา
นายอิบราเฮง มูหะหมัดเส็ม ผู้นำทางธรรมชาติ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า การสื่อสารภาษามลายูบนสถานที่ราชการหรือสื่อของรัฐ เป็นสิ่งที่คนมุสลิมในพื้นที่เรียกร้องมาตลอด แต่รัฐก็ไม่เคยให้ พอมาวันนี้หลังจากที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายไปแล้ว รัฐเพิ่งให้ ประชาชนก็ยอมรับได้ แต่ยอมรับด้วยความรู้สึกร้อน ก็ยังดีที่รัฐยังพยายาม
"คิดว่าทีวีภาษามลายูช่องนี้จะสามารถเปิดพื้นที่ในการสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องในพื้นที่ได้ เพราะ 1.เมื่อเป็นทีวีมลายู คนทำงานก็ต้องเป็นคนมลายู และการที่คนมลายูด้วยกันมารับฟังปัญหาของคนมลายู จะทำให้คนมลายูกล้าพูดสิ่งที่อยู่ข้างใน พูดตามความจริงและตรงกับความรู้สึกของเขาจริงๆ 2.เมื่อคนสามารถฟังข่าวและข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ ก็จะสามารถพูดหรือโต้ตอบอะไรที่ไม่จริงได้ และรู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง"
ขณะที่ นายมะยูโซะ มะ กรรมการมัสยิดใน อ.กรงปินัง จ.ยะลา กล่าวว่า ดีใจที่รัฐพยายามเปิดพื้นที่ให้กับคนสามจังหวัด อย่างน้อยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหา เชื่อว่า "ทีวีมลายู" น่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนมลายูด้วยกันสามารถร่วมกันแก้ปัญหาของตัวเองได้ และการที่มีทีวี วิทยุเป็นภาษามลายู จะทำให้ชาวบ้านเข้าใจเนื้อหามากกว่าเดิม จากเดิมบางเรื่องได้ดูแค่ภาพเท่านั้น แต่ไม่เข้าใจเนื้อหาเลย
การผลักดันให้เกิด "ทีวีมลายู" หากรัฐมีความจริงใจและสนับสนุนให้มีรายการคุณภาพจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ย่อมถือเป็นกุศโลบายสำคัญต่อจังหวะก้าวดับไฟใต้ เพราะการยอมรับและให้เกียรติต่อ "ภาษา" ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งจากรัฐไทยถึงพี่น้องมลายูมุสลิม และอาจมีผลทำให้แสงสว่างแห่งสันติภาพเริ่มเรืองรอง...
เพราะความสำคัญของภาษา ปรากฏดังบทกวีพื้นบ้านชายแดนใต้ที่แปลเป็นไทยได้ว่า เชื้อชาติหาย ประเทศหาย ศาสนาหาย...ภาษาเป็นชีวิตจิตใจของเชื้อชาติ หากภาษาหาย เชื้อชาติก็สูญหาย!
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 หน้าจอทีวีมลายูที่ทดลองออกอากาศวันแรกเมื่อค่ำวันอังคารที่ 1 ม.ค.2556
2 หญิงมุสลิมชาวบ้านจับกลุ่มกันพูดคุยเรื่องทีวีมลายู (ภาพทั้งหมดโดย นาซือเราะ เจะฮะ)