"แบดิง"แห่งบ้านกะมิยอ กับกิจการส่งออก "กะปิเยาะห์"จากสินเชื่อชุมชนระบบอิสลาม
เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พังพาบมาหลายปี ทั้งจากปัญหาพื้นฐานในพื้นที่เองและสถานการณ์ความไม่สงบที่ซ้ำเติม ทำให้ทุกภาคส่วนพยายามหาแนวทางเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการจับจ่ายใช้สอย ด้วยหวังให้พี่น้องประชาชนอยู่ดีกินดีและฝ่าวิกฤติความรุนแรงรอบนี้ไปให้ได้
ทว่าการอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่ผ่านระบบสถาบันการเงินไม่สามารถเห็นผลได้ชัดเจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะติดเรื่องหลักการทางศาสนาอิสลามที่ไม่สามารถกู้ยืมเงินแบบมีดอกเบี้ยได้เหมือนระบบทั่วๆ ไป
การจัดระบบสินเชื่อที่สอดคล้องกับหลักการทางศาสนา จึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทุกฝ่ายคิดและเร่งผลักดัน...
หนึ่งในโครงการที่รัฐบาลเดินหน้าและน่าจะช่วยพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ได้โดยไม่ขัดหลักศาสนา ก็คือการจัดตั้ง "สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม" หรือ Islam Macro Credit ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอและคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว
ล่าสุดธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้เริ่มทะยอยอนุมัติสินเชื่อตามโครงการนี้ เรียกว่า "สินเชื่อเพื่อชุมชน" ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจาก "สินเชื่อเพื่อรากหญ้า" ที่ทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
"แบดิง" แห่งบ้านกะมิยอ จ.ปัตตานี เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อชุมชนรายหนึ่ง เขาขอสินเชื่อจากธนาคารอิสลามฯ สาขาจะบังติกอ เพื่อขยายกิจการทำหมวกกะปิเยาะห์ (หมวกผ้าทรงกลมที่ชายมุสลิมนิยมสวม) ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย จนสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองอย่างมั่นคง รวมทั้งเผื่อแผ่ให้บรรดาพี่น้องมุสลิมในชุมชนอีกนับสิบคนได้มีงานทำ
เงินก้อนแรกที่ "แบดิง" ได้มาจากการอนุมัติสินเชื่อ เขานำไปซื้อเครื่องจักรสำหรับปักลายหมวก 1 เครื่อง ราคาหลายแสนบาท จากเครื่องปักตัวแรก ขยายเป็น 3 เครื่องในวันนี้ กิจการเล็กๆ ของเขาทำงานกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีคนงานร่วม 30 คน ทำงาน 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง จนต้องขยายพื้นที่ทำงานเต็มชั้นล่างของบ้าน ซึ่งเขากำลังรออนุมัติสินเชื่ออีกก้อนหนึ่งจากทางธนาคารเพื่อปรับปรุงพื้นที่
"ผมไปยื่นขออนุมัติสินเชื่อที่สาขาจะบังติกอตั้งแต่เริ่มรู้ว่ามีโครงการ เงินก้อนแรกที่ได้รับอนุมัติมาคือ 2 แสนบาท เอามาซื้อเครื่องปักลายหมวกกะปิเยาะห์ เพราะสามารถปักได้ทีละหลายสิบใบ และมีหลายลาย วันหนึ่งปักหมวกได้หลายร้อยใบ สามารถผลิตหมวกกะปิเยาะห์ได้ทันตามออเดอร์ (รายการสั่งซื้อ) และส่งขายได้ทันตามที่ลูกค้าต้องการ ตอนนี้กำลังยื่นขออนุมัติสินเชื่อไปอีกก้อนหนึ่งเพื่อนำมาขยายงานให้เต็มที่ อยากให้เขาอนุมัติเร็วๆ" แบดิง กล่าว
เจ้าของกิจการหมวกกะปิเยาะห์ที่กำลังโตวันโตคืน บอกด้วยว่า โครงการสินเชื่อเพื่อชุมชนทำให้พี่น้องมุสลิมได้มีโอกาสในการประกอบอาชีพที่มั่นคง และสบายใจกับเรื่องเงินที่นำมาลงทุนมากขึ้น เพราะไม่ขัดกับหลักศาสนา ฉะนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงประชาชนทุกระดับ จะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
รู้จักสินเชื่อเพื่อชุมชนระบบอิสลาม
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เร่งทำโครงการสนับสนุนสถาบันการเงินระดับชุมชนทั้งที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วและยังไม่ได้จดทะเบียน เพื่อเพิ่มความรู้และศักยภาพด้านการบริหารจัดการ รองรับนโยบายจัดตั้ง "สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม" หรือ Islam Macro Credit ของรัฐบาล
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากอันหนึ่งคือการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจเกี่ยวกับความเป็นมาและนโยบายของสถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลาม ตลอดจนประสบการณ์การดำเนินงานสถาบันการเงินชุมชนโดยผู้บริหารกลุ่มออมทรัพย์จากสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้เอง
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดินทางไปเปิดการประชุมด้วยตนเอง หลักการทางศาสนาในเรื่องนี้ได้บัญญัติไว้ในอัลกุรอานว่า ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามท่านอนุมัติให้ทำการค้าได้ แต่ห้ามในเรื่องดอกเบี้ย ดังนั้นสถาบันการเงินไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กที่จะนำมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องสอดคล้องกับหลักการที่ว่านี้
"ทุกกิจการต้องบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักศาสนา นโยบายของรัฐบาลจึงถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ จะทำให้พี่น้องมุสลิมสบายใจ เพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามหลักศาสนาทุกประการ จะเห็นได้ว่าทั้งโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา ธนาคารตามหลักศาสนาอิสลาม ระบบสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยน และกลุ่มต่างๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักศาสนา เพราะเมื่อไหร่ที่สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยกับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม ประชาชนก็จะไม่เข้าร่วม ดังนั้นจึงต้องปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาและวิถีของประชาชน" นายถาวร ระบุ
เปิดเกณฑ์ขอสินเชื่อ-เน้นกลุ่มอาชีพ-5 พันถึง 2 แสน
ทั้งนี้ สถาบันการเงินชุมชนในระบบอิสลามเป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเงินและการจัดสวัสดิการของชุมชนที่สอดคล้องตามหลักการและคำสอนทางศาสนา ซึ่งประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนานแล้ว
หลักเกณฑ์กว้างๆ คือผู้ขอสินเชื่อต้องเป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพสุจริตที่ไม่ขัดต่อหลักชารีอะฮ์ โดยพิจารณาเป็น "สินเชื่อกลุ่ม" คิดรายได้ของกลุ่มผู้ขอสินเชื่อทุกรายรวมกันต้องเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับธนาคารได้ อายุของผู้ขอสินเชื่อที่มีอายุน้อยที่สุดภายในกลุ่มเมื่อรวมกับระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้จะต้องไม่เกิน 60 ปี
นอกจากนั้นยังต้องเป็นกลุ่มคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ และรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด เป็นกลุ่มที่มีถิ่นที่อยู่และสถานที่ประกอบอาชีพหรือให้บริการที่มีหลักแหล่งแน่นอน สามารถติดต่อได้ และต้องเป็นกลุ่มผู้มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้
กรณีกลุ่มผู้ขอสินเชื่อเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจาก "โครงการกองทุนหมู่บ้าน" ของรัฐบาลอยู่แล้ว ต้องแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าเงินทุนที่ได้รับมายังไม่เพียงพอ จึงจะสามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ วงเงินขั้นต่ำ 5,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
รัฐอัดงบหนุนกว่าพันล้าน
สินเชื่อเพื่อชุมชนดำเนินการภายใต้หลัก "ก็อดดุล ฮาซัน" (เงินกู้ไม่หวังผลตอบแทน) เป็นการให้กู้ยืมโดยไม่คิดผลตอบแทน จริงๆ แล้วทุกศาสนิกสามารถขอสินเชื่อในโครงการนี้ได้ โดยอนุมัติวงเงินระหว่าง 5,000-200,000 บาทต่อราย จ่ายคืนตามสภาพคล่องจนกว่าจะหมด โดยมีผู้ประสานงานในชุมชนจำนวน 200 คนเป็นผู้ร่วมคัดเลือกและรับรองผู้ขอสินเชื่อในชุมชนที่เข้าหลักเกณฑ์ รวมทัง้เป็นผู้ควบคุมดูแลการเก็บหนี้โดยมีบัตรประจำตัวเพื่อแสดงตน
และเมื่อโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล กระทรวงการคลังจึงจัดงบประมาณ 1,150 ล้านบาทอัดฉีดลงพื้นที่ แบ่งเป็น จ.ปัตตานี 350 ล้านบาท ยะลา 200 ล้านบาท นราธิวาส 300 ล้านบาท สงขลา 200 ล้านบาท และสตูล 100 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการขยายกิจการของพี่น้องมุสลิมที่ไม่ขัดกับหลักชารีอะฮ์
ธ.อิสลามฯลุยขยายสินเชื่อชายแดนใต้ 6 พันราย
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยเปิดบริการนำร่องที่ จ.นราธิวาส และได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ จึงขยายพื้นที่มายัง จ.ปัตตานีและยะลา
นายสะรี หัวเมือง ผู้จัดการอาวุโส ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาจะบังติกอ จ.ปัตตานี เล่าให้ฟังว่า จนถึงขณะนี้ได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อชุมชนแก่ประชาชนทุกศาสนิกไปแล้วหลายพันราย โดยมีผู้สนใจขออนุมัติสินเชื่อตลอดเวลาที่ให้บริการ
"ธนาคารอิสลามฯปล่อยสินเชื่อเพื่อชุมชนกว่า 270 ล้านบาท โดยนำร่องที่ จ.นราธิวาส แล้วได้ผลตอบรับดีมาก จึงขยายมายังปัตตานีในปีนี้ และจะขยายไปที่ยะลาตามลำดับ ที่ผ่านมามีผู้สนใจมาขอนุมัติสินเชื่อโดยมีวงเงินตั้งแต่ 5,000-200,000 บาท จำนวนประมาณ 6,000 ราย วงเงินรวม 50-60 ล้านบาท ธนาคารก็จะพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ ไป แล้วแต่ความสามารถของผู้ขอสินเชื่อจะผ่อนชำระได้หรือไม่ แต่ที่สำคัญคือต้องประกอบอาชีพจริง"
ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ชายแดนใต้ประสบปัญหาอุทกภัยและวาตภัยครั้งใหญ่ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกค้าของธนาคารหลายรายขอผ่อนผันการชำระหนี้ ซึ่งธนาคารอิสลามก็พิจารณาให้ด้วยความเข้าใจ และมีความตั้งใจช่วยเหลือชุมชน
"ลูกค้าของธนาคารจำนวนหนึ่งที่ขออนุมัติสินเชื่อเพื่อชุมชนไปแต่แล้วต้องประสบเหตุภัยพิบัติ ธนาคารก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือ โดยได้พูดคุยเพื่อผ่อนผันการชำระหนี้ตามความเดือดร้อนของแต่ละราย และได้ช่วยเหลือชุมชนดาโต๊ะ (อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี) ที่ประสบเหตุหนักกว่าพื้นที่อื่ นโดยการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและสร้างส้วมสาธารณะในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการจัดหาเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้ นอกจากนั้นธนาคารยังมีฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนใต้ ทำโครงการช่วยเหลือคนไทยที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กันอีกต่อไป" นายสะรี กล่าว
เดินหน้า "สินเชื่อรากหญ้า"
นอกจากสินเชื่อเพื่อชุมชนแล้ว ธนาคารอิสลามฯยังมีโครงการสินเชื่อรากหญ้าเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้สร้างงานในครัวเรือนเป็นกรณีพิเศษสำหรับห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
"ถือเป็นแหล่งเพิ่มเงินทุนสำหรับผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน" นายสะรีอธิบาย "สินเชื่อตัวนี้จะทำให้เกิดการค้า การลงทุน และการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่งคั่งในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ ส่งเสริมการออมและการมีวินัยทางการเงิน เพื่อก้าวเข้าสู่ระบบการเงินตามปกติต่อไป"
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 "แบดิง" กับหมวกกะปิเยาะห์แห่งความภาคภูมิใจ
2 เครื่องปักลายหมวก
3 สะรี หัวเมือง (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)