ตลาดเทศบาลแห่งใหม่ของปัตตานี...วิถีความเปลี่ยนแปลงที่มิอาจหลีกพ้น
ปัญหาของพ่อค้าแม่ขายของสดในอำเภอเมืองปัตตานีที่ได้รับความเดือดร้อนหลังจากถูกเทศบาลสั่งให้ย้ายไปขายรวมกันที่ตลาดแห่งใหม่นั้น เสียงบ่นดูจะยังไม่คลี่คลาย แม้ว่าในส่วนของ "ตลาดจะบังติกอ" ตลาดสินค้ามือสองใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งถูกสั่งย้ายเช่นกัน จะได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากอดีตสมาชิกวุฒิสภาไปบ้างแล้วก็ตาม
ประกาศของเทศบาลเมืองปัตตานียื่นคำขาดให้รวมตลาดสดโต้รุ่งที่เปิดขายวันจันทร์ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ กับตลาดสดจะบังติกอที่เปิดขายวันจันทร์และวันพฤหัสบดีไปขายรวมกันที่ตลาดสดแห่งใหม่ของเทศบาล บนถนนยะรัง เยื้องๆ กับมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานีนั้น ถึงแม้ว่าตลาดใหม่จะมีพื้นที่กว้างใหญ่โอ่โถง แต่สิ่งที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายวิตกกลับไม่ใช่เรื่องความสะดวกสบายของอาคารสถานที่ แต่เป็นเรื่องยอดขายที่ตกวูบ เพราะแต่เดิมตอนที่ตลาดยังตั้งอยู่แยกกันหลายๆ จุด และมีวัน-เวลาขายต่างกัน ก็จะมีลูกค้าประจำคนละกลุ่มกัน อีกทั้งไม่ทับซ้อนกันเรื่องเวลา แต่ปัจจุบันทุกตลาดต้องมาอยู่รวมกัน ขายเวลาเดียวกัน แต่จำนวนลูกค้ายังคงเท่าเดิม ทำให้ปริมาณการขายลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มามา วัย 54 ปี แม่ค้าขายปลาที่ย้ายมาจากตลาดจะบังกอ เล่าให้ฟังว่า ตอนที่ขายอยู่ที่จะบังติกอขายดีกว่าที่ตลาดใหม่มาก เพราะมีทั้งลูกค้าประจำและทำเลก็ดีกว่า ส่วนตอนนี้ขายของได้น้อยลง ลูกค้าเก่าๆ ก็ไม่ค่อยมา ขณะที่จำนวนพ่อค้าแม่ค้าก็เยอะขึ้นกว่าตลาดเก่ามาก ทำให้แข่งขันกันมากขึ้น
"มามาได้แต่หวังว่าขายไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็คงดีขึ้นเอง เราต้องพยายามคิดวิธีที่จะทำให้ลูกค้าติดใจและมาซื้อของเรา คงเป็นทางนี้ทางเดียวที่จะทำให้ลูกค้ากลับมาเหมือนเดิม และมีรายได้เท่าเดิม"
"ตอนนี้ลูกค้าเดิมไม่รู้หายไปไหน มีบ้างแต่ก็น้อยที่ตามมาซื้อปลาของมามาที่ตลาดใหม่นี้ ไม่รู้เพราะอะไรเหมือนกัน วันที่ขายก็วันเดียวกัน เวลาขายก็เวลาเดียวกัน แค่ย้ายมาขายที่ใหม่เท่านั้นเอง คงเป็นเพราะทำเลและเพราะที่นี่มีแม่ค้าเยอะขึ้น ลูกค้าสามารถเลือกซื้อของได้มากขึ้นนะ"
ปัญหาของ มามา ไม่ต่างอะไรกับ ก๊ะเยาะ แม่ค้าขายไก่วัย 32 ปี ที่เคยขายอยู่ที่ตลาดโต้รุ่ง...
"ขายตลาดเก่าดีกว่าแน่นอน เพราะไม่ต้องมาแย่งลูกค้ากันเหมือนที่นี่ ยอดขายลดลงจนต้องสั่งไก่มาน้อยลง เพราะถ้าขายไม่หมดก็ขาดทุน จะเอาไปขายต่อหลายๆ วันไก่ก็เสีย"
"ที่ตลาดนี้เราต้องเลือกแม้กระทั่งขนาดของไก่ที่สั่งมาขาย เพราะต้องทำราคาให้ถูกลงเพื่อแข่งกับแม่ค้าคนอื่น ลูกค้าจะได้มาซื้อของเรา นอกจากนั้นเรื่องสีของไก่ก็ต้องสดตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ขนาดของไก่และราคาเท่านั้นที่เราดูแล แต่เราต้องดูแลทั้งหมด วันไหนไม่มีไก่ตัวเล็กตามขนาดที่เราต้องการก็ทำให้กำไรลดลง เพราะเราไม่สามารถทำราคากับลูกค้าได้เลย ลูกค้ามีตัวเลือกเยอะขึ้น"
ไม่ใช่แต่อาหารสดประเภทเนื้อสัตว์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่อาหารการกินประเภทผักสดก็บาดเจ็บไปเหมือนกัน ป้าอ้วน วัย 52 ปี แม่ค้าขายผักจากตลาดโต้รุ่ง บอกว่า ที่ตลาดเก่ามีลูกค้าเยอะ พอมาขายที่นี่ลูกค้าเดิมๆ หายไปหมด น้อยมากที่จะตามมาซื้อ ทำให้รายได้ลดลง ก็หวังว่าขายไปนานๆ ลูกค้าเก่าจะรู้ว่าเราย้ายแล้ว และตามมาซื้อเหมือนเดิม
"ตอนนี้ก็ขายเท่าที่ขายได้ไปก่อน เวลาไปซื้อผักมาก็ซื้อน้อยลง ถ้าเหลือก็ไปเร่ขายต่อแถวๆ บ้าน เราต้องมีวิธีจัดการกับชีวิตมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเลยที่ต้องเอาผักไปเร่ขาย เพราะขายหมดตลอด หรือวันไหนที่เหลือก็แจกเพื่อนบ้าน แต่พอมาขายที่นี่แจกไม่ไหวแล้ว เพราะของก็แพง กำไรก็ได้มาน้อย"
ขณะที่ความรู้สึกของผู้ซื้อ แม้จะพึงใจที่ซื้อของได้ในราคาถูกลง แต่ก็ยังเสียดายตลาดเก่า เพราะเป็นความเคยชิน โดยเฉพาะตลาดจะบังติกอที่ขายมาถึง 30 กว่าปีจนเป็นตำนานไปแล้ว
นางโฉม หมัดสุหลง อายุ 31 ปี ซึ่งจ่ายตลาดอยู่เป็นประจำ กล่าวว่า ตลาดใหม่มีความสะดวกหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่จอดรถ และยังมีร้านเยอะขึ้น สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกลง แม่ค้าก็ต้องแข่งกัน ทำให้ได้ของราคาถูกกว่าเดิม ของก็เยอะขึ้น เลือกได้มากขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
"แต่ถ้าถามว่าอยากให้ตลาดเดิมอยู่ไหม บอกตรงๆ ก็อยากให้เปิดขายเหมือนเดิมนะ เพราะมันเป็นตลาดเก่าแก่ของคนปัตตานี โดยเฉพาะตลาดจะบังติกอ เนื่องจากเปิดขายมานานและมีของครบทุกอย่าง"
ล่าสุดหลังจากมีข่าวการย้ายตลาดจะบังติกอแพร่กระจายออกไปจนกลายเป็นปัญหาทางความรู้สึกของคนปัตตานี ทำให้ อนุศาสตร์ สุวรรณมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้บริหารโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยเปิดพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลให้พ่อค้าแม่ขายที่ไม่ต้องการย้ายไปตลาดใหม่เปิดขายไปพลางก่อน โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้อยู่ไม่ห่างจากย่านจะบังติกอซึ่งเป็นตลาดเดิมมากนัก
ด้าน นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า สาเหตุที่ต้องย้ายตลาด โดยเฉพาะตลาดโต้รุ่ง เพราะปัจจุบันตลาดสดเทศวิวัฒน์ 2 หรือตลาดโต้รุ่งมีความแออัด คับแคบ ไม่สะดวก และไม่เพียงพอต่อการให้บริการทั้งพ่อค้าแม่ขายและประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของ การดูแลรักษาความสะอาดก็ทำได้ไม่ทั่วถึง ทำให้กลายเป็นตลาดที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งยังสร้างความลำบากให้กับประชาชนที่ต้องใช้ทางเท้า เพราะมีการนำสินค้าไปวางขายเต็มพื้นที่ไปหมด
"เทศบาลเล็งเห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้ทำโครงการก่อสร้างตลาดสดแห่งใหม่ขึ้นที่ถนนยะรัง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ลดความแออัด และให้มีพื้นทีเพียงพอต่อการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ อีกทั้งให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ตลอดจนเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองด้วย เราเน้นสร้างตลาดใหม่ให้เป็นตลาดสดที่ดี มีมาตรฐาน เพื่อเป็นหน้าตาของเมืองปัตตานี โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างจากเงินสนับสนุนของจังหวัด" นายกฯพิทักษ์ กล่าว
จากการรวบรวมข้อมูลของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า งบประมาณในการก่อสร้างตลาดสดแห่งใหม่นั้น ได้รับมาจากโครงการยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากเงินงบประมาณของเทศบาลเอง เป็นอาคารหลังใหญ่ 1 หลัง มี 2 ชั้น ชั้นล่างจัดเป็นแผงค้า มีจำนวน 172 แผง จำหน่ายของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ส่วนชั้นบนแบ่งเป็นล็อคจำนวน 90 ล็อค จำหน่ายสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น กิฟท์ช็อป นอกจากนั้นยังมีอาคารหลังเล็กเป็นอาคารชั้นเดียว จัดเป็นแผงค้าอีก 124 แผง จำหน่ายพวกอาหารสด อาหารทะเล และเนื้อสัตว์ มีอาคารห้องน้ำ 1 หลัง จำนวน 17 ห้อง พร้อมลานจอดรถกว้างขวาง พร้อมให้บริการพ่อค้า แม่ค้า และประชาชนที่มาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้า
แม้การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอันสืบเนื่องจากการขยายตัวของชุมชนจะเป็นวิถีธรรมดาๆ ของโลกใบนี้ แต่การทำความเข้าใจและการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะตามมา...ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติก็ตาม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในตลาดแห่งใหม่ของเทศบาลเมืองปัตตานี (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)