กษ.เล็งนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยเป็นแม่แบบอาเซียน-เพิ่มความสามารถแข่งขัน
รมว.กษ.เผยแผนเพิ่มโอกาสแข่งขันนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยเป็นแม่แบบเออีซี เล็งหารือร่วม 5 ประเทศผลิตข้าวส่งออกนอกอาเซียน
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีมาตรฐานสินค้าเกษตรกว่า 200 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำและมีความพร้อมอย่างมากในด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรในกลุ่มสมาชิกอาเซียน โดยเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) กษ.โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จะผลักดันให้เกิดมาตรฐานอาเซียนขึ้น โดยนำมาตรฐานของไทยเป็นตัวนำในการเจรจา เพื่อให้ได้เปรียบในกลุ่มสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพราะแม้จะมีการปรับฐานการผลิตที่มีมาตรฐานเดียวกันแล้ว แต่ต้นทุนการผลิตของไทยจะถูกกว่า ที่สำคัญคือเกษตรกรบางส่วนมีความพร้อมและปรับปรุงมาตรฐานการผลิตของตัวเองเข้าสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรที่ได้ประกาศใช้แม้ว่าที่ผ่านมาจะเป็นมาตรฐานสมัครใจ ซึ่งในเร็วๆนี้ กษ.ได้เตรียมแผนในการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตรบางชนิดที่เป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญไปสู่มาตรฐานบังคับเพื่อสร้างโอกาสและจุดแข็งให้กับสินค้าเกษตร ไทยด้วย
โดยจะปรับปรุงด่านตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรให้รองรับการก้าวเข้าสู่เออีซีมากยิ่งขึ้น โดยเตรียมจัดของบประมาณในการบูรณาการเรื่องด่าน อาทิ ด่านศุลกากร ด่านสินค้าเกษตรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และด่านของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
“ขณะ นี้เกษตรกรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยได้เริ่มเข้าสู่ระบบการผลิตที่ได้ มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น เช่น ด้านพืช เข้าสู่มาตรฐานแล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ด้านปศุสัตว์ บางชนิด เช่น ไก่เข้าสู่ระบบ 100 เปอร์เซ็นต์ สุกร 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าระบบมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดย เฉพาะเมื่อเออีซีเปิดมาตรฐานที่จะใช้ของ มกอช. ในปัจจุบันที่เป็นมาตรฐานสมัครใจ ก็จะมีการพูดคุยเรื่องการทำมาตรฐานบังคับให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการวางระบบการดูแลสินค้าเข้าประเทศ ถ้าประเทศไทยผลิตได้ในระดับมาตรฐานตามที่กำหนด ก็จะสามารถคุยกับเพื่อนบ้านได้ สินค้าที่เข้ามาในประเทศไทยต้องมีมาตรฐานเดียวกับเรา แต่ถ้าเราไม่มีมาตรฐานของเราเอง คือ ผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ประเทศอื่นก็มีโอกาสเข้ามาแข่งขันได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของเกษตรกรไทย” นายยุคล กล่าว
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายการพัฒนาสินค้าเกษตรเมื่อก้าวเข้าสู่เออีซี กษ.จะดำเนินการเชิงรุก เนื่องจากสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดของไทยอยู่ในสถานะผู้นำการผลิตและการตลาด ส่วนสินค้าชนิดใดที่มีการผลิตใกล้เคียงกันหรือไทยยังเป็นรองในด้านการผลิต จะเน้นในด้านการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตรายสำคัญ ๆ เช่น สินค้าข้าว ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันระหว่าง 5 ประเทศที่มีการผลิตข้าว เพื่อร่วมมือกันผลิตข้าวให้เกิดความมั่นคงอาหารของโลก และส่งออกไปจำหน่ายนอกกลุ่มอาเซียน หรือ บางสินค้าที่มีการคุยลักษณะการแข่งขัน เช่น กาแฟ ประเทศไทยยังผลิตกาแฟในมาตรฐานที่สู้เวียดนามไม่ได้ ก็จะต้องหารือผู้เกี่ยวข้องร่วมกันว่าจะร่วมมือในด้านการผลิต ทำการตลาดร่วมกัน โดยมาพิจารณาศักยภาพการผลิตของประเทศในด้านแหล่งผลิตที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการหารือกันโดยเร่งด่วนต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china-economic-business/result.php?SECTION_ID=461&ELEMENT_ID=6332