เยือนวิถีคนร่อนทองที่บ้านภูเขาทอง...สุคิริน
"ที่อีสานเขาขายข้าวซื้อทอง แต่ที่ภูเขาทองพวกเราขายทองซื้อข้าว" เป็นคำกล่าวเปรียบเปรยของ "ป้าแหวน" แสงอรุณ จันทร์หอม วัย 55 ปี ที่อธิบายความเป็น "บ้านภูเขาทอง" ของ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ได้อย่างเห็นภาพที่สุด
บ้านภูเขาทอง ตั้งอยู่ในตำบลชื่อเดียวกันของ อ.สุคิริน ในแง่ชุมชน บ้านภูเขาทองเป็นชุมชนที่มีลักษณะพิเศษของประชากร เพราะส่วนใหญ่เป็นคนไทยอีสานที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาปักหลักอยู่กันนานกว่า 3 ชั่วอายุคน ตั้งแต่สมัยที่รัฐบาลจัดสรรพื้นที่ชายแดนใต้บริเวณ อ.สุคิริน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ให้ชาวไทยอีสานได้เข้าไปทำกิน
ส่วนในแง่ภูมิศาสตร์ บ้านภูเขาทองก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรในผืนดิน มีสินแร่ทองคำ จนเป็นที่มาของการร่อนหาแร่ทองคำ หรือที่เรียกว่า "ร่อนทอง" เป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านในหมู่บ้านด้วย
และ "ป้าแหวน" ก็เป็นหนึ่งใน "คนร่อนทอง" แห่งบ้านภูเขาทอง เธอกับเพื่อนๆ ร่วมหมู่บ้านกว่า 10 คนกำลังใช้ "เลียง" เครื่องมือที่ทำจากไม้คล้ายๆ กระทะร่อนหาทองในคลองสายเล็กในหมู่บ้าน คลองสายเล็กๆ นี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายบุรีที่ไหลมาจากภูเขาโต๊ะโมะ แหล่งแร่ทองคำที่มีชื่อของ อ.สุคิริน
"ป้าแหวน" กับคนในหมู่บ้านจะใช้เวลาว่างหลังกรีดยางพาราในช่วงสายของทุกวัน เดินทางไปยังคลองสายน้อยซึ่งช่วงก่อนหน้ามรสุมเป็นช่วงที่น้ำเริ่มแห้ง ทำให้คลองตื้นเขิน เหมาะกับการลงไปร่องหาแร่ทองที่ปะปนอยู่ในดินโคลนกลางคลอง โดยดินโคลนเหล่านี้เป็นดินที่ไหลมากับสายน้ำจากภูเขาโต๊ะโมะนั่นเอง
"ตอนสายๆ ของทุกวัน ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงจะชวนกันออกไปร่อนทอง ใครว่างก็ไปร่อนทองกัน เพื่อหาแร่ทองไปขายเป็นรายได้อีกทางให้กับครอบครัวนอกจากการทำสวนยางพารา" ป้าแหวนว่า
อุปกรณ์การร่อนทองที่แต่ละคนต้องมี คือ เลียง จอบ เสียบ และถังหรือกระป๋องสำหรับใส่แร่ทองที่ร่อนได้ ขั้นตอนการร่อนทองเริ่มจากตักดินโคลนในคลองใส่ในเลียง แล้วค่อยๆ ร่อนกับผิวน้ำในคลอง ซึ่งจะทำให้หินและโคลนดินค่อยๆ หลุดออกไปจากเลียง คนร่อนต้องร่อนไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่เศษแร่อยู่ในเลียง ซึ่งก็คือผงแร่ทอง เมื่อได้แล้วก็ค่อยๆ เทเก็บใส่ภาชนะหรือกระป๋องที่เตรียมเอาไว้
"การร่อนทองไม่ใช่ง่าย เพราะไม่ใช่ว่าร่อนทองแล้วต้องเจอทุกครั้ง มันต้องหากันไปเรื่อยๆ ย้ายที่ร่อนหาทองไปถ้าบริเวณที่ร่อนอยู่ไม่เจอแร่ทอง จนบ้างครั้งต้องไปร่อนหาทองในคลองช่วงที่ผ่านหมู่บ้านของพี่น้องมุสลิมที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นก็เคยมีเหตุร้ายเหมือนอำเภออื่นๆ ในสามจังหวัด ผิดกับบ้านภูเขาทองที่ไม่เคยมีเหตุร้าย" ป้าแหวนเล่า
แต่ก็บอกว่าการออกไปร่อนหาทองส่วนใหญ่จะได้แร่ทองกันทุกวัน เพราะพวกเธอรู้ว่าบริเวณไหนที่ร่อนเจอก็จะไปร่อนหา เมื่อร่อนทองไม่ค่อยเจอก็จะเปลี่ยนจุดย้ายที่ไปเรื่อย แร่ทองที่ได้ส่วนใหญ่เป็นเศษผงทองขนาดเล็ก ต้องเก็บรวบรวมไปเรื่อยๆ บางคนโชคดีหน่อยก็จะได้แร่ทองเป็นเกล็ดเป็นก้อน
"แต่ละวันหากนำแร่ทองที่ร่อนได้ไปขาย จะได้กันเฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 200 บาท บางคนโชคดีร่อนเจอทองเยอะก็ได้เป็นพันสองพันบาทต่อวันก็มี"
อาชีพร่อนทองแม้จะฟังดูเรียบๆ และเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีมูลค่า จึงไม่น่ามีปัญหา แต่จริงๆ แล้วกลับมีปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน เพราะสมัยก่อนมีชาวบ้านบางกลุ่มที่มีทุนหนา ใช้เครื่องสูบน้ำมาสูบโคลนดิน ทำให้สามารถหาแร่ทองได้มากขึ้น โดยร่วมกันลงทุน 4-5 คน เมื่อได้แร่ทองก็เอาไปขายแล้วเอาเงินมาเฉลี่ยกัน สร้างรายได้วันละเป็นหมื่นต่อคน
แต่แล้วก็เกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างชาวบ้านที่ไม่มีทุนซื้อเครื่องมือกับกลุ่มที่ทุนหนา จนทางจังหวัดต้องเขามาแก้ปัญหาด้วยการสั่งห้ามใช้เครื่องสูบน้ำในการหาแร่ทอง โดยให้ใช้การร่อนด้วย "เลียง" ตามวิถีชาวบ้านแบ่งดั้งเดิม เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกัน และป้องกันนายทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จนทำลายวิถีชีวิตเดิมๆ ไปจนหมด
สำหรับสถานที่รับซื้อในหมู่บ้านมีอยู่ 2-3 แห่ง แต่ป้าแหวนกับเพื่อนๆ จะนำแร่ทองไปขายที่บ้านของ นายกฤษฎิ์ เสนาพันธ์ หรือ "อบต.เล็ก" ตามที่ชาวบ้านเรียกกัน เพราะ อบต.เล็ก รับซื้อแร่ทองที่ชาวบ้านร่อนมาได้ในราคาที่พวกเขามองว่ายุติธรรม
อบต.เล็ก เล่าว่า เมื่อก่อนภรรยาของเขาก็ไปร่อนหาแร่ทองเหมือนกับชาวบ้าน ต่อมาเขาได้ทำสวนทำไร่ มีงานเยอะขึ้น และต้องออกไปตัวเมืองบ่อยๆ จึงหันมาเป็นคนรับซื้อทองจากชาวบ้านเพื่อนำไปขายต่อที่ร้านในตัวเมืองแทน ซึ่งทุกวันนี้จะนำออกไปขายเฉลี่ยเดือนละครั้ง
ราคาแร่ทองที่รับซื้อจากชาวบ้านปัจจุบันรับซื้ออยู่ที่กรัมละ 1,200 บาท ขึ้นลงไม่มาก โดยใช้ตาชั่งแบบโบราณที่ใช้การถ่วงน้ำหนัก 2 ข้างในการชั่งแร่ทอง ซึ่งชาวบ้านเชื่อถือกว่าตาชั่งดิจิตอล แร่ทองที่ชาวบ้านนำมาขายเป็นทอง 93-94 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีแร่อื่นปะปนอยู่ในเนื้อทอง เดือนๆ หนึ่งก็จะรวมแร่ทองที่ชาวบ้านนำมาขายให้เฉลี่ยกว่า 200 กรัม นำไปขายได้ 2-3 แสนบาท แต่นั่นเป็นราคาที่รวมทุนด้วย
อบต.เล็ก เล่าอีกว่า ในอดีตชาวบ้านร่อนทองกันได้เยอะกว่านี้มาก โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่ยังใช้เครื่องสูบน้ำกันอยู่ เขารับซื้อทองจากชาวบ้านได้เฉลี่ยอาทิตย์ละ 400 กว่ากรัม และต้องนำออกไปขายทุกอาทิตย์เพื่อนำเงินหมุนเวียนกลับมารับซื้อทองจากชาวบ้าน แต่ปัจจุบันเมื่อทางการห้ามใช้เครื่องสูบน้ำแล้ว ปริมาณแร่ทองที่หาได้ก็ลดลง
"สมัยก่อนมีชาวบ้านร่อนเจอทองขนาดใหญ่สุดที่เคยรับซื้อ ก้อนขนาดเท่าฝาน้ำอัดลม หนัก 42 กรัม ขายได้ 6 หมื่นกว่าบาท แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเจอทองเป็นก้อน จะเจอก็ก้อนเล็กๆ ใหญ่กว่าหัวเข็มหมุดนิดหน่อย แต่ที่นำมาขายกันจะเป็นเศษผงทองเสียส่วนใหญ่" อบต.เล็ก บอก
ชาวบ้านในภูเขาทองส่วนใหญ่มีชีวิตผูกพันกับแร่ทอง จึงมีความเชื่อเหมือนกันเกือบทุกครัวเรือนว่าเวลาจะปลูกบ้านใหม่ ต้องนำแร่ทองคำที่เคยร่อนได้ไปฝังไว้ที่เสาเอก เพราะว่าแร่ทองเหล่านี้เป็นทองดิบ ต้องมีไว้ในบ้านเพื่อเรียกเงินเรียกทองเข้าบ้าน ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข
วิถีชีวิตคนร่อนทองที่บ้านภูเขาทอง เป็นอีกมุมหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนนอกไม่ค่อยได้รับรู้ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตอย่างสุขสงบบนผืนดินอันอุดม...และปราศจากความรุนแรง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพทั้งหมดโดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากศูนย์ภาพเนชั่น