ล้วงลึกโครงการ 4,500 (ตอนจบ) ความหวังสุดท้ายต่อลมหายใจครอบครัวคนยาก
แม้โครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม "โครงการ 4,500" จะถูกตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส การใช้เส้นสายเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องของบรรดาข้าราชการและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้ง "ลูกจ้าง 4,500" ยังตกเป็นเป้าสังหารของกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง แต่ความจริงอีกด้านที่มิอาจปฏิเสธก็คือ ประโยชน์ของโครงการนี้ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับครอบครัวผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนอย่างแท้จริง
ดังเช่นครอบครัวของ อุมาร์ กาซอ ที่สมาชิกทั้ง 6 คนยังคงดำเนินชีวิตต่อไปได้เพราะเงินจำนวน 4,500 บาทที่ได้รับจากรัฐทุกเดือน แม้จะต้องแลกกับความเสี่ยงก็ตาม...
ทุกวันหลังตะวันลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาสองทุ่มถึงเที่ยงคืน ที่หน้ามัสยิดนูรุลยากีน บ้านคลองช้าง ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นเวลางานของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งมีทั้งหมด 4 คน และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ อุมาร์ กาซอ
อุมาร์มีฐานะยากจน บ้านของเขาอยู่ในซอยเยื้องกับมัสยิด เป็นซอยเล็กๆ ที่เดินสวนกันแทบไม่ได้ บ้านหลังนี้ไม่มีทั้งห้องน้ำและน้ำประปาใช้สำหรับอาบน้ำหรือซักผ้า ทั้งๆ ที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนในประเทศนี้สมควรได้รับบริการ
ครอบครัวของอุมาร์ต้องอาศัยแม่น้ำปัตตานีในการอาบน้ำชำระร่างกาย และพึ่งพาห้องน้ำของมัสยิดในการปลดทุกข์หนักเบามานานนับสิบปี บ้านที่มีขนาดแค่ 3 คูณ 4 เมตร แต่มีสมาชิกถึง 6 คน ทำให้ต้องอยู่กันอย่างแออัด
เขาเป็นช่างทำว่าววงเดือนที่มีชื่อเสียงและมีฝีมือชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่ง ช่วงกลางวันหากมีคนสั่งทำว่าวเขาก็จะมีงาน แต่วันไหนไม่มีใครจ้าง เขาก็จะออกหากุ้งหาปลาในแม่น้ำลำคลองเพื่อเป็นอาหารประทังชีวิตลูกเมีย
อุมาร์เป็นคนมีน้ำใจ ช่วยเหลือชุมชนและสังคมเท่าที่เขามีแรงช่วยได้ เขาจึงได้รับการคัดเลือกจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 23 (ฉก.23) ให้เป็นลูกจ้างในโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท โดยหน้าที่ของเขาคือเป็น ชรบ.ดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยของชุมชน
อุมาร์ บอกว่า เงินจำนวนนี้อาจน้อยนิดในสายตาของใครหลายๆ คน แต่มันมีค่ามากมายในความรู้สึกของเขา...
"เงิน 4,500 มีความหมายต่อผมและครอบครัวมาก เพราะเป็นรายได้ประจำที่แน่นอนสำหรับจุนเจือครอบครัว ลูกๆ ของผมกำลังเรียนและโตขึ้นทุกวัน ผมเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อจะต่อเติมบ้านและห้องน้ำเสียที จะได้ไม่ถูกเขาต่อว่าเรื่องการใช้ห้องน้ำที่มัสยิด ทั้งที่มัสยิดเป็นศาสนสถานกลางที่มุสลิมทุกคนสามารถเข้าไปใช้ได้ แต่คนเราฐานะต่างกัน ผมเป็นคนจนมีแค่เพียงที่ซุกหัวนอนก็ต้องอาศัยมัสยิด ผมสอนลูกเสมอว่าต้องอยู่ให้ได้ บ้านคับแคบแต่ถ้าสบายใจก็อยู่ได้ตลอด"
อุมาร์ เล่าว่า แม้การทำหน้าที่ ชรบ.จะมีความเสี่ยงสูง แต่เขาก็ยังโชคดีเพราะในละแวกบ้านที่เขาอยู่ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ความไม่สงบ
"ก็มีบ้างเป็นพวกตังเกทะเลาะกัน พอเกิดเรื่องเขาก็จะเรียกเราให้ไปช่วยดูแล ส่วนมากคือพวกเมาแล้วอาละวาด เพื่อนที่เข้าเวรมีกัน 4 คน อาจสลับกันบ้างตามภารกิจ แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่กันเต็มเวลา เจ้าหน้าที่จาก ฉก.23 เขาก็เห็นว่าเราทำงานกันอย่างไร ผมรับเงินมา 4,500 บาท ผมต้องทำให้เต็มเวลาที่รับผิดชอบ โครงการนี้มีเวลา 1 ปี เมื่อหมดสัญญาถ้าเขาเห็นว่าผมทำงานดีมีคุณภาพ ผมก็อาจได้ต่อสัญญา" อุมาร์ บอกถึงความคาดหวังของเขา
ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท คือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เช่นครอบครัวของ ต่วนนูรอัยนี จิใจ แม่ม่ายลูกเจ็ดวัยสี่สิบต้นๆ จาก อ.เมือง จ.ยะลา สามีของเธอถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2548 บ้านหลังเล็กชานเมืองยะลาคือที่พักอาศัยหลับนอนของทุกชีวิตในครอบครัว
ต่วนนูรอัยนี ได้รับโอกาสทำงานกับโครงการจ้างงานเร่งด่วนฯในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง เป็นงานในลักษณะ "แม่บ้านสำนักงาน" มีหน้าที่ทำความสะอาดและช่วยเหลือทั่วไปเพื่อแลกกับรายได้ 4,500 บาทต่อเดือน เงินจำนวนนี้มีความหมายกับเธอและลูกๆ มาก แม้จะยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็นของลูกๆ ถึง 7 คนที่กำลังโตวันโตคืนก็ตาม
"ฉันต้องหารายได้เสริมด้วยการรวมตัวกับเพื่อนๆ ประมาณ 10 คนจัดตั้งกลุ่มเพื่อทำขนมขาย โดยได้ไปเรียนหลักสูตรทำขนมระยะสั้นที่วิทยาลัยชุมชน จากนั้นก็หาช่องทางและหาตลาดเพื่อจำหน่าย ทำให้พอลืมตาอ้าปากได้บ้าง"
ต่วนนูรอัยนี กล่าวถึงโครงการจ้างงานเร่งด่วนฯว่า อยากให้โครงการนี้มีต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นรายได้ประจำที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระในบ้านได้มากทีเดียว
ด้านความเห็นของคนจากภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องการจ้างงานโดยตรงอย่าง อรุณ หมัดเหล็ม อดีตจัดหางานจังหวัดปัตตานี (ปัจจุบันย้ายไปอยู่ จ.ตรัง) เขาเห็นว่า ไม่ว่าใครจะบอกว่าโครงการนี้ล้มเหลวอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับเขาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก และรัฐบาลควรคิดปรับปรุงโครงการให้มีความยั่งยืนต่อไปด้วย
"น่าจะเปลี่ยนเป็นโครงการสร้างงานและจ้างงานยั่งยืนถาวร มีระบบการคัดสรรคนมากขึ้น ขยายเวลารับสมัครเพื่อจะได้มีการเตรียมการล่วงหน้าให้ได้คนดีๆ คนที่เดือดร้อนจริง และคนที่มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการ"
อรุณ บอกว่า เป้าหมายหลักน่าจะมุ่งไปที่เยาวชนในพื้นที่มากที่สุด
"เยาวชนที่นี่ค่อนข้างขาดโอกาสทางสังคม โครงการนี้สามารถช่วยฝึกทักษะอาชีพ ให้เกิดการแข่งขันในการทำงาน ฝึกการเข้าสังคม การปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน สร้างงานสร้างรายได้ให้กระจายขึ้นในพื้นที่ เป็นจิตวิทยาด้านความมั่นคงที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เลิกไม่ได้ อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดูถึงความเป็นจริงในพื้นที่ด้วย" อรุณ กล่าวย้ำท่ามกลางกระแสข่าวการลดขนาดโครงการเพื่อยกเลิกในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ตำแหน่งงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดได้รับในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 200 อัตรา โดยเน้นไปที่การกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในสถานประกอบการของภาคเอกชน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับตำแหน่งงานของหน่วยงานความมั่นคง
"จากการพบปะพูดคุยกับนายจ้างและลูกจ้าง มีปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อโครงการฯคือ ในส่วนของลูกจ้างยังขาดความรับผิดชอบและความกระตือรือร้น ขาดทักษะในการทำงานเพราะมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่นายจ้างต้องการ มีการเข้า-ออกงานบ่อยและไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ ไม่ค่อยอดทนเพราะคิดว่าเป็นลูกจ้างโครงการพิเศษและไม่มั่นใจว่าจะมีการจ้างงานแบบยั่งยืน ส่วนนายจ้างเองบางรายก็มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ ไม่ค่อยเอาใจใส่ลูกจ้างกลุ่มนี้เท่ากับลูกจ้างของสถานประกอบการเอง" อรุณ อธิบาย
แต่เขาก็ยังเห็นว่า ปัญหาทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ และถือว่าเป็นข้อบกพร่องเล็กน้อยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประโยชน์มหาศาลที่คนในพื้นที่ได้รับ
"หลังจากนี้จะต้องมีมาตรการควบคุมการเข้า-ออกของลูกจ้างให้ชัดเจน มีการอบรมวินัยและความรู้เบื้องต้นของตำแหน่งงานที่ต้องรับผิดชอบก่อนบรรจุเข้าทำงาน เพื่อให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ สิ่งสำคัญที่สุดในความเห็นของผมคือรัฐต้องมีโครงการนี้ต่อไป และแสดงความชัดเจนในระดับนโยบาย เนื่องจากสามารถช่วยประชาชนในพื้นที่ให้มีงานทำได้จริงๆ" อรุณ กล่าว
แม้โครงการจ้างงานเร่งด่วนฯ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเป็นการทุ่มเทงบประมาณของภาครัฐที่ไม่ก่อผลสัมฤทธิ์อย่างเต็มที่มากนัก ทว่าหากปรับปรุงการบริหารจัดการโครงการให้ดีๆ สร้างระบบธรรมาภิบาล และไม่มุ่งประโยชน์ด้านความมั่นคงมากจนเกินไป ก็น่าจะสร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้คนที่ทุกข์ยากลำบากได้จำนวนไม่น้อย...
ที่สำคัญโครงการ 4,500 จะเป็นประโยชน์สูงสุดหากขจัดบรรดา "เหลือบ-ริ้น-ไร" ที่คอยสูบผลประโยชน์จากโครงการนี้ให้หมดสิ้นไปเสียที!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ครอบครัวของ อุมาร์ กาซอ
2 อรุณ หมัดเหล็ม
อ่านประกอบ :
- ล้วงลึกโครงการ 4,500 (ตอนที่ 2) วิบากกรรม "ลูกจ้างรัฐ" ตกเป็นเป้าสังหาร!
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/769--4500-2-qq-.html
- ล้วงลึกโครงการ 4500 (ตอนที่ 1) สร้างงานหรือผลาญงบ?
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/766--4500--1-.html