ไฟใต้ 107 เดือนเจ็บ-ตายทะลุ 1.4 หมื่นราย!
ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รายงานสถิติการเกิดเหตุรุนแรงตลอดเดือน ต.ค.และ พ.ย.2555 ซึ่งลักษณะของสถานการณ์ค่อนข้างสะวิง คือ เดือน ต.ค.มีสถิติเหตุร้ายค่อนข้างสูง ขณะที่เดือน พ.ย.สถานการณ์ภาพรวมค่อนไปในทางสงบเงียบ
นับเฉพาะเดือน ต.ค.2555 มีเหตุรุนแรงรวม 79 ครั้ง พุ่งสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าที่มีเหตุรุนแรงรวม 69 ครั้ง ทั้งนี้ ในจำนวน 79 ครั้งแยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 59 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 12 เหตุการณ์ ก่อกวน 1 เหตุการณ์ วางเพลิง 2 เหตุการณ์ และมีเหตุร้ายที่สรุปผลการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นแล้วว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงจำนวน 12 เหตุการณ์
ปัตตานีหนักสุด - ระแงะแชมป์ป่วน
เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด ปรากฏว่า
จ.ยะลา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 14 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 10 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 3 เหตุการณ์ และก่อกวน 1 เหตุการณ์
จ.ปัตตานี มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 27 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 22 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 3 เหตุการณ์ และวางเพลิง 2 เหตุการณ์
จ.นราธิวาส มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 25 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 19 เหตุการณ์ และลอบวางระเบิด 6 เหตุการณ์
ส่วน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
ในระดับอำเภอ มีอำเภอที่ติดกลุ่มเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง ได้แก่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 9 ครั้ง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 6 ครั้ง อ.รามัน จ.ยะลา กับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อำเภอละ 5 ครั้ง อ.สายบุรี อ.โคกโพธิ์ และ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี อำเภอละ 4 ครั้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อ.ยะหา จ.ยะลา และ อ.เมืองนราธิวาส อำเภอละ 3 ครั้ง
สำหรับอำเภอที่ไม่เกิดเหตุรุนแรงเลยตลอดเดือน ต.ค.2555 ได้แก่ อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน กับ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี อ.สุไหงปาดี อ.จะแนะ อ.แว้ง อ.สุคีริน และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา
เดือนเดียวครูสังเวย 3 ศพ - ไฟใต้จ่อ 9 ปีตายเฉียด 5 พัน
ในแง่ความสูญเสีย แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
- ทหาร เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 8 นาย
- ตำรวจ เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 9 นาย
- ครู เสียชีวิต 3 ราย
- ประชาชนทั่วไป เสียชีวิต 46 ราย บาดเจ็บ 50 ราย
- อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 10 นาย
- อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 3 นาย
- ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 2 ราย
- ผู้ก่อความไม่สงบ เสียชีวิต 7 ราย
รวมยอดผู้เสียชีวิตทุกกลุ่มอาชีพ 66 ราย บาดเจ็บ 77 ราย รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 143 ราย
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตรวม ตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึง 31 ต.ค.2555 อยู่ที่ 4,939 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 2,085 ราย อิสลาม 2,723 ราย ไม่ระบุศาสนา 131 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บรวม 8,956 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,615 ราย อิสลาม 2,839 ราย ไม่ระบุศาสนา 502 ราย
พฤศจิกาฯ สถิติรุนแรงต่ำอันดับ 2 ในรอบปี
เดือน พ.ย.2555 เดือนที่ 11 ของปี 2555 เกิดเหตุรุนแรงรวมทั้งสิ้น 65 ครั้ง ขยับลดลงจากเดือน ต.ค. และยังต่ำกว่าเดือน ก.ย. ทำให้ติดกลุ่มเป็นเดือนที่เกิดเหตุรุนแรงค่อนข้างต่ำในปี 2555 ทั้งนี้ในจำนวนเหตุรุนแรง 65 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 29 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 10 เหตุการณ์ ก่อกวน 2 เหตุการณ์ และวางเพลิง 4 เหตุการณ์ โดยในจำนวนนี้มีเหตุร้ายที่สรุปผลการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นแล้วว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงจำนวนถึง 20 เหตุการณ์ ทำให้เหตุความมั่นคงของเดือน พ.ย.เหลือเพียง 45 เหตุการณ์ ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในปี 2555 สูงกว่าเดือน ม.ค.เพียงเดือนเดียวเท่านั้น
สำหรับเหตุก่อกวน 2 ครั้งที่ระบุในรายงาน คือเหตุตัดฟันต้นยางพารา และปล้นปืนแต่ไม่ได้ปืน
เมื่อเจาะข้อมูลแยกเป็นรายจังหวัด ปรากฏว่า
จ.ยะลา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 6 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 5 เหตุการณ์ และระเบิด 1 เหตุการณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุยิงถูกสรุปเป็นเรื่องส่วนตัวทั้งหมด
จ.ปัตตานี มีเหตุรุนแรงรวมมากถึง 22 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 16 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 3 เหตุการณ์ และวางเพลิง 3 เหตุการณ์
จ.นราธิวาส มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 17 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 8 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 6 เหตุการณ์ วางเพลิง 1 เหตุการณ์ และก่อกวน 2 เหตุการณ์
พื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น
"สายบุรี-รือเสาะ"ป่วนหนัก เปิดชื่อ 12 อำเภอปลอดเหตุ
ในระดับอำเภอ มีอำเภอที่ติดกลุ่มเกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง ได้แก่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส อำเภอ 6 ครั้ง อ.เมืองนราธิวาส 4 ครั้ง อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส อำเภอละ 3 ครั้ง
ส่วนอำเภอที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย ได้แก่ อ.กรงปินัง อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน กับ อ.เมือง จ.ปัตตานี อ.เจาะไอร้อง อ.สุคีริน และ อ .สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ไฟใต้ 107 เดือนเจ็บ-ตายทะลุ 1.4 หมื่นราย
ด้านตัวเลขความสูญเสีย แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
- ทหาร เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 18 นาย
- ตำรวจ บาดเจ็บ 13 นาย ไม่มีเสียชีวิต
- ครู เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย
- ประชาชนทั่วไป เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บ 65 ราย
- อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เสียชีวิต 1 นาย
- อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย
- ผู้นำท้องถิ่น บาดเจ็บ 1 ราย
- ผู้ก่อความไม่สงบ เสียชีวิต 1 ราย
รวมยอดผู้เสียชีวิตทุกกลุ่มอาชีพ 43 ราย บาดเจ็บ 102 ราย รวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 145 ราย
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตรวมนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึงสิ้นเดือน พ.ย.2555 อยู่ที่ 4,962 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 2,092 ราย อิสลาม 2,739 ราย ไม่ระบุศาสนา 131 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 9,044 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,687 ราย อิสลาม 2,854 ราย ไม่ระบุศาสนา 503 ราย
รวมยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตลอด 107 เดือนไฟใต้ 14,006 ราย!
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุเผาโรงเรียนบ้านบางมะรวด อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อปลายเดือน พ.ย. (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)