10 ทิศทางเคลื่อนไหวชุมชนไทยรอบปี 2555
ทิศทางความเคลื่อนไหวชุมชนไทยรอบปีที่ผ่านมาในมิติต่างๆ มีทั้งประชานิยมรากหญ้า สิทธิชุมชน คลี่ปมเหลื่อมล้ำขับเคลื่อนกระจายอำนาจท้องถิ่น การพัฒนาภาคเกษตร แรงงาน สุขภาพ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ขอประมวลบางประเด็นมานำเสนอ…
“มองปัจจุบันสู่อนาคตแรงงานไทย”
ประชานิยมค่าแรง 300 บาทที่ปี 55 ประเดิมไปแล้วบางจังหวัด และเปิด พ.ศ.ใหม่ ม.ค.56 นี้จะดีเดย์พร้อมกันทั่วประเทศ แน่นอนว่าถูกใจผู้ใช้แรงงานบ้านเราที่ต้องยอมรับว่า “หาเช้ากินค่ำ” และ “หาหนึ่งแรงเลี้ยงหลายชีวิต” แต่อีกด้านก็คือผลกระทบผู้ประกอบการ(โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่ม) จนอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน และเรียกร้องรัฐบาลเร่งเยียวยาให้มากกว่าที่ทำอยู่ และที่น่าห่วงคือผลกระทบต่อการขึ้นราคาสินค้า และตัวเลขการว่างงานที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้าง
แม้จะมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ออกมา 2 ปีแล้ว แต่แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองให้มีค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย รวมทั้งแรงงานในภาคเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรในระบบพันธะสัญญา ซึ่งยังมีปัญหาการเข้าสู่ประกันสังคม ม.40 เพราะถูกตีความว่าเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินชดเชยประกันสังคมและสิทธิพื้นฐานอื่นๆที่แรงงานควรจะได้รับ
ยื่นหมื่นรายชื่อชงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ สาระสำคัญคือการแก้ไข 14ประเด็น เช่น คุ้มครองครอบคลุมลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าเพียงปีเดียว จากนั้นต้องปรับขึ้นตามทักษะฝีมือ เพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างหญิงลาตรวจรักษาสุขภาพก่อนและหลังคลอด เพิ่มค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างเป็น 20 เดือนให้ลูกจ้างมีสิทธิเปลี่ยนนายจ้าง และเพิ่มบทลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืน
สำนักงานประกันสังคม เตรียมขยายอายุแรงงานนอกระบบที่จะเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ปี และตั้งเป้าว่าปี 56 จะเพิ่มผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้ได้อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นกว่า 1.4 ล้านคน
“ประชานิยมเกษตร บิดเบือนกลไกตลาดช่วยชาวนาชาวสวนจริงหรือ?”
โครงการรับจำนำข้าว ที่รัฐบาลประกาศยกระดับรายได้ชาวนา เกิดเสียงวิจารณ์ดังกระหึ่มตั้งแต่ผลประโยชน์จากการรับซื้อข้าวตันละ15,000 บาทตกถึงมือชาวนายากจนส่วนน้อย, การโกงชั่งตวงวัดของโรงสี การสวมสิทธิ์ สัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ที่กระทรวงพาณิชย์ระบุ 7.3 ล้านตันแต่จนบัดนี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด ขณะที่ผลกระทบการขายข้าวไทยราคาสูงกว่าตลาดโลกถึงร้อยละ 50 ทำให้เสียแชมป์ส่งออกที่เคยครองอันดับ 1มากว่า 30 ปี จากที่เคยส่งออกปีละ 20 ล้านตันเหลือเพียง 6.5 ล้านตัน ล่าสุดมติ ครม.2 ต.ค.55 อนุมัติรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลใหม่ปี 55/56 อีก 2.4 แสนล้านบาท 15 ล้านตัน คาดการณ์ว่าสต๊อกข้าวสารของรัฐบาลทั้งฤดูกาลผลิตเก่าและใหม่จะมีรวมกันมากถึง 13-14 ล้านตันซึ่งจนถึงบัดนี้ยังมีปัญหาในการระบายออก ด้านธนาคารโลกประเมินว่าไทยขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวปีละ 1.5 แสนล้านบาท รวม 2 ปี(ปี 55-56) จะขาดทุน 2.47 แสนล้าน ดันยอดหนี้สาธารณะปี56 แตะ 50 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
โครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ครม.เห็นชอบให้องค์การสวนยาง กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พยุงราคายางพาราในโครงการฯ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยรับซื้อยางแผ่นดิบชั้น 3 กก.ละ 100 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 104 บาท ชาวสวนนำยางพาราเข้าโครงการจำนวนมากจนเกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคายางเฉลี่ยทั้งปี ณ จุดรับซื้อไม่ถึง กก.ละ 100 บาทตามที่ประกาศไว้ และยังมีเสียงวิจารณ์เรื่องการสวมสิทธิ์โดยเงินจากการอุดหนุนราคาตกถึงที่พ่อค้าคนกลางมากกว่าเกษตรกร ขณะที่ราคายางพาราในตลาดโลกตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ กก.ละ 90 บาท
‘โฉนดชุมชน รูปธรรมการกระจายการถือครองที่ดินที่ล้มเหลว!”
รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้หยิบยก ‘โฉนดชุมชน’ เป็นนโยบายประชานิยม โดยออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เมื่อ 7 มิ.ย. 53 และสามารถเข็นโฉนดชุมชนออกมาได้ 2 แห่งก่อนหมดยุครัฐบาล คือชุมชนสหกรณ์บ้านคลองโยง จ.นครปฐม และสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จ.ลำพูน ทว่ายุคปัจจุบันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชนที่ประกาศไว้ทั่วประเทศ 55 แห่งในรัฐบาลก่อนนอกจากจะไม่ขยับก้าวหน้า กลับเกิดข้อพิพาทในพื้นที่ดังกล่าวหลายแห่ง เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติฯไล่รื้อพื้นที่ทำกินชุมชน การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้านว่าบุกรุกป่าทำให้โลกร้อน และล่าสุดกรณีลอบยิงชาวบ้านคลองไทรพัฒนา สุราษฎร์ธานีเสียชีวิต 2 ราย
“วิทยุชุมชน เลือกอย่างไรให้ได้คุณภาพ คุมอย่างไรไม่เป็นเครื่องมือการเมือง”
กลุ่มวิทยุชุมชนนำโดยวิทยุมูลนิธิเสียงธรรมฟ้องร้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศ ‘หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555” เพราะไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ลดกำลังส่งเหลือ 500 วัตต์ เสาสูงไม่เกิน 60 ม. รัศมีไม่เกิน 20 กม. ด้านสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กลับออกมาสนับสนุนหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยระบุว่าจะเป็นการแก้ปัญหาคลื่นทับซ้อน ทั้งนี้ปัจจุบันมี 152 สถานีที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ และอีกกว่า 1,000 สถานีอยู่ในขั้นตอนเข้ายื่นคำขอ จากวิทยุชุมชนทั้งหมดกว่า 7,000 สถานี ซึ่งคาดว่าจะออกได้ครบทั้งหมดปลาย ม.ค. 56 ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลต่อไป และปี 56 ต้องจับตาความสับสนอลหม่านของวิทยุชุมชนไทยภายใต้บังเหียน กสทช.ซึ่งยังมีประเด็นการควบคุมโฆษณาชวนเชื่อทั้งอาหาร ยา และการเป็นฐานเสียงการเมือง
“วาระสุขภาพท้องถิ่น 2555”
ประชานิยม 3 รัฐบาลคือ “บัตรทอง” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป้าหมายดีคุ้มครองคนไทยที่ตกหล่นจากประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ โดยให้สิทธิรักษาฟรีภายใต้ชื่อเริ่ม “30บาทรักษาทุกโรค”สมัยรัฐบาลทักษิณ เปลี่ยนมาเป็น “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี”สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ล่าสุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์เปลี่ยนกลับไปเป็น “ประชาชนร่วมจ่าย 30บาท(โดยสมัครใจ)” มีเสียงวิจารณ์ว่าย้อนยุคกลับไปสร้างภาระคนจนที่ไม่มีจะจ่าย ขณะที่อีกด้านบอกว่าจ่ายเพื่อศักดิ์ศรีและค้ำระบบสุขภาพ
รัฐบาลกำลังผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค “เมดิคัลฮับ” พร้อมคำถามดังๆว่าแม้จะดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าประเทศมหาศาล แต่ตกถึงคนส่วนใหญ่หรือเพียงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ขณะที่คนทั้งประเทศต้องแบกรับภาวะแพทย์สมองไหลโดยเฉพาะในชนบทกันดาร
“เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 55” ผลักดัน 9 นโยบายสาธารณะ ได้แก่ การปฏิรูปการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐหรือเจ้าของกิจการกับชุมชน, การป้องกันและลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล, สนับสนุนภาคประชาชนและองค์กรชุมชนร่วมแก้ไขปัญหาไฟ่าและหมอกควัน, แก้ปัญหาภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยให้รัฐสนับสนุนปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเกษตรอินทรีย์ ทบทวนการอนุญาตขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย, ส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน, สร้างภูมิคุ้มกันเด็กติดเกมส์และอินเตอร์เน็ต, การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้พระสงฆ์เข้าถึงบริการสุขภาพ รณรงค์อาหารถูกสุขอนามัยสำหรับพระสงฆ์, ปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพ, พัฒนากลไกรับมือผลกระทบสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
‘กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี’ จัดการอย่างไรไม่ซ้ำรอยกองทุนหมู่บ้าน”
ประชานิยมที่พุ่งเป้ากลุ่มผู้หญิงรากหญ้า เป้าหมายระบุไว้เป็นแหล่งเงินทุนพัฒนาอาชีพ ศักยภาพ และคุ้มครองสิทธิสตรีไทย กดปุ่มโอนเงินล็อตแรกกันไปจังหวัดละ 20ล้านบาท ตามด้วยล็อตสองจังหวัดละ 80-100 ล้านบาท และวางเป้าปี 56 ให้เกิดผู้นำสตรีดีเด่น สร้างรายได้ที่เกิดจากการพัฒนาอาชีพ และเกิดแหล่งเรียนรู้ 1 จังหวัด 1 ตำบลต้นแบบ ขณะที่เสียงวิจารณ์ไม่พ้นภาพความล้มเหลวของกองทุนหมู่บ้านที่เวียนเข้ามาตั้งคำถามว่ากองทุนสตรีนี้จะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอย และยังมีประเด็นว่าผลประโยชน์กองทุนนี้ไม่ควรตกอยู่กับเฉพาะกลุ่มฐานเสียงการเมือง แต่สตรีทุกคนต้องได้รับประโยชน์
“2 ขวบปีสภาเกษตรกรแห่งชาติ ความหวังเป็นกระบอกเสียงเกษตรกรรากหญ้า”
“สภาเกษตรกรแห่งชาติ” เพิ่งครบวาระสองปีและรับถ่ายโอนภารกิจเต็มรูปแบบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมแต่งตั้งพนักงานระดับจังหวัดเพิ่มเพื่อเดินหน้าปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ ต้องติดตามว่าจะบรรลุภารกิจหลักยกระดับคุณภาพชีวิตและเป็นปากเสียงสะท้อนความต้องการเกษตรกรถึงรัฐบาลหรือไม่
“เศรษฐกิจการเกษตรปี 55 ขยายตัวหลังภาวะน้ำท่วม
รายงานภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรปี 2555 ขยายตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 4 เนื่องจากกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 สาขาที่ขยายตัวเพิ่มได้แก่พืช เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สาขาปศุสัตว์เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ สาขาป่าไม้โดยเฉพาะไม้ยางพาราท่อน และสาขาบริการการเกษตร ส่วนสาขาที่ลดลงคือประมง ผลผลิตกุ้งทะเลน้อยลง แม้เศรษฐกิจเกษตรไทยจะขยายตัวมากขึ้นแต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารช่วง ม.ค.-ต.ค.55 ลดลงค่อนข้างมากคืออยู่ที่ 7.24 แสนล้านบาทลดลงจากปีก่อนร้อยละ 37.5 โดยที่มูลค่าส่งออกลดลงมาก ได้แก่ ข้าวเนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า คาดว่าเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2556 จะปรับตัวบวกเล็กน้อย
“นวัตกรรมเด่นดีภาคเกษตร”
ติด 2 ใน 10 อันดับข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีปี 2555 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้แก่ “การสร้างมูลค่าเปลือกไข่ผลิตน้ำมันไบโอดีเซล” โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ใช้นาโนเทคโนโลยีผลิตเปลือกไข่เป็นตัวเร่งปฏิริยาสำหรับผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ทำให้ได้ไบโอดีเซลที่มีความบริสุทธิ์สูงและไม่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิต, “ข้าวเหนียวข้าวก่ำ” ข้าวโพดพันธุ์ใหม่ที่นักวิจัยไทยนำพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผสมกับสายพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว ซึ่งสกัดสายพันธุ์คู่ผสมจนได้ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงสายพันธุ์แท้ คัดเลือกออกมาได้ 2 พันธุ์คือข้าวโพดข้าวเหนียวแฟนซีสีม่วง 111 และข้าวโพดข้าวเหนียวแฟนซีสีขาวม่วง 212
“รางวัลเชิดชูคนดีเพื่อชุมชนปี 55”
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบรางวัลบุคคลและองค์กรดีเด่นด้านส่งเสริมปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนปี 2555 จำนวนนั้นคือบุคคลและองค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ได้แก่ ‘อรุณี ศรีโต’หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานไทย, ‘เสด็จ เขียวแดง’ข้าราชการป่าไม้เกษียณที่อาสามาทำงานเพื่อชุมชนกว่า 25 ปี, “เกษร ศรีอุทิศ” ผู้นำหญิงชุมชนหลังไปรษณีย์สำเหร่ ที่ช่วยชุมชนปลอดเหล้า อบายมุขและความรุนแรงในครอบครัว, “พีรพล บงค์บุตร” เลขาธิการสภาเด็กและเยาวชน อ.เชียงคาน จ.เลย, “มินตรา จันทร์นวล” เลขาธิการศูนย์ยุติธรรมเยาวชน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์, “เทศบาลตำบลบ้านกลาง” อ.เมือง จ.ลำพูน อปท.ที่มุ่งพัฒนาชุมชน ดูแลและเรียกร้องสิทธิแรงงานต่างด้าว ครอบครัวผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอดส์, “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” โดยศรีสุวรรณ จรรยา ที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐและองค์กรต่างๆ รัฐวิสาหกิจ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม และ‘ณาตยา แวววีรคุปต์’ บรรณาธิการข่าวสังคมไทยพีบีเอส ที่เปิดพื้นที่สื่อให้ประเด็นชุมชนถูกหยิบยกสู่สาธารณะเพื่อนำไปสู่การร่วมหาทางออก.
……………………
บ้านที่ตบแต่งสวยหรูดูดี แต่เสาเข็มไม่มั่นคงย่อมคลอนแคลนจนถึงทรุดพัง การพัฒนาประเทศที่มุ่งแต่ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยละเลยหน่วยสังคมพื้นฐาน ย่อมไม่ยั่งยืน
สุขสร้างสรรค์สดใสสวัสดีปีใหม่ 2556 ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนทุกท่านทุกองค์กร
http://protectthaicitizen.blogspot.com/2012/03/blog-post_29.html
http://www.tlcthai.com/education/news/10257.html