ล้วงลึกโครงการ 4,500 (ตอนที่ 2) วิบากกรรม "ลูกจ้างรัฐ" ตกเป็นเป้าสังหาร
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 และเริ่มกระบวนการจ้างงานคนในพื้นที่รุ่นแรกเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2548 จำนวนกว่า 4 หมื่นอัตรา โดยรัฐจ่ายเงินเดือนให้คนละ 4,500 บาท
แม้ต่อมาจะมีความพยายามลดจำนวนตำแหน่งงานลงให้เหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ ราวปีละ 1-2 หมื่นตำแหน่ง แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ นอกจากจะมีการ "กัน" ตำแหน่งงานส่วนหนึ่งไว้ให้กับพวกพ้องญาติพี่น้องของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำชุมชน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังที่ได้นำเสนอปัญหาไปแล้ว
ในส่วนของการจ้างงานผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ยังพบปัญหาด้วยว่าตำแหน่งงานหลายๆ กลุ่มที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือมีเป้าหมายเพื่อให้คนที่เข้าร่วมโครงการ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ลูกจ้าง 4,500" ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอีกแรงในการดูแลชุมชนของตนเองไม่ให้มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้น
ตำแหน่งงานลักษณะนี้ก็เช่น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพื่อนราชการอาสาสมัครรักษาเมือง (พรม.) ซึ่งทำภารกิจลาดตระเวนหรือรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการควบคู่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างใกล้ชิด เป็นต้น
ด้วยสถานะ "ผู้รับเงินจากรัฐ" หรือเป็น "ลูกจ้างของรัฐ" และบางส่วนยังมีภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ ทำให้คนเหล่านี้ตกเป็น "เป้าสังหาร" ของกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนำซ้ำหลายรายยังเป็น "เป้าหมายอ่อนแอ" เพราะมีแค่สถานะเป็น "ลูกจ้างของรัฐ" แต่ไม่ได้มีสิทธิพกพาอาวุธเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เป็นผู้ช่วยครู เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ฯลฯ คนเหล่านี้จึงสุ่มเสี่ยงต่อการประทุษร้ายเชิงสัญลักษณ์ในฐานะเป็น "คนของรัฐ" แทบไม่เว้นแต่ละวัน
และนี่คืออีกหนึ่งปัญหาของโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ซึ่งแม้รัฐจะมีเจตนาดีที่ต้องการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีผลกระทบตามมาไม่น้อยเช่นกัน
ย้อนรอยชะตากรรม "ลูกจ้างรัฐ"
ข่าวคราวการตกเป็นเป้าความรุนแรงของ "ลูกจ้าง 4,500" มีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มโครงการกระทั่งถึงปัจจุบัน แต่ที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นช่วงปี 2551 ถึง 2552 ซึ่งลูกจ้างของรัฐถูกลอบสังหารถี่ยิบ
"ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมเหตุการณ์สำคัญๆ บางส่วนเอาไว้ดังนี้
8 มิ.ย.2552 คนร้ายลอบยิง นายสันติสุเมธ ภูมิภัทรญาณกูร ลูกจ้าง 4,500 ทำหน้าที่ดูแลสถานีอนามัยบ้านคอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้รับบาดเจ็บสาหัส
11.ก.พ.2552 คนร้ายลอบยิง นายสุชาติ อาลีดีมัน อายุ 44 ปี และ นายดนรอเหม แพทสะหลำ อายุ 28 ปี โดยทั้งคู่เป็นลูกจ้าง 4,500 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยครู เหตุเกิดบนถนนบ้านโคกสะตอ-บ้านสามยอด หมู่ 12 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
28 ธ.ค.2551 พบศพ นายอับดุลฮาเล็ม มาโซ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ 3 ต.กอตอตือระ อ.รามัน จ.ยะลา ถูกสังหารทิ้งศพไว้ที่บริเวณหลังสถานีอนามัยสะเตงนอก บ้านตะโล๊ะกือบอ หมู่ 12 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา โดยนายอับดุลฮาเล็มเป็นลูกจ้าง 4,500 ของ กอ.รมน.ภาค 4 เช่นกัน
12 ธ.ค.2551 คนร้ายลอบยิง ชรบ.3 ศพ คือ นายมะรอพี สาเด็ง อายุ 38 ปี นายดอรอฮะ กาหลง อายุ 45 ปี และ นายบือราเฮง กาหลง อายุ 45 ปี ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนบ้านตะโล๊ะสดาร์ ที่ ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา โดยทั้งหมดเป็นลูกจ้าง 4,500
26 มิ.ย.2551 คนร้ายลอบยิง นายมะกอซี มามะ อายุ 38 ปี เป็นสมาชิกเพื่อนราชการอาสาสมัครรักษาเมือง (พรม.) และเป็นลูกจ้าง 4,500 ของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 23 เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์พ่วงข้างอยู่บนถนนสายบ้านจือโร๊ะ-บ้านบานา หมู่ 6 ต.บานา อ.เมืองปัตตานี หลังเสร็จจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนบ้านกูวิง
ชีวิตเศร้า "ชาว 4,500"
"ลูกจ้าง 4,500" ซึ่งเป็นสมาชิกเพื่อนราชการอาสาสมัครรักษาเมือง หรือ พรม. รายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า หน้าที่ของ พรม.จะแตกต่างจาก ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นกับฝ่ายปกครอง) เพราะว่า ชรบ.จะทำงานเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น แต่ พรม.จะทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยแต่ละคนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะรับหน้าที่เฝ้าโรงเรียน เฝ้าเส้นทาง และเฝ้าสถานที่ราชการต่างๆ
"ก่อนเข้าทำหน้าที่ ทางราชการก็ฝึกยุทธวิธีให้บ้างเหมือนกัน โดยเน้นฝึกการใช้อาวุธ การป้องกันตัว การมีระเบียบวินัย ปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ สอนการตั้งจุดตรวจและตั้งด่านสกัด รวมทั้งฝึกวิธีการสังเกตรถและพฤติกรรมของคนที่คิดว่าน่าจะเป็นคนร้าย เมื่อฝึกเสร็จก็จะเริ่มทำงานเลย โดยมีทหาร ตำรวจคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ในช่วงแรก" สมาชิก พรม.กล่าว
ขณะที่ลูกจ้าง 4,500 ซึ่งเป็นสมาชิก พรม.อีกรายหนึ่ง เล่าขณะปฏิบัติหน้าที่เฝ้าโรงเรียนใน จ.ปัตตานี ว่า ในชุมชนที่เขาอยู่มีลูกจ้าง 5 คน แต่ละคนใน 1 วันต้องทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ โดยแบ่งเป็นเฝ้าโรงเรียน 2 คน เฝ้าเส้นทาง 2 คน ส่วนอีกหนึ่งคนจะได้พัก ทำอย่างนี้สลับกันไปจนครบสัปดาห์
"พวกเราต้องเข้างาน 7 โมงครึ่งของทุกวัน พักเที่ยง แล้วเข้าทำงานรอบ 2 ตอนบ่ายโมง เลิกงาน 4 โมงเย็นหลังโรงเรียนเลิก ทุกๆ วันจะทำหน้าที่เฝ้าอยู่หน้าโรงเรียนตรงจุดล่อแหลม ปฏิบัติหน้าที่เหมือนทหารทุกอย่าง"
ลูกจ้างรายนี้บอกว่า การทำงานของพวกเขามีความเสี่ยงสูงมาก ไม่แพ้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง แต่ไม่ได้รับเบี้ยเสี่ยงภัย สวัสดิการต่างๆ ก็ไม่มี มีแค่ค่าจ้างเดือนละ 4,500 บาทเท่านั้น
สิ่งที่หนักหนาสาหัสที่สุดในความรู้สึกก็คือตอนที่พวกเขาได้รับทราบข่าวคราวว่าเพื่อนลูกจ้างของรัฐด้วยกันถูกยิงถูกฆ่าไปทีละคนสองคน...
"ความรู้สึกทุกวันนี้มันต่างจากที่เข้าทำงานวันแรกมาก เพราะพออยู่ไปๆ ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นถูกยิงเสียชีวิตไปเรื่อยๆ ได้ยินข่าวใจก็สั่นทุกครั้ง เวลาเข้างานมีคนแปลกหน้าเข้ามา มือก็จะขยับไปจับด้ามปืนทันที ส่วนสายตาก็ต้องจ้องเขม็งอยู่ที่คนแปลกหน้าแบบไม่กระพริบตาเลย เพราะคิดว่าถ้าพลาดคือชีวิต ทางหน่วยต้นสังกัดก็เตือนว่าคนที่กินเงินเดือนของรัฐคือเป้าทุกคน ต้องระวังให้มาก ทุกวินาทีคือชีวิต พลาดคือจบ"
เสี่ยงก่อน เจ็บก่อน ตายก่อน!
อีกรายเป็นลูกจ้าง 4,500 ที่ต้องปฏิบัติงานดูแลความปลอดภัยเส้นทางรถไฟที่ถูกฝ่ายก่อความไม่สงบโจมตีเป็นระยะ เขาเล่าว่า ทุกครั้งที่มีการลาดตระเวนเส้นทาง ลูกจ้างในโครงการฯต้องเป็นคนเดินหน้าไปก่อน หากเกิดอะไรขึ้นลูกจ้างต้องรับมือก่อน ส่วนกำลังของเจ้าหน้าที่เป็นแค่หน่วยสมทบหรือสนับสนุน
"นี่เป็นสิ่งที่ทางหน่วยต้นสังกัดของผมพูด สรุปก็คือถ้ามีอะไรลูกจ้างรับมือก่อน หากโดนระเบิดก็ตายก่อน ส่วนสวัสดิการไม่เคยพูดถึง นอกจากเงิน 4,500 บาทเท่านั้น มันไม่คุ้ม แต่ก็ดีกว่าไม่มีอะไรทำ" ลูกจ้างรายนี้กล่าว พร้อมกับเปรยว่าชีวิตไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก
ลูกจ้าง 4,500 ผู้ขอสงวนนาม ยังบอกอีกว่า เขาเป็นเพื่อนกับลูกจ้าง กอ.รมน.ภาค 4 สองคนที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พอได้ทราบข่าวทำให้รู้สึกอยากลาออก แต่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะไม่มีงานอื่นรองรับ ทั้งๆ ที่มีแรงกดดันสูงมาก
ครอบครัวเหยื่อ 4,500 เครียดหนัก
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า ลูกจ้าง 4,500 ที่ถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิต ส่วนหนึ่งจะได้เงินเยียวยารายละ 100,000 บาท ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่ได้รับ เพราะเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ไม่ได้ลงนามรับรองไปในทิศทางเดียวกัน อันเป็นระเบียบการจ่ายเงินเยียวยาที่กำหนดโดยรัฐว่าครอบครัวของผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา จะต้องได้รับการลงนามรับรองจากเจ้าหน้าที่สามฝ่ายเท่านั้น
ครอบครัวของ นายสุชาติ อาลีดีมัน ลูกจ้าง 4,500 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2552 ทุกวันนี้ยังตกอยู่ในความหวาดผวาและหวาดระแวง ภรรยาของสุชาติ บอกว่า กลัวทุกครั้งที่มีคนแปลกหน้าแวะเวียนมาที่บ้าน เพราะหัวหน้าครอบครัวจากไปแล้ว เหลือเพียงตัวเธอเองกับลูกๆ ที่ยังเล็ก
"เรากลัวหมดทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และฝ่ายโน้น (หมายถึงฝ่ายก่อความไม่สงบ) เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกันแน่ในพื้นที่" ภรรยาของสุชาติ กล่าว
ส่วน พี่ชายของสุชาติ บอกว่า ทุกคนในครอบครัวอยู่ในภาวะหวาดวิตก ไม่ว่าใครที่แปลกหน้ามาเราต้องกลัวเอาไว้ก่อน เหตุร้ายที่เกิดกับครอบครัวทั้งๆ ที่คนของเราไปช่วยงานรัฐ ทำให้เราไม่มั่นใจอะไรเลย
ทหารยันไม่ทอดทิ้ง "วีรบุรุษของชุมชน"
แน่นอนว่าสถานะของ "ลูกจ้าง 4,500" เป็นเรื่องที่ตัวลูกจ้างตัดสินใจเลือกเอง แต่ก็มีคำถามเช่นกันว่าในเมื่อรัฐก็ได้ประโยชน์จากการทำหน้าที่ของลูกจ้างเหล่านี้ด้วย เมื่อพวกเขาต้องประสบชะตากรรม บางรายถึงขั้นสูญเสียชีวิต รัฐให้การดูแลพวกเขาอย่างไร
พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ นายทหารฝ่ายอำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ยืนยันว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ทอดทิ้งลูกจ้าง 4,500 และพยายามช่วยอย่างถึงที่สุด
"ส่วนใหญ่คนที่ประสบเหตุจะเป็นลูกจ้างในกลุ่มภารกิจเสริมสร้างสันติสุขในชุนชน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ฝึกอบรมทักษะการป้องกันตัวให้ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน สอนการทำงานเป็นทีม แล้วยังให้หน่วยทหารในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย หากเขาประสบเหตุถูกทำร้ายแต่ไม่เสียชีวิต ก็จะให้เป็นผู้ช่วยของรัฐในการทำงานหรือไม่ก็จ้างญาติเข้าทำงานต่อเป็นกรณีพิเศษ เราถือว่าเขาเป็นวีรบุรุษของชุมชนที่เราต้องดูแล ไม่ทอดทิ้งแน่นอน" พ.อ.ฐกร ระบุ
ขณะที่ พ.ท.กุญช์ภัสร์ หาญสมบูรณ์ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 34 (ผบ.ฉก.34) กล่าวว่า จริงๆ แล้วสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้น ประชาชนทุกสาขาอาชีพต่างตกเป็นเป้าได้ทุกเมื่อ ไม่เฉพาะลูกจ้างในโครงการจ้างงานเร่งด่วน ที่ผ่านมาก็ได้เน้นย้ำให้ลูกจ้างทุกคนเตรียมพร้อมและระวังตัวเองตลอดเวลา
"เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง เราก็จะจัดให้มีการฝึกทบทวนและซักซ้อมแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์อย่างทันทวงที ที่สำคัญอาวุธประจำกายต้องติดตัวตลอด ล่าสุดเราก็เพิ่งฝึกทบทวนการใช้อาวุธให้กับลูกจ้างในพื้นที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส และจัดกำลังทหารคุ้มกันตลอดที่มีการเดินทางหรือออกลาดตระเวน นอกจากนั้นเราจะไม่อนุญาตให้ลูกจ้างเดินทางไปไหนนอกเวลาเด็ดขาด โดยเฉพาะตอนกลับบ้านก็จะให้ไปกันเป็นกลุ่ม จะเห็นได้ว่าหลังจากที่เราระวังป้องกัน ก็เกิดเหตุรุนแรงกับเป้าหมายกลุ่มนี้น้อยลง" ผบ.ฉก.34 กล่าว
-----------------------------------------------------(โปรดติดตามต่อตอนที่ 3)---------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-2 เจ้าหน้าที่ทหารจัดฝึกอบรมการใช้อาวุธให้กับกองกำลังภาคประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
หมายเหตุ : ภาพผ่านการตกแต่งและพรางใบหน้าโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
อ่านประกอบ :
ล้วงลึกโครงการ 4,500 (ตอนที่ 1) สร้างงานหรือผลาญงบ?
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/766--4500--1-.html