ล้วงลึกโครงการ 4,500 (ตอนที่ 1) สร้างงานหรือผลาญงบ?
โครงการที่ว่านี้เกิดขึ้นจาก "โจทย์" ที่รัฐตั้งเอาไว้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาคนในพื้นที่ไม่มีงานทำ จึงง่ายต่อการถูกชักจูงให้ไปเป็นแนวร่วมของขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ด้วยเหตุนี้รัฐจึงจัดสรรงบประมาณลงไปเพื่อ "จ้างงานระยะสั้น" กับประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ด้านหนึ่งก็เพื่อตัดวงจรการขยายตัวของแนวร่วมก่อความไม่สงบ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งซบเซาต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดความรุนแรงรายวันเป็นต้นมา
โครงการนี้ตามหลักการแล้วฟังดูดี และใช้งบประมาณปีหนึ่งๆ จำนวนไม่น้อย เนื่องจากมีการจ้างงานหลายหมื่นตำแหน่ง...
ทว่านับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ซึ่งเริ่มโครงการนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก กลับมีข้อครหาตามมามากมาย โดยเฉพาะความโปร่งใสและปัญหาการรั่วไหลของเม็ดเงิน เนื่องจากมีเสียงติฉินนินทาว่า บางส่วนกลายเป็นงบที่ฝ่ายความมั่นคงนำไปใช้สร้างเครือข่ายและแจกจ่ายให้กับพรรคพวกของตนเอง โดยไม่ได้เป็นการ "จ้างงาน" เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้จริงๆ
ขณะเดียวกันบุคคลที่รับเงินจากโครงการฯ ซึ่งเรียกกันในพื้นที่ว่า "ลูกจ้าง 4,500" ก็มีสถานะกลายเป็น "คนของรัฐ" จึงตกเป็นเป้าสังหารของบรรดากลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามี "ลูกจ้าง 4,500" ต้องสังเวยชีวิตไปจำนวนไม่น้อย
"“ทีมข่าวอิศรา" นำเสนอสกู๊ปพิเศษความยาว 3 ตอน เพื่อล้วงลึกโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาทว่ามีปัญหาอย่างไร สัมฤทธิ์ผลตรงตามเป้าหมาย "จ้างงาน" หรือว่าเป็นการ "ผลาญงบ" ก้อนโต
ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่มองโครงการนี้ว่าเป็น "ความหวังสุดท้าย" เพื่อต่อลมหายใจในการดำรงชีพของพวกเขา หรือกลับต้องเผชิญเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตกเป็นเป้าของการก่อเหตุรุนแรง
รู้จักโครงการ 4,500
"โครงการจ้างงาน 4,500" มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท" เดิมรับผิดชอบโดยกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กอ.สสส.จชต. ริเริ่มมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานและสร้างรายให้กับประชาชนในพื้นที่ ต่อมาภายหลังอยู่ในความดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)
ลักษณะของโครงการจะเป็นการจ้างงานแบบจ้างเหมาไม่จำกัดวุฒิการศึกษา โดยมีอัตราค่าจ้างรายละ 4,500 บาทต่อเดือน กรณีที่ทำงานไม่ครบตามกำหนด ให้จ้างวันละ 150 บาทต่อวันต่อคน
สำหรับจำนวนลูกจ้างโครงการฯ ขึ้นอยู่กับนโยบายและงบประมาณในปีนั้นๆ โดยในปีงบประมาณแรกๆ เคยจ้างสูงถึง 44,000 อัตรา ขณะที่ปีงบประมาณล่าสุดเท่าที่ตรวจสอบได้คือปี 2552 ถึง 2553 อยู่ที่ 24,710 อัตรา ใช้งบประมาณเพื่อการนี้ทั้งสิ้นเดือนละ 111,195,000 บาท ตลอดทั้งปี 1,334,340,000 บาท
ทั้งนี้ ตำแหน่งงานจะถูกจัดสรรไปตามหน่วยงานรัฐที่ทำงานในพื้นที่ ทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครอง ยกตัวอย่างในปี 2551 ถึง 2552 ตัวเลขลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วนเฉพาะในโควต้าที่พิจารณาโดย "ฝ่ายทหาร" มีทั้งสิ้น 8,285 คน แยกเป็น จ.ยะลา 1,869 คน ปัตตานี 2,475 คน นราธิวาส 2,904 คน และ จ.สงขลา 1,037 คน เป็นต้น
"บิ๊ก ขรก.-ท้องถิ่น"สบช่องแจกพวกพ้อง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา "โครงการจ้างงาน 4,500" แม้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนผู้เดือดร้อนได้จำนวนหนึ่ง แต่ขณะะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบและสร้างปัญหาในพื้นที่ไม่น้อยเหมือนกัน
จากการลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย พบสภาพปัญหาพอสรุปได้ดังนี้
1.ประชาชนบางส่วนมองว่าโครงการนี้เป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับเครือข่ายและพรรคพวกของข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชุมชน มีการจัดสรรโควต้าตำแหน่งงานให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายความมั่นคง ไล่ลงไปจนถึงผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวที่รับผิดชอบระดับอำเภอ, นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นบางคน บางกลุ่ม รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคนของฝ่ายปกครอง
ข้อมูลจากการตรวจสอบพบว่า ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ เช่น แม่ทัพ จะได้รับการจัดสรรอัตราการจ้างงานในโครงการจ้างงาน 4,500ฯ ปีละ 200 อัตรา ขณะที่ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลขตัวเดียว (รับผิดชอบพื้นที่ระดับจังหวัด) ได้รับการจัดสรรตำแหน่งงาน 80 อัตรา หรือบรรดาผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่สนับสนุนงานของภาครัฐ ก็จะได้รับการจัดสรรตำแหน่งงานคนละ 5-10 อัตรา เป็นต้น
ทั้งนี้ ตำแหน่งงานที่ได้รับการจัดสรรดังกล่าวนี้ เมื่อติดตามตรวจสอบลึกลงไปจะพบว่า มีตำแหน่งงานจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ตกถึงประชาชนผู้เดือดร้อนหรือครอบครัวของเหยื่อสถานการณ์รุนแรงจริงๆ ที่ควรได้รับการเยียวยา แต่กลับมีการบรรจุสายข่าวของรัฐ, ลูกหลานของนักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านบางรายเข้าเป็นลูกจ้างของโครงการฯ โดยที่ลูกจ้างบางคนก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำงานอะไร หรือบางส่วนที่เป็นสมัครพรรคพวกของผู้มีอำนาจในท้องถิ่นก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยใช้งบจากโครงการจ้างงานเร่งด่วนฯ จ้างแทน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ตำแหน่งงานจำเป็น
นายกเทศมนตรีรายหนึ่งในพื้นที่ จ.ยะลา ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีจะได้รับการจัดสรรตำแหน่งงานมาจำนวนหนึ่ง เมื่อมีตำแหน่งงานในมือก็จะมีเจ้าหน้าที่หรือนักการเมืองท้องถิ่นติดต่อมาเพื่อฝากฝังให้ลูกหลานหรือพรรคพวกของตนเองเข้าทำงาน ลูกจ้างหลายคนเข้าใจว่าเป็นการจ้างฟรี ไม่ต้องทำงานอะไร เหมือนเป็นเงินแจกของภาครัฐเดือนละ 4,500 บาท
"บัญชีผี" เบิกเงินแต่ไร้งาน
2.มีการจัดสรรตำแหน่งงานให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) บางองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อ "รับงาน" หรือ "โครงการ" จากหน่วยงานของรัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นผู้ประสานงานเพื่อดึงตำแหน่งงานมา จากนั้นก็จะมีการจ้างงานจริงๆ จำนวนหนึ่ง กับอีกจำนวนหนึ่งจะจัดทำ "บัญชีผี" ขึ้นเป็นรายชื่อลูกจ้างที่ไม่มีอยู่จริง
อีกรูปแบบหนึ่งที่ปรากฏในพื้นที่ก็คือ เอ็นจีโอกำมะลอบางแห่งจะไปชักชวนนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำให้มาช่วยงาน โดยนำลายมือชื่อคนเหล่านั้นไปเบิกเงินจากโครงการจ้างงานเร่งด่วนฯ แต่เมื่อถึงคราวจ่ายเงิน บางคนก็ไม่ได้รับเงินเดือน ขณะที่บางคนก็ได้ต่ำกว่า 4,500 บาท เพราะถูกหักหัวคิว ซึ่งนักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ บางรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถูกนำชื่อไปเบิกเงินในฐานะที่เป็น "ลูกจ้าง 4,500"
ทั้งนี้ ผลกระทบจากขบวนการ "กินหัวคิว" งบจ้างงาน 4,500 บาท กับการจัดสรรตำแหน่งงานอย่างไม่โปร่งใสและมีการรั่วไหลของงบประมาณดังกล่าว ทำให้ "เงินและงาน" ไม่ได้ตกถึงมือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้เกิดเงื่อนไขความไม่พอใจหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นด้วย
ทหารรับมีรั่วไหลแต่แก้ไขแล้ว
พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ นายทหารฝ่ายอำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงปัญหาของโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาทว่า ช่วงปีแรกๆ ของโครงการได้เน้นไปยังกลุ่มด้อยคุณภาพ (ว่างงานเพราะไม่มีวุฒิการศึกษา) และกลุ่มที่ต้องการพัฒนาอาชีพ แต่เมื่อได้ประเมินผลหลังจากทำไปได้ 2 ปีพบว่ามีการจ้างงานในอัตราที่มากเกินไป (ปีแรก 44,000 อัตรา) ทำให้บางส่วนไม่ได้ผลในเชิงประสิทธิภาพ เช่น จ้างแล้วไม่ได้ไปทำงาน อยู่บ้านเฉยๆ แต่กลับได้รับเงิน เป็นต้น
"ยอมรับว่าช่วงแรกๆ เราดูแลได้ไม่ทั่วถึง และมองแต่มิติของชาวบ้าน ไม่ได้มองถึงผู้ประกอบการ ปีถัดมาทางหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.)และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงได้วิเคราะห์ร่วมกันและสรุปว่าน่าจะเปลี่ยนแปลง จึงมีการปรับรูปแบบของโครงการมาตั้งแต่ปี 2550"
พ.อ.ฐกร กล่าวต่อว่า โครงการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ มุ่งจ้างงานไปที่กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเยียวยา ให้จ้างงาน 1 อัตราต่อ 1 ครอบครัว
2.กลุ่มภารกิจเสริมสร้างสันติสุขในชุมชน
3.กลุ่มการฝึกทักษะอาชีพตามความต้องการของประชาชน โดยส่งเสริมให้เยาวชนทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่
"การจ้างงานในกลุ่มที่ได้รับเยียวยา คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ จะได้สิทธิครอบครัวละหนึ่งอัตรา ให้ทำงานใกล้บ้านซึ่งไม่กระทบกับการดำรงชีวิตและการเดินทาง ถ้าอยู่ใกล้โรงเรียนก็ให้ดูแลเด็ก อยู่ใกล้มัสยิดก็ดูแลมัสยิด สำหรับคนที่สะดวกเรื่องการเดินทางอาจไปทำงานที่อำเภอก็ได้ ครอบครัวไหนไม่ต้องการก็ไม่บังคับ"
"ยอมรับว่าเมื่อก่อนเราไม่มีกฎเข้มงวด บางคนโดนสะเก็ดระเบิดนิดเดียวก็ได้เข้ามาทำงาน ฉะนั้นต้องดูแลใหม่ไม่ให้มีการทุจริต และจ้างงานตามสถานการณ์ที่เกิดจริง ยืนยันว่าตั้งแต่ปรับปรุงโครงการใหม่มีการรั่วไหลน้อยมาก เพราะจัดระบบการควบคุมได้ดีพอสมควร โดยกำหนดหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนว่าสำหรับกลุ่มเยียวยาต้องบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตเท่านั้น ทายาทจึงจะได้รับสิทธิ์จ้างงาน ถ้าผู้ประสบเหตุเป็นเด็ก ก็ให้ญาติมาทำงานแทน อย่างเหตุเกิดเดือนนี้ เดือนถัดไปต้องได้รับการจ้าง"
พ.อ.ฐกร กล่าวอีกว่า ระยะหลังมีการเก็บสำรองตำแหน่งงานสำหรับกลุ่มที่ต้องได้รับการเยียวยาเป็นการเฉพาะด้วย เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจะเพิ่มขึ้นตลอดและเป็นกลุ่มใหญ่ ตอนนี้เข้าระบบแล้ว และเพิ่มการฝึกอาชีพเข้าไป โดยมี "โครงการทำดีมีอาชีพ" ของกองทัพบกรองรับ
ซื้อความสงบหมู่บ้านละ 9 หมื่น
นายทหารจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวต่อว่า ตำแหน่งงานยังจัดสรรไปยังกลุ่มภารกิจเสริมสร้างสันติสุขในชุมชน โดยมอบหมายให้หน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) และหน่วยทหารในแต่ละจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกคนเข้าเป็นลูกจ้างของโครงการฯภายใต้นโยบาย "รางวัลของหมู่บ้านแห่งความดี" หมู่บ้านไหนที่มีการดูแลชุมชนได้ดี จะมีการจ้างงานทีมละ 20 คนคอยดูแลความปลอดภัย รัฐจ่ายให้เดือนละ 90,000 บาทต่อชุมชน แต่ต้องมีการฝึกอบรมก่อนทำงาน และมีการฝึกทบทวน มีประชุมเดือนละครั้ง
หลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้สำหรับ "รางวัลหมู่บ้านแห่งความดี" มีอยู่ 3 ข้อคือ ห้ามมีเผา ซุ่มโจมตี และวางระเบิดในชุมชน หากดูแลไม่ได้ก็จะจ้างงานชุมชนอื่นที่ดูแลชุมชนได้ดีกว่าแทน
"โครงการนี้ทำให้ชุมชนตื่นตัวกันมาก มีการจ้างงานชุมชนละ 10-20 คน ในกว่า 900 หมู่บ้านทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" พ.อ.ฐกร ระบุ
ลูกจ้างหน่วยงานรัฐล้มเหลวสุด
อีกกลุ่มหนึ่งคือฝึกทักษะอาชีพตามความต้องการของประชาชน พ.อ.ฐกร อธิบายว่า กลุ่มนี้มีสองรูปแบบ คือ ให้ประชาชนหรือกลุ่มเยาวชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ แล้วภาครัฐสร้างงานให้ โดยทำงานแบบบูรณาการกันทั้งจังหวัด แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อได้เงินเดือนจากการจ้างงาน 4,500 บาทแล้ว บางคนก็คิดว่าเพียงพอ ไม่ขวนขวายที่จะทำอะไรต่อ ทำให้พึ่งพาตัวเองได้ช้า ซึ่งขัดกับเป้าหมายของโครงการที่ต้องการให้ประชาชนพึ่งตนเองได้
อีกรูปแบบหนึ่งคือร่วมมือกับสถานประกอบการ โดยรัฐจะจ่ายเงินให้ลูกจ้างได้ที่รับเลือกเข้าไปทำงานเดือนละ 4,500 บาท แล้วให้สถานประกอบการออกเงินเพิ่มให้อีก 500 บาทขึ้นไป บวกกับเงินประกันสังคม
"ภายหลังเราเพิ่มหลักเกณฑ์ว่า หากลูกจ้างในโครงการทำงานแล้วมีประสิทธิภาพ สถานประกอบการนั้นๆ ต้องรับเข้าทำงานอย่างน้อย 60% กลุ่มนี้ได้ผลค่อนข้างน่าพอใจ สถานประกอบการก็พอใจ ส่วนกลุ่มที่ยังเป็นปัญหาคือไปทำงานกับหน่วยราชการ กลุ่มนี้จะมียอดสมัครเต็มตลอด เพราะเยาวชนชอบความสบาย แต่ไม่ได้พัฒนาทักษะอะไร ที่ผ่านมาได้เป็นพนักงานของรัฐไม่เกิน 10 คน พอหมดโครงการก็ต้องเริ่มต้นหางานใหม่"
ย้ำมุ่งสร้างงานไม่ผลาญงบ
ข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังระบุว่า จำนวนลูกจ้างในโครงการจ้างงานเร่งด่วนปี 2552 ถึง 2553 มีทั้งสิ้นจำนวน 24,710 คน แยกเป็นกลุ่มโครงการตามพระราชเสาวนีย์ (โครงการพระราชดำริและฟาร์มตัวอย่างใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) จำนวน 9,500 คน กลุ่มเยียวยาจำนวน 1,870 คน (แยกเป็น จ.นราธิวาส 850 คน จ.ยะลา 400 คน จ.ปัตตานี 500 คน และ จ.สงขลา 120 คน) กลุ่มเสริมสร้างสันติสุขชุมชนจำนวน 11,860 คน กลุ่มฝึกทักษะอาชีพ 1,200 คน และกลุ่มสำรองจำนวน 280 คน
"โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานมวลชนและกิจการพิเศษของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือพยายามให้ทุกพื้นที่มีความยั่งยืน งานทุกงานมีความสัมพันธ์กันอย่างบูรณาการ ขอย้ำว่าทหารลงพื้นที่มาเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ให้อยู่ดีมีสุข ดำรงชีวิตได้ตามปกติ ฉะนั้นเราไม่ทำแบบทิ้งขว้าง ต้องให้มีความยั่งยืนและบูรณาการ ไม่ใช่ผลาญงบประมาณให้สูญเปล่า เนื้องานที่ออกมาถือว่าจับต้องได้" นายทหารฝ่ายอำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุ
พ.อ.ฐกร กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาซึ่งสอดคล้องกับแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ และมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
"ลึกๆ แล้วคือเป็นช่องทางในการเข้าถึงประชาชน เราต้องมีประชาชนสนับสนุน เพราะต่อให้มีกองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์มากขนาดไหน ปัญหาภาคใต้ก็ต้องอาศัยพลังจากประชาชนทุกภาคส่วนในการคลี่คลาย ทหารไม่ได้เป็นพระเอก ต้องให้ชาวบ้านเป็นพระเอก ผู้ช่วยพระเอกคือเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ทหารช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ถ้าทุกคนมองแบบนี้ เชิดชูพลังชุมชน มีสภาสันติสุขตำบลและภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง พื้นที่นี้จะสงบสุขเร็วขึ้น"
พ.อ.ฐกร กล่าวด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วโครงการนี้จะปรับลดการจ้างงานลง เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้จริง และปิดโครงการไปในที่สุด ส่วนที่ยังเหลือก็อาจปรับเป็นการจ้างงานแบบปีต่อปี มีห้วงเวลาในการรับคัดเลือก ไม่ใช่จ้างงานถาวร มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา
นักวิชาการสับ "หากิน-ก่อปมขัดแย้ง"
ด้าน ผศ.นุกูล รัตนดากุล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า โครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท เป็นปัญหาทางความรู้สึก เพราะทำให้คนในพื้นที่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวบ้าน เพราะงานในโครงการเป็นงานที่สบาย ทุกคนอยากเข้าไปทำ จึงเกิดการใช้เส้นสายกัน อีกทั้งยังถูกแปรเจตนากลายเป็นเครื่องมือหากินมากกว่าจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ในพื้นที่
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ผศ.นุกูล เห็นว่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่สามจังหวัดอยู่อย่างพึ่งพากัน รัฐจึงควรเข้าไปส่งเสริมให้มีการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ทำโครงการให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่มุ่งประโยชน์ด้านความมั่นคงเท่านั้น
"ยังมีงานพัฒนาในพื้นที่อีกมากที่ควรทำ ไม่ใช่จ้างคนไปเฝ้ายามตามหน่วยราชการต่างๆ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในตอนนี้ ผมอยากให้รัฐมองในมิติวัฒนธรรมและชุมชนให้มากๆ เพื่อชาวบ้านจะได้สร้างอาชีพจากพื้นฐานของพวกเขาอย่างแท้จริง จะได้ไม่ต้องพึ่งพาโครงการต่างๆ ของรัฐไปเรื่อยๆ และสามารถยืนได้ด้วยตนเองอย่างภาคภูมิในที่สุด" ผศ.นุกูล ระบุ
-------------------------------------- โปรดติดตามต่อตอนที่ 2 -------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การฝึกทบทวนการใช้อาวุธให้กับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อให้ดูแลชุมชนของตนเอง เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ใช้งบประมาณจากโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามุ่งเฉพาะมิติด้านความมั่นคงมากเกินไป (ภาพจากแฟ้มภาพ)