‘มิติใหม่วิจัยข้าวไทย’ รับมือภัยความไม่มั่นคงอาหารโลก
ความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทั้งสภาพภูมิอากาศ ประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายประเทศกังวลต่อการผลิตอาหารโลก จึงเร่งหาวิธีรับมือ และที่ไม่ควรละเลยคือการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ปัญหา-ไทยพื้นที่เพาะปลูกน้อยไม่สามารถเพิ่มได้ ขาดเกษตรกรรุ่นใหม่
เป็นครั้งแรกที่ไทยเกิด‘กรอบยุทธศาสตร์การวิจัยเรื่องข้าวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2560’ ที่ 4 หน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(สวก.) กรมการข้าว และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ร่วมกันผลักดันเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านอาหารของโลก โดยมุ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวผลผลิตสูงคุณภาพตรงตามความต้องการตลาด เหมาะสมต่อพื้นที่และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมและเทคโนโลยีโอมิกส์ของพันธุ์ข้าวไทย เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การอนุรักษ์และการสร้างศักยภาพปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต
“ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการพัฒนาคุณภาพข้าวให้เป็นยุทธศาสตร์กลาง เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาในทิศทางเดียวกัน” ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก. ขยายความว่าการดำเนินงานพัฒนาข้าวไทยมีหลายองค์กรเกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนมีความคล้ายคลึงในยุทธศาสตร์แผนงานมากถึงร้อยละ 80 อาจแตกต่างกันเพียงเรื่องการจัดการโลจิสติกส์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่หากไทยมีแผนยุทธศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักจะสามารถพัฒนาข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับได้ โดยทิศทางปี 56 จะเน้นปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะการพัฒนาข้าวขาวหอมมะลิ105 แข่งกับเวียดนาม ซึ่งตั้งใจเลือกพื้นที่ปลูกที่มีคุณภาพ ไม่ขาดแคลนน้ำ เหมือนทุ่งกุลาร้องไห้
ทั้งนี้หลายฝ่ายกังวลว่าอีก 15 ปีข้างหน้าจะผลิตข้าวรองรับประชากรโลกที่สูงขึ้นให้เพียงพออย่างไร โดยคาดการณ์ว่าอาจต้องเพิ่มปริมาณข้าวสูงอีก 114 ล้านตัน ซึ่งไทยกำลังประสบปัญหาเพราะไม่สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้ ประกอบกับขาดแคลนเกษตรกรรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าว พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมุ่งเน้นข้าวโภชนาการสูงในตลาดระดับบน เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเชื่อว่าอนาคตสังคมผู้สูงอายุจะมากขึ้น และมีความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ
ผอ.สวก. ยังมองสถานภาพและทิศทางงานวิจัยด้านข้าวของไทยว่า การลงทุนด้านงานวิจัยไทยอยู่ในระดับ 0.22% ของจีดีพีในระยะเริ่มแรกก่อนจะลดลงเหลือ 0.19% ของจีดีพีในปัจจุบัน มีสัดส่วนนักวิจัยประมาณ 2 คน/ประชากร 10,000 คน ทั้งที่ควรจะเป็น 1% ของจีดีพี โดยตั้งแต่ปี 49-53 มีการลงทุนงบประมาณงานวิจัยข้าวแล้ว 970 โครงการ แบ่งเป็นด้านพัฒนาพันธุ์ข้าวกว่าร้อยละ 50 รองลงมาคือเทคโนโลยีการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการตลาด ตามลำดับ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิเคราะห์สาเหตุงานวิจัยข้าวไทยไม่เป็นที่ยอมรับระดับสากลว่า เกิดจากการขาดแคลนทุนวิจัยข้าวที่ส่งเสริมให้นักวิจัยได้ทำงานในเวทีนานาชาติ เพราะทุนส่วนใหญ่มุ่งส่งเสริมภายในประเทศเท่านั้น ประกอบกับนักวิจัยคิดว่าการศึกษาวิจัยในประเทศง่ายกว่า นอกจากนี้นักวิจัยไทยไม่ควรละเลยการจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ หรือจดสิทธิบัตรในประเทศ แต่ต้องเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยได้จดสิทธิบัตร ‘ยีนความหอม’ ในข้าวแล้ว และขณะนี้งานวิจัยพันธุ์ข้าวทนน้ำของไทย เพื่อแก้ปัญหาข้าวจมน้ำตาย อันเกิดจากน้ำท่วมบ่อยครั้ง กำลังเป็นที่จับตามองของนักวิจัยทั่วโลก
“ไทยจะขึ้นสู่จุดสูงสุดไม่ได้ ถ้ายังวนเวียนอยู่กับเครื่องมือเก่า ๆ ไม่ลงทุนพัฒนาให้เกิดแนวความคิดใหม่ก็ไม่สามารถก้าวนำงานวิจัยข้าวโลกได้” รศ.ดร.อภิชาติ ทิ้งท้าย
ศ.เกียรติคุณ ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสวทช. กล่าวว่าปัจจุบันโลกมีประชากรราว 7,000 ล้านคน และคาดการณ์ว่าอนาคตจะเพิ่มสูงถึง 9,000 ล้านคน หมายถึงปริมาณพื้นที่ผลผลิตจะไม่เพียงพอ ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นในประเทศเขตร้อนมีผลให้ผลผลิตลดลงได้ด้วย ต่างกับประเทศเขตหนาวหรืออบอุ่น หากอุณหภูมิไม่เพิ่มสูงมากจะส่งผลดีต่อผลผลิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่แทน โดยมุ่งเน้นให้ประชากรเข้าถึงการบริโภคอาหารที่เพียงพอและมีโภชนาการสูง
ไทยมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมมีจำกัด และกำลังถูกกดดันจากสังคมว่าเกษตรกรรมเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังไม่นับรวมราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น ฉะนั้นเกษตรกรต้องรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าผ่าน 3 วิธีการคือ 1.การปรับปรุงพันธุกรรมพืช 2.การพัฒนาเทคโนโลยี และ 3.ทฤษฎีเกษตรแม่นยำ
การปรับปรุงพันธุกรรมพืช เป็นการนำเทคโนโลยีจีโนมเข้ามาร่วมปรับปรุงดีเอ็นเอสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ซึ่งสมัยก่อนเมื่อเราตรวจพันธุกรรมพืชจะสังเกตอาการที่แสดงออกมาภายนอกเท่านั้น แต่จีโนมสามารถวิเคราะห์ได้จากปฏิกิริยาของเซลล์ที่เกิดขึ้นภายใน การดำเนินงานของไทยในการนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่พระราชทานเงินส่วนพระองค์ผลักดันไทยเข้าเป็นสมาชิกคลังจีโนมข้าว ทำให้มีโอกาสนำข้อมูลจีโนมวิเคราะห์ค้นหายีนต่างๆจนค้นพบ ‘ยีนความหอม’ และจดสิทธิบัตรนานาชาติ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งการพัฒนาจีโนมทำให้ไทยมีพันธุ์ข้าวทนน้ำขึ้น
การพัฒนาเทคโนโลยี มี 2 วิธี คือ การใช้เครื่องหมายโมเลกุลคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน เพื่อตอบโจทย์พันธุ์พืชในอนาคตที่ต้องทนความเครียดที่เกิดจากสภาวะแวดล้อม แมลงศัตรูพืช ซึ่งการใช้เครื่องหมายโมเลกุลเป็นวิธีการควบคุมยีนของโครโมโซม จะสามารถทุ่นเวลาการทดสอบ โดยการปรับปรุงข้าวที่ผ่านมาสามารถใช้เวลาเพียง 6-7 ปีก็ได้สายพันธุ์ข้าวใหม่ที่รวมคุณสมบัติหลายอย่างในพันธุ์เดียว เร็วกว่าการผสมพันธุ์ปกติ เช่น พันธุ์ข้าวกข. 6 ที่ปลูกทั่วไปในจ.น่าน
ทฤษฎีเกษตรแม่นยำ เมื่อเราพูดถึงการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หลายคนมักคำนึงเพียงการบำรุงพันธุ์พืช แต่ผลผลิตจะดีได้ต้องเชื่อมโยงกับการจัดการฟาร์มที่ดีด้วย โดยใส่ปุ๋ย น้ำ และปลูกในดินที่เหมาะสมกับพันธุ์พืช ซึ่งเกษตรกรต้องมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลดิน น้ำ ปุ๋ย หรืออาจต้องอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายทางอาการและดาวเทียมประกอบการตัดสินใจ เพราะแต่ละพื้นที่มีความจำเพาะ
.................................................................
แม้การขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์การวิจัยเรื่องข้าวแห่งชาติเพิ่งเริ่มต้น แต่เป็นก้าวแรกที่ดีในการเตรียมรับมือสภาวะขาดแคลนอาหารโลก แต่จะเกิดประสิทธิผลได้ต่อเมื่อเกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมภายในเวลาที่เหลืออยู่ไม่กี่ปี.