"จะบังติกอ" ไม่ใช่แค่ย้ายตลาด แต่คือข้อพิพาทเรื่องวิถีชุมชน
เรื่องราวที่วิจารณ์กันให้แซ่ดในตัวเมืองปัตตานียามนี้ นอกจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่หวนกลับมารุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อแล้ว คงหนีไม่พ้นประกาศของเทศบาลเมืองปัตตานีที่ให้ย้ายตลาด "จะบังติกอ" ไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่ทางเทศบาลจัดให้ ซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดสดของเทศบาลในปัจจุบัน
การย้ายตลาด ไม่ว่าจะที่ไหนๆ ในประเทศนี้ก็คงต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพ่อค้าแม่ขายย่อมไม่อยากย้าย ขณะที่ประชาชนก็คงไม่อยากเปลี่ยนสถานที่ซื้อ...
แต่ที่ปัตตานีดูจะมีมิติทางประวัติศาสตร์และผลกระทบทางความรู้สึกมากกว่านั้น
"จะบังติกอ" เป็นภาษามลายู แปลเป็นไทยว่า "สามแยก" ย่าน "จะบังติกอ" ไม่ได้มีความหมายแค่ตลาดของมือสอง แต่ยังเป็นย่านเมืองเก่าของปัตตานี จะเรียกว่าเป็น "พื้นที่ตำนาน" ของเมืองก็ว่าได้ ที่นั่นมีวังเก่าจะบังติกอ เป็นวังโบราณของเจ้าเมืองปัตตานีในอดีต สร้างขึ้นในสมัยตนกูมูฮัมหมัด (พ.ศ.2388-2399) นอกจากนั้นยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนา ได้แก่ มัสยิดรายอ กับสุสานตะเยาะ หรือกูโบร์ตะเยาะ ซึ่งเป็นสุสานหลวงเมื่อครั้งหลายร้อยปีก่อน
ขณะที่ความเป็น "ตลาด" ของจะบังติกอ ก็ไม่ใช่แค่ปีสองปี แต่ยาวนานถึง 30 ปี ตลาดจะบังติกอจึงเป็นยิ่งกว่าตลาด เพราะมันคือ "วิถีชีวิต" ของคนเมืองปัตตานีและอำเภอใกล้เคียง
สำหรับคนนอกพื้นที่อาจไม่รู้ว่าตลาดชื่อแปลกๆ นี้ตั้งอยู่ตรงไหน หากเริ่มจากวงเวียนหอนาฬิกาขาเข้าเมืองปัตตานี วนเข้าถนนกลาพอข้างโรงแรมมายการ์เด้น ทะลุถนนโรงอ่างเลียบแม่น้ำปัตตานี ข้ามสะพานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เชิงสะพานฝั่งตรงข้ามคือตลาดจะบังติกอ
ตลาดแห่งนี้มีลักษณะเป็น "ตลาดนัด" คือมีเฉพาะวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี เวลา 06.00–13.30 น.เท่านั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้ย่านนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งพ่อค้าแม่ขายและลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนาที่พร้อมใจกันมาจับจ่ายซื้อหาทั้งของสด ผัก ผลไม้ อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ แต่ที่ขึ้นชื่อมากเป็นพิเศษคือ "สินค้ามือสอง" ซึ่งไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่มีตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ
เรียกว่ามาที่นี่ที่เดียวได้ของกลับบ้านครบตามต้องการว่างั้นเถอะ!
แต่ขณะนี้ "ตลาดจะบังติกอ" กำลังจะกลายเป็นอดีต เนื่องจากเทศบาลเมืองปัตตานีมีคำสั่งให้ร้านจำหน่ายอาหารสดทั้งหมดย้ายไปขายที่ตลาดแห่งใหม่ที่เทศบาลสร้างขึ้นริมถนนยะรัง เยื้องๆ กับมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานีตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาแล้ว โดยให้ไปขายรวมกับร้านขายอาหารสดเดิมจากตลาดโต้รุ่งที่ถูกย้ายมาเช่นกัน
และล่าสุดยังออกประกาศให้ร้านจำหน่ายสินค้ามือสองอีกจำนวนมากในตลาดนัดจะบังติกอย้ายตามไปด้วย โดยขีดเส้นตายภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้
เหตุผลที่ทางเทศบาลนำมาอธิบายคือ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านย่านจะบังติกอว่าไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรในวันที่มีตลาดนัด!
แต่ก็อย่างที่บอกคือตลาดนัดจะบังติกอได้กลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากไปแล้ว การย้ายตลาดจึงกลายเป็นเรื่องตึงเครียดขึ้นมา...
แบปา (ไม่ขอเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง) พ่อค้าขายเสื้อผ้ามือสอง บอกว่า ขายของที่ตลาดจะบังติกอมานานกว่า 15 ปี นับตั้งแต่เสื้อผ้ามือสองเริ่มได้รับความนิยม ก็เริ่มขายกระทั่งสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ถึงขั้นมีสาขาไปขายตามตลาดอื่นๆ
"นับเวลาดูก็กว่า 15 ปีแล้วที่ผมกับภรรยาอาศัยตลาดแห่งนี้ทำมาหากิน ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องต้นทุนสินค้าราคาสูงขึ้นบ้าง และเหตุการณ์ความไม่สงบที่ทำให้ลูกค้าหายไปบางส่วน ก็ถือว่ากระทบอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอเทศบาลสั่งให้ย้ายไปขายในตลาดใหม่ จึงเป็นเหมือนการซ้ำเติม"
"มาบอกให้เราย้ายตลาด มีที่ไหนบ้างที่รัฐทำอย่างนี้ มาสร้างปัญหาให้ชาวบ้าน ประเทศอื่นเขามีแต่จะทำให้ประชาชนของเขาอยู่ดีกินดี ปัญหาเล็กๆ ก็มาคุยกัน แต่นี่กลับทำปัญหาเล็กให้เป็นปัญหาใหญ่"
กับเหตุผลของเทศบาลที่ว่ามีประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกตลาดได้รับความเดือดร้อน สัญจรไปมาไม่สะดวกนั้น แบปา ยอมรับว่า ก็จริงอยู่ที่อาจจะมีบางกลุ่มรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ถือเป็นปัญหาของคนส่วนน้อย เพราะชาวบ้านละแวกนี้เท่าที่ถามดูส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ เพราะทุกคนเข้าใจว่าถ้าไม่อนุญาตให้ขาย พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากก็ไม่รู้จะไปขายกันที่ไหน
"คนที่มีปัญหาเรื่องเข้าออกบ้านในตอนเช้า สัปดาห์หนึ่งก็จะแค่ 2 วันคือวันจันทร์กับวันพฤหัสฯ และก็แค่ครึ่งวันเท่านั้น เราก็ขายมาตั้งนานแล้วไม่เห็นมีใครบ่นเลย มีแต่เทศบาลเท่านั้นที่มาสร้างความเดือดร้อน"
ยิ่งไปกว่านั้น ในความเห็นของ แบปา เขามองว่าตลาดแห่งนี้คือวิถีชีวิต
"เอาแค่พ่อค้าแม่ค้ากันเองก็ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน คนที่ขายอาหารสดก็มักจะซื้อเสื่อผ้ามือสองที่นี่ ส่วนพ่อค้าอย่างผมที่ขายของมือสองก็จะไปซื้ออาหารสดกลับบ้าน เราใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้มานาน แต่เทศบาลกลับจะเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เรา ตั้งแต่ที่ให้พ่อค้าแม่ค้าอาหารสดย้ายไปขายที่ตลาดใหม่ของเทศบาลแล้ว"
"ที่ทางเทศบาลอ้างว่าชาวบ้านเดือดร้อนนั้นไม่จริง แต่สาเหตุจริงๆ คือเทศบาลสร้างตลาดแห่งใหม่ขึ้นมา ใช้งบหลายล้านบาท แล้วไม่มีใครไปขาย ก็เลยมาบังคับให้ชาวบ้านไปขายโดยเอากฎหมายบ้านเมืองมาขู่ เราเป็นชาวบ้านจะไม่ไปก็ไม่ได้ ไม่มีอำนาจพอที่จะไปต่อต้านกับอำนาจรัฐพวกนี้ ทุกคนจึงจำใจไป ทั้งที่คนที่ไปมาแล้วขายไม่ได้เลย (หมายถึงผู้จำหน่ายอาหารสด) เพราะเอาของอย่างเดียวกันไปขายที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน คือมีทั้งพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดโต้รุ่งเดิมกับผู้ค้าตลาดจะบังติกอ เท่าที่สอบถามทราบว่าบางคนขายได้วันหนึ่งไม่ถึงร้อยบาท" แบปาระบายความอัดอั้น
ขณะที่ ก๊ะนะ แม่ค้าขายร้องเท้ามือสอง เล่าว่า สิ่งที่ได้จากตลาดจะบังติกอ คือการทำงานหาเงินส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรีมาแล้วถึง 2 คน
"ฉันทำมานานจนจำไม่ได้แล้วว่านานแค่ไหน ฉะนั้นถ้าขอร้องได้ก็อยากขอให้พวกเราทำมาหากินอยู่ตรงนี้ต่อไป เพราะปัญหาที่บอกว่าพวกเราทำให้ชาวบ้านแถวนี้เดือดร้อนนั้น ได้ไปสอบถามแล้วไม่มีใครเลยที่บอกว่าเดือดร้อน ทุกคนต่างบอกว่าหลังจากย้ายไปชาวบ้านแถวนี้คงต้องเงียบเหงา เศรษฐกิจแถวนี้ก็คงแย่ลง เพราะไม่มีตลาดแล้ว มีแต่ทางเทศบาลเท่านั้นที่อ้างว่าชาวบ้านแถวนี้เดือดร้อน ก็งงเหมือนกัน เพราะได้ไปสอบถามคนพื้นที่จริงๆ เขาก็บอกไม่อยากให้ย้าย"
ด้าน อับดุลเลาะ สาและ ลูกค้าที่ชอบไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาดจะบังติกอ บอกว่า น่าเสียดายที่เทศบาลจะย้ายตลาดแห่งนี้ไป เพราะถือเป็นตลาดขายของมือสองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดเลยก็ว่าได้
ส่วนชาวบ้านย่านตลาดจะบังติกอซึ่งไม่ขอออกนามเช่นกัน กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่เทศบาลจะย้ายตลาด เพราะชาวบ้านอยู่คู่กับตลาดมานานกว่า 30 ปีแล้ว
"ตลาดจะบังติกอจะเปิดขายเฉพาะวันจันทร์กับวันพฤหัสฯ ซึ่งเป็นวันที่วุ่นวายก็จริง ต้องนำรถออกจากบ้านตั้งแต่หัวรุ่ง (เช้าตรู่) แต่เราก็ใช้ชีวิตอย่างนี้มานานจนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ฉะนั้นหากย้ายตลาดไปจริงๆ เศรษฐกิจแถวนี้คงต้องซบเซา และทำให้ตลาดเก่าแก่ต้องกลายเป็นอดีตไป"
ด้าน พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี ยืนยันว่า ตลาดนัดจะบังติกอสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในย่านนั้นอย่างแน่นอน และเป็นจำนวนมากด้วย ที่ผ่านมาชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกจะบังติกอเองที่ร้องเรียนมาว่าเดือดร้อนทุกครั้งที่มีตลาดนัด สัญจรไปมาไม่สะดวก ไปทำงานหรือไปส่งลูกที่โรงเรียนก็ยากและล่าช้า ทางเทศบาลจึงต้องขอให้ย้ายไปขายในตลาดแห่งใหม่เพื่อแก้ปัญหา
"ที่ผ่านมาทางฝ่ายพ่อค้าแม่ค้าก็ขอผ่อนผันมาตลอด เราก็ยอม ครั้งนี้เขาบอกเองว่าจะย้ายภายในสิ้นเดือน มี.ค. นี่คือสิ่งที่ผู้ค้าแจ้งมาเอง ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไป" นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปัตตานี กล่าว
ดูเหมือนเรื่องเล็กๆ ในสายตาของฝ่ายปกครอง กำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่อขัดแย้งบานปลายในดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างปลายสุดด้ามขวาน!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-3 บรรยากาศที่ตลาดนัดจะบังติกอ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)