เรื่องเล่าจากภาพถ่าย...ลมหายใจผ่านยุคสมัยของเมืองปัตตานี
แม้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างยิ่งจากเหตุรุนแรงขนาดใหญ่แบบถี่ยิบเหมือนย้อนกลับไปช่วงปี 2548 หรือ 2550 ทว่าความเคลื่อนไหวในพื้นที่ก็ยังมีกิจกรรมดีๆ ในบรรยากาศสันติสุขอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ดังเช่นนิทรรศการภาพถ่าย "เรื่องเล่าเมืองตานี" ที่เพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อไม่กี่วันมานี้
"คนให้ความสนใจเข้ามาดูนิทรรศการกันเยอะมาก เป็นจำนวนที่น่าชื่นใจ บางคนถึงกับบอกว่าไม่คิดว่าจะมีเรื่องราวและมุมดีๆ อย่างในภาพถ่ายเหลืออยู่ในพื้นที่อีก" ชุมศักดิ์ นรารัตนวงศ์ หนึ่งในผู้ร่วมจัดนิทรรศการ เอ่ยด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจกับบรรยากาศอุ่นหนาฝาคั่งของผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน
ขณะที่ ประยูรเดช คณานุรักษ์ รองประธานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) บอกว่า ภาพทั้งหมดที่นำมาจัดแสดงมีทั้งการประมวลภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ใน จ.ปัตตานี โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เป็นผู้รวบรวม นอกจากนั้นก็มีหมวดภาพเก่าหายากโดยความอนุเคราะห์จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ขณะเดียวกันยังมีภาพน่าสนใจและมีน้อยคนที่จะเคยเห็น คือภาพถ่ายปัตตานีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จากคณาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์และแผนกวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษยศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี และภาพประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนภาพสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และสถานที่ท่องเที่ยว เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนมุมมองงดงามผ่านภาพถ่ายจากฝีมือช่างภาพในพื้นที่และส่วนกลางกว่า 20 คน รวมถึงเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ด้วย
นิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้จัดขึ้นที่สำนักงานมูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) ถนนอาเนาะรู ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีและเทศกาลมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 14-21 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีองค์กรร่วมจัดคือ มูลนิธิเทพปูชนียสถาน (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) สำนักหัวใจเดียวกัน และ เว็บบล็อก โอ.เค.เนชั่น
ทุกคนที่ได้เข้าชมงานจะได้ซึมซับความเป็นดินแดนอันโดดเด่นด้วยอัตลักษณ์พิเศษของ "ปัตตานี" ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลายมิติจากช่างภาพนับสิบชีวิต ทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต จิตวิญญาณ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ศรัทธาความเชื่อ และสีสันของผู้คน โดยผ่าน "ภาพเล่าเรื่อง" มีทั้งภาพเก่าและใหม่นำเสนอสลับกันอย่างกลมกลืน
ชุมศักดิ์ บอกต่อว่า เมื่อเสร็จงานแล้ว ภาพที่นำมาจัดนิทรรศการในส่วนที่เป็นของเครือข่ายของเขาได้มอบให้เป็นสมบัติของมูลนิธิฯ ทั้งภาพและไฟล์ภาพ หลังจากนี้หากองค์กรหรือหน่วยงานใดต้องการนำภาพไปจัดนิทรรศการหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิเทพปูชนียสถาน
ขณะที่ ศ.ดร.ครองชัย หัตถา อาจารย์จากภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ยังได้บอกเล่าถึงพัฒนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เอาไว้อย่างน่าสนใจ
"ดินแดนแถบนี้ผ่านอารยธรรมมาหลายยุคหลายสมัยตามลำดับ นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลักฐานการอยู่อาศัยของชนพื้นเมืองมาตั้งแต่ก่อน 3,000 ปีล่วงมา เรียกโดยรวมว่า พวกโอรัง อัสลี (Orang Asli) ซึ่งได้แก่ กลุ่มนิกริโต (Nigrito) เช่น ซาไก และ เซมัง นอกจากนั้นยังมี กลุ่มซีนอย (Senoi) เผ่ามองโกลอยด์ใต้ ได้แก่ บรรพบุรุษของชาวสยามและชาวมลายูอยู่อาศัยมานานนับพันปีเช่นกัน
ต่อมาในยุคเริ่มประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000 ปีถึงประมาณ พ.ศ.700 มีชาวอินเดียและชาวอาหรับบางกลุ่มเดินทางมาแถบนี้พร้อมกับนำศาสนาและวัฒนธรรมมาเผยแพร่ ทำให้ศาสนาฮินดูเข้ามาในระยะนั้น ตราบกระทั่งประมาณ พ.ศ.700-1400 คือสมัยอาณาจักรโบราณ "ลังกาสุกะ" ซึ่งกล่าวกันว่าแหล่งโบราณสถานแถบท่าสาป อ.เมืองยะลา และ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ยังคงปรากฏร่องรอยอยู่เป็นจำนวนมากได้รับการก่อสร้างและลงหลักปักฐานในช่วงนี้ โดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และพุทธ
ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ลังกาสุกะตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งมีกองทัพเรือขนาดใหญ่ ช่วงเวลาเดียวกันนั้น "พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน" ยังได้รับความนิยมมาก ชาวลังกาสุกะยอมรับนับถือ "พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน" อย่างแพร่หลาย ศาสนสถานหลายแห่งและศิลปวัตถุในพุทธศาสนาถูกสร้างขึ้นจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ในถ้ำคูหาภิมุข จ.ยะลา และพระพุทธรูปปางต่างๆ ด้วย
ลังกาสุกะอยู่ภายใต้อำนาจของโจฬะแห่งอินเดียในปี พ.ศ.1567 แต่หลังจากนั้นชาวเมืองลังกาสุกะได้ต่อสู้ยึดอำนาจคืนมาได้ในปี พ.ศ.1587 แม้ว่าหลังจากนั้นอาณาจักรศรีวิชัยจะกลับมามีอำนาจ แต่ก็พ่ายแพ้ต่ออาณาจักรที่ตั้งขึ้นใหม่ คือ "มัชปาหิต" ในปี พ.ศ.1836
ในห้วงนี้ "ศาสนาอิสลาม" ได้แผ่ขยายเข้ามามากขึ้นโดยพ่อค้าและนักเผยแผ่ศาสนาชาวอาหรับและชาติต่างๆ ตราบลุถึงสมัย "ลังกาสุกะ" ภายใต้อำนาจของสุโขทัย-อยุธยา และมัชปาหิต ในปี พ.ศ.1838
เมื่อกองทัพมะละกาบุกเข้าโจมตีเมืองโกตามหลิฆัยของลังกาสุกะและขยายอำนาจเข้าปกครองเมืองต่างๆ แถบปลายแหลมมลายู ทำให้ชาวเมืองหันมานับถือศาสนาอิสลามตามแบบอย่างมะละกามากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับปัตตานีนั้น "พญาอินทิรา" โอรสของราชาศรีวังสาแห่งโกตามหลิฆัย ได้สร้างเมือง "ปตานี" ขึ้นใหม่ที่ริมทะเลบ้านกรือเซะบานาเมื่อราว พ.ศ.2000 ต่อมาทรงเข้ารับอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็น สุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ ปกครองเมืองปัตตานีระหว่างปี พ.ศ.2043-2073
จากนั้นมาเมืองปัตตานีก็เข้าสู่ "ยุคอิสลาม" โดยสมบูรณ์ มีความรุ่งเรืองมากทั้งในด้านการผลิตนักเผยแผ่ศาสนา และเป็นศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลาม จนได้รับการยกย่องว่า "ปตานีเป็นกระจกเงาและเป็นระเบียงแห่งเมกกะ"
ปัตตานีมี "สุลต่าน" หรือ "รายา" เป็นเจ้าเมืองปกครองต่อเนื่องมาถึง 23 พระองค์ กระทั่งปี พ.ศ.2351 จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบบ 7 หัวเมือง ก่อนที่ "ชายแดนภาคใต้" จะมีฐานะเป็นจังหวัดในระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารการปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน"
ดินแดนแห่งนี้ยังมีเรื่องราวให้เรียนรู้และค้นหามากมาย เป็นลมหายใจแห่งยุคสมัย...ลมหายใจปัตตานี
----------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายจากภาพถ่ายที่จัดแสดงในนิทรรศการ