ทางเลือกเพื่อทางรอดจัดการน้ำโดยท้องถิ่น 3 ลุ่มน้ำท่าจีน-ยม-ชี
รอบปีที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นควันหลงจากปีก่อน ๆ คือการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งงบประมาณ 3.5 แสนล้านตามโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลถูกวิจารณ์หนักว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน-เอื้อทุจริตคอรัปชั่น มาดูทางเลือกการจัดการน้ำโดยชุมชน 3 ลุ่มน้ำท่าจีน-ยม-ชี
คนนครปฐม ‘ค้านขุดแม่น้ำ-ทำฟลัดเวย์ท่าจีน’ สวนทางระบบนิเวศน์
กมล เปี่ยมสมบูรณ์ ผู้แทนสภาลุ่มน้ำท่าจีน จ.นครปฐม เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำท่าจีนเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่คนนครปฐม ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านร่วมกันดูแลรักษาจนทำให้แม่น้ำที่เคยเน่าเสียฟื้นคืนความสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันมีโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังบั่นทอนสายน้ำผืนนี้
“ซึ่งพวกเราจะไม่ยอมอีกต่อไป โดยใครที่ย้ายถิ่นฐานมาหากินบ้านเรา ห้ามทิ้งให้บ้านเราเป็นขยะเด็ดขาด แต่จะต้องร่วมกันจัดการลุ่มน้ำท่าจีนให้ดีที่สุด”
กมล ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมปี 49 ว่าเป็นน้ำท่วมเชิงนโยบาย โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งในสมัยนั้นขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตระเวนทางอากาศดูน้ำ เมื่อเห็นว่าพื้นที่นครปฐมน้ำยังไม่ท่วมขังก็สั่งเปิดประตูระบายน้ำมาอีก จนทำให้กลไกธรรมชาติของแม่น้ำเสียไป และเกิดน้ำท่วมขังตามมา เพราะนักวิชาการคิดเพียงว่าสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ สถานการณ์น้ำท่วมปี 54 ก็เช่นกันที่เป็นน้ำท่วมเชิงนโยบายภายใต้การบริหารจัดการที่ล้มเหลวของหน่วยงานภาครัฐที่ทะเลาะกันเอง ส่งผลให้เหตุการณ์บานปลายจนชาวบ้านต้องอยู่ร่วมกับน้ำนานกว่าปกติ คนนครปฐมแต่เดิมไม่เคยกลัวน้ำเลยเพราะเกิดมาต้องใช้ชีวิตร่วมกับน้ำไม่ต่างกับคนอยุธยา แต่น้ำท่วมปี 54 ทำให้คนกลัวน้ำ
ผู้แทนสภาลุ่มน้ำท่าจีน ยังเล่าว่าปัจจุบันภาครัฐยังคิดจะขุดแม่น้ำท่าจีนให้ตรง เพื่อให้น้ำไหลลงทะเลเร็ว โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในระบบนิเวศน์ว่าน้ำจะไหลเร็วนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับระบบน้ำขึ้น-ลงของทะเลด้วย เพราะหากน้ำทะเลหนุนก็ยากที่จะระบายน้ำได้เช่นกัน และคนนครปฐมยังขอคัดค้านโครงการที่รัฐบาลจะนำพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนทำเป็นฟลัดเวย์ เพราะเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เสนอว่าควรหันมาศึกษาลุ่มน้ำท่าจีนให้ละเอียดก่อนจะสร้างโครงการจัดการน้ำ และควรเกิดการขุดลอกคลองอย่างเป็นระบบ พร้อมให้ฟื้นฟูคูคลองที่มีอยู่ให้กลับคืนมา เพื่อให้เกิดทางไหลของน้ำตามธรรมชาติต่อไป
ภาคประชาชนยังเห็นว่าหากคิดจัดการน้ำโดยการทำกำแพงกั้น แล้วไม่ปล่อยให้น้ำเข้าพื้นที่เลย อาจเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะคนที่อาศัยใกล้เคียงคงไม่มีใครยอมจมน้ำ หลายคนจึงมีความรู้สึกอยากทำลายกำแพงน้ำที่กั้นไว้ให้น้ำไหลออกจากบ้านตน ถึงตอนนั้นภาครัฐจะจัดควบคุมไม่ได้
“หากใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง โดยไม่คำนึงถึงภาพรวมในการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่ตามมาคืออนุสาวรีย์ชิ้นหนึ่งที่สร้างแล้วไม่ใช้งานเหมือนที่มีปรากฎอยู่ทั่วไป ขอให้คิดให้รอบคอบเพื่อแก้ปัญหาให้ยั่งยืน”
ชาวบ้านสะเอียบ ‘ค้านเขื่อนใหญ่แก่งเสือเต้น’ เสนอระบบเหมืองฝายตลอดลุ่มน้ำยม
ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่าจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 55 ทำให้รัฐบาลหยิบยกเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้งภายใต้งบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ด้านการเกษตรและป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เพราะแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ปิดกั้น แต่ความจริงแล้วแม่น้ำยมมีประตูระบายน้ำขนาดเล็กและฝายกั้นน้ำขนาดใหญ่ที่ อ.สอง และถึงแม้จะมีเขื่อนเกิดขึ้นไม่แก้น้ำท่วมหากฝนตกลงมาท้ายเขื่อน
เสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมคือการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งชาวสะเอียบได้ยึดถือปฏิบัติมานานกว่า 120 ปี จนกลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หนึ่งในนั้นคือการทำฝายชะลอน้ำ พิธีบวชป่า พิธีเลี้ยงผีต้นน้ำ พิธีสืบชะตาแม่น้ำ ทำให้ป่ามีสภาพอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยป่าสักทองที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย โดยมีพื้นที่ถึง 2.4 หมื่นไร่ เกิดแหล่งอาหารทางธรรมชาติ รวมถึงพันธุ์ปลาน้อยใหญ่ 104 ชนิด จนเป็นคลังความมั่นคงทางอาหาร
“เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่แก้ปัญหา แต่ควรพัฒนาระบบเหมืองฝาย อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายน้ำล้น และทำให้ 77 ลุ่มน้ำทั่วประเทศทำงานได้มีประสิทธิภาพ แต่นักการเมืองหลับหูหลับตาทำเป็นไม่เห็น เพราะเป็นงบเล็กงบน้อย จึงมุ่งไปที่เขื่อนแก่งเสือเต้นงบก้อนใหญ่มีเงินทอนเยอะ ซึ่งชาวสะเอียบยังมีชีวิตอยู่จะไม่ให้เกิดขึ้น”
เอ็นจีโอชี้ กินตาม (งบ) น้ำอย่างน้อยร้อยละ 30 ค้าน ‘สร้างนิคมอุตฯ สีเขียวแย่งน้ำเกษตร’
“น้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางกลุ่มมองเป็นวิกฤตที่จะเป็นโอกาสการนำงบประมาณมาใช้ ถ้าน้ำไม่ท่วมเชื่อว่านักการเมืองคงจะหงอย” พิชาญ ทิพย์วงศ์ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อนภูขยายความว่าบ่อยครั้งมีการตั้งงบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยไม่รู้จักสภาพพื้นที่จริงด้วยซ้ำ เป็นเพียงการหาช่องทุจริตคอรัปชั่น เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำภาคอีสานที่ถือว่าทุจริตมากที่สุด โดยหากตั้งงบประมาณ 100 บาท ผู้รับเหมาโครงการต้องจ่ายใต้โต๊ะให้นักการเมือง 30 บาท เพื่อจะได้รับงานไปทำ นอกจากนี้ยังมีโครงการยิบย่อยในพื้นที่อีกมากมาย เช่น โครงการขุดลอกคูคลอง เกิดการทุจริตกันง่ายมาก โดยเฉพาะคลองที่มีวัชพืช ผู้รับเหมาไม่ขุดลอกคูคลองตามสัญญาว่าจ้าง เพียงแต่เกี่ยววัชพืชทิ้งให้ชาวบ้านเข้าใจว่าขุดลอกเรียบร้อยแล้ว
พิชาญยังยกกรณีสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำชี ว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดของภาครัฐ เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำ หนำซ้ำยังทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายนับร้อยไร่ เปลี่ยนระบบนิเวศน์ทำให้พันธุ์ปลาในแม่น้ำชีลดลงจำนวนมาก จึงเสนอให้รัฐสนับสนุนการจัดการน้ำโดยมีชุมชนเป็นเจ้าภาพ ให้เครือข่ายชุมชนแต่ละลุ่มน้ำเชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นระบบร่วมกัน
พิชาญยังกล่าวถึงแนวคิดสร้างนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวในภาคอีสาน ว่าแม้ว่าอาจส่งผลดีกับแรงงานที่ไม่ต้องอพยพทำงานในกรุงเทพฯ แต่หวั่นว่าอนาคตจะเกิดภาวะแย่งน้ำกันขึ้นระหว่างพื้นที่เกษตรกับอุตสาหกรรม สุดท้ายชาวบ้านจะเสียเปรียบ
‘ธนาคารเมล็ดพันธุ์-กองทุนภัยพิบัติ’ ทางเลือกเพื่อทางรอดยุคภัยพิบัติ
บุญยืน วงศ์สงวน กรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนฯ กล่าวว่าชาวบ้านลุ่มน้ำยมตั้งแต่ จ.สุโขทัยลงมาถึงบางระกำ จ.พิษณุโลก อาศัยกับน้ำมานานจนกลายเป็นวิถีชีวิต แต่วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 น้ำมาเร็วกว่าปกติ จากเดิมอยู่ช่วง ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี ทำให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวไม่ทันสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรมหาศาล แต่เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ พื้นที่ดังกล่าวถูกละลืมไปจากภาครัฐและสังคมทั้งที่ยังมีปัญหาอยู่ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันช่วยเหลือตัวเอง เช่น ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสะสมเสบียงอาหารไว้ในยามฉุกเฉิน แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาบางส่วน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกเสมอ จึงต้องนำบทเรียนการจัดการน้ำของแต่ละท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนรับมือกับปัญหาในอนาคต
จึงเห็นรูปธรรมดี ๆ ที่เกิดขึ้นและสามารถขยายผลได้ เช่น การรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชทนน้ำท่วมทนแล้ง แล้วจัดตั้งเป็น ‘ธนาคารเมล็ดพันธุ์’ เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรเพาะปลูกในลักษณะแพปลูกผัก ใช้วัตถุดิบตั้งแต่ไม้ไผ่ ต้นกล้วย จะได้มีอาหารไว้กินยามเกิดสถานการณ์ร้ายแรง และจัดตั้ง ‘กองทุนภัยพิบัติชุมชน’ เพื่อให้ชาวบ้านกู้ยืมเงินไว้เลี้ยงชีพยามฉุกเฉิน พร้อมจัดทีมสำรวจระบบนิเวศน์ลำน้ำ โดยตระเวนดูประตูระบายน้ำ คลองส่งน้ำ ฝายน้ำล้น ซึ่งพบว่าร้อยละ 80 ใช้งานไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งซ่อมแซมโดยด่วน นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) รวบรวมข้อมูลกลไกจัดการน้ำให้เป็นระบบมากขึ้น
ยังเกิดข้อเสนอให้วิเคราะห์ปฏิทินการจัดการน้ำให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตของเกษตรกร โดยนโยบายที่จะเกื้อหนุนภาคเกษตรกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นนโยบายเดียวทั้งประเทศ แต่ต้องเหมาะแต่ละท้องถิ่นที่มีบริบทแตกต่างกัน และรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในชุมชน
..................................................................
อุทกภัยปลายปี 54 ครบรอบขวบปีตามอายุรัฐบาล แต่ดูเหมือนนโยบายการจัดการน้ำยังไม่กระเตื้องและตอบโจทย์สังคมที่เฝ้ารอคอย และยังมีข้อครหาถึงการใช้งบประมาณมหาศาลจากภาษีประชาชนทั้งประเทศที่ยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนได้ .