เสียหายแต่ไม่เสียใจ...รอวันนับหนึ่งใหม่ของเหยื่อคาร์บอมบ์ยะลา
ควันไฟจากระเบิดและเพลิงที่เผาผลาญอาคารบ้านเรือนหลังคนร้ายจุดชนวน "คาร์บอมบ์" ใกล้สี่แยกธนาคารนครหลวงไทยกลางเมืองยะลายังไม่ทันจางหาย คนใจร้ายก็กด "คาร์บอมบ์" อีกลูกในย่านสถานบริการคาราโอเกะกลางเมืองนราธิวาส แค่สองเหตุการณ์ห่างกัน 6 วันมีผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบครึ่งร้อย
"ทีมข่าวอิศรา" ย้อนกลับไปยัง "จุดเกิดเหตุ" ในเขตเทศบาลนครยะลาอีกครั้ง แม้เวลาจะล่วงผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว แต่ร่องรอยความสูญเสียยังคงอยู่เกือบจะสภาพเดิม หลายคนเวียนรถมาดูภาพแห่งความเสียหาย ขณะที่รถแบ็คโอคันใหญ่ของเทศบาลกำลังรื้อถอนซากปรักหักพัง มีเจ้าของบ้านและร้านค้าที่ถูกไฟเผานั่งคัดแยกทรัพย์สินกลางแดดเปรี้ยง ด้วยหวังว่าจะเจอสิ่งของบางอย่างที่ไม่สูญสลายและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในยามที่เรียกได้ว่า "สิ้นเนื้อประดาตัว" แล้ว
มูลค่าความเสียหายที่ทางการประเมินคือ 30 ล้านบาท ประกอบด้วยบ้านและอาคารพาณิชย์เก่าแก่ทรงคุณค่า 11 คูหา รถยนต์ 5 คันและรถจักรยานยนต์อีก 15 คัน แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับผลกระทบทางจิตใจ และบรรยากาศความน่าสะพรึงกลัวที่แผ่ปกคลุม "ย่านสายกลาง" ที่เคยรู้จักกันดีในหมู่นักช้อปน้อยใหญ่ชายแดนใต้
วันนี้ "ถนนสายกลาง" แห่งเมืองยะลาแทบจะร้างผู้คน...
พี่อารี เจ้าของร้านกิฟท์ช็อป บอกว่า หลังเกิดคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 13 ก.พ.แทบไม่มีลูกค้ากล้าออกมาเดินซื้อของเลย จากที่วันหนึ่งๆ เธอเคยขายได้บ้าง ถึงวันนี้ต้องเรียกว่าขายเกือบไม่ได้เลย ขณะที่ค่าเช่าแผงยังต้องจ่ายเหมือนเดิม
"รายได้ไม่พอกับรายจ่ายเพราะไม่มีคนซื้อ ค่าเช่าแผงเดือนละ 5,000 บาทก็ยังต้องจ่ายเหมือนเดิม แต่ตอนนี้ขายได้วันละแค่ไม่กี่บาท แย่เหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ไม่ได้ เพราะที่นี่บ้านเรา"
ช่วงนาทีที่เกิดระเบิดจนพื้นถนนสะเทือน พี่อารี ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย
"ขณะเกิดเหตุเป็นตอนสายๆ วันอาทิตย์ ช่วงที่ระเบิดร้านก็เปิด ได้ยินเสียงดังสนั่น ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก สักพักเห็นควันขโมง" เธอเล่าและจู่ๆ ก็เงียบไปเฉยๆ คล้ายไม่อยากนึกถึงภาพความโหดร้าย
พี่อารี บอกว่ารู้สึกน้อยใจนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะท่าทีของผู้นำประเทศไม่เหลียวแลคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย
"พวกเราต้องการที่พึ่ง อย่างน้อยๆ ท่านน่าจะลงมาเยี่ยมพวกเราบ้าง พวกเราจะได้อบอุ่น เพราะคนใต้ส่วนใหญ่ก็เลือกพรรคเขา (พรรคประชาธิปัตย์) หลังจากนี้คงไม่หวังแล้วว่ารัฐบาลจะมาแก้ปัญหาความไม่สงบ เพราะขนาดวันเกิดเหตุคาร์บอมบ์ท่านนายกฯยังไม่ลงมาดูเลย แล้วจะให้แก้อะไรได้"
พี่อารี กล่าวจากประสบการณ์ของตัวเองที่อยู่ในพื้นที่มานานว่า รัฐบาลเลือกแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงไม่มีทางประสบความสำเร็จ
"ต้นเหตุอยู่ตรงไหน รัฐต้องไปหา แต่นี่มาแก้ที่ปลายทาง คงไม่สำเร็จแน่นอน ส่วนพวกเราที่เป็นประชาชนก็ไม่รู้ รู้แต่เพียงว่าเกิดระเบิดอีกแล้ว ใกล้เราเข้ามาทุกทีแล้ว กลัวก็กลัวแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่อก่อนขายของได้ถึง 2 ทุ่ม เดี๋ยวนี้ 6 โมงเย็นก็เก็บกันหมด"
เธอยกตัวอย่างวันที่คุยกันนี้ ผ่านไปครึ่งวันแล้วขายได้แค่ 50 บาท แต่ก็ยังไม่วายตั้งความหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป อะไรๆ จะเริ่มดีขึ้นกว่าเดิม
"ปกติย่านสายกลางจะคึกคัก คนเยอะ ยิ่งวันหยุดเสาร์–อาทิตย์ด้วยแล้วคนยิ่งพลุกพล่าน มาจับจ่ายซื้อของกัน แต่พอเกิดคาร์บอมบ์แล้วคนหายหมด นับคนที่มาได้เลย ถ้าจะมีบ้างก็คือคนที่ขับรถมาดูซากตึกเท่านั้น ก็ได้แต่หวังว่าหลังผ่านเหตุการณ์นี้ไปสักพัก ทุกอย่างจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ"
เดินถามแม่ค้าอีก 2-3 คนที่เปิดร้านขายเสื้อผ้าและกระเป๋าตามแฟชั่น ทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันถึงปัญหายอดขายตกฮวบ แต่ก็บอกอย่างปลงๆ ว่าคงทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจยอมรับสภาพ
อีกมุมของซากปรักหักพัง ลุงสะแปอิง บือแน วัย 69 ปี นั่งดูรถแบ็คโฮของเทศบาลรื้อถอนเศษไม้ไหม้ไฟซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่วันยังเป็นร้านของตัวเองที่ใช้ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวมาเนิ่นนาน
คุณลุงบอกว่าวันเกิดเหตุไม่ได้อยู่ร้าน แต่พักผ่อนอยู่ที่บ้านกับลูกสาวและภรรยา ส่วนร้านก็ปิดไว้ ซึ่งก็เป็นปกติทุกวันอาทิตย์อยู่แล้ว แม้การปิดร้านจะทำให้ตนเองปลอดภัย แต่ก็ทำให้สูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดไปกับเปลวเพลิง ส่วนห้องอื่นๆ อีก 4 ล็อคที่เปิดให้เช่าก็สลายไปพร้อมกับเสียงระเบิดเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในทัศนะของลุงสะแปอิง แกยังรู้สึกพอใจกับความช่วยเหลือที่ได้รับจากทางการ
"การเยียวยาจากภาครัฐก็ถือว่าดีระดับหนึ่ง เขาจะสร้างอาคารใหม่ให้ ค่าใช้จ่ายไม่ต้องออกสักบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 6 เดือนเสร็จ ส่วนทรัพย์สินที่เสียหายเขาให้เราประเมินคร่าวๆ ว่าเท่าไหร่ แล้วก็จะชดเชยให้ ก็หวังว่าจากนี้ไปจะมีลูกค้าเข้ามาเหมือนปกติ" ลุงสะแปอิงคิดถึงอนาคต
ส่วน อามีเนาะ บือแน ภรรยาของคุณลุง เล่าว่า ทีแรกคิดว่าเป็นเหตุระเบิดทั่วไป เพราะหลังจากได้ยินเสียงระเบิดก็มีเสียงรถหวอวิ่งผ่าน ใจไม่นึกว่าจะเป็นร้านของตัวเอง แต่ถ้าวันนั้นอยู่ที่ร้านก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร
"จริงๆ ก๊ะเป็นคนกรุงเทพฯ มาอยู่ที่นี่ 40 กว่าปีแล้ว แม้จะเกิดเหตุแต่คงไม่ย้ายกลับหรอก เพราะที่นี่เป็นบ้านเราไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเราก๊ะไม่คิดอะไรมาก ในเมื่ออัลลอฮ์ให้บททดสอบกับครอบครัวก๊ะแบบนี้ก็ต้องอดทนและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น"
เธอยังเอ่ยถึงทรัพย์สินที่เสียไปว่าเป็นแค่ของนอกกาย
"ก๊ะเฉยๆ นะหมดก็หมด ไม่ท้อหรือรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะของนอกกายหาใหม่ได้ สิ่งดีๆ อาจมีรออยู่ในวันข้างหน้า ใครจะไปรู้ว่าอัลลอฮ์จะให้มากน้อยแค่ไหน ก๊ะถึงไม่อยากคาดหวัง อัลลอฮ์ให้ก็ขอบคุณ ไม่ให้ก็ขอบคุณ"
"ลองนึกดีๆ ดูสิ แม้บ้านเราจะถูกไฟไหม้จนไม่เหลืออะไร แต่อัลลอฮ์ก็ตอบแทนกับก๊ะ ให้มีบ้านตึกขึ้นมา ขณะที่บ้านเดิมเป็นแค่บ้านไม้ธรรมดา" อามีเนาะกล่าวอย่างพอจะยิ้มออกบ้าง
ที่เทศบาลนครยะลา พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีที่ใครๆ เรียกกันติดปากว่า "นายกฯอ๋า" กำลังเร่งงานอย่างขะมักเขม้นทั้งเรื่องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน
นายกฯอ๋า กล่าวถึงเสียงบ่นเรื่องความเงียบเหงาจนการค้าขายซบเซาว่า ในสัปดาห์แรกก็ต้องยอมรับว่าอาจมีผลกระทบอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปในพื้นที่เขตเทศบาล การค้าขายเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มีการนำสินค้าราคาถูกมาวางจำหน่ายและได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากพอสมควร ส่วนสภาพพื้นที่ทั่วไปอีกไม่นานก็น่าจะเหมือนเดิม
"เราก็ต้องยอมรับ เหตุคาร์บอมบ์ไปเกิดในย่านสายกลาง ผลกระทบต่อการค้าขายก็ต้องมีบ้าง แต่ยืนยันว่าไม่มาก เพราะตั้งแต่ปี 2547 เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ครั้งนี้ก็ได้พยายามนัดหารือกับทุกฝ่ายเพื่อวางมาตรการร่วมกัน จะได้ไม่ต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก"
ในทัศนะของนายกฯอ๋า เขาเห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่เลย
"คงต้องมาเริ่มต้นคิดกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีคาร์บอมบ์หรือวัตถุระเบิดเล็ดรอดเข้ามาในตัวเมืองได้ ทางแก้ต้องเริ่มตั้งแต่ด่านตรวจต่างๆ ที่ต้องมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ก็ต้องคอยสอดส่อง ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน" นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา กล่าว
เป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัย และการฟื้นฟูหัวจิตหัวใจของผู้คน...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 และ 4 สภาพความเสียหายจากเหตุคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลา
3 บรรยากาศเหงาๆ บนถนนสายกลาง