มิคสัญญีที่อิยิปต์...ความอกสั่นขวัญแขวนของพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้
อับดุลสุโก ดินอะ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ประเทศอียิปต์ เขียนบทความบอกเล่าความรู้สึกและสภาพจิตใจของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังเกิดสถานการณ์วุ่นวายในกรุงไคโร “ทีมข่าวอิศรา” นำมาผสมผสานกับบทสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ที่จัดทำโดยผู้สื่อข่าวประจำ จ.ยะลา ทำให้ได้เห็นภาพความเชื่อมโยงที่ชัดเจนขึ้น และสะท้อนให้เห็นว่าโลกของเราวันนี้แคบลงเหลือเกิน
ผลการประท้วงขับไล่ผู้นำอียิปต์ นายฮอสนี มูบารัก ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 30 ปี สร้างความสั่นสะเทือนต่อการเมืองอียิปต์ ตลอดจนหลายประเทศในตะวันออกกลาง และในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลใจให้กับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ไม่น้อย อันเนื่องมาจากความเป็นห่วงบุตรหลานที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร มหาวิทยาลัยไคโร และสถาบันอื่นๆ ในประเทศอียิปต์ เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย
อับดุลอซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การชุมนุมประท้วงและความรุนแรงที่เกิดขึ้นน่าจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนไทยที่อยู่ในอียิปต์เกือบ 3,000 คน และเป็นนักเรียนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหลายร้อยคน โดยนักเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปศึกษาต่อด้านศาสนา
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความห่วงกังวลและความไม่สบายใจของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือครอบครัวของ นายอับดุลรอฮมาน วอเดร์ ที่บ้านนิบงบารู หมู่ 7 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งได้ส่งลูกสาวคือ น.ส.สุไมยะห์ วอเคร์ ไปเรียนภาษาอาหรับที่มหาวิทยาลัยไคโร ประเทศอียิปต์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ช่วงที่สถานการณ์กำลังเข้าไต้เข้าไฟ นายอับดุลรอฮมาน พร้อมกับภรรยาและญาติพี่น้อง ได้รวมตัวกันที่บ้านเพื่อโทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศไปหา น.ส.สุไมยะห์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความตึงเครียดและห่วงใย
นายอับดุลรอฮมาน เล่าว่า ลูกสาวเป็นนักเรียนทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไคโรได้ 2 ปีแล้ว โดยไปเช่าบ้านอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยใจกลางกรุงไคโร เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น จึงได้โทรศัพท์ไปบอกลูกสาวให้ย้ายที่พักไปอยู่รวมกับกลุ่มนักศึกษาไทยบริเวณชานเมือง และให้อยู่แต่ภายในบ้าน ห้ามออกนอกบ้านอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลเดินขบวนกันอยู่ และมีกองกำลังทหารกับตำรวจติดอาวุธเต็มไปหมด
“ช่วงนั้นลูกสาวเล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่พักอาศัยยังมีการปล้นสะดมร้านค้า พร้อมทั้งถูกกำหนดเป็นพื้นที่ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลาบ่าย 3 โมงถึง 9 โมงวันรุ่งขึ้น ทำให้มีปัญหาเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างมาก”
โชคดีที่ในเวลาต่อมา รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจส่งเครื่องบินไปรับคนไทยและนักศึกษาไทยกลับประเทศ แม้จะต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก แต่เรื่องของชีวิตคน...เท่าไหร่ก็คุ้ม
จากการติดต่อกับนักเรียนไทยที่กรุงไคโร พบว่า สมาคมนักเรียนไทย ณ กรุงไคโร เป็นสื่อกลางสำคัญเชื่อมประสานระหว่างนักศึกษาไทยกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ในการนำนักศึกษาและนักเรียนกลับเมืองไทยจนประสบความสำเร็จ และไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายหรือตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
ที่น่าสนใจคือการส่งข่าวสารที่ไม่ได้จำกัดแค่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งบางพื้นที่ถูกตัดสัญญาณ แต่พวกเขาใช้ “โซเชียลมีเดีย” ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ยังมีความประทับใจต่อบทบาทของนักศึกษาไทยในอียิปต์ซึ่งสะท้อนผ่าน นายนิมุ มะกาเจ ประธานสภาเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดยะลา และอดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาด้วย โดยเขาเล่าว่า เมื่อปี 2552 ได้มีโอกาสไปเยี่ยมนักศึกษาไทยในอียิปต์ตามโครงการของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และได้พบกับนักศึกษาไทยที่นั่นซึ่งอยู่รวมกันอย่างเป็นกลุ่มก้อน
“ถือเป็นเรื่องดีมากๆ ที่มีสัญลักษณ์ของประเทศไทยอยู่ในอียิปต์ ฉะนั้นเมื่อมีเหตุจลาจลขึ้น รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล อย่างน้อยก็ควรไปเยี่ยมเยียน เพราะนักศึกษาไทยที่ไปเรียนที่อียิปต์ส่วนหนึ่งก็ไปจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อจบกลับมาก็จะช่วยกันพัฒนาพื้นที่ต่อไป” นายนิมุ กล่าว
สำหรับนักศึกษาไทยที่ยังตกค้าง สมาคมนักเรียนไทย ณ กรุงไคโร ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน โดยให้นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือส่งรายชื่อและรายละเอียดตามพาสปอร์ตไปที่ศูนย์ฯ โทรศัพท์หมายเลข 012-1936-711 begin_of_the_skype_highlighting 012-1936-711 end_of_the_skype_highlighting และ 018-2325-416 begin_of_the_skype_highlighting 018-2325-416 end_of_the_skype_highlighting
ในส่วนของนักศึกษาไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางส่วนได้กลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพแล้ว สร้างความดีใจให้กับครอบครัวและญาติมิตรเป็นอย่างมาก ส่วนที่ยังไม่กลับก็มีทั้งที่ตกค้างจริงๆ และบางคนยืนยันที่จะอยู่ในอียิปต์ต่อไป เนื่องจากติดเงื่อนไขบางประการ เช่น ได้รับทุนไปเรียนฟรี หากกลับออกมาแล้วเดินทางกลับไปใหม่ อาจต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น
สถานการณ์ตึงเครียดที่อียิปต์ทำให้ได้เห็นน้ำใจของคนไทยร่วมชาติไม่น้อยเหมือนกัน...แม้จะต่างศาสนาแต่ก็ร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติสุข
ลำดับเหตุการณ์จลาจลในไคโร
17 ม.ค. ชายชาวอียิปต์อายุ 50 ปี จุดไฟเผาตัวเองหน้ารัฐสภา (ตามแบบหนุ่มตูนิเซียที่เผาตัวตายเป็นชนวนขับไล่ประธานาธิบดีซีเน อัล-อาบิดีน เบนอาลี อดีตผู้นำตูนีเซีย) โดยได้ตะโกนข้อความประณามรัฐบาล ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพราะได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย
ชายคนนี้เป็นเจ้าของร้านอาหาร และได้โต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเรื่องราคาขนมปังที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความพยายามฆ่าตัวตายเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในอัลจีเรียและมัวริตาเนียด้วย
18 ม.ค. หนุ่มอียิปต์ตกงานอายุ 25 ปี เผาตัวเองจนตายที่เมืองอเล็กซานเดรีย ขณะที่นักกฎหมายอีกคนก็ทำเช่นเดียวกันในกรุงไคโร เป้าหมายเดียวกันคือขับไล่ผู้นำ
25 ม.ค. เริ่มมีการจัดตั้งมวลชนด้วยจำนวนคนหลักพัน เดินขบวนไปตามถนนในไคโร มีความรุนแรงประปราย เริ่มมียอดผู้เสียชีวิต 2 รายจากการปะทะกับกองกำลังตำรวจ และมีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต
26 ม.ค. ผู้ชุมนุมกว่าพันคนเกิดปะทะกับตำรวจอีกครั้ง มีการยิงแก๊สน้ำตาและมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย
27 ม.ค. รัฐบาลจัดเจ้าหน้าที่ป้องกันไคโร มีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายจุด ทั้งที่สุเอซและที่อิสไมเลีย มีผู้ประท้วงถูกตำรวจยิงตายที่เมืองไซนาย
รัฐบาลสหรัฐเริ่มมีปฏิกิริยา โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงความรุนแรงในทุกกรณี นอกจากนี้กลุ่มประเทศยุโรปยังกล่าวเตือนรัฐบาลอียิปต์ให้เคารพสิทธิของผู้ประท้วง
28 ม.ค. มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกับ ตำรวจปราบจลาจลในกรุงไคโร มีการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตายิงใส่ผู้ชุมนุม มีรายงานการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่สุเอซ มีการเผาอาคารของรัฐบาลหลายแห่ง กลุ่มควันมองเห็นได้ทั่วเมือง อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศถูกตัดสัญญาณ ขณะที่ นายฮอสนี มูบารัก สั่งทหารเข้าสนธิกำลังกับตำรวจเพื่อดูแลความสงบ และประกาศเคอร์ฟิว
29 ม.ค. ผู้ประท้วงเพิ่มจำนวนเป็นหลายหมื่นคนเพื่อตอบโต้มาตรการเคอร์ฟิว ทั่วทั้งเมืองมีมือที่สามเป็นโจรออกปล้นสะดมตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ แม้แต่พิพิธภัณฑ์ก็ถูกบุก
ผู้นำอียิปต์ออกแถลงการณ์ปลดคณะรัฐมนตรียกชุด และเตรียมจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ โดยที่ตนเองยังอยู่ในตำแหน่ง
30 ม.ค. นักโทษนับพันคนแหกคุกเพราะผู้คุมทิ้งเรือนจำ ตำรวจถูกเรียกเข้าพื้นที่อีกครั้ง
1 ก.พ. นายฮอสนี มูบารัก แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รายการพิเศษแพร่ภาพไปทั่วประเทศว่า ขอประกาศวางมือทางการเมือง และจะคืนอำนาจในเดือนกันยายน และไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก แต่ฝูงชนซึ่งรวมตัวกันที่จัตุรัสตะหรีร์กลางกรุงไคโรไม่ยอมรับแนวทางของผู้นำอียิปต์ และประกาศให้นายมูบารักต้องลงจากอำนาจทันที
ขณะเดียวกันรถถังของกองทัพที่เมืองอเล็กซานเดรียเริ่มเตรียมพร้อม มีการยิงปืนขึ้นฟ้ารอรับคำสั่ง ธนาคารแห่งชาติอียิปต์ประกาศปิดทำการ 3 วัน กลุ่มผู้ประท้วงบางกลุ่มแถลงว่าจะเคลื่อนฝูงชนไปปิดล้อมบ้านพักประธานาธิบดี
2 ก.พ. รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอียิปต์ ออกมาขอร้องให้ประชาชนเดินทางกลับบ้าน โดยระบุว่าการประท้วงที่ผ่านมาได้ทำให้คนทั้งโลกรับรู้แล้ว และตัวผู้นำเองก็ประกาศจะวางมือ แต่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ไม่ยอมทิ้งจัตุรัสตัหรีร์ และยังคงปักหลักรอให้นายมูบารักลาออกเท่านั้น
3 ก.พ. กลุ่มผู้สนับสนุนนายมูบารักออกมาปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงขับไล่เขาออกจากตำแหน่ง โดยกลุ่มใหม่นี้ใช้ม้ากับอูฐเป็นพาหนะ เกิดภาพการปะทะกันไปทั่ว มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้น จนในที่สุดทหารราบและรถถังต้องออกมาสร้างกำแพงกั้นฝูงชนทั้งสองฝ่าย
4 ก.พ. ถึงดีเดย์ที่ผู้ชุมนุมขีดเส้นว่านายมูบารักลาออก แต่ก็เป็นเพียงข่าวลือที่ไม่มีความแน่นอน
6 ก.พ. บรรดาแกนนำฝ่ายค้านยอมเจรจากับรองประธานาธิบดีอียิปต์ อุมัร สุไลมาน เพื่อหาทางออกของวิกฤตทางการเมืองอย่างสันติ
11 ก.พ. มีรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายแขนงว่า นายฮอสนี มูบารัก ยอมลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว แต่ล่าสุดกระแสข่าวยังคงสับสน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
1 ข้อมูลลำดับเหตุการณ์บางส่วนจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด
2 ภาพเหตุการณ์ในอียิปต์ และภาพประธานาธิบดีฮอสนี บูมารัก จากอินเทอร์เน็ต
3 ภาพครอบครัว นายอับดุลรอฮมาน วอเดร์ โดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์