ฟังวิถีชาวนารายย่อย ทำนาคุณภาพ-ต้นทุนต่ำ เน้นพึ่งตัวเอง
เรื่องของ “ข้าว” – คำเพียงคำเดียวสั้น ๆ ทว่าเป็นสิ่งที่มีวัฒนธรรมหรือองค์ความรู้ที่ใหญ่มาก ๆ เรื่องหนึ่งในสังคมไทย ด้วยเพราะคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก มีการปลูกข้าวกันมานานแต่โบร่ำโบราณ และเมื่อไม่นานมานี้เอง ประเทศไทยเคยมีสถานะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก เป็นที่ยอมรับทั้งในด้าน “ปริมาณ” และ “คุณภาพ” แต่ในวันนี้หลายสิ่งเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด จนแม้แต่ชาวนาเองยังเอ่ยคำว่า “วันนี้คนไทยทำนาแล้วถดถอยลงเรื่อย ๆ”
ในเวทีเสวนาเรื่อง "การปรับตัวของชาวนาไทยกับภาวะการเปลี่ยนแปลง :สภาพภูมิอากาศและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" กิจกรรมหนึ่งในงานการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้พูดคุยกันถึงปัญหาของและความท้าทายของชาวนาไทย ซึ่งชาวนารายย่อยจากภูมิภาคต่าง ๆ ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ที่ตกผลึกได้จากการงานในไร่นาที่ตนทำ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเหมือนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ สำหรับชาวนาไทยในวันนี้ เราจะลด “ต้นทุน” การทำนา และทำนาให้ได้ข้าวที่มี “คุณภาพ” ที่ดีขึ้นอย่างไร
รศ.สมพร อัศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ได้อธิบายภาพกว้างของปัจจัยภายนอกที่จะมีผลกระทบต่อการขายข้าวไทยในอนาคตอันใกล้ว่า การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั่นเองที่เป็นตัวสำคัญ เพราะข้าวก็เป็นสินค้าหนึ่งที่จะมีการค้าขายกันอย่างเสรี ในขณะที่วันนี้ต้นทุนข้าวการผลิตข้าวของไทยปรับตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีนโยบายหรือกลไกที่จะลดต้นทุน มีแต่นโยบายเพิ่มรายได้โดยไม่ลดต้นทุน ก็เท่ากับมีกำไรลดลง
ความท้าทายสำหรับชาวนาไทยในอนาคตราว 5 ปีข้างหน้าคือ จะเพิ่มประสิทธิภาพและการจัดการในไร่นาได้อย่างไร โดยควรปรับทักษะของตนให้สามารถทำงานบางอย่างในไร่นาได้โดยไม่ต้องไปจ้างคนอื่นก็จะช่วยลดต้นทุนได้มาก รวมถึงหาช่องทางสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากผลผลิตข้าวของตน และการรวมตัวกันในชุมชนเพื่อผลิตข้าวพันธุ์เฉพาะขึ้นมาให้เป็นเอกลักษณ์
สอดคล้องกับที่คุณประมาณ สว่างญาติ ประธานศูนย์เรียนรู้บ้านช้างใหญ่และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ยึดแนวทางการผลิตข้าวปลอดภัยต้นทุนต่ำ โดยเน้นผลิตข้าวที่มีคุณภาพภายใต้ต้นทุนต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อแข่งขันกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียน เพราะอย่างที่รู้กันว่าข้าวของหลายประเทศไทย AEC ถูกกว่าประเทศไทย หากเรายังต้องการขายข้าวให้ได้ก็จำต้องปรับลดราคาให้เหมาะสมและพัฒนาคุณภาพให้เหนือกว่าคนอื่น
ประธานศูนย์เรียนรู้บ้านช้างใหญ่ชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ข้าวไทยปัจจุบันมีคุณภาพลดลง คือการทำนาที่เน้นใช้สารเคมีด้วยความคิดว่าสะดวก รวดเร็ว และจะได้ผลผลิตสูง ส่วนใหญ่ชาวนาจึงมักจะแข่งขันกันทำผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เราต้องเปลี่ยนความคิดจากการแข่งผลผลิตมาเป็นการแข่งขันการทำกำไรสูง ตอนนี้ต้นทุนการทำนาไทยอยู่ที่ 6 พันกว่าบาทต่อไร่ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 3 พันกว่าบาทต่อไร่ ที่สำคัญที่สุด ชาวนาส่วนใหญ่ไม่เคยทราบเลยว่าต้นทุนการทำนาจริง ๆ ที่พวกเขาลงทุนนั้นเป็นเท่าไร
“วิธีลดต้นทุนที่ชาวนาพอจะทำได้เช่น แทนที่จะเผาฟางข้าว ลองใช้วิธีหมักแทน หมักแล้วได้ปุ๋ย ดินดีขึ้น ก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ต้นทุนก็จะลดลง เป็นต้น” คุณประมาณแนะนำ
ขณะที่โครงสร้างของต้นทุนยังมาจากเมล็ดพันธุ์และเรื่องของเครื่องจักร-แรงงาน คุณอนุภา ปัญญาดิลก ประธานชมรมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ จ.ชัยนาท เห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาคุณภาพของพันธุ์ข้าวต่ำลงเพราะต่างคนต่างทำ คุณอนุภาจึงได้ตั้งกลุ่มส่งเสริมชาวนาผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยให้ลดการใช้ปุ๋ย ใช้ยา ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ดีที่สุด ด้านคุณนภดล นาคะปัท เกษตรกร จ.สุพรรณบุรี ก็บอกว่าถ้ามีรถเก็บเกี่ยวที่มีคุณภาพสูง ก็จะช่วยทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้ลึกยิ่งขึ้นไปอีก เกษตรกรจากอู่ข้าวอู่น้ำ จ.พระนครศรีอยุธยาอย่างคุณทินภัทร พวงทอง ชี้ว่า องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่นำมาต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิม ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเหมือนกัน คือไม่ปฏิเสธว่าภูมิปัญญานั้นดี แต่มันก็นำมาซึ่งความเคยชินและทัศนคติบางอย่างที่เป็นข้อจำกัด โดยปัญหาของชาวนาทุกวันนี้คือ ขาดการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง ยังไม่เปิดใจกับความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำนาของตนเองไม่ว่าจะเป็นในพื้นนา แปลงนา ดินฟ้าอากาศรอบ ๆ ชาวนายังอยู่กับความรู้เดิม ๆ ที่ว่า “เขาว่า” จึงทำตาม ๆ กันมาโดยที่ไม่รู้ว่าที่ “เขาว่า” นั้นคืออะไร
“ชาวนายังไม่รู้จริงว่าข้าวของตนชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร บางคนบอกว่าข้าวพันธุ์นี้ชอบหว่านหนา ๆ เพราะมันให้ผลผลิตสูง ส่วนเรื่องโรคและแมลงก็ยังไม่มีการเรียนรู้อย่างจริงจังมากเท่าที่ควร ไม่มีการลงไปสำรวจดูแปลงนาอย่างละเอียดว่าที่ต้นข้าวมีหนูหรือแมลงหรือเปล่า ซึ่งปัญหาโรคและแมลงที่สะสมอยู่ทุกวันนี้ก็น่าจะมาจากการขาดการเอาใจใส่ดูแลสำรวจนี่เอง” คุณทินภัทรกล่าวอย่างจริงใจ
และพูดถึงเรื่องการหว่านข้าวที่ยังถกเถียงกันด้วยว่า บางฝ่ายบอกว่าควรหว่านมาก ๆ จะได้ต้นข้าวเยอะ รวงก็จะเยอะ น้ำหนักเยอะ อีกฝ่ายว่าถ้าหว่านข้าวหนาแน่นเกินไปก็จะเกิดความอับชื้น ทำให้กำจัดโรคและแมลงยากขึ้น เป็นปัญหาซ้ำ ๆ เดิม แต่ที่จริงแล้วยังมีองค์ประกอบอื่นอีกมากต่อการทำนาให้ได้ผลผลิตมาก ๆ ตั้งแต่ดิน น้ำ อากาศ โรค แมลง รวมถึงการใช้ปุ๋ย ถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องดินและการใช้เมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยก็จะสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเมื่อข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ความสำเร็จของการค้าขายข้าวจะวัดกันที่ราคาและคุณภาพ แต่ก็ใช่ว่าเกษตรกรทุกรายจะประสบความสำเร็จไปเสียหมด แน่นอนว่าย่อมต้องมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวนารายย่อย ทำอย่างไรชาวนารายย่อยจึงจะพึ่งพาตัวเองได้
คุณเสถียร ทองสวัสดิ์ เกษตรกร จ.อุบลราชธานี ผู้ทำนา 1 ไร่ได้ 1แสน แนะนำถึงการใช้หลักการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็กของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผสมผสานกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะวันนี้ประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น ที่ดินเท่าเดิมที่มีแต่จะแพงขึ้น โดยคุณเสถียรชี้แนะให้ลองมองถึงทุนอย่างอื่นที่วันนี้ชาวนาส่วนใหญ่อาจมองข้าม นอกเหนือจาก “เงิน” ไม่ว่าจะเป็นทุนเวลา ทุนแรง ทุนปัญญา ทุนองค์ความรู้ ซึ่งทุนข้อนี้คุณเสถียรให้ข้อคิดไว้ว่า “คนไทยสมัยก่อนทำนาอัตราผลผลิตต่อไร่ก็สูง ข้าวมีคุณภาพ แต่วันนี้ทำไมคนไทยทำนาแล้วถดถอยลงเรื่อย ๆ”
และอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของการพึ่งตัวเองของชาวนารายย่อยอย่าง พุทธิพงศ์ นันโท กำนันตำบลโรงช้างและประธานศูนย์เรียนรู้บ้านโรงช้าง จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ทำให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วยการนำไปทำข้าวกล้องงอก เพิ่มมูลค่าข้าวจากกิโลกรัมละสิบกว่าบาทเป็นกิโลกรัมละร้อยบาท ซึ่งมีกำลังผลิตในวันนี้อยู่ที่ข้าววันละ 1 พันกิโลกรัม ทำข้าวกล้องงอกได้ 700 กิโลฯ ข้าวหนึ่งเกวียนจึงเท่ากับขายได้ 7 หมื่นบาท โดยไม่ต้องพึ่งกลไกตลาด รัฐบาล
นอกจากนี้จมูกข้าวกล้องที่ได้จากการสีก็ยังทำมาทำข้าวกล้องงอกแบบแคปซูล ขายกิโลกรัมละ 5 พันบาท ซึ่งจากข้าวหนึ่งเกวียนจะได้จมูกข้าวกล้องงอกราว 10 กิโล สรุปแล้วข้าวหนึ่งเกวียนทำรายได้ราวหนึ่งแสนกว่าบาท
“วันนี้คุณบอกตัวเองได้หรือเปล่าว่าพึ่งตัวเองอย่างไร เพราะฉะนั้นทางออกของเกษตรกรไทยคือพึ่งตัวเองให้ได้ แล้วความสำเร็จจะมาหาเอง” กำนันพุทธิพงศ์กล่าวทิ้งท้าย.
___________________________________________________________________________________________
ตัวอย่างต้นทุนการทำนา (ข้อมูลเฉลี่ยแต่ละอำเภอใน จ.พระนครศรีอยุธยา) โดยประมาณ สว่างญาติ
ต้นทุนการทำนาปลอดภัย (ต้นทุนจากเกษตรกร ม.1 ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร)