อยู่ยะลาก็หาพิซซ่ากินได้…การปรับตัวสู่ชายแดนใต้ของธุรกิจแบรนด์ดัง
"พิซซ่า" แผ่นแป้งขอบหนาโรยหน้าด้วยไส้กรอก แฮม หรือซีฟู้ดชุ่มเนยและซอสมะเขือเทศที่เสิร์ฟร้อนๆ ตัดเป็นชิ้นสามเหลี่ยมวางบนถาดกลมขนาดเขื่อง คืออาหารอิตาเลียนยอดนิยม ที่หารับประทานได้ทั่วไปในประเทศไทย จากร้านหรูระดับภัตตาคารซึ่งเปิดให้บริการหลายแบรนด์ หลายชื่อ หลายยี่ห้อ แต่ที่ดังที่สุดในบ้านเราเพราะชื่อเสียงเรียงนามติดปากคนไทย เห็นจะเป็น "พิซซ่า ฮัท"
หลายคนอาจไม่เชื่อว่าร้านพิซซ่าขวัญใจวัยโจ๋และคนที่ชื่นชอบอาหารอิตาเลียนชนิดนี้ มีเปิดให้บริการที่ จ.ยะลา หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีข่าวคราวความรุนแรงปรากฏผ่านหน้าสื่อไม่เว้นแต่ละวันด้วย
"ร้านพิซซ่า ฮัท" สาขายะลา เปิดอยู่ที่ห้างโคลิเซียม ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดของเมืองยะลา ภายในร้านตกแต่งสไตล์เรียบง่าย อบอุ่น ที่น่าสนใจคือมีลูกค้าทุกศาสนิกเข้าไปอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นวันหยุดยิ่งมีลูกค้าหนาตาเป็นพิเศษ เพราะพิซซ่าร้านนี้...มุสลิมก็กินได้
ธงชัย ไข่เงิน ผู้จัดการร้าน เล่าให้ฟังว่า พิซซ่า ฮัท สาขาโคลิเซียมยะลา เปิดบริการมาปีกว่าแล้ว แม้จะทำกำไรไม่มากนัก แต่ทางสำนักงานใหญ่ยังคงยืนหยัดเปิดให้บริการต่อไป
"การที่ทางสำนักงานใหญ่ตัดสินใจเปิดร้านที่ห้างโคลิเซียม จ.ยะลา เพราะเป็นห้างทำเลดี มีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเยอะ และในยะลาก็มีห้างนี้ห้างเดียวที่มีทำเลแบบที่ต้องการ หลังจากเปิดให้บริการมานานกว่า 1 ปี เสียงตอบรับโดยรวมถือว่าน่าพอใจ"
ธงชัย บอกว่า การให้บริการของร้านจะเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นลูกค้าพุทธหรือมุสลิม เพราะหากไม่มีลูกค้า สาขาก็อยู่ไม่ได้ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์มากนัก อาศัยการบอกปากต่อปากและเน้นให้พนักงานบริการลูกค้าให้ประทับใจมากกว่า โดยช่วงที่ขายดีที่สุดของร้านคือช่วงเทศกาลทุกเทศกาลทั้งของพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และมุสลิม รวมทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
"คนพุทธจะรู้เมนูเป็นอย่างดี และจะถามว่าทำไมไม่มีหน้าพิซซ่าเหมือนในโฆษณา เราก็ต้องอธิบายว่าเป็นเมนูกลางที่มาจากกรุงเทพฯ แต่เมื่อมาเปิดขายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนเมนูบางรายการให้เหมาะสม วัตถุดิบที่ส่งมาจากส่วนกลางทุกอย่างจะมีตราฮาลาลรับรองผลิตภัณฑ์ สามารถตรวจสอบได้"
"แต่การที่พิซซ่า ฮัท ไม่ขอตรารับรองฮาลาลของร้าน เนื่องจากมีสาขานี้เพียงสาขาเดียวที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนมุสลิม หากขอตรารับรองฮาลาลทุกสาขาต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสูงมาก ในสาขาของเราจึงเน้นใช้วัตถุดิบที่มีตราฮาลาลรับรอง และมีพนักงานเป็นมุสลิมมากกว่า ลูกค้ามุสลิมก็มีเยอะแต่เขาจะถามก่อนเพื่อความมั่นใจว่าทานได้หรือไม่ เคยมีลูกค้าแต่งตัวเหมือนอุสตาซ (ครูสอนศาสนา) เข้ามาทาน เขาถามทุกอย่างและขอดูตรารับรองฮาลาลของวัตถุดิบ เราก็หยิบให้เขาดูเพื่อความมั่นใจ"
ปัจจัยสำคัญประการอีกประการหนึ่งที่ ธงชัย เชื่อว่าทำให้ลูกค้ามุสลิมมีความมั่นใจและเข้ามารับประทาน คือการที่ทางร้านมีพนักงานเป็นมุสลิมเกือบทั้งหมด มีเพียงเขาและลูกน้องอีกคนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นพุทธ พนักงานส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ถึงปริญญาตรี บางคนกำลังเรียนต่อก็มี การที่มีพนักงานเป็นมุสลิมเกือบทั้งหมดสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเยาวชนในพื้นที่นับสิบคนอีกด้วย
"ช่วงเทศกาลและวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมาก อาจทำให้บริการล่าช้าไปบ้าง แต่เราจะบอกให้ลูกค้ารู้ตอนสั่งเลยว่าต้องรอกี่นาที เพราะพิซซ่าของร้านไม่มีการทำสต็อกไว้ล่วงหน้า จะทำตามที่ลูกค้าสั่งเดี๋ยวนั้น หากทำเตรียมไว้ล่วงหน้าจะไม่อร่อย และโชคดีที่ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจ" ธงชัย บอก
การทำงานในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธงชัยถูกตั้งคำถามเสมอเมื่อขึ้นไปประชุมที่กรุงเทพฯว่าสภาพชีวิตเป็นอย่างไร แต่เขาก็ยังมีความมั่นใจ และยืนยันจะบริหารสาขานี้ต่อไป
"ผมเป็นคนต่างจังหวัด อยู่มาหลายสาขาแล้ว มาช่วยที่นี่ได้เกือบปี ช่วงแรกๆ ก็มีกลัวบ้าง ตอนหลังก็ใช้ชีวิตปกติ เพราะเราต้องทำงาน ไม่รู้จะกลัวไปเพื่ออะไร เวลาไปประชุมที่กรุงเทพฯ เขาก็จะถามกันว่าที่ยะลาเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าใครไม่มาอยู่เองก็คงไม่เข้าใจ เขาไม่รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละแห่งไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน หรือเกิดแค่จุดเดียว ฉะนั้นจะเหมาว่าทั้งจังหวัดมีเหตุร้ายก็คงไม่ถูกต้อง ผมถือหลักแค่ว่าเราตั้งใจทำงาน ไม่เบียดเบียนใคร น่าจะช่วยให้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัย แต่หากจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องยอมรับ คงไปห้ามไม่ได้ เราต้องระวังตัวเอง"
การทำงานร่วมกับลูกน้องที่มีทั้งพุทธและมุสลิม ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับการทำงานและการให้บริการลูกค้าเลยแม้แต่น้อย...
"เราอยู่กันแบบพี่น้อง ซื้อข้าวสารมาไว้หุงข้าวกินร่วมกัน ไม่ต้องออกไปกินข้างนอก ทำให้ทุกคนมีความรักสามัคคีกัน ทำงานกันตามปกติ ไม่ได้ไปวุ่นวายกับใคร ทำงานแล้วก็กลับห้อง มีสังสรรค์กันบ้าง การทำงานกับน้องๆ คือต้องอ่านเมนูให้ฟัง และอธิบายพร้อมถามกลับว่าเข้าใจตรงกันหรือเปล่า เพื่อเขาจะได้อธิบายลูกค้าต่อได้อย่างถูกต้อง ภาษายาวีของน้องๆ มุสลิมช่วยทำให้พูดคุยกับลูกค้าได้ง่ายขึ้นมาก"
ในฐานะผู้จัดการร้าน ธงชัยบอกว่าเขาต้องดูแลทุกอย่างภายในร้าน การจะทำเช่นนี้ได้ต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก เพราะต้องมีความรู้และเข้าใจว่าจะจัดการปัญหาในร้านได้อย่างไร ดูแลพนักงาน ลูกค้า และเครื่องจักรอย่างไร
"ความจริงมีรายละเอียดเยอะมาก อนาคตผมอาจต้องไปอยู่สาขาอื่น การฝึกรุ่นน้องขึ้นมาเป็นสิ่งจำเป็น ต้องให้เขาเรียนรู้งานและต้องมีความสามารถพร้อมเผชิญกับแรงกดดันและต้องมีวุฒิภาวะ มีการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจได้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ที่สำคัญต้องซ่อมแซมเครื่องจักรในร้านได้ เพราะไม่มีช่างกล้าลงมาซ่อมให้ สาขานี้เปิดบริการทุกวัน ต้องสลับกันหยุด มีเบี้ยพิเศษให้เป็นกำลังใจ น้องๆ ก็มีรายได้ที่เขาพอใจและอยู่ได้ จะบอกทุกคนว่าในวันที่มีลูกค้าเยอะต้องเหนื่อยกันมากนิดหนึ่ง ต้องอดทนและคิดทดแทนว่าได้ทำงานเบาหน่อยในวันธรรมดาที่ไม่ค่อยมีลูกค้าเยอะเหมือนวันหยุด"
ส่วนความเป็นไปได้ที่จะขยายสาขาไปยัง จ.ปัตตานี และนราธิวาส ธงชัยบอกว่าในความเห็นของเขาคิดว่าคงยาก แต่ก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาของสำนักงานใหญ่...
หากใครมีโอกาสไปเยือนชายแดนใต้ ลองแวะไปดูบรรยากาศที่ร้านพิซซ่า ฮัท สาขาโคลิเซียมยะลา อาจทำให้รู้สึกว่าดินแดนปลายสุดด้ามขวานไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด!
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โลโก้ร้าน พิซซ่า ฮัท
2 ผู้จัดการร้านกับพนักงาน
3 บรรยากาศสบายๆ