แผนอำนวยความสะดวก รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556
วันนี้ (25 ธันวาคม 2555) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ของกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ด้วยกระทรวงคมนาคมได้จัดทำ “แผนอำนวยความสะดวก มั่นคง และปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556” ขึ้น เพื่อเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชน เนื่องจากในช่วงเทศกาลดังกล่าวประชาชนมีความต้องการในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องประสบปัญหาทั้งในด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ สภาพการจราจรติดขัด แออัดและมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาอุบัติเหตุ รวมทั้งยังอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานหลายหน่วยงาน
โดยแผนอำนวยความสะดวกฯ ดังกล่าว มีเป้าหมายหลักที่ต้องการให้ประชาชนกลับบ้านและท่องเที่ยวอย่างมี “ความสุข สะดวก และปลอดภัย” ด้วยการดูแลอำนวยความสะดวกในการให้บริการรถสาธารณะประเภทต่างๆ และการซ่อมแซมถนน เส้นทางหลักและเส้นทางเลี่ยงให้ใช้การได้อย่างดี ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและชัดเจน ทั้งนี้ แผนอำนวยความสะดวกฯดังกล่าว สอดคล้องกับแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่กำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2555 – 2 มกราคม 25556 ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ได้แก่ แผนการให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แผนงานด้านความมั่นคง และแผนงานด้านความปลอดภัย ดังนี้
1. แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก ได้แก่
1.1 บริการการขนส่งสาธารณะ
หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลา และพื้นที่จอดรถสำรองให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง/ ไม่ประจำทางเพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟและเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทาง
1) บริษัท ขนส่ง จำกัด เพิ่มจำนวนเที่ยวรถขาไป-ขากลับ
2) การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดขบวนรถและเพิ่มตู้โดยสาร ดังนี้
จัดขบวนรับผู้โดยสารประจำ 242 ขบวน/วัน จะเพิ่มตู้โดยสารโดยเฉพาะขบวนรถด่วน รถเร็ว ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2556 อีกขบวนละ 1-2 ตู้ หรือให้เต็มหน่วยลากจูง สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอไม่ตกค้างตามสถานี หรือรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 100 คน/ขบวน
3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารประจำทาง
3.1) การเดินรถโดยสารประจำทาง จำนวน 108 เส้นทางให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2555 – 2 มกราคม 2556
3.2) จัดเดินรถเชื่อมต่อสถานีขนส่ง จำนวน 4 สถานี รวม 35 เส้นทาง โดยจัดเดินรถ แยกช่วงการเดินรถ ขาออก ช่วงวันที่ 28 – 31 ธันวาคม 2555 และขาเข้า ช่วงวันที่ 1 – 2 มกราคม 2556
3.3) จัดรถ Shuttle Bus รถเฉพาะกิจ จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่เส้นทางจตุจักร – อู่กำแพงเพชร 2 และเส้นทางจตุจักร – BTS – อู่กำแพงเพชร 2
3.4) จัดรถปรับอากาศเดินรถร่วมกับบริษัท บขส. ช่วงวันที่ 28 ธันวาคม 2555 - 2 มกราคม 2556 จำนวน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพ – อยุธยา และเส้นทางกรุงเทพ – สระบุรี
4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มเที่ยวบินพิเศษเส้นทางไป-กลับ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 28-30 ธันวาคม 2555 และวันที่ 1-3 มกราคม 2556 เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวน 26 เที่ยวบิน จำนวน 7,000 ที่นั่งในเส้นทางบินภายในประเทศระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-เชียงราย และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต และระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น รวมทั้งเพิ่มจุดเช็คอิน พร้อมเพิ่มพนักงานให้บริการให้เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร
5) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ขยายเวลาในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2556
6) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เพิ่มความถี่ในการให้บริการและขยายเวลาให้บริการ ในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยออกจากต้นทาง (สุวรรณภูมิและพญาไท) และให้บริการเที่ยวสุดท้ายเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2556
7) กรมการขนส่งทางบก จัดรถโดยสารสาธารณะรองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเดินทางต่อเนื่องไปยังจังหวัด/อำเภอ/หมู่บ้านต่างๆ เพิ่มขึ้นและให้เพียงพอ
1.2 การอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน
กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มีแผนงานการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยด้านการจราจรในช่วงก่อนเทศกาล ระหว่างเทศกาล และหลังเทศกาล รวมทั้งมีการติดตาม รายงาน ประเมินผล และวิเคราะห์จุดเสี่ยง / จุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน
1.3 การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ/สถานีขนส่ง/ ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร /สถานีรถไฟ
กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมการบินพลเรือน และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จัดเตรียมพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้มีความพร้อมรองรับปริมาณการใช้บริการของประชาชน
1.4 อำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลการจราจร ดำเนินการโดย
1) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (ศทท.สปค.)
2) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ศทท.สนข.)
2. แผนงานด้านความมั่นคง
หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการให้มีการจัดเวรยาม และเฝ้าระวังสังเกตการณ์ การกวดขันอยู่เวรยามประจำสถานีขนส่งผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความตรวจตรา ความเรียบร้อยในบริเวณโดยรอบการเพิ่มการสังเกต เฝ้าระวังเหตุการณ์และวัตถุแปลกปลอมและสิ่งผิดปกติ รวมทั้ง การสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยตลอดจนเตรียมรองรับเหตุฉุกเฉินสำหรับให้การช่วยเหลือในกรณีที่อาจเกิดเหตุฉุกเฉินโดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการ
3. แผนงานด้านความปลอดภัย
ประกอบด้วย
3.1 มาตรการด้านการบริหารจัดการผู้ขับขี่/ผู้โดยสารปลอดภัย มีหน่วยงานที่ดำเนินการ ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
3.2 มาตรการยานพาหนะปลอดภัย
1) กรมการขนส่งทางบก เพิ่มมาตรการตรวจความพร้อมของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฟรีให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานโดยจัดกิจกรรม “ตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอน”
1.1) ช่วงก่อนเทศกาล ประมาณ 1 เดือน ตั้งจุดให้บริการรวมทั้งสิ้น 2,343 แห่ง โดยมีภาคเอกชนที่ร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วยศูนย์บริการต่าง ๆ ตรอ. บริษัทประกันภัย ฯลฯ
1.2) ช่วงระหว่างเทศกาล ตั้งจุดให้บริการบนถนนสายหลักทั่วประเทศ จำนวน 250 แห่ง โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา
2) บริษัท ขนส่ง จำกัด
2.1) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
2.2) จัดเตรียมช่างพร้อมจัดเตรียมอะไหล่สำรอง
2.3) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบส่วนควบรถโดยสาร
3) กรมเจ้าท่า ให้เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ตรวจสภาพเรือและระมัดระวังในการเดินเรือดังต่อไปนี้
3.1) ให้มีการตรวจสภาพความพร้อมของตัวเรือ และเครื่องจักรว่ามีความเหมาะสมกับสภาพในการที่จะใช้
3.2) จัดหาอุปกรณ์ประจำเรือ เช่น พวงชูชีพ เสื้อชูชีพ เบาะ ที่นั่ง ชูชีพ เครื่องดับเพลิง ให้พร้อมใช้งานได้ทุกเวลา
3.3) เรือโดยสาร ต้องมีป้ายแสดงจำนวนคนโดยสารไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
3.4) โป๊ะเทียบเรือ ต้องมีป้ายระบุจำนวนคนโดยสารที่สามารถรับน้ำหนักได้ไว้ที่ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน มีความมั่นคง แข็งแรง และเหมาะสมกับสภาพการใช้
3.5) บนโป๊ะเทียบเรือ ต้องมีพวงชูชีพพร้อมที่จะใช้งานได้ทันทีตามมุมของโป๊ะหรือสถานที่ที่สามารถหยิบใช้ได้ทันที อย่างน้อย 4 พวง
3.3 มาตรการถนนปลอดภัย
กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง ถนน และสะพานในความรับผิดชอบให้มีความปลอดภัยและพร้อมสำหรับการรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชน ทั้งในเรื่องของผิวการจราจร สัญญาณไฟป้ายและเครื่องหมายจราจร รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมในพื้นที่ที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง
3.4 มาตรการบังคับใช้กฎหมาย
กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถบนทางหลวงสายหลักตามแนวเส้นทางการเดินทางของประชาชนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ จำนวน 11 จุด ในท้องที่ของจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำปาง กำแพงเพชร และพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์
ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง
ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา
3.5 มาตรการด้านสังคม
บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน เพื่อร่วมมือกัน ในการตรวจความพร้อมและวินัยการขับขี่ของผู้ขับขี่ โดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการ ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
3.6 มาตรการด้านการประชาสัมพันธ์
1) กรมการขนส่งทางบก ติดตั้งป้ายรณรงค์กลางแจ้งขนาดใหญ่ 200x400 ตารางเมตร ในท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 5 ป้าย และในส่วนภูมิภาคจำนวน 8 ป้าย ประชาสัมพันธ์รณรงค์ความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ผ่านสื่อโทรทัศน์รวม 300 ครั้ง สื่อวิทยุรวม ไม่น้อยกว่า 650 ครั้ง หนังสือพิมพ์รายวันและราย 3 วัน รวม 15 ครั้ง ส่ง SMS เตือนภัย 700,000 ครั้ง และจัดรายการ “สัญจรปลอดภัยกับกรมการขนส่งทางบก” ทางวิทยุชุมชนวันละ 1 ชั่วโมงทุกจังหวัดรวม 82 สถานี
2) กรมทางหลวง รณรงค์เผยแพร่กิจกรรม/ผลการดำเนินงาน แถลงข่าว/จัดทำและแจกจ่ายแผ่นพับแนะนำเส้นทางเลี่ยง/ทางลัด รวมทั้ง รณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่และ ผู้ใช้เส้นทาง
3) กรมเจ้าท่า ดำเนินการขอให้สถานีวิทยุกระจายเสียง รวมทั้งสื่อมวลชนต่าง ๆ ออกข่าวแจ้งประกาศมาตรการต่าง ๆ ของกรมเจ้าท่า เพื่อให้ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้ประกอบการเดินเรือ รวมทั้งประชาชนผู้ใช้บริการเรือโดยสารทั้งหลายได้ทราบ เพื่อใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการหรือคำแนะนำตักเตือนของกรมเจ้าท่า โดยทั่วถึงกันอีกทางหนึ่งด้วย
4) บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดนิทรรศการรณรงค์และปลุกจิตสำนึกของ ผู้ขับขี่ร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับเพื่อกระตุ้นให้พนักงานขับรถและประชาชนทั่วไปตระหนักถึงผลจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ ณ อาคารสถานีขนส่งกรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม 2555 เวลา 13.00 – 17.00 น.
การประสานงาน มีดังนี้
1. ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม (ศปภ.คค.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานภารกิจด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งระหว่างหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น และเป็นผู้ประสานการให้บริการ อำนวยความสะดวก บรรเทาและแก้ไขปัญหาการเดินทางแก่ประชาชน
2. หมายเลขสายด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ใช้ในการประสานงาน เพื่อการติดต่อประชาสัมพันธ์ มีดังนี้
2.1 การประชาสัมพันธ์/ติดต่อรายงานเหตุ/อุบัติเหตุ ผ่านช่องทางสายด่วนของศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม เพื่อประสานการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสามารถประสานและแจ้งข้อมูลได้ที่โทรสายด่วนหมายเลข 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง
2.2 การประชาสัมพันธ์/ติดต่อรายงานเหตุ/อุบัติเหตุ ผ่านช่องทางสายด่วน
1) กรมเจ้าท่า หมายเลข 1190
2) กรมทางหลวง หมายเลข 1586
3) กรมทางหลวงชนบท หมายเลข 1146
4) กรมการขนส่งทางบก หมายเลข 1584
5) บริษัท ขนส่ง จำกัด หมายเลข 0 2936 2963 และหมายเลข 1490
6) การท่าเรือแห่งประเทศไทย หมายเลข 0 2269 3191 และ0 2269 3199
7) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หมายเลข 1543
8) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หมายเลข 1348
2.3 การประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ/โทรทัศน์/สถานีวิทยุ สวพ. 91/จส. 100 และตำรวจทางหลวง หมายเลข 1193
การรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล
1. ช่วงเทศกาล
1.1 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ (การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)) รายงานสถิติจำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยวการให้บริการทั้งขาเข้าและขาออกในแต่ละวัน มายัง ศปภ.คค. ภายในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ
1.2 กรมการขนส่งทางบกและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รายงานสถิติอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ/รถประจำทาง ให้ ศปภ.คค. ทราบ เป็นประจำทุกวันตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ เพื่อจัดทำรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีต่อไป
1.3 กรมเจ้าท่า รายงานข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำเป็นประจำทุกวันให้ ศปภ. คค. รวมทั้งสถิติการให้บริการประชาชนในการเดินทางทางน้ำ เช่น จำนวนประชาชนผู้ใช้บริการ จำนวนเรือขนส่งสาธารณะที่ให้บริการ โป๊ะเทียบเรือ ท่าเทียบเรือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นต้น ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ
1.4)กรมการบินพลเรือน ดำเนินการให้ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ส่วนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือประสบภัยสำนักมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินอากาศ รวบรวมรายงานจากท่าอากาศยานต่างๆ แล้วรายงานเหตุการณ์ให้อธิบดีกรมการบินพลเรือนและ ศปภ. คค. ทราบทุกวัน ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ
2. ช่วงหลังเทศกาล
หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานตามมาตรการ กิจกรรม โครงการ พร้อมปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 เพื่อประมวลรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ โดยกระทรวงคมนาคมจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนอำนวยความสะดวกฯ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลถัดไป