ลบฝันวันร้าย..."ขาเทียม"กับชีวิตใหม่ของเหยื่อบึ้มในสวนยาง
"ใครบ้างที่อยากเป็นคนพิการขาขาด แต่เมื่อเกิดกับตัวเองแล้วก็ต้องทำใจยอมรับสภาพและความจริงให้ได้" เป็นน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความหนักแน่นของ สุทธิ์ สกุลเพชร หนึ่งในผู้พิการขาขาดจากเหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดในสวนยางพาราที่เข้าร่วมโครงการ "เย็นศิระเพราะพระบริบาล" จากมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งให้บริการทำขาเทียมด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดโดยไม่คิดมูลค่า และมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงขับเคลื่อน
ตลอด 7 ปีไฟใต้ ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ระบุว่า มีเหตุระเบิดรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นแล้วถึง 1,964 คร้ง และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็น "กับระเบิดแบบเหยียบ" โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2553 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ตากใบ พบ "กับระเบิดแบบเหยียบ" ในสวนยางพาราทั่วทั้งสามจังหวัดมากถึง 26 ลูก มีผู้เคราะห์ร้ายหลายรายต้องสังเวยชีวิต และอีกหลายรายต้องเสียขา กลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต
แต่ในเรื่องร้ายก็ยังมีข่าวดี เมื่อโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ ทำโครงการ "เย็นศิระเพราะพระบริบาล" โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้บริการทำขาเทียมฟรีมอบให้เหยื่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรง
พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี เล่าให้ฟังถึงโครงการนี้ว่า แรกเริ่มทราบมาว่ามูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีโครงการจัดตั้ง "โรงงานขาเทียม" ประจำโรงพยาบาลชุมชน จึงกลับมาพิจารณาข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีผู้พิการขาขาดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากเหตุการณ์ความไม่สงบและอุบัติเหตุค่อนข้างเยอะ การให้ความช่วยเหลือก็ยังเข้าไม่ถึง จึงเสนอให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีเป็นที่ตั้งของโรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชน กระทั่งผ่านคัดเลือกจากทางมูลนิธิ จากนั้นทางโรงพยาบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเข้ารับการอบรม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้พิการขาขาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ตอนนี้ในพื้นที่มีผู้พิการเยอะมาก ทั้งพิการจากเหตุการณ์ความไม่สงบและอุบัติเหตุ หมอจึงมองว่าการจัดทำขาเทียมจะช่วยได้มาก ทำให้ผู้พิการมีกำลังใจในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น และขาเทียมที่ใช้ก็เป็นขาเทียมที่ทำขึ้นจากเทคนิคใหม่ คือใช้ทราย ทำให้ขาเทียมมีน้ำหนักเบากว่าปกติ ใช้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นขาที่ขาดใต้เข่าลงไป จะไม่มีสาย ต่างกับรุ่นเก่าๆ ที่มีสายและชำรุดง่าย สร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้อย่างมาก แต่ขาเทียมรุ่นใหม่แก้ปัญหาเหล่านี้จนหมด"
"ยิ่งไปกว่านั้นการทำขาเทียมด้วยเทคนิคใหม่จะไม่เสียเวลามาก วันเดียวก็เสร็จแล้ว ช่วงเช้ามาทำขา ตอนเย็นมารับขากลับไป ลองเดินดูประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถ้ารู้สึกชอบและถูกใจก็กลับมาตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง แต่ถ้าใส่แล้วเกิดหลวมหรือคับไปก็กลับมาปรับแก้ไขให้พอดีได้" หมอภัททิรา บอก
ข้อมูล ณ ปัจจุบัน มีผู้พิการขาขาดทั้งใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เท่าที่มีชื่ออยู่ในบัญชีของโรงพยาบาลจำนวน 80 ราย ในวันเปิดตัวโครงการเมื่อปลายปีที่แล้วมีผู้พิการมารับบริการ 30 ราย ที่เหลือก็ทยอยกันมา จนถึงขณะนี้ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 40 ขา
"เสียงตอบรับจากคนในพื้นที่ดีมาก ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างฟรี ที่สำคัญการได้ขากลับคืนมา แม้จะเป็นขาเทียมแต่ก็เหมือนกับได้ชีวิตใหม่ ล่าสุดมีชาวมาเลเซียคนหนึ่งติดต่อมาจะขอทำด้วย หลังจากที่เขาทราบและไปเห็นขาเทียมจากคนไข้ที่ อ.รามัน จ.ยะลา โดยชาวมาเลเซียรายนี้พร้อมจะเสียค่าใช้จ่าย" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี กล่าว
หมอภัททิรา ยังบอกอีกว่า ผู้พิการขาขาดอยู่ในภาวะที่ต้องพึ่งพา ย่อมไม่สะดวกที่จะเดินทางไปโรงพยาบาลเองได้ ยังดีที่ผู้พิการใน จ.นราธิวาส ได้รับความร่วมมือจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสคอยอำนวยความสะดวกในเรื่องนำส่งและค้นหา นอกจากนั้นยังได้ประสานกับเครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์ให้ช่วยนำส่งผู้พิการขาขาดที่ต้องการทำขาเทียมส่งโรงพยาบาลอีกแรงด้วย เพื่อให้ผู้พิการเหล่านี้ไม่เสียโอกาส
"ยอมรับว่ากังวลเรื่องคนไข้จะมาใช้บริการที่โรงพยาบาลไม่สะดวก เพราะระยะทางค่อนข้างไกล คนไข้หลายรายต้องรบกวนให้เพื่อนบ้านมาส่ง การที่มีผู้อาสานำส่งผู้พิการขาขาดที่ต้องการทำขาเทียมถึงมือหมออย่างนี้ เป็นการทำให้ผู้พิการไม่เสียโอกาส สำหรับคนไข้รายใหม่ที่สนใจ ติดต่อได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี หรือถ้าไม่สะดวกที่จะมา ก็โทรศัพท์มาที่โรงพยาบาล พร้อมแฟกซ์สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรผู้พิการมา เมื่อทางโรงพยาบาลได้เอกสารแล้วจะนัดคิวให้” หมอภัททิรา กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี บอกด้วยว่า โครงการนี้ไม่ได้ช่วยเฉพาะผู้พิการขาขาดจากสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้พิการขาขาดจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน, เรื้อน หรือมะเร็งด้วย ซึ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการสำรวจแล้วพบว่าน่าจะมีความต้องการไม่ต่ำกว่า 300 ขา
"หมอตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 ปีทุกคนที่ไม่มีขาเทียมและจำเป็นต้องใช้ จะต้องมีขาเทียมใช้ และใช้ได้ดีมีประสิทธิภาพด้วย ที่สำคัญหลังจากนำไปใช้แล้ว คุณภาพชีวิตของทุกคนต้องดีขึ้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามไปเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับในอนาคต หมอตั้งใจจะต่อยอดทำรองเท้าให้กับคนไข้เบาหวานกับคนไข้โรคเรื้อนที่มีอาการ เท้าชา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแผลตามมา เพราะไม่อย่างนั้นคนไข้เหล่านี้จะต้องโดนตัดขา" หมอภัททิรา บอกถึงความตั้งใจ
และแม้ "ขาเทียม" จะไม่สามารถเทียบกับขาจริงที่สูญเสียไปได้ แต่มันก็เรียกขวัญกำลังใจ สร้างรอยยิ้มและชีวิตใหม่ให้กับผู้พิการขาขาดได้...
สุทธิ์ สกุลเพชร อายุ 49 ปี ชาวบ้านจาก อ.กาบัง จ.ยะลา ซึ่งขาซ้ายขาดจากเหตุลอบวางระเบิดในสวนยางพารา เล่าว่า ในชีวิตไม่เคยไปสายบุรี เพราะมองว่าเป็นพื้นที่น่ากลัวและค่อนข้างไกล ตอนแรกคิดจะสละสิทธิ์แล้ว แต่ปฏิเสธเพื่อนๆ ที่พยายามคะยั้นคะยอไม่ได้ เลยตัดสินใจไปโรงพยาบาล และได้รับขาเทียม
"ตอนใส่แรกๆ จะงงนิดๆ เหมือนไม่มีขาอยู่ เพราะน้ำหนักจะเบามาก แต่ก็รู้สึกดี เพราะตอนไม่มีขา ผมรู้สึกท้อแท้มาก ธรรมดาคนเคยมีขา ใครบ้างที่อยากเป็นคนพิการขาขาด แต่เมื่อเกิดกับตัวเองแล้วก็ต้องทำใจยอมรับสภาพและรับความจริงให้ได้ ขาเทียมที่ผมได้ในครั้งนี้ใส่แล้วดีมาก น้ำหนักเบา ใช้งานได้คล่อง ต้องขอขอบคุณคุณหมอจริงๆ ที่ให้โอกาส"
ขณะที่ อารง สาและ วัย 70 ปี ชาวบ้านจาก อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ซึ่งขาซ้ายขาดมากว่า 10 ปีจากอุบัติเหตุทางถนน บอกว่า หลายปีมาแล้วแทบไม่ได้ออกไปไหนเลย เพราะไม่อยากเป็นภาระให้คนอื่น แต่พอได้รับขาเทียมมาใส่ ทำให้สะดวกอย่างมาก จึงอยากขอบคุณทางโรงพยาบาลสายบุรีที่ให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้
มะดิง ยีดิง หรือ "แบดิง" วัย 53 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เตราะบอน อ.สายบุรี ซึ่งถูกระเบิดจากสถานการณ์ความไม่สงบขนเสียขาข้างขวาไป กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ขาเทียมมาใช้ ทำให้สามารถเดินทางไปมาระหว่างบ้านกับที่ทำงานได้สะดวกขึ้น แม้เมื่อก่อนจะรู้สึกท้อและหมดหวังเพราะรับไม่ได้กับสภาพที่เป็นอยู่ แต่ตอนหลังทำใจได้ เริ่มปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง การได้ขาเทียมมาจึงเหมือนกับได้ชีวิตใหม่
"ผมโดนระเบิด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2548 ทำให้ขาข้างขวาขาด ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 ตอนนั้นใส่เหล็ก ก็โดนขาขวาอีกครั้ง เป็นอะไรที่รู้สึกท้อมาก เพราะทำให้ครอบครัวพลอยลำบากไปด้วย ที่ผ่านมาที่บ้านมีผมเป็นเสาหลักอยู่คนเดียว พอผมต้องพิการ ทุกคนก็เลยลำบาก ไหนจะลูกอีก 2 คนที่กำลังเรียนหนังสือ แต่เมื่อได้ขาเทียมมา ทุกอย่างดีขึ้น ขอบคุณที่ช่วยเติมเต็มชีวิตให้กับผมอีกครั้ง” แบดิง กล่าว
นับเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ช่วยลบฝันวันร้ายจากสถานการณ์ไฟใต้ที่ยังไม่มีวี่แววสงบเสียที...
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นางอารีย์ ไชยสงคราม อายุ 67 ปี ชาวบ้าน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งถูกกับระเบิดของกลุ่มก่อความไม่สงบจนข้อเท้าซ้ายขาดขณะกรีดยางเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2553 เดินทางไปรับขาเทียมที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี (ภาพโดย จรูญ ทองนวล ศูนย์ภาพเนชั่น)
2 หมอภัททิรา
3 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี