ภรรยา"แบมะ"กับความเจ็บช้ำ...การเสียชีวิตของอุสตาซ รร.ธรรมฯที่ยากทำใจ
บ้านสองชั้นริมถนนในหมู่บ้านโสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ห่างจากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยาเขตปัตตานีไม่ถึง 1 กิโลเมตรหลังนั้น คือบ้านของ นายมาหามะ มะแอ ครูสอนศาสนาโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา ที่ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปสอนหนังสือ เมื่อเช้าวันที่ 30 ต.ค.2555
คดีสังหาร นายมาหามะ แทบไม่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักของเมืองไทย แต่สื่อใหญ่ๆ ของมาเลเซียกลับให้ความสนใจ ถึงกับส่งนักข่าวมาเกาะติดรายงานเหตุการณ์กันถึงในพื้นที่เกิดเหตุ
ขณะที่กระแสข่าวที่พูดกัน "ปากต่อปาก" ในพื้นที่ไปไกลกว่าสื่อมาก สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะ นายมาหามะ เป็นที่รักของชาวบ้านแถบนี้ ทั้งยังสอนอยู่ที่โรงเรียนธรรมวิทยาฯมาเนิ่นนาน มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เนื่องจากโรงเรียนธรรมวิทยาฯคือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
สิ่งหนึ่งที่เป็นดั่งเครื่องยืนยันความเป็นครูของนายมาหามะที่ชาวบ้านให้ความเคารพ ก็คือใกล้ๆ บ้านของเขามี "บาลัย" หรือสถานที่ละหมาดชั่วคราว ซึ่งเป็นอาคารเล็กๆ ปลูกสร้างด้วยไม้ นอกจากใช้ละหมาดแล้วยังใช้สอนหนังสือได้ด้วย โดยชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันลงแรงสร้างเพื่อให้นายมาหามะใช้สอน
นางฮามีดะห์ มะแอ วัย 36 ปี ภรรยาของนายมาหามะ เล่าว่า สามีของเธอซึ่งเธอเรียกติดปากว่า "แบมะ" เป็นอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยาฯมากว่า 20 ปี เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านศาสนามาจากประเทศอินโดนีเซีย
"แบมะเป็นคนนิสัยดี กลับจากสอนหนังสือก็จะอยู่กับครวบครัว ยามว่างก็ไปรับจ้างทำงานก่อสร้าง บ้านหลังที่อยู่ด้วยกันนี้เขาเป็นคนสร้างเอง และเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน แต่ยังไม่ทันได้ขึ้นบ้านใหม่ก็มาถูกยิงเสียชีวิตเสียก่อน"
การเป็น "อุสตาซ" หรือ "ครูสอนศาสนา" ที่ชายแดนใต้ ซ้ำยังสอนอยู่ที่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งมีอดีตครูใหญ่ชื่อ นายสะแปอิง บาซอ ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวขบวนของกลุ่มก่อความไม่สงบ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้นายมาหามะถูกมองอย่างไม่ไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
"ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารที่บ้านมายิลูโบ๊ะ ห่างจากบ้านเราประมาณ 5 กิโลเมตร ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเช้า ฉันจำเวลาไม่ได้ หลังจากนั้นประมาณ 11 โมง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดอีโอดี (ชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด) มาตรวจค้นที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจทุกอย่างแม้แต่ตู้เย็นก็เปิดดู แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย"
"ก่อนหน้านั้นประมาณปี 2549 หรือ 2550 จำไม่ได้ชัด แบมะเคยถูกเชิญตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ไปอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร (อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) 1 สัปดาห์ ที่ฉันรู้ก็มีเท่านี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ แบมะจะไม่ค่อยบอก" นางฮามีดะห์เล่าย้อนความหลัง
เธอบอกด้วยว่า อยู่กินกับสามีมานาน และมีลูกด้วยกัน 3 คน คนโตชื่อ นายกอลบี มะแอ อายุ 22 ปี เรียนอยู่ที่วิทยาลัยพลศึกษายะลา คนรองชื่อ นายฮาสือลัน มะแอ อายุ 19 ปี เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในประเทศอียิปต์ และคนสุดท้องคือ ด.ญ.กตินี มะแอ อายุ 13 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ
"วันที่แบมะถูกยิง กตินีก็นั่งอยู่บนรถกับพ่อด้วย โชคดีที่ไม่เป็นอะไร" นางฮามีดะห์ บอก
เธอเล่าพลางชี้มือไปที่บาลัยและอาคารเรียนกีตาบ (หนังสือหรือคัมภีร์ที่ใช้เรียนเกี่ยวกับศาสนา) ข้างบ้านว่า นี่คือสัญลักษณ์ที่ยังจำตลอดว่าสามีของเธอเป็นผู้มีใจช่วยเหลือเพื่อนบ้าน เข้ากันได้กับทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกวัย ตั้งแต่เด็กนักเรียนตาดีกา วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ และผู้เฒ่า ทำให้ชาวบ้านที่นี่เคารพนับถือ
"บาลัยแห่งนี้กับอาคารเรียนกีตาบ ชาวบ้านร่วมไม้ร่วมมือกันสร้างให้แบมะเอาไว้เป็นที่สำหรับให้ชาวบ้านในพื้นที่มาเรียนกีตาบและละหมาดเมื่อถึงเวลา แม้วันนี้ไม่มีแบมะแล้ว ชาวบ้านก็ยังแวะเวียนมาให้กำลังใจและเอาสิ่งของมาฝาก เพราะเขายังนับถือแบมะอยู่ บางคนก็เอาเงินมาให้ วันครบ 40 วันการตายของแบมะยังมีคนจากต่างพื้นที่มาเยี่ยมมากมาย ไม่ต่างจากวันแรกที่เขาจากไป ส่วนใหญ่คนที่มาบอกว่าเป็นลูกศิษย์แบมะ"
"เขาสอนที่โรงเรียนธรรมฯมากว่า 20 ปี จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมายจากหลายพื้นที่ บางคนเรียนกับแบมะ มีลูกยังเรียนกับแบมะอีก ฉันเชื่อว่าสิ่งดีๆ ที่แบมะทำยังอยู่ในใจของทุกคน และข่าวการตายของแบมะขณะไปสอนหนังสือยิ่งทำให้คนรับไม่ได้ แม้เวลาผ่านไปเป็นเดือนแล้ว ความรู้สึกของคนในพื้นที่ยังไม่เคยลืม"
นางฮามีดะห์ บอกด้วยว่า ไม่ทราบเลยว่าใครลงมือสังหารสามี แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คิดมากอยู่เหมือนกัน
"ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ แบมะจะถูกมองในแง่ไม่ดีว่าอาจเป็นคนก่อเหตุหรือคนสั่งการ โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุใกล้ๆ พื้นที่บ้านโสร่ง (อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักมาที่บ้าน และขอตรวจค้นบ้าน"
เมื่อสูญเสียสามีไปแล้ว คนที่ต้องห่วงใยมากเป็นพิเศษก็คือลูกๆ ทั้ง 3 คนซึ่งอยู่ในวัยเรียน...
"ตอนนี้ไม่ต้องการอะไรมาก แค่อยากให้มีทุนการศึกษาสำหรับลูกๆ ทั้ง 3 คนก็พอ"
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพถ่าย นายมาหามะ มะแอ กับภรรยา เมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาจากอินโดนีเซีย