จาก คลองหินปูนสู่เขาสามสิบ “กำหนดชะตาชีวิตด้วยผังชีวิตชุมชน-กองทุนที่ดิน”
“ผังชีวิตชุมชน-กองทุนที่ดิน” เป็นการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีคนในท้องถิ่นที่ยึดโยงกับที่ดินเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต และ“ตำบลคลองหินปูน” เป็นบทเรียนหนึ่งที่พร้อมจะขยายผล
เครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย จ.สระแก้ว ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสามสิบ เครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) วิทยาลัยโพธิวิชาลัย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "ผังชีวิตชุมชน" ที่อ่างเก็บน้ำเขาสามสิบ และ อบต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เชื่อมพื้นที่เครือข่ายระดับตำบล จังหวัด และภาค สร้างพื้นที่รูปธรรมการพัฒนากองทุนและระบบข้อมูล GIS โดยมีการเรียนรู้การจัดทำข้อมูลด้วยแผนที่ทำมือ การจับพิกัด GPS การนำ GIS มาจัดทำข้อมูลเพื่อการวางแผนแก้ปัญหาต่างๆในตำบล
เพราะที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นความมั่นคงในการดำรงชีวิต เป็นปัจจัยการผลิต หากชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นไปด้วย จึงมีการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นโดยอาศัย “ผังชีวิตชุมชน” “กองทุนที่ดิน” เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีประชาชน ผู้นำชุมชน อปท. ส่วนราชการ และทุกภาคส่วนเป็นกลไกหลักสำคัญ
กระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ นอกจากการให้ความรู้ยังมีการทดลองปฏิบัติทำแผนที่ทำมือ สรุปสภาพปัญหา ฝึกใช้เครื่องมือ GPS และโปรแกรมการจัดทำ GIS โดยมีโจทย์ให้ค้นหาสภาพปัญหาของหมู่บ้าน ข้อดี ข้อเด่น หารือถึงการแก้ปัญหาเบื้องต้น และเรียนรู้ประสบการณ์การแก้ปัญหาที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย การจัดตั้งกองทุนที่ดินของตำบลคลองหินปูนเป็นบทเรียน
การพัฒนาข้อมูลจากผังชีวิตชุมชน สู่การจัดตั้งกองทุนที่ดิน
นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ประธานเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดิน จ.สระแก้ว กล่าวว่าที่ผ่านมาเรามีแต่ “จน เครียดแล้วกินเหล้า” แต่เราจะเปลี่ยนให้เป็น “จน เครียด ทำผัง” กว่า 8 ปีหลังจากที่เริ่มลงมือแก้ปัญหา ปัจจุบันที่ตำบลคลองหินปูนสามารถจัดหาที่ดินให้กับสมาชิกจำนวน 5 แปลง รวม 64 ไร่ มีงบประมาณจากกองทุนต่างๆในตำบล หมุนเวียน 10 ล้านกว่าบาท ผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาจัดการเอง เกิดการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่มีมา 50 กว่าปี เกิดการแบ่งปันที่ดินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 300 ไร่ เกิดการขอเช่าที่ดินธนารักษ์ 22 ไร่ ยกเลิกโรงงานมันสัปปะหลัง เกิดการใช้กองทุนในการซื้อที่ดิน และซ่อมสร้างไปแล้ว 60 กว่าหลัง
“หากเราไม่ทำอีกสิบปีข้างหน้าราคาที่ดินเราจะซื้อได้หรือไม่ ถ้าเราขายที่ดินที่มีอยู่แล้วลูกหลานจะอยู่อย่างไร การทำแผนที่ทำมือ ผังตำบล จะทำให้เราเห็นปัญหา เริ่มจากการออมของกลุ่มผู้เดือดร้อน มีสมาชิกร่วมจัดตั้งกองทุนที่ดิน 390 คน มีเงิน 4 ล้านบาท สร้างวินัยการออม ไม่มีที่ดินทำกินออมเงินฝากเดือนละ 50 บาท เรื่องที่อยู่อาศัยออมเดือนละ 200 บาท หากจะสร้างบ้านใหม่ 70,000 บาท ส่งคืน 700 ต่อเดือน หรือจะกู้ซ่อมบ้านไม่เกิน 20,000 บาท ส่งคืนเดือนละ 500 บาท ซึ่งผู้กู้ต้องมีการออมเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดกู้”
ละอองดาว กล่าวต่อว่ากว่าจะถึงวันนี้คนคลองหินปูนผ่านความทุกข์ยากโดนไล่ย้ายหนี ต้องหามกระท่อมน้อยจากที่ดินทำกินหนี ต่อสู้ทุกวิถีทาง เมื่อได้เรียนรู้ GPS ระบบข้อมูลสารสนเทศกับ พอช.แล้วทำข้อมูลที่ดินเพื่อไปยืนยันกับ สปก.กับหน่วยงานต่างๆจนที่สุดได้ที่ดินแปลงแรกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรรณ์
ส่วนของกองทุนที่ดิน ใช้ต้นทุนจากองค์กรการเงินที่มีอยู่ โยงกองทุนสวัสดิการ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนที่ดิน กองทุนของวัด รวบรวมมาส่งที่สถาบันฯ แยกเงินต้นและดอกเบี้ย วางระบบ และมีกรรมการซึ่งมีตัวแทนจากทุกองค์กรในตำบลมาร่วมบริหารจัดการร่วมกัน
“แม้ที่คลองหินปูนจะมีกองทุนทั้งหลายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ หากคนเดือดร้อนไม่มานั่งคุยกัน การแก้ปัญหาก็ไม่สามารถเป็นไปได้ เมื่อเรารวมกลุ่มกัน ขยายพื้นที่ออกไปให้มากเท่าที่ทำได้ เก็สามารถต่อรองระดับนโยบายได้ สามารถจัดการที่ดินได้ จนขยายไปสู่เรื่องอื่นๆอย่างการจัดการน้ำ ฯลฯ”
จึงมีการใช้แผนที่ทำมือนำไปสู่การวิเคราะห์ เห็นปัญหาร่วมกันของคนในตำบล เห็นข้อมูลทั้งระดับหมู่บ้านและตำบล จนเกิดแผนและผลลัพธ์ หากรอเพียงความช่วยเหลือของรัฐบาล คอยพึ่งพาคนอื่นปัญหาก็ไม่หมดไป เริ่มจากการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง ควรสร้างทุนในการแก้ปัญหา จากเดิมรอพึ่งคนอื่นมาเป็นพึ่งตนเอง เมื่อรัฐหรือท้องถิ่นเห็น เขาจะเข้ามาหนุนเสริม อะไรก็แก้ได้เริ่มจากเล็กและเติบโตในท้ายสุด
รวมคน รวมใจ รวมความคิด รวมทุนภายใน “ปัญหาที่ดินแก้ได้”
นายเสกสรร ป้อมโพธิ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน พอช. ระบุว่ากองทุนที่ดินมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการรวมคนรวมใจรวมความคิด ระดมค้นหาทุนภายใน สร้างเครื่องมือแก้ปัญหาที่ดิน มีเสรีภาพในการตัดสินใจ ผู้เดือดร้อนไม่มีที่ดินทำกินไม่มีบ้าน ต้องมีข้อมูลมีการออม เงินกองทุนไว้ไถ่ที่คืน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดิน เกิดกลุ่มองค์กรที่มีพลังในการต่อรอง
“พี่น้องต้องรวมตัวช่วยกัน วิเคราะห์ภาพรวมตำบล เอาข้อมมูลรายหมู่บ้านมาวิเคราะห์ข้อดีข้อเด่น โอกาส วิกฤต และคิดว่าจะทำอะไรต่ออย่างไร เรื่องกองทุนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันขบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยชาวบ้านพวกเรามีพื้นที่ปฏิบัติการ 31 ตำบล ในจังหวัดสระแก้วซึ่งมีความเข้ม ความอ่อน แข็งของพื้นที่ที่แตกต่างกันไป จำเป็นต้องมีแผนปฏิบัติการ สร้างทีมทำงาน คิดเชื่อมโยงทั้งจังหวัด ทุกกิจกรรมทุกกระบวนการ ต้องนำไปสู่การสร้างคนสร้างทีมทำงานให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆในหมู่ชาวบ้านที่เดือดร้อน”
แนวทางแก้ปัญหาที่ดินแนวใหม่นั่น ต้องทำโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก ที่ผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง สร้างความร่วมมือในท้องถิ่น วิเคราะห์ปัญหาครอบคลุมทั้งตำบล อย่างเรื่องสิทธิ์การเข้าถึงที่ดิน การใช้ประโยชน์เปลี่ยนการผลิตให้ยั่งยืน มีแนวทางการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ที่สมบูรณ์ยั่งยืน บริหารจัดการที่ดินทับซ้อน แก้ปัญหาขาดแคลนที่ดินและป้องกันไม่ให้หลุดมือรักษาไว้ให้ลูกหลาน
อบต.เขาสามสิบ พร้อมหนุนชุมชนพัฒนาจากฐานข้อมูล
นายวิษณุราช ลอยลม นักวิชาการศึกษา 5 อบต.เขาสามสิบ เล่าว่าชาวบ้านในเขาสามสิบส่วนใหญ่มีที่ดิน สปก.จากรัฐจัดสรรให้ มีเพียงพ่อแม่อยู่บ้านทำการเกษตร ลูกหลานจะไปทำงานต่างถิ่นจึงไม่มีใครสานต่อ เมื่อมีนายทุนยื่นข้อเสนอให้ราคาที่ดี และชาวบ้านเริ่มไม่อยากทำการเกษตร เพราะยิ่งทำยิ่งขาดทุน กู้เงินจากนายทุนมาลงทุนทำเกษตรยิ่งจนหนี้สินพอกพูน ท้ายสุดก็ขายที่ดินทิ้ง ที่ดินในตำบลจึงเริ่มหลุดไปสู่นายทุน
ส่วนลักษณะการทำเกษตรของชาวบ้านส่วนใหญ่ทำแล้วปล่อยทิ้งขาดการดูแลใส่ใจ ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นมา คนที่เข้าร่วมแก้ปัญหาต้องเป็นคนที่ขยันจริงๆ เพราะไม่ได้มาเปล่าๆ เป็นการกู้จากกองทุนที่ดิน และชาวบ้านต้องส่งคืน ระยะเวลาอาจเป็น 15 ปีหรือขึ้นอยู่กับระเบียบที่ร่วมกันกำหนด อย่างไรก็ดีการอบรมโปรแกรม GIS นั้น ชาวบ้านอาจไม่มีความถนัด น่าจะให้ลูกหลานมาร่วมเรียนรู้และช่วยทำ เพราะภายหลังชุมชนต้องกลับไปทำต่อไปเรียนรู้ต่อไป จะสามารถแก้ไขปัญหาในชุมชน
สำหรับงบประมาณที่รัฐจะจัดสรรให้ได้ แต่มีข้อแม้ว่าชุมชนต้องเริ่มต้นเองก่อน รวมกลุ่มให้ได้ ชาวบ้านต้องช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนรัฐถึงเข้ามาช่วย แต่ถ้าทุกหมู่บ้านทำได้ จะทำให้เรารู้ถึงความเข้มแข็งอ่อนแอของชุมชน และมีทีมงานในทุกหมู่บ้านอาจเป็นรูปแบบคณะกรรมการที่จะดำเนินการเรื่องนี้ ในส่วนของ อบตประกาศสนับสนุนเต็มที่ทั้งบุคคลากรและงบ่ระมาณสบทบให้ชาวบ้าน
แผนปฏิบัติการผังชีวิตชุมชน ต.เขาสามสิบ
จากการระดมความคิด ช่วยกันสะท้อนปัญหาของคนตำบลเขาสามสิบ พบว่าไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ชาวบ้านบางส่วนเริ่มขายที่ดินเพื่อปลดหนี้สิน และที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดิน สปก. และอีกปัญหาสำคัญคือหนี้สิน เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งมีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ อีกทั้งยังมีปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอทำเกษตร ลำคลองตื้นเขิน น้ำอุปโภคบริโภคไม่สะอาด อาจเกิดจากฟาร์มเลี้ยงหมูในชุมชน บางพื้นที่ดินยังเสื่อมคุณภาพจากการปลูกไม้ยูคาและการใช้สารเคมีเพาะปลูก ด้านสุขภาพในตำบลมีผู้สูงอายุ และคนชราจำนวนมาก บางหมู่บ้านมีปัญหาฝุ่นละอองจากถนนลูกรังจึงเป็นโรคภูมิแพ้ ระบบทางเดินหายใจ
ส่วนแผนปฏิบัติการหลักๆ ทางตําบลจัดทีมยุทศาสตร์และทีมเทคนิคทำข้อมูลตําบล เพื่อลงพื้นที่เร่งสร้างความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากร โดยใช้เครื่องมือผังชีวิตชุมชน อีกทั้งมีเป้าหมายจัดตั้งกองทุนที่ดินระดับตําบลและบรูณาการแก้ไขปัญหากับท้องถิ่นให้เส็จสิ้นภายใน 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.56) ที่ประชุมยังได้ค้นหาแนวทางแก้ไขเบื้องต้นว่าต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำงานกับชาวบ้าน เจรจาขอใช้พื้นที่ว่างเปล่า ขุดสระ บ่อน้ำ ต่อท่อ แก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอทำเกษตร จัดทำข้อมูลหนี้สินและสาเหตุ
วิทยาลัยโพธิวิชาลัย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ จะเข้ามาร่วมมือกับเครือข่าย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย แม้ว่าจะไม่สามารถลงได้ทุกพื้นที่ แต่ก็จะนำข้อมูลของกระบวนการแก้ปัญหาที่ดินโดยชุมชน เสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน เบื้องต้นจะหนุนให้นักศึกษามาร่วมเรียนรู้ และช่วยงานที่ ต.เขาสามสิบ
คนตำบลเขาสามสิบมีความสนใจในกระบวนการผังชีวิตชุมชนอย่างมาก สะท้อนจากแววตาที่เปี่ยมด้วยพลังที่อยากจัดการปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนในตำบลให้หมดไปนับว่าเป็นการเริ่มต้นอย่างดี.