"แบโซะ"แห่งควนโนรี ชีวิตนี้ขอพลีเพื่อครู...
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลา มีโรงเรียนมากกว่า 1,300 แห่ง ครูราวๆ 20,000 คน กระจายอยู่ในทุกตำบลหมู่บ้าน จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่กำลังพล 60,000 นายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะคุ้มครองความปลอดภัยได้ทั้งหมด
แม้จะจัดชุด รปภ.มากถึงวันละ 5,000 ชุดแล้วก็ตาม!
หนำซ้ำภารกิจ รปภ.ครู ยังเป็นเพียงหนึ่งใน 10 เป้าหมายพิเศษที่ฝ่ายความมั่นคงต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งประกอบด้วย ชุมชนเมือง ชุมชนไทยพุทธ วัด พระ โรงเรียน ครู เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า รถไฟ และเขื่อน จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่การ รปภ.ครู อาจเกิดช่องโหว่ให้ฝ่ายคนร้ายที่จ้องอยู่ตลอดเวลาสบโอกาสโจมตีได้
เหตุการณ์ที่กลายเป็นความทรงจำอันโหดร้าย ครูถูกล่าสังหารไปถึง 5 รายในห้วงเวลาเพียง 19 วันช่วงปลายเดือน พ.ย.ต่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซ้ำยังมีโรงเรียนถูกลอบวางเพลิงเผาอีก 2 แห่ง คือภาพสะท้อนข้อจำกัดของมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยใช้ทหาร ตำรวจ เข้าไปรับผิดชอบพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล
เหตุนี้การปลุกพลังชุมชนให้ลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะการจัดตั้งชุดดูแลรักษาความปลอดภัยที่เป็นคนในชุมชนเอง จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของสถานการณ์นี้
เรื่องราวของ "แบโซะ" แห่งควนโนรี คือตัวอย่างของความสำเร็จในการใช้ "ชุมชนจัดการตนเอง"
ระวังภัยที่บ้านเกิด
"แบโซะ" มีชื่อจริงว่า หะมุห์ สุหลง เป็นชายวัยค่อนคน ผิวกรำแดด แต่ก็ทะมัดทะแมง ใบหน้าเข้มๆ ของเขามีรอยยิ้มอยู่เสมอ
"แบโซะ" เกิดที่ ต.ควนโนรี ตำบลเล็กๆ ใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดช้างให้ พุทธสถานชื่อดังของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ชีวิตของ "แบโซะ" ระหกระเหินไปทั่ว และผ่านงานมาแล้วหลากหลาย ก่อนจะมาลงตัวที่ภารกิจ "รปภ.ครู โรงเรียน และนักเรียน" ณ ดินแดนที่เป็นบ้านเกิด
"แบโซะเคยเป็น อส. (อาสารักษาดินแดน) ของ จ.ยะลา แต่ทำไปทำมาก็เบื่อ เลยตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ไปเป็น รปภ.ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เขาก็ฝึกอบรมการทำหน้าที่ให้ แต่เขาส่งแบโซะไปทำงานไกลๆ แบโซะคิดถึงบ้าน ขอกลับมาทำงานในภาคใต้เขาก็ไม่ให้ พอต้องไปอยู่ไกล จะกลับมาเยี่ยมบ้านทีก็เสียค่าใช้จ่ายมาก สุดท้ายก็เลยตัดสินใจลาออก"
ช่วงที่ "แบโซะ" หวนคืนสู่บ้านเกิด คือปี 2547 เป็นช่วงต้นของสถานการณ์ไฟใต้ปะทุระลอกใหม่พอดี
"ตอนกลับบ้านมาใหม่ๆ แบโซะเป็น ชรบ.(ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) เพราะน้องชายของแบโซะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เลยไปช่วยน้อง จากนั้นก็ไปเป็นลูกจ้างในโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาทของหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยครู โรงเรียน และนักเรียน ทำมาได้ 5 ปีแล้ว"
แบโซะ บอกว่า แม้เขาจะแต่งตัวเป็นเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว แต่ไม่ได้ทำงานคนเดียว เพราะเพื่อนร่วมงานของเขาคือ "ชาวบ้าน" ที่คอยเป็นหูเป็นตาให้ จนแทบไม่เคยเกิดเรื่องร้ายๆ เลยตลอดเวลาที่ทำงานมา
จากตี 5 ถึง 6 โมงเย็น
"แบโซะ" เป็นหัวหน้าทีม รปภ.ของตำบลในกลุ่มลูกจ้างโครงการจ้างงานเร่งด่วนฯ ซึ่งพร้อมใจกันลงมติเลือกให้เขาเป็นผู้นำ การทำงานของ "แบโซะ" เริ่มตั้งแต่ 05.00 น.ของทุกวัน โดยตัวเขากับลูกทีมกระจายกำลังไปดูแลโรงเรียน 3 แห่งใน ต.ควนโนรี คือ โรงเรียนบ้านป่าไร่ โรงเรียนบ้านควนโนรี และโรงเรียนบ้านตุปะ
"แบโซะตื่นตั้งแต่ตี 5 กินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว พอ 7 โมงก็เข้าจุดที่ต้องรับผิดชอบดูแล ทีมของแบโซะรับ 3 โรงเรียน แบโซะอยู่ตรงกลางคือที่โรงเรียนบ้านควนโนรี ระหว่างนั้นก็จะโทรศัพท์หาลูกทีมที่โรงเรียนบ้านป่าไร่ กับโรงเรียนบ้านตุปะ ว่าครูเข้าโรงเรียนครบหรือยัง ถ้ายังมีครูตกค้างก็ประสานไปยังชุดปฏิบัติการของทหารให้เข้าไปช่วยตรวจสอบ ถ้าครูเข้าโรงเรียนครบหมดแล้ว ก็โทร.รายงานผู้บังคับบัญชา"
คนที่ "แบโซะ" เรียกว่า "ผู้บังคับบัญชา" ก็คือผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ และอำเภอใกล้เคียงใน จ.ปัตตานี โดยการเฝ้าระวังอย่างรอบคอบคือภารกิจหลักของ "แบโซะ" ที่ต้องปฏิบัติทุกวัน
"หน้าที่ของแบโซะคือดูแลชีวิตครู นักเรียน และความปลอดภัยของโรงเรียน ต้องเข้าใจว่าการก่อการร้ายเน้นโจมตีจุดสำคัญ ลงทุนน้อยแต่ได้ผลเยอะ ฉะนั้นเราต้องรู้ก่อนที่เขาจะก่อเหตุ ต้องคอยสังเกตคนแปลกหน้า"
"แบโซะตรวจหมด ทั้งกอหญ้า ถังขยะ ใต้ม้าหิน ท่อระบายน้ำ มุมอับหลังประตูโรงเรียน โดยประตูโรงเรียนนั้น เมื่อนักเรียนและครูเข้าเรียนหมดแล้ว แบโซะจะเปิดเฉพาะประตูเล็ก ไม่เปิดประตูใหญ่" รปภ.หนุ่มใหญ่เล่า
หลังเคารพธงชาติ หน้าที่ของ "แบโซะ" ยังไม่จบ เพราะเขายังต้องเข้าไปตรวจตราในโรงเรียน และนั่งเฝ้าระวังอยู่ที่ป้อมข้างประตูเล็ก กระทั่งพักเที่ยง "แบโซะ" ก็ยังต้องอยู่
"ช่วงพักเที่ยง ครูและนักเรียนกินข้าว แบโซะก็ยังไม่กลับ รอจนกินข้าวเสร็จหมดถึงจะเริ่มกินข้าวที่เตรียมมา หรือไม่ก็เดินกลับไปกินที่บ้าน กว่าจะได้กินก็ราวๆ บ่ายโมงครึ่ง กินเสร็จก็ละหมาด แล้วก็กลับมาที่โรงเรียนอีก รอช่วงโรงเรียนเลิกเพื่อส่งครูและนักเรียนกลับบ้าน กว่าจะเสร็จหมดก็ราวๆ 6 โมงเย็น"
หลังจากเกิดเหตุการณ์คนร้ายสังหารครูอย่างต่อเนื่อง "แบโซะ" บอกว่า ฝ่ายความมั่นคงได้ปรับแผน รปภ.ให้เข้มงวดและกระชับมากขึ้นกว่าเดิม
"ตอนนี้เจ้าหน้าที่จะบล็อคเส้นทางตลอดเวลา และมีกำลังพลเดินลาดตระเวนเป็นจุดๆ ตลอดเส้นทาง แต่ไม่มีการส่งกำลังทหารไปตามประกบครู เพราะเกรงจะเป็นการล่อเป้า เนื่องจากเป้าโจมตีที่แท้จริงของฝ่ายคนร้ายคือทหาร"
เคล็บลับความปลอดภัย
จุดอ่อนหรือช่องโหว่ประการหนึ่งที่ทำให้คนร้ายปฏิบัติการความรุนแรงต่อเป้าหมายได้อย่างง่ายดาย ก็คือการใช้กลยุทธ์ "แต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่" เช่น ใส่ชุดพรางคล้ายทหาร ตำรวจ จนทำให้หลายๆ ครั้งเหยื่อหลงกลคิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงๆ
ยกตัวอย่างเหตุการณ์บุกยิงครูเสียชีวิต 2 รายถึงในโรงเรียนบ้านบาโง ต.ปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา คนร้ายก็แต่งกายเลียนแบบทหาร
"แบโซะ" บอกว่า ทางแก้ของคนที่ทำหน้าที่ รปภ.ก็คือต้องรู้ข้อมูลเป็นอย่างดีว่าทหาร ตำรวจในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบแต่งกายอย่างไร ใส่หมวกเบเร่ต์หรือหมวกแก๊ป ใส่ผ้าพันคอสีอะไร ข้อมูลแบบนี้ต้องรู้หมด ไม่อย่างนั้นก็หลงกล
"ที่ควนโนรีเป็นพื้นที่ทหารเขียว (ทหารหลัก) ทหารจะแต่งชุดพรางสีเขียว โจรก็จะพยายามแต่งให้เหมือน แต่จุดที่แตกต่างคือทหารเขามีระเบียบวินัย หมวกจะสวมตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นผู้บังคับบัญชาลงโทษ ส่วนโจรแม้จะแต่งตัวให้เหมือนทหาร แต่ระเบียบวินัยไม่ค่อยมี ตรงนี้ถือเป็นจุดต่างที่เราต้องสังเกตให้ดีๆ"
"ก่อการร้ายมันอยู่รอบๆ ตัวเรา อย่าไปหลงกลที่เครื่องแต่งกาย บางคนแต่งตัวดี แต่จิตใจเขาดีหรือเปล่า โจรทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งทำคนไม่มีทางสู้ ถ้าเป็นลูกผู้ชายจริง หาสนามฟุตบอลสักสนามมาเล่นกันตรงๆ เลยดีกว่าไหม อย่าหลอกลวงด้วยการเอาชุดคนอื่นมาใส่"
ชีวิตนี้ขอพลีเพื่อครู
แม้จะอยู่ในพื้นที่อันตราย แต่ "แบโซะ" ก็ไม่ได้หนักใจ หนำซ้ำยังสนุกกับงาน และมีความสุขที่ได้ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคน
"ทำงานสนุก แบโซะชอบ ไม่กลัว แบโซะไม่เคยคิดว่าจะเกิดอะไรกับตัวเอง แค่ขอให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะครูและนักเรียนปลอดภัยก็พอแล้ว"
ความรู้สึก "ไม่กลัว" ของ "แบโซะ" สะท้อนจากเครื่องแต่งกายของชายวัยค่อนคนผู้นี้ด้วย เพราะเขาไม่ได้สวมเสื้อเกราะ
"แบโซะไม่มีเสื้อเกราะ แต่ใช้ไหวพริบปฏิภาณในการทำงาน" และไหวพริบปฏิภาณที่ "แบโซะ" พูดถึง ส่วนหนึ่งก็ได้มาจากการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ที่จัดโครงการให้ก่อนจะได้เข้ามาทำหน้าที่ รปภ.ครู
"ทหารช่วยอบรมให้ ตั้งแต่การตั้งแถว จัดแถว การทำความเคารพ ระเบียบวินัยต่างๆ ไปจนถึงการยิงปืน มีการทดสอบร่างกายนิดหน่อย เช่น ดันพื้น ซึ่งแบโซะก็ทำได้ และทดสอบผ่านทุกครั้งที่มีการฝึกทบทวน"
แม้ "แบโซะ" จะอายุไม่ใช่น้อย และหุ่นก็ไม่เป๊ะเหมือนหนุ่มๆ แต่เครื่องแต่งกายและการถืออาวุธก็ดูทะมัดทะแมง ทว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่าอุปกรณ์และชุดทำงานของ "แบโซะ" เขาซื้อหามาเองเกือบทั้งสิ้น
"เสื้อสีเขียวแขนยาวนี่แบโซะหามาเอง รวมทั้งหมวก กระเป๋า เสื้อกั๊กด้วย มีแต่วิทยุสื่อสารกับปืนเท่านั้นที่ทางการแจกให้"
กับค่าตอบแทนที่ได้รับเดือนละ 4,500 บาท "แบโซะ" บอกว่าน้อยกว่าตอนทำหน้าที่ รปภ.ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเสียอีก จึงถือว่ารายได้ไม่คุ้มกับงานที่ทำ แต่สาเหตุที่ยังคงทำต่อเนื่องมา ก็เพราะได้อยู่ที่บ้าน ทุ่นค่าใช้จ่าย ข้าวปลาก็ทำมากินเอง และที่สำคัญคือได้ทำงานดูแลความปลอดภัยให้คนในชุมชนซึ่งรู้จักรักใคร่กัน
ปลื้มใจช่วยคนเจ็บรอดตาย
ตลอด 5 ปีของการทำงาน "แบโซะ" แทบไม่เคยเจอเรื่องร้ายๆ มีเพียงเหตุการณ์เดียวที่ระทึกขวัญที่สุด คือเมื่อครั้งที่ นายเลิศ โสปันหริ อายุ 50 ปี พนักงานไปรษณีย์ประจำสำนักงาน ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ปีที่แล้ว
"คนร้ายใช้อาวุธปืนตามประกบยิงจนทั้งคนทั้งรถมอเตอร์ไซค์ตกลงไปในคูน้ำ พนักงานไปรษณีย์ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่รอดมาได้เพราะแกล้งตาย พอคนร้ายลงจากรถไปดูเห็นแน่นิ่งจึงคิดว่าเสียชีวิตแล้ว และขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีไป จากนั้นชาวบ้านก็โทร.ตามแบโซะให้ไปช่วย"
"ตอนนั้นเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ไม่ได้เลย เพราะกลัวถูกซุ่มยิงระหว่างทาง จึงวิทยุให้แบโซะไปช่วย แบโซะก็เอารถน้องชายที่เป็นผู้ใหญ่บ้านไปรับคนเจ็บ และพาไปส่งโรงพยาบาลโคกโพธิ์ ก็รอดตายมาได้ ตอนนั้นแบโซะตื่นเต้นมาก นั่งอยู่ในกระบะรถกับคนเจ็บ ด้านหนึ่งก็ต้องคอยระวังคนร้ายโจมตีซ้ำ อีกด้านหนึ่งก็ต้องคอยรับโทรศัพท์ทั้งจากญาติคนเจ็บและผู้บังคับบัญชา วันนั้นเหนื่อยมาก เครียดมาก แต่ก็ดีใจที่คนเจ็บรอดตาย"
ดินแดนนี้ผู้ชายถูกหลอก
แม้ ต.ควนโนรี และ อ.โคกโพธิ์ จะเป็นหนึ่งในอำเภอสันติสุข ทั้งยังได้รับการขนานนามว่า "ดินแดนแห่งสามวัฒนธรรม" คือ อิสลาม ไทยพุทธ และไทยจีน แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า เฉพาะตำบลควนโนรีตำบลเดียว มีเด็กหนุ่มและชายฉกรรจ์ไปเสียชีวิตที่มัสยิดกรือเซะถึงเกือบ 10 คน ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 หรือที่ใครๆ รู้จักดีในนาม "เหตุการณ์กรือเซะ"
สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ หากมองผ่านสายตาของ "แบโซะ" เขาสรุปง่ายๆ ว่า ผู้ชายโดนหลอกให้ไปเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง
"ที่นี่ไม่เหมือนภาคอื่น ภาคอื่นนั้นผู้หญิงโดนหลอกไปขายบริการ แต่บ้านเราผู้ชายโดนหลอกให้ไปใช้ความรุนแรง ถูกหลอกให้ไปเสพยาเสพติด สมองเสื่อม แล้วก็ไปทำเรื่องร้ายๆ ต่างๆ แบโซะเห็นแล้วรู้สึกเสียใจ"
ด้วยเหตุนี้เอง "แบโซะ" จึงบอกกับตัวเองและใครๆ ว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เขาจึงต้องรักษาชีวิตครู นักเรียน และดูแลโรงเรียน เพื่อให้คนในพื้นที่ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ใช้ความรุนแรงอีกต่อไป...
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :
1 ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ
2 งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกเชคชั่น "จุดประกาย" ฉบับวันจันทร์ที่ 24 ธ.ค.2555 ด้วย