7 ปีไฟใต้...วัดใจ"ปกครองพิเศษ" ปชป.งัดโมเดลใหม่สู้ "นครปัตตานี"
วันนี้ (4 ม.ค.) เป็นวันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งหลายคนใช้เป็น “หลักไมล์” ในการนับเวลาของปัญหา “ไฟใต้คุโชนรอบใหม่” ซึ่งกลายเป็นสงครามก่อการร้ายรายวันที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 ปี
เป็น 7 ปีที่มีผู้สังเวยชีวิตจากความรุนแรงไปแล้ว 4,122 ราย บาดเจ็บ 7,225 ราย เด็กกำพร้ากว่าครึ่งหมื่น หญิงหม้าย 2,188 คน โดยที่รัฐทุ่มงบประมาณลงไปแก้ไขปัญหาแล้วไม่น้อยกว่า 1.44 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี พลวัตของสถานการณ์ ณ วันนี้ที่ต้องยอมรับกันก็คือ ปัญหาภาคใต้ได้ก้าวข้ามวาทกรรมเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น...การเมืองนำการทหาร, การสะสางความอยุติธรรม หรือการมุ่งปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยใช้กำลังทหารมากกว่า 3 หมื่นนายและกฎหมายพิเศษหลายฉบับเข้าไปกดทับพื้นที่ไปแล้ว
เพราะประเด็นที่พูดกันให้แซ่ดอยู่ในปัจจุบันก็คือ แนวคิดการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีโมเดลที่ติดหูติดตาและได้รับการกล่าวขานมากที่สุดคือ “นครปัตตานี”
เป็น “นครปัตตานี” หรือ “นครรัฐปัตตานี” ที่ถูกจุดพลุโดย “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย เมื่อปลายปี 2552 และได้รับการ “รับลูกต่อ” จากเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กรในพื้นที่ ถึงขั้นเดินสายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนจากทุกอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 37 อำเภอ โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
แต่กระนั้น ประเด็นนี้ได้ถูกผลักให้เป็นประเด็นการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่คาดว่าจะมีเกิดขึ้นภายในปี 2554 นี้ เพราะล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นป้ายหาเสียงโดยชูประเด็น “นครปัตตานี” พร้อมภาพ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ติดหราอยู่ริมทางหลวงและในเขตชุมชนทั่วทั้งสามจังหวัดไปแล้ว
คำถามก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งครองที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน จะแก้เกมนี้อย่างไร?
เปิดโมเดล “นครปัตตานี”
รูปแบบของ “นครปัตตานี” จากวาทะของ พล.อ.ชวลิต ไม่ค่อยชัดเจนนักว่าเป็นอย่างไรแน่ แต่รูปแบบที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กร มีกรอบกว้างๆ อยู่ 8 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- เป็นรูปแบบการปกครองที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 คือ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” (ข้อเสนอนี้ปรากฏขึ้นมาเพื่อลดกระแสต่อต้านว่าเป็นความพยายามแบ่งแยกดินแดน หรือตั้งรัฐอิสระ หรือตั้งเขตปกครองพิเศษ)
- ต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ มีจำนวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร
- ควรต้องใช้ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ รวมทั้งใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ
- ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้น โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต โดยตรงมากที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาเป็นตุ๊กตาโดย อัคคชา พรหมสูตร สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง เพื่อเตรียมเสนอเป็นร่างของประชาชนบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภาโดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญด้วย
ร่างกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร” มีหลักการคล้ายๆ กับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร โดยผนวก จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลามาอยู่ด้วยกัน กลายเป็น “ปัตตานีมหานคร” มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
ฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิด “นครปัตตานี” บอกว่า หากแก้ปัญหาด้วยการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของผู้คน (รวมหมดทั้งเรื่องภาษา ศาสนา การศึกษา และวัฒนธรรม) รวมถึงได้ผู้นำที่มาจากคนในพื้นที่เองแล้ว ปัญหาความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ก็จะหมดไปเอง ที่สำคัญ “ทหาร” ก็ต้องถอนกำลังกลับไปโดยปริยาย เนื่องจากได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งหมดแล้ว
แต่ฝ่ายที่คัดค้านแนวคิดนี้ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำฝ่ายปกครองท้องที่ (นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด) ผู้นำฝ่ายปกครองท้องถิ่นบางส่วน ตลอดจน ส.ส.และ ส.ว.ในพื้นที่บางกลุ่ม (ที่ไม่ได้ัสังกัดหรือสนับสนุนพรรคเพื่อไทย) มองว่า ทั้งรูปแบบ โครงสร้าง และเหตุผลที่ฝ่ายสนับสนุนยกมาอ้าง ทำให้ “นครปัตตานี” คล้ายเป็น “ยาวิเศษ” มากเกินไป และในความเป็นจริงไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ขนาดนั้น
หนำซ้ำยังอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมา คือความขัดแย้งจากการเลือกตั้งและการต้องยุบเลิกโครงสร้างของฝ่ายปกครองท้องที่กับฝ่ายปกครองท้องถิ่นบางส่วนด้วย
เปิดโมเดล ปชป.
นิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดเรื่อง “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบก็คือ หากจัดให้มีการเลือกตั้ง “ผู้ว่าการนคร” แล้ว จะเอาอำนาจมาจากที่ไหน เพราะเป็นเสมือนการสร้างอำนาจใหม่ขึ้นมา ขณะที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ.ก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งจังหวัดอยู่ในปัจจุบัน
ฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้จึงควรลดอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคลง แล้วนำไปเพิ่มให้ นายก อบจ.แทน ก็จะแก้ปัญหาได้
“ประเด็นที่มีการเรียกร้องกันคือ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมไม่มีอำนาจเพียงพอใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นไป ปัญหาก็จบ โดยไม่ต้องกระทบกับโครงสร้างที่มีอยู่เดิมด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง”
นิพนธ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไปขยายให้การปกครองส่วนภูมิภาคโตขึ้น เช่น นโยบายผู้ว่าฯซีอีโอ ซึ่งสวนทางกับการกระจายอำนาจ ฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องคือถ่ายโอนอำนาจเพิ่มเข้าไปให้ท้องถิ่น จะได้ไม่ต้องไปยุบเลิกโครงสร้างที่มีอยู่เดิมบางส่วน ก็จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะหากเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าการนคร จะนำไปสู่ความขัดแย้งแน่นอน
“ถามว่าถ้าเลือกตั้งผู้ว่าการนครรัฐปัตตานี โดยรวม จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นนครรัฐ แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอยู่เดิม 3 คนจะให้ไปอยู่ที่ไหน นายก อบจ.อีก 3 คน นายกเทศบาลเมืองหรือเทศบาลนครอีก ถ้าต้องยุบเลิกตำแหน่งพวกนี้ จะสร้างความขัดแย้งตามมาอีกมาก”
เมืองพิเศษชายแดน
นิพนธ์ อธิบายต่อว่า โมเดลของพรรคประชาธิปัตย์คือ การเพิ่มอำนาจให้ อบจ.และเมืองต่างๆ ตามแนวชายแดนทั่วประเทศ ให้สามารถบริหารจัดการและดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่รวมถึงเมืองชายแดนอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้วย
“พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ชูธงให้เกิดเทศบาล อบจ.และ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) โดยได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ กระทั่งตอนนี้คือรูปแบบเมืองพิเศษ เช่น แม่สอด (อ.แม่สอด จ.ตาก) ภูเก็ต และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเมืองเหล่านี้มีปัญหาด้านความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดมหึมาจากการค้าตามแนวชายแดน จึงต้องมีการบริหารจัดการรูปแบบพิเศษเข้ามาดูแล เพราะลำพังเพียงเทศบาล หรือ อบจ.ตามกรอบอำนาจเดิมไม่สามารถบริหารจัดการได้”
“จากแนวทางนี้ เมืองชายแดนทั้งหมดจะมีรูปแบบการปกครองลักษณะพิเศษ ขณะเดียวกันก็ไม่ก่อปัญหาความขัดแย้ง เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังมีอยู่ แต่ลดอำนาจให้เหลือเพียงกำกับดูแลเป็นเรื่องๆ ไป และเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานกับส่วนกลางเท่านั้น”
“สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รูปแบบจะเป็นอย่างไรก็มาระดมความคิดความเห็นกัน อาจจะเป็นเมืองชายแดนด้านวัฒนธรรมก็ได้ แล้วก็กำหนดขอบเขตอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับส่วนกลาง ไม่ใช่อยู่ๆ ไปเสนอนครรัฐขึ้นมา โดยไม่รู้ว่ามีอำนาจหน้าที่อย่างไร และจะมีความสัมพันธ์กับราชการส่วนกลางอย่างไร”
นิพนธ์ ย้ำว่า การจะสร้างรูปแบบการปกครองพิเศษขึ้นมา ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าภารกิจของเมืองพิเศษคืออะไร อำนาจหน้าที่มีอะไรบ้าง และที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิเศษกับราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า “นครปัตตานี” ยังไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้เลย เช่น ถ้ามีปัญหาด้านการต่างประเทศ จะให้ใครเป็นผู้เจรจา งานด้านความมั่นคง การศึกษา จะดูแลเองทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นต้น
“เวลาพูดเรื่องกระจายอำนาจต้องพูดให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลางด้วย ไม่ใช่แค่คิดแต่ชื่อเป็นหัวขึ้นมา ส่วนรายละเอียดข้างล่างไม่มี ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ และเกิดแรงต้าน”
“ยกตัวอย่างเวลาสร้างบ้านใหม่ ต้องบอกให้ได้ก่อนว่าบ้านจะมีกี่ชั้น กี่ห้อง และใช้งบเท่าไหร่ ไม่ใช่สร้างไป ทำไป คิดไป สุดท้ายอาจได้แต่เสา และที่สำคัญที่สุดคือต้องถามคนที่จะอยู่ในบ้านด้วยว่าอยากให้บ้านเป็นอย่างไร เพราะถ้าสร้างแล้วไม่มีคนอยู่ก็จะกลายเป็นบ้านร้าง”
ส่วนแนวทางการรวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “นครรัฐ” หรือ “มหานคร” นั้น ส.ส.ประชาธิปัตย์ผู้นี้ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ควรมีขนาดใหญ่มาก มิฉะนั้นจะอุ้ยอ้าย เทอะทะ สวนทางกับหลักการกระจายอำนาจ คิดว่าใช้รูปแบบ 1 จังหวัด 1 องค์กรดีกว่า เพราะจะมีความคล่องตัวในการบริหาร และมีโครงสร้าง อบจ.รองรับอยู่แล้ว
“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องถามประชาชนเสียก่อนว่าอยากอยู่ในนครรัฐ หรือ อบจ.ที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจเข้ามาอย่างเพียงพอ อาจทำประชาพิจารณ์อย่างเป็นกิจจลักษณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ ตามมา” ส.ส.ประชาิธิปัตย์ กล่าว
นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกฝ่ายในสังคมไทย ในวาระ 7 ปีของปัญหาภาคใต้ที่เปลวไฟยังคงคุโชน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ชูประเด็นสนับสนุน "นครปัตตานี" อย่างชัดเจน
2 นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์
อ่านประกอบ :
- บวรศักดิ์ : ได้เวลาพิจารณาการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษชายแดนใต้
http://www.south.isranews.org/interviews/656-2010-12-27-08-30-01.html
- อารีเพ็ญ : ผมไม่เห็นด้วยกับนครปัตตานี
http://www.south.isranews.org/interviews/638-2010-12-15-16-43-00.html
- อีกครั้งกับ "นครปัตตานี" 8 ความคาดหวังของคนพื้นที่ต่อรูปแบบการปกครองใหม่
http://www.south.isranews.org/academic-arena/637--8-.html
- Nakhon Pattani: A tangible dream or a cause of confusion?
http://www.south.isranews.org/english-article/639-nakhon-pattani-a-tangible-dream-or-a-cause-of-confusion.html
- ตรวจความพร้อม "มาตรา 21" เมื่อทุกฝ่ายขานรับ แล้วกองทัพมีคำตอบหรือยัง?
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/622--21-.html
- เมื่อปฏิบัติการทางทหารถึงทางตัน จับตา "นครปัตตานี-ม.21" ดับไฟใต้
http://www.south.isranews.org/academic-arena/157--q-21q-.html
- กะเทาะความคิด "อัคคชา พรหมสูตร" ผู้เสนอร่างกฎหมายปัตตานีมหานคร
http://www.south.isranews.org/academic-arena/76-2009-12-21-02-23-19.html
- พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ : ชายแดนใต้ไม่ถูกแบ่งแยก...แม้มี "นครปัตตานี"
http://www.south.isranews.org/academic-arena/68-2009-12-17-03-04-17.html
- นครปัตตานีกดดันรัฐ นายกฯเล็งปรับปรุง "องค์กรปกครองท้องถิ่น" นำร่องจังหวัดชายแดน
http://www.south.isranews.org/other-news/63--qq-.html
- เทียบโมเดล "นครปัตตานี" แน่หรือคือยุทธวิธีดับไฟใต้?
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/61-qq-.html
- ความฝันอันแรงร้อน...นครปัตตานี
http://www.south.isranews.org/academic-arena/58-2009-12-12-17-44-21.html
- ฟังเสียงรากหญ้าพูดถึงสะพานมิตรภาพ นายกฯมาเลย์เยือนใต้ และนครปัตตานี
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/documentary/56-qq-.html
- นายกฯมาเลย์เยือนใต้ จับตา "มาร์ค" พลิกเกมนครปัตตานี
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/49-2009-12-08-06-20-28.html
- นครปัตตานี...โดนใจแต่ไม่มั่นใจแก้วิกฤติชายแดนใต้
http://www.south.isranews.org/academic-arena/38-2009-12-03-17-52-30.html
- "บิ๊กจิ๋ว"ขยายความ "นครปัตตานี" ฟื้นความยิ่งใหญ่ของ "ระเบียงมักกะฮ์"
http://www.south.isranews.org/academic-arena/37-qq--qq--qq.html
- พิเคราะห์ "ลมปาก" นักการเมือง จาก "คำประกาศปัตตานี-ปฏิญญายะลา" ถึง "นครปัตตานี"
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/27--qq-q-q-qq-.html
- "นครปัตตานี" นักการเมืองจบแล้ว แต่คนพื้นที่ยังไม่จบ
http://www.south.isranews.org/scoop-and-documentary/scoop-news-documentary/16-2009-11-19-14-22-12.html
- ชัดๆ อีกครั้งกับผู้นำมาเลเซีย...อะไรคือรูปแบบ "การปกครองพิเศษ" สำหรับชายแดนใต้?
http://www.south.isranews.org/interviews/12-2009-11-17-19-21-02.html