‘เขื่อนขุนด่านปราการชล’ ต้นแบบแก้วิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้ง
ลุ้นกันตลอดปี 2555 กับสถานการณ์น้ำ จะท่วม ไม่ท่วม หรือแค่เจิ่งนอง??
จนรัฐบาลต้องออกมาฟันธง เข็นมาตรการเด็ดๆ เรียกความมั่นใจจากชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้า นักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติกันยกใหญ่ ทั้งการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 วงเงิน 50,000 ล้านบาท
สุดท้ายปีนี้ ไทยก็รอดพ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมมาจนได้ แต่ดูเหมือนว่าปีหน้า ไทยจะเข้าสู่โหมดร้อน-แล้ง ตามทัศนะของนักวิชาการหลายคน
เพื่อเปิดมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาด้านแหล่งน้ำในเมืองไทย
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานโครงการ ‘เขื่อนขุนด่านปราการชล’ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก หนึ่งในโครงการต้นแบบการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับราษฎรพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายกแบบยกกระบิ ครอบคลุมทั้งเรื่องน้ำ-ดิน-การดำรงชีวิต-การประกอบอาชีพของเกษตรกร
ข้อมูลระบุว่า ตัวเขื่อนกักเก็บน้ำแห่งนี้ ก่อสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตอัดเต็มรูปแบบ มีปริมาณเก็บกักน้ำปกติอยู่ที่ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ตามพิกัดบนแผนที่
โดยโครงการมีที่มาที่ไปจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อแก้วิกฤตสำคัญๆ ของชาวนครนายกใน 3 เรื่องคือน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินเปรี้ยว เนื่องจากปัญหาเหล่านี้สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนของจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 70 มีอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกข้าว รองลงมาคือทำสวนผลไม้ อาทิ ทุเรียน มะม่วง เงาะ ขนุน ส้มโอ มะปราง ฯ
สำหรับวิกฤตน้ำท่วมนั้น ชัดเจนว่า อุทกภัยแต่ละครั้ง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรจังหวัดนครนายกตลอดมา ในปี พ.ศ.2533 น้ำท่วมข้าวกว่า 300,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 456 ล้านบาท สามปีต่อมา คือปี พ.ศ.2536 เกิดน้ำท่วมอีกครั้ง พื้นที่ปลูกข้าว 51,376 ไร่จมอยู่ใต้บาดาล สร้างความเสียหายทันทีกว่า 78 ล้านบาท
ภาวะน้ำท่วมที่นครนายกต้องประสบนั้น มีสาเหตุเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำนครนายก ประกอบด้วย พื้นที่สูงชันและหุบเขาแคบๆ ทางตอนเหนือ เรื่อยมาจนถึงบริเวณคลองท่าด่าน แล้วลาดเทสู่ที่ราบลุ่มทางตอนใต้ ทำให้กระแสน้ำที่ไหลจากเทือกเขาใหญ่ลงสู่พื้นที่เบื้องล่างเชี่ยวกรากและรุนแรง บ่อยครั้งไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็วจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน สร้างความเสียหายแก่เรือกสวนไร่น้ำ บ้านเรือนประชาชน
ไม่เพียงเท่านั้น ลุ่มน้ำแห่งนี้ยังมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ เพราะลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีความลาดเอียงน้อยติดต่อกันเป็นพื้นที่กว่าใหญ่กว่า 100 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งการระบายน้ำส่วนใหญ่ ยังคงใช้คลองธรรมชาติ ทำให้การระบายน้ำในตัวเมืองนครนายก ผ่านพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายกไปสู่แม่น้ำปราจีนบุรีและบางปะกงทำได้ช้า จึงเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
ขณะที่ปัญหาน้ำแล้ง เกิดขึ้นจากลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำนครนายกอีกเช่นกัน ที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำในปริมาณมากได้ ซ้ำร้ายบางปียังเกิดภาวะน้ำแล้ง ฝนทิ้งช่วง จึงไม่มีน้ำเพียงพอต่อการชลประทาน
โดยเหตุการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงของนครนายก เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2541 เนื่องจากปีนั้นทั้งจังหวัดมีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยเพียง 1,396.15 มิลลิเมตร จัดว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนำซ้ำยังมีน้ำทะเลหนุนเข้ามาทางแม่น้ำบางปะกง ทำให้ครานั้นพื้นที่การเกษตรกว่า 120,000 ไร่เสียหาย ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง 23,658 ครัวเรือน
ส่วนปัญหาสุดท้ายคือ ดินเปรี้ยว เกิดจากพื้นดินที่มีกรดกำมะถันในปริมาณมาก ทำให้ดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถเพาะปลูกให้ผลผลิตที่สูงได้ โดยพบว่า ผลผลิตข้าวเปลือกต่ำกว่าปริมาณเฉลี่ยของประเทศ ขณะที่การเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะกุ้งหรือปลา ก็ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว ได้กินพื้นที่กว้างขวางถึง 555,091 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42 ของพื้นที่จังหวัด และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ปล่อยทิ้งร้าง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆได้เลย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศแห่งนี้ ประสบปัญหาเรื่องดินกับน้ำมาโดยตลอด
เขื่อนขุนด่านปราการชล จึงได้ถูกสร้างขึ้น โดยมีความสำคัญดังพระราชดำรัสของ ‘ในหลวง’ ที่ทรงพระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2536 ความว่า “…โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก ซึ่งสร้าง ณ บริเวณจุดที่ต่ำจากน้ำตกเหวนรกลงมานั้น เป็นโครงการที่มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ราษฎรมีน้ำใช้เพาะปลูกในฤดูแล้งได้เป็นจำนวนนับแสนๆ ไร่แล้ว เขื่อนแห่งนี้ก็จะสามารถเก็บกักน้ำอุทกภัยของทุกปีไว้ได้หมด จะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมพื้นที่เกษตรในบริเวณจังหวัดนครนายกอีกต่อไป และขณะเดียวกันในฤดูแล้ง น้ำจากเขื่อนก็จะถูกระบายเพื่อชะล้างดินเปรี้ยวในหลายอำเภอขอนครนายกได้อีกด้วย”
และเมื่อเขื่อนแห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 ผลก็ออกมาเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล ได้ช่วยเก็บกักน้ำ ลดความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งช่วยบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัยในเขตจังหวัดได้ประมาณร้อยละ 35 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี ทำให้เศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ของชาวนครนายกได้รับการฟื้นฟูขึ้นตามลำดับ
ส่วนภัยแล้งที่เคยเป็นวิกฤตก็เบาบางลง เพราะเขื่อนแห่งนี้ สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงพอตลอดทั้งฤดูกาล อีกทั้งยังมีน้ำส่วนหนึ่งถูกจัดสรรเพื่อรักษาระบบนิเวศ และไล่น้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงด้วย ที่สำคัญดินเปรี้ยวที่เคยเป็นปัญหาก็ได้รับการแก้ไข โดยปริมาณน้ำที่ส่งจากเขื่อนได้ช่วยรักษาระดับน้ำได้ดินและให้ความชุ่มชื้นกับดิน รวมทั้งป้องกันไม่ให้สารประกอบไพไรท์ในดินสัมผัสกับอากาศและเกิดเป็นกรดกำมะถัน ดินที่เคยเปรี้ยว จึงสามารถกลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้ง
ตามที่หลักการทำงานที่ว่า “ลดน้ำยามท่วม เติมน้ำยามแล้ง แปลงดินยามเปรี้ยว และพัฒนาอาชีพเพื่อคุณภาพ”
และจากการที่ได้สอบถามกับชาวนครนายกรายหนึ่ง ยืนยันว่า เขื่อนแห่งนี้ได้ช่วยแก้ปัญหาของคนนครนายกได้อย่างเห็นผล ชาวบ้านสามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก และในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 เขื่อนแห่งนี้ก็ได้ช่วยเก็บกักน้ำไว้ ไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ตอนล่าง
ส่วนกรณีชาวบ้านที่ต้องอพยพ และได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในครั้งนั้น รัฐก็ได้จ่ายเงินชดเชยเป็นกรณีพิเศษทดแทน นอกจากนี้ ยังได้รับการส่งเสริมให้ทำอาชีพเกษตรผสมผสาน ทดแทนอาชีพเดิมที่ผิดกฎหมาย ทั้งการตัดไม้ เก็บของป่าบนภูเขาอีกด้วย