รายอนี้...ไม่มีบ้าน
วันอังคารที่ 16 พ.ย.ที่จะถึงนี้ คือวันที่จุฬาราชมนตรีประกาศว่า เป็นวัน "อิดิ้ลอัฎฮา" ประจำฮิจเราะห์ศักราช 1431 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางศาสนาที่พี่น้องมุสลิมทั่วโลกจะร่วมเฉลิมฉลองให้กับมุสลิมที่มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
แต่มุสลิมกว่าร้อยครอบครัวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีบ้านไว้ต้อนรับญาติมิตรที่จะมาเยี่ยมเยือนตามประเพณี และในเมื่อแม้แต่บ้านก็ยังไม่มี จึงมิพักต้องพูดถึงการจะมีหัวจิตหัวใจร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ หรือซื้อข้าวของไปเยี่ยมพี่น้องที่อาศัยอยู่ต่างถิ่น ต่างอำเภอ...
ยะผา อาแว หรือ เป๊าะ วัย 70 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 121 หมู่ 4 บ้านดาโต๊ะ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี หนึ่งในบ้านจำนวน 133 หลังที่ถูกพัดหายไปกับพายุดีเปรสชั่น นั่งเศร้าอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากที่แห่กันไปเยี่ยมผู้ประสบภัย ตาเหม่อลอยไปที่แผ่นน้ำผืนกว้างเหมือนกำลังตั้งคำถามว่าโกรธเคืองกันมาแต่หนไหนหรือ ทำไมถึงต้องหอบคลื่นยักษ์และพายุฝนมาทำลายบ้านที่แกอยู่อาศัยมานานเกือบจะทั้งชีวิตด้วย
“แย่นะ” เป๊าะกล่าวสั้นๆ พร้อมกับถอนหายใจยาวเมื่อ “ทีมข่าวอิศรา” แวะเวียนเข้าไปพูดคุย “พอไม่มีบ้านก็รู้สึกไปอีกแบบ ตอนที่มีบ้านอยู่ เป๊าะคิดว่าเป๊าะต้องอยู่บ้านคนเดียว ไม่มีภรรยาหรือลูกมาคอยดูแลหรือเป็นเพื่อน แต่ทุกวันนี้หลังจากบ้านพังไปกับพายุ เป๊าะรู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นอีกครั้งกับชีวิต เป็นความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านดีและไม่ดี”
เมื่อได้ฟังเราออกจะงงๆ ว่าการไม่มีบ้านยังมีแง่มุมดีๆ ด้วยหรือ เป๊าะเหมือนจะรู้ว่าเราคิดอะไร จึงขยายความให้ฟังว่า สิ่งดีๆ ก็คือเมื่อเป๊าะไม่มีบ้าน เป๊าะก็ต้องไปอาศัยมัสยิดในชุมชน ซึ่งก็มีเพื่อนๆ ที่บ้านเรือนเสียหายมาอยู่รวมกัน พวกเราอยู่กันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูล มีกินก็กินด้วยกัน ไม่มีก็อดด้วยกัน และยังเห็นความสามัคคีของคนในชุมชนมากขึ้นด้วย
ส่วนสิ่งไม่ดีคือเป๊าะไม่มีบ้านจะอยู่ เคยคิดว่าถ้าไม่มีมัสยิดเราจะไปอยู่ที่ไหน อายุก็มากแล้ว ที่สำคัญเหลืออีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่เทศกาลรายอ เงินก็ไม่เหลือเลย บ้านก็ไม่มี ไม่รู้จะรายออย่างไร
“เวลาลูกหลานมาเยี่ยมก็คงต้องให้มาเยี่ยมเป๊าะที่มัสยิดนี่แหละ เพราะเป๊าะไม่รู้จะไปไหน ลูกหลานมาชวนให้ไปอยู่ที่บ้านของเขาที่ปาสัส (อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี) แต่เป๊าะไม่อยากไป เพราะยังอยากอยู่ที่นี่ ที่นี่เป็นบ้านของเรา แม้จะไม่มีบ้านให้อยู่ก็ขอดูลาดเลาไปก่อน”
ความกังวลของเป๊าะ ชายชราวัยใกล้ฝั่ง เป็นความรู้สึกเดียวกับ อุสมาน ดอเลาะ หนุ่มวัย 34 ปี ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี ซึ่งแม้จะอยู่ในเมือง และไม่ได้อยู่ริมทะเล แต่บ้านก็พังเหมือนกันเพราะถูกต้นไม้ขนาดใหญ่ล้มทับ
ช่วงที่ “ทีมข่าวอิศรา” เข้าไปเยี่ยม อุสมานกำลังนั่งทอดอาลัยอยู่ในกระต๊อบขายกล้วยทอดปากทางเข้าบ้าน เขานั่งอยู่กับภรรยาที่อุ้มลูกน้อยอายุแค่ 2 เดือนไว้กับอก ข้างๆ ตัวนางยังมีลูกคนโตอายุ 3 ขวบให้ดูแลอีกคน
อุสมาน เล่าว่า บ้านของเขาได้รับความเสียหายทั้งหลัง ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ต้องสร้างใหม่เท่านั้น เพราะต้นไม้ใหญ่ล้มทับกลางบ้านพอดี ยังดีที่เพื่อนบ้านมีน้ำใจชวนไปพักอาศัย จึงพอมีที่หลบฝนบ้าง ไม่อย่างนั้นคงต้องอาศัยกระต๊อบขายกล้วยทอดเป็นที่นอน
“นี่ก็ใกล้รายอแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร เสื้อผ้าลูกยังไม่มีใส่ เงินก็ไม่มีจะซื้อ ที่อยู่ก็ไม่มี คงต้องอยู่ไปตามมีตามเกิดไปก่อน จะทำอย่างไรได้ อัลลอฮ์ให้เรามาแบบนี้ ก็ยังดีที่ไม่มีใครได้รับอันตราย แค่บ้านและข้าวของเงินทองหายไปหมดเท่านั้น ส่วนครอบครัวของเรายังอยู่ครบทุกคน”
เมื่อพูดถึงรายอ ดูเหมือน อุสมาน จะยิ่งอัดอั้น...
“ทุกปีเมื่อถึงเทศกาลรายอ จะมีพี่น้องและญาติจากต่างถิ่นมาเยี่ยมและกินเลี้ยงกันสามวันสามคืน แต่ปีนี้คงไม่มีการฉลอง เพราะไม่มีเงิน และไม่มีบ้านอยู่ พูดไปก็รู้สึกแย่ ต้องพยายามไม่คิด เพราะบ้านคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี เมื่อไม่มีบ้านก็เหมือนนกไม่มีรัง หันไปทางไหนก็มืดสนิท ทั้งที่ดวงอาทิตย์ยังส่องแสงอยู่ แต่ใจเรากลับมืดและมีแต่ความทุกข์ ช่วงที่ลูกป่วยยิ่งแย่ไปใหญ่ นอกจากเราจะไม่ได้นอนแล้ว เจ้าของบ้านที่เราอาศัยอยู่ก็ต้องพลอยอดหลับอดนอนไปกับเราด้วย เพราะเมื่อลูกเราร้อง เขาก็ต้องมาดู เกรงใจเขามาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้”
แม้ข่าวคราวความเสียหายจากชายแดนใต้จะมีการรายงานผ่านสื่อแขนงต่างๆ ไม่น้อย ทว่าการช่วยเหลือของภาครัฐก็ดูจะยังเป็นปัญหา อุสมาน บอกว่า รัฐช่วยเหลือตามกระแส
“ผมรู้สึกน้อยใจมาก เพราะรัฐไปตามกระแสตลอด ตรงไหนมีคนไปเยอะๆ ก็จะไปตรงนั้น ส่วนที่นี่ (ต.ตะลุโบะ) ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ก็เลยไม่มีใครมาช่วย ตั้งแต่บ้านพังเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ผมได้รับของช่วยเหลือจาก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นไม่มีมาดูแลหรือแม้แต่มาเยี่ยมเลย การช่วยเหลือเรื่องบ้านก็มีแค่ผู้นำชุมชนเข้ามาเก็บข้อมูล ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ที่อื่น ผู้ใหญ่รับปากเลยว่าจะช่วยเหลือสร้างบ้านให้ใหม่” อุสมาน กล่าว
ความช่วยเหลือที่ยังไม่ทั่วถึง มีเสียงสะท้อนจากอีกหลายๆ ชุมชน เช่น ชุมชนบ้านบูดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปสุดปลายแหลมริมอ่าวปัตตานี เพราะส่วนหนึ่งของคาราวานความช่วยเหลือดูจะหยุดอยู่ที่บางชุมชนที่เป็นข่าวครึกโครมทางสื่อเท่านั้น ทั้งๆ ที่บ้านบูดีเสียหายยับทั้งบ้านเรือน อุปกรณ์การหาปลา และกระชังปลาในทะเล
“โชคดีที่ไม่มีคนตาย แต่บ้านของลุงและเพื่อนบ้านอีกประมาณ 5 หลังพังยับเยิน ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เลย เรือประมงก็เสียหายหลายลำ เครื่องเรือก็จมหายไปในทะเล ทำให้หลายคนไม่มีอาชีพแล้วตอนนี้ ส่วนบางคนที่ยังพอทำงานได้ก็ไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน กำลังรอดูอยู่ว่าทางราชการจะช่วยเหลือด้านใดบ้าง” เจ๊ะและ เจ๊ะอารง ผู้เฒ่าวัย 65 ปีแห่งบ้านบูดี กล่าว
นายนิราศ อาแว นายก อบต.แหลมโพธิ์ อธิบายถึงการให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยซึ่งมีเสียงบ่นไปจนถึงตำหนิจากหลายฝ่ายว่า เบื้องต้นได้เยียวยาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือเรื่องอาหาร น้ำดื่ม เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย แต่ยอมรับว่าการช่วยเหลือต้องไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะจะต้องเยียวยาด้านอาชีพอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ชาวบ้านยืนบนลำแข้งของตัวเองได้โดยเร็วที่สุด
“อาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำประมง แม้บางคนบ้านจะไม่ได้รับความเสียหาย แต่เครื่องมือทำมาหากินไม่มีเหลือ ก็เหมือนกับสิ้นเนื้อประดาตัวเช่นกัน ความช่วยเหลือในขณะนี้เป็นเพียงการบรรเทาทุกข์เบื้องต้น ต่อไปจะมีการสร้างบ้าน ฝึกอาชีพและหาอุปกรณ์ทำกินมาให้ได้ใช้ในระยะยาว” นายก อบต.แหลมโพธิ์ กล่าว
แม้ความช่วยเหลือกำลังทะยอยเข้ามา แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงความหวังที่ชาวบ้านต้องตั้งตารออย่างทดท้อ เพราะเทศกาลรายอที่จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ หลายครอบครัวยังไม่มีแม้บ้านที่จะต้อนรับผู้มาเยือน...
--------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 แววตาว่างเปล่าของ ยะผา อาแว แห่งบ้านดาโต๊ะ
2 ผ่านไปกว่า 10 วันแล้ว แต่ความเสียหายที่บ้านดาโต๊๋ะยังคงไม่ดีขึ้น
3-5 กำปงบูดี หมู่บ้านปลายสุดของแหลมโพธิ์ ยับเยินไม่แพ้บ้านดาโต๊ะ