กสทช.ดันเครื่องมือช่วยคนพิการ-สูงอายุ-คนชนบทเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
กสทช.เตรียมวิจัยพัฒนาเครื่องมือ 4 ชนิดช่วยคนพิการ-ผู้สูงอายุ-คนชายขอบในถิ่นทุรกันดารเข้าถึงข่าวสาร สื่อใหญ่ชี้ไม่ควรออกเป็นข้อบังคับผู้ประกอบการ เสนอรัฐทำช่องวิทยุโทรทัศน์เฉพาะกลุ่ม
วันที่ 20 ธ.ค. 55ที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัล กรุงเทพฯ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ จัดประชุมรับฟังความเห็น‘แนวทางการส่งเสริมให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์’เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งจะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก 4 ประเภท ได้แก่ การบรรยายด้วยเสียงเพื่อการอธิบายภาพ, การบรรยายด้วยเสียงจากการแปลงข้อความ, การบรรยายโดยใช้ข้อความแทนเสียง และการบรรยายโดยใช้ภาษามือ
นายคธาทร อัศวจิรัฐติกรณ์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7กล่าวว่า การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องคำนึงว่าธุรกิจสื่อสารมวลชนไม่อาจละเลยระบบการค้าที่ต้องอาศัยกำไรเพื่อความอยู่รอด จึงยากที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎเกณฑ์ได้ทั้งหมด เสนอให้จัดสรรคลื่นสถานีวิทยุโทรทัศน์เฉพาะกลุ่มขึ้น โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนกสทช. ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 56 ช่อง 7 จะจัดให้มีล่ามภาษามือบรรยายในรายการข่าว แต่ยังกังวลว่าผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสแต่ละพื้นที่มีประสบการณ์สื่อสารภาษามือแตกต่างกันจะไม่เข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบในท้องถิ่นทุรกันดารและต่างด้าว จึงไม่หวังว่ากระแสความนิยมจะดี
นางวิไลวรรณ ซึ้งปรีดา หัวหน้าศูนย์บริการกการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้กสทช.จัดสรรคลื่นตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์เฉพาะกลุ่มฝ่ายเดียว แต่ควรทำงานควบคู่กับฟรีทีวี ภายใต้หลักการศึกษาวิจัยที่ครบถ้วนรอบด้าน มิเช่นนั้นจะสร้างทัศนคติให้เกิดขึ้นว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นปัญหาสังคมได้
นางจุรีพร บุญหลง คณะวิจัยสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ กล่าวว่าหลายคนมองคนพิการไม่ควรถูกจำกัดสิทธิให้ดูได้แต่ช่องเฉพาะสำหรับคนพิการเท่านั้น แต่นโยบายหลักในการพัฒนาคือคนพิการควรดูร่วมกับคนปกติได้ ส่วนจะไม่ทำให้รบกวนสุนทรียภาพของคนปกตินั้นควรเป็นขั้นตอนเชิงเทคนิค
“ตัวล่ามที่ขึ้นริมจอ บางกลุ่มให้ข้อมูลว่าต่างประเทศเลือกเปิดปิดได้ ซึ่งจะเห็นว่าเสพสื่อร่วมกันได้โดยไม่รบกวนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องศึกษาเชิงเทคนิคต่อไป ส่วนข้อจำกัดการลงทุนเพราะไทยมีทีวีเพื่อสาธารณะและทีวีธุรกิจ อาจต้องสอบถามหน่วยงานรัฐ แต่เบื้องต้นจะใช้งบสนับสนุนจากกองทุนกสทช.”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอได้ศึกษาข้อจำกัดและความต้องการกลุ่มผู้พิการระบุว่า ผู้พิการทางการเห็นไม่สามารถสื่อสารด้านการอ่านและเขียนหนังสือในรูปแบบที่คนทั่วไปใช้ ซึ่งการใช้อักษรเบลล์จะจำกัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ส่วนผู้พิการทางการได้ยินไม่สามารถสื่อสารด้วยการฟังและพูดได้ เกิดปัญหาการอ่านที่แตกฉาน จึงต้องใช้ล่ามภาษามือ แต่ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการรับรู้ข้อมูลจากล่ามด้วย นอกจากนี้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว แม้จะมีความสามารถฟังและพูด แต่อาจเกิดความยากลำบากในการพูด เช่น ตะกุกตะกัก พูดช้า แม้จะไม่เป็นอุปสรรคมาก แต่การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกประเภท Universal Remote Control จะช่วยได้ และผู้พิการทางสติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก มีข้อจำกัดการรับรู้ จดจำ และใช้
สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในการสื่อสารและเข้าถึงสื่อโทรทัศน์/วิทยุ จะมีอุปสรรค เช่น ไม่มีโทรทัศน์ เนื่องจากอาศัยอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารรวมถึงคนต่างด้าวไม่เข้าใจภาษา จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามนักวิชาการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมผลักดันในเชิงปฏิบัติ โดยภาครัฐต้องออกระเบียบหรือมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเกิดความต้องการอยากใช้เทคโนโลยี เช่น การลดภาษี, กองทุนกสทช. ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ, สถาบันการศึกษาต้องให้ความรู้นักศึกษาที่จะกลายเป็นผู้ผลิตสื่อในอนาคต
ทั้งนี้การระดมความคิดเห็นดังกล่าวจะนำเสนอบอร์ดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บอร์ดกสท.) พิจารณา เพื่อออกเป็นหลักการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่อไป.
ที่มาภาพ : http://www.mahatai.org/news_detail.php?newsid=090109&Re=Y