ปัญหาใหม่หลังน้ำลด...บริจาคกระจุก ช่วยเหลือไม่กระจาย
อุทกภัยที่ชายแดนใต้มีเสียงวิจารณ์ตามมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงแรกหลังวันที่ 1-2 พ.ย. ก็เริ่มได้ยินเสียงบ่นกันถึงการให้น้ำหนักความช่วยเหลือที่หยุดอยู่แค่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เท่านั้น ต่อเมื่อข่าวความเสียหายจากหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนเผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะชุมชนริมฝั่งทะเล คาราวานของบริจาคก็มุ่งตรงสู่ดินแดนปลายด้ามขวาน แต่นั่นก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการตามมาอีก
สอและ มะสอลา อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนปัญหาให้ฟังในแบบที่ทุกฝ่ายพึงตระหนักโดยด่วน...
“ตอนนี้ของบริจาคกระจุกตัวเฉพาะบางพื้นที่ ทำให้ของบริจาคแจกจ่ายได้ไม่ทั่วถึง และยังมีหลายพื้นที่ที่ตกค้าง ไม่ได้รับสิ่งของและเงินบริจาค โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งเส้นทางสัญจรตัดขาด จนไม่สามารถออกมารับของบริจาคได้”
สอและ กล่าวต่อว่า ปัญหาต่อมาคือการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานราชการจะต้องยึดตามข้อมูลหมู่บ้าน การจ่ายแจกเครื่องอุปโภคบริโภคและเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นจึงต้องเป็นไปตามข้อมูลของทางราชการอย่างเคร่งครัด ทำให้หลายครัวเรือนที่ไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในข้อมูลหมู่บ้านไม่ได้รับการช่วยเหลืออะไรเลย
นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาเรื้อรังซ้ำซากที่เป็นมานาน คือการแจกจ่ายสิ่งของมักใช้ระบบอุปถัมภ์ กล่าวคือผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเครือญาติและเป็นฐานเสียงของผู้นำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้มีบทบาทในชุมชน จะได้รับการช่วยเหลือเป็นลำดับต้นๆ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ จะเป็นตัวเลือกลำดับรองลงไป ทำให้มีแนวโน้มเกิดความขัดแย้งขึ้นในชุมชนได้ และยังส่อว่าจะมีการแสวงหาผลประโยชน์จากเงินบริจาคและความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย โดยเฉพาะหากไม่มีการจัดการที่ดีในชุมชน
“การให้ความช่วยเหลือมีเยอะมาก ทำให้มีกลุ่มคนเข้าไปรับเหมาหรือแสดงตัวเป็นนายหน้าในการจัดการ ซึ่งเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ในขั้นต่อไป เรื่องเหล่านี้ต้องระมัดระวัง เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นความขัดแย้งซ้ำซ้อนและก่อให้เกิดปัญหาที่ยืดเยื้อตามมา” สอและ ระบุ
จากการสำรวจของเครือข่ายทรัพยากร ร่วมกับเครือข่ายสื่อภาคประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ายังมีหลายพื้นที่ที่ประสบภัยและได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่กลับได้รับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอ
เช่น ที่บ้านบางตาวา ต.บางตาวา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีหลายครัวเรือนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การทำมาหากิน ที่หมู่ 4 บ้านดาโต๊ะ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บ้านเรือนเสียหาย 32 หลังคาเรือน เรือประมงเสียหาย 100 ลำ ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องเรือประมง
หมู่ 1 บ้านกำปงบูดี และหมู่ 3 บ้านปาตาบูดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง ก็เช่นกัน มีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 10 หลังคาเรือน ขณะที่บ้านบางปลาหมอ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 10 หลังคาเรือน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะได้รับแจกแต่เสื้อผ้ากับถุงยังชีพ
ที่หมู่ 1 บ้านปาตา ต.ตันหยงลูโล๊ะ อ.เมืองปัตตานี บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 10 หลัง ยังได้รับความช่วยเหลือไม่ครบถ้วนเช่นกัน
ที่ ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ท้องที่หมู่ 7 บ้านลุ่ม บ้านเรือนเสียหาย 10 หลัง หมู่ 1 บ้านปาตาบาระ บ้านเรือนเสียหาย 20 หลัง บ้านละหาร บ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก 2 หลัง ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องซ่อมแซมบ้าน
หมู่ 5 บ้านบางราพา ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี บ้านเรือนเสียหายหนัก 1 หลัง มีน้ำขังในชุมชน ทำให้ประชาชน 200 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือนอกจากรับแจกถุงยังชีพ เช่นเดียวกับที่หมู่ 1 บ้านท่ากำชำ ต.ท่ากำชำ มีบ้านเรือนเสียหายอย่างหนัก 1 หลัง เสียหายบางส่วน 48 หลัง ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องการซ่อมแซมบ้าน เพราะได้รับแต่เสื้อผ้ากับถุงยังชีพ
ผู้ว่าฯยะลาเรียกถกวางแผนช่วยผู้ประสบภัยหวั่นมีทุจริต
วันจันทร์ที่ 8 พ.ย.2553 ที่ห้องประชุมศรียะลา ชั้น 3 อาคาร 3 ศาลากลางจังหวัดยะลาหลังใหม่ นายกฤษฏา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เรียกประชุมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 40 แห่งในจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการและเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และถึงมือผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง
นายกฤษฏา กล่าวว่า หลังจากผ่านพ้นภาวะน้ำท่วมไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างของการฟื้นฟู จึงได้สั่งการให้นายอำเภอออกไปสำรวจความเสียหาย และตรวจสอบว่าประชาชนที่อพยพหนีน้ำยังมีติดค้างอยู่ที่ไหนอีกหรือไม่ ทราบว่าราษฎรที่อพยพหนีน้ำจำนวน 267 ครอบครัวในพื้นที่ อ.รามัน อ.เมือง และ อ.ยะหา ได้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาทั้งหมดแล้ว
สำหรับการเรียกประชุมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เพื่อมาทำความเข้าใจใน 4 เรื่อง คือ
1.เรื่องการดูแลความเสียหายของสาธารณูปโภค และทรัพย์สินสาธารณะต่างๆ เช่น ถนน สะพาน หรือโรงเรียน ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณอยู่แล้ว ให้รีบรายงานไปยังนายอำเภอว่าส่วนไหนที่ทำได้เอง ส่วนไหนที่ทำไม่ได้ ในส่วนที่เกินกำลังก็จะให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หางบประมาณส่วนกลางมาสนับสนุนให้
2.ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้ความช่วยผู้ประสบภัยแบบใหม่ คือการชดเชยความเสียของบ้านพักอาศัยและผู้ประสบภัยที่ถูกน้ำท่วมเกิน 3 วัน โดยจะได้รับเงินชดเชยเบื้องต้นรายละ 5,000 บาท หรือบ้านหลังละ 2–3 หมื่นบาท กรณีของ จ.ยะลา ได้กำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายรับรองความเสียหาย ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล และปลัดอำเภอประจำตำบล หาก 3 ฝ่ายรับรองแล้ว ทางจังหวัดจะตรวจสอบอีกครั้งเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และช่วยเหลือได้ตรงกับกลุ่มที่เดือดร้อนจริงมากที่สุด
3.ได้สรุปบทเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มากว่ามีอุปสรรคและข้อขัดข้องอะไรบ้าง อาทิ การแบ่งพื้นที่การแจกเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับผู้ประสบภัย บางพื้นที่ปฏิบัติงานได้ดีมาก มีการประสานกับทางอำเภอเพื่อแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ แต่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งยังมีความล่าช้าในการให้การช่วยเหลือ ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขต่อไป
4.ขณะนี้ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนอยู่ ดังนั้นการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องดำเนินไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่าให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือมีนอกมีในอย่างเด็ดขาด
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กองสิ่งของบริจาคขนาดมหึมาที่กำลังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการ (ภาพโดย ปรัชญา โต๊ะอิแต)
2 นายกฤษฎา บุญราช ผู้ิว่าราชการจังหวัดยะลา (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)