“ชุมแพเมืองจัดการตนเอง” : ต้นแบบการแก้ปัญหาชุมชนแออัดอาเซียน
การประชุมเครือข่ายชุมชนเมืองของกลุ่มประเทศในเอเชีย (Urban Poor Coalition Asia : UPCA) มีสมาชิก 6 ประเทศ ฟิลิปปินส์ เวียตนาม กัมพูชา สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ศรีลังกา และไทย….
จัดขึ้นระหว่าง 15-16 ธันวาคม 2555 ที่เมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น เป็นโอกาสศึกษาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองในด้านอื่นๆกับขบวนชุมชนในเมืองชุมแพ และสะท้อนความโดดเด่นจากพื้นที่รูปธรรมในงานพัฒนาของขบวนชุมชนเมืองในประเทศไทย ที่ชุมชนเมืองในเอเชียสนใจใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้เป็นประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองในเอเชียกว่า 100 เมือง ของ 19 ประเทศ
เมืองชุมแพเป็นอีกพื้นที่เรียนรู้ที่สำคัญของการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัด เริ่มดำเนินการในปี 2547 ด้วยการสำรวจข้อมูลชุมชนในทุกเรื่องทั้งความเดือดร้อน เรื่องที่อยู่อาศัย หนี้สิน โดยความร่วมมือระหว่างชุมชน เทศบาลเมืองชุมแพและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ส่งผลให้มีชุมชนที่ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ในที่สาธารณะและของหน่วยงาน รวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกว่า 900 ครัวเรือน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เดือดร้อน สร้างระบบกลุ่มย่อย ระบบการออม
พัฒนากลไกการทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยระดับเมือง ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งในรูปของการเช่าในที่ดินเดิม และการจัดซื้อที่ดินใหม่ ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือพอช.เป็นหน่วยงานสนับสนุน ปัจจุบันมีบ้านที่สร้างแล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่อาศัยแล้ว ๓๕๑หลังคาเรือน ในพื้นที่8 โครงการ ซึ่งมีทั้งในที่เช่าของกรมธนารักษ์และการสร้างบ้านในชุมชนใหม่
นางสนอง รวยสูงเนิน ผู้ประสานงานเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ เล่าว่าคณะดูงานต่างประเทศสนใจในกระบวนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ดำเนินการโดยผู้เดือดร้อนเป็นหลัก ทำงานในระบบกลุ่ม ทั้งการออกแบบผังชุมชน การออกแบบบ้าน การส่งเสริมระบบการออมของชุมชน และการประสานหน่วยงานที่หนุนช่วยชุมชน ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกับท้องถิ่นคือเทศบาล สถาบันการศึกษา สถาปนิคชุมชน และหน่วยงานต่างๆ
การออมและกองทุนคือเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาเมือง
ทุกชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจะใช้กระบวนการกลุ่มย่อย เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการออม เนื่องจากชุมชนจะได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล เฉพาะงบพัฒนาสาธารณูปโภค ส่วนงบประมาณในการสร้างบ้านและจัดซื้อที่ดิน จะใช้สินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งชุมชนต้องมีเงินออมของตนเองอย่างน้อย 10% ก่อน ส่วนด้านงบประมาณเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภค ในบางพื้นที่ๆงบไม่เพียงพอทางเทศเมืองชุมแพได้ใช้งบอุดหนุนช่วยเหลือชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมเรื่องอาชีพ
ประกอบกับยังมี 600 กว่าครัวเรือนที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ที่เป็นเป้าหมายของคณะกรรมการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพให้ทุกคนต้องมีบ้าน จึงได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาที่ยู่อาศัยเมืองชุมแพในปี 2552 เพื่อเป็นเครื่องมือพิเศษของชุมชนในการขับเคลื่อนงาน โดยเงินกองทุนนี้มาจากการการออมของสมาชิกในโครงการ ซึ่งสมาชิกจะจัดสรรเงินออมเข้ากองทุนในทุกเดือน รวมทั้งการสมทบจากมูลนิธิศูนย์ศึกษาและพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียหรือ ACHR จำนวน 1 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนระดับเมืองรวมกว่า 3 ล้านบาท
การออมและกองทุนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการขับเคลื่อนและพัฒนาสมาชิกทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และเครือข่ายเมือง กองทุนที่สำคัญในระดับชุมชนและเมืองจึงประกอบด้วยกองทุนที่อยู่อาศัยระดับเมือง กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนนารวม กองทุนรักษาบ้านรักษาดิน สมาชิกทุกคนจึงมีระบบการออมที่ต้องจัดสรรเพื่อผ่อนชำระค่าบ้านและค่าที่ดินหรือค่าเช่าที่ดินในบางชุมชน และจัดสรรเงินออมเข้ากองทุนประเภทต่างๆดังกล่าว ระบบเงินกองทุนเหล่านี้ชาวบ้านจะช่วยกันออกระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษา รวมทั้งผู้ยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในระบบปกติได้ เช่น ที่ชุมชนโนนโพธิ์ทองมีบ้านให้คนชราที่ไม่มีคนดูแล 3 ครัวเรือน
ตัวอย่างการออมจากสมาชิกบ้านมั่นคงชุมชนชัยพฤกษ์ มีบ้านแฝดพื้นที่ 30 ตารางวา คนละ 15 ตารางวา บ้านสองชั้น สองห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ มีพื้นที่ใช้สอยด้านข้าง ต้องจัดสรรเงินออมเพื่อผ่อนบ้านและดินและเข้ากองทุนต่างๆเดือนละประมาณ 1,800 บาท ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีค่าใช่จ่ายเดือนละไม่เกิน 2,000 บาทสำหรับผ่อนบ้านและที่ดิน รวมทั้งจัดสรรเข้ากองทุนต่างๆที่เป็นระบบร่วมกันของชุมชนในโครงการและเครือข่ายระดับเมือง ทั้งนี้บ้านมั่นคงในเมืองชุมแพต้นทุนและราคาบ้านแต่ละหลังอยู่ที่ 150,000 – 200,000 บาท
นางสนอง รวยสูงเนิน ระบุว่าการสร้างวินัยการออมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเงินที่รัฐบาลหรือหน่วยงานให้มามีวันหมด แต่เงินออมชาวบ้านแม้จะไม่กี่บาท แต่มีความหมายมากเพราะเป็นการสร้างทุนจากภายใน ซึ่งชาวบ้านต้องสร้างทุกวันต่อเนื่อง เพื่อให้มีทุนภายในที่เข้มแข็ง แล้วทุนจากภายนอกจะตามมาช่วยเอง
นารวมของเมืองชุมแพ
สมาชิกชุมชนเครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ ในอดีตมาจากชาวชนบทที่สูญเสียที่นา ที่ทำกิน ซึ่งได้อพยพมาอยู่ในชุมชนเมือง บางชุมชนยังเช่าที่เพื่อการทำนาเช่นชุมชนบ้านร่มเย็น จึงมีความคิดร่วมกันว่าเมื่อหลายครัวเรือนมีบ้านที่มั่นคงแล้ว สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งที่แน่นอนคือการซื้อข้าวสาร จึงคิดจะมีที่นารวมของเครือข่ายให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว คิดฝันว่าอยากมีพื้นที่ทางอาหารไว้ให้ลูกหลานในอนาคตด้วย เมื่อมีที่ดินประกาศขายจึงชวนสมาชิกในโครงการลงขั้นซื้อที่นาจำนวน 38 ไร่ ในเมืองชุมแพ จากธนาคารออมสินในราคา 2.6 ล้านบาท ในปี 2554 โดยใช้สินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือพอช.
เมื่อมีที่นาก็ต้องมีการจัดการ จึงหารือและจัดให้มีคณะกรรมการบริหารนา 15 คนซึ่งเป็นสมาชิกที่ทำนา และมีผู้จัดการนาในปัจจุบันคือนายศรีอาน ปะดา มีผู้ถือหุ้นจากชุมชนใน 7 โครงการ 150 หุ้นๆละ 150 บาท ในแต่ละเดือนมีเงินหุ้นเข้า 22,500 บาท ผู้จัดการนาเล่าว่าหลังจากซื้อที่แล้วมีการทำนา 3 รอบ คือปีละ 2 ครั้ง หรือ 2 รอบได้ข้าวประมาณ 15 เกวียน มีรายได้จากการทำนารอบละ 150,000 –170,000 บาท ช่วงห้าปีแรกรายได้จะใช้ชำระหนี้ค่าที่นาให้หมด ซึ่งต้องชำระปีละ 2 รอบๆละ 200,000 บาท จึงยังไม่ได้จัดสรรปันผลให้สมาชิกที่ถือหุ้น แต่มีนโยบายขายให้สมาชิกและขายฝากจำนำ ทั้งนี้ต้นทุนการปลูกข้าวจะอยู่ที่ไร่ละ 3,500 –3,700 บาท/ไร่ คณะกรรมการนาจึงมีบทบาทการดูแลผลผลิตทั้งระบบ และเป็นผู้ชำนาญการทำนา
ทิศทางการพัฒนาเมืองของเครือข่ายชุมชนเมืองชุมแพ
คณะกรรมเครือข่ายชุมชนเมืองชุมแพมีแผนทิศทางที่สำคัญหลายเรื่องได้แก่ การเตรียมพร้อมรับประชาคมอาเซี่ยน ส่งเสริมการออมและพัฒนาเครือข่ายเด็กเยาวชน พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มองค์กรสมาชิก พัฒนาระบบการเงินและบัญชี พัฒนาระบบและศูนย์ข้อมูลชุมชน พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนของเครือข่ายเมืองชุมแพ สนับสนุนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้เดือดร้อนในชุมชนกว่า 600 ครัวเรือน
การเตรียมความพร้อมของชุมชนในการรับมือประชาคมอาเซียน นายสมเกียรติ ดีบูญมี นายกเทศมนตรีเมืองชุมแพ ฝากประเด็นห่วงใยว่าพื้นที่เมืองชุมแพจะได้รับผลกระทบเรื่องการจ้างงาน เนื่องจากมีแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งพื้นที่ปลอดภาษีริมแม่น้ำโขง รวมทั้งพืชผลผลิตทางเกษตรที่ส่งมาจำหน่ายในบ้านเรา ซึ่งเทศบาลจะมีประชุมร่วมกับชุมชนทั้งหมดในเมือง ทั้งนี้ชื่นชมการทำนารวมของชุมชนว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะการมีพื้นที่ทางอาหารเป็นความมั่นคงยิ่งของชุมชน รวมทั้งพื้นที่ชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงต้องรักษาไว้ไม่ให้หลุดมือ เพราะที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น
เมืองชุมแพ นับเป็นพื้นที่สำคัญในการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาเมืองของชุมชนในเอเชีย…!
……………………..
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา เลขาธิการมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย กล่าวว่าตัวอย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยและงานพัฒนาขบวนชุมชนเมืองในประเทศไทย ได้รับสนใจจากหลายประเทศในเอเชียซึ่งต่างก็มีปัญหาชุมชนแออัด กระบวนการทำงานของขบวนชุมชนเมืองในไทยในทิศทางที่ให้ผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาจัดการตนเองและทำพร้อมๆกันทั้งเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีพื้นที่รูปธรรมความสำเร็จซึ่งเป็นต้นแบบการเรียนรู้และศึกษาอย่างต่อเนื่องของงานพัฒนาโดยผู้เดือดร้อนในชุมชนเมืองกว่า 100 เมือง ใน 19 ประเทศ นางสาวสมสุขกล่าว .