เสียงเล็กๆ ของเด็กๆ ชายแดนใต้ "กลัวเรียนไม่ทัน...สงสารครู"
การแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับภาค ครั้งที่ 62 ที่ จ.ภูเก็ต ในยามนี้ มี ตอเฮ บิแล และเพื่อนๆ นักเรียนชั้น ป.6 ของโรงเรียนบ้านคลองช้าง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ไปร่วมด้วย
ทีมจากชายแดนใต้เป็นนักเรียนชายทั้ง 3 คน เข้าแข่งขันในสาขาปั้นดินน้ำมันแบบนูนต่ำ หากพวกเขาชนะใจกรรมการ ได้คะแนนเป็นที่ 1-3 จากโรงเรียนทั่วภาคใต้หลายสิบแห่งที่ส่งตัวแทนเข้าแข่งขัน พวกเขาก็จะได้สิทธิไปแข่งรอบสุดท้ายที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร
ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ตอเฮและเพื่อนๆ กำลังขะมักเขม้นกับการฝึกปั้นดินน้ำมันแบบนูนต่ำ ซึ่งไม่ใช่แค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังต้องรวดเร็วด้วย เพราะเงื่อนไขการแข่งขันต้องปั้นให้เสร็จภายในเวลา 3 ชั่วโมง ทว่าพวกเขาไม่ได้ไปฝึกปั้นที่โรงเรียน กลับต้องหอบอุปกรณ์สร้างงานศิลปะไปที่บ้านของครู เพราะโรงเรียนทั่วชายแดนใต้ปิดการเรียนการสอนจากสถานการณ์คนร้ายบุกยิงครูเสียชีวิต 2 คนถึงในโรงเรียนบ้านบาโง ต.ปานัน อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันอังคารที่ 11 ธ.ค.
ตลอด 3 สัปดาห์มานี้ โรงเรียนในพื้นที่ต้องปิดมากกว่าเปิด เพราะมีครูถูกยิงถึง 5 คน ตาย 4 รอดแค่ 1 ซ้ำยังมีอาคารเรียนถูกวางเพลิงเผาอีก 2 แห่ง
"ผมอยากกลับไปปั้นที่โรงเรียน เพราะคิดถึงโรงเรียน ช่วงนี้โรงเรียนหยุดบ่อยมาก กลัวเรียนไม่ทัน แม้จะมีเรียนชดเชยแต่มันก็ไม่เหมือนกัน อยากให้โรงเรียนเปิด เพราะอยากเรียนหนังสือ" ตอเฮเผยความรู้สึก แต่ก็ยังมั่นใจเรื่องการแข่งขันปั้นดินน้ำมันว่า น่าจะสู้โรงเรียนอื่นได้เพราะฝึกซ้อมทุกวัน โดยชิ้นงานที่พวกเขาเตรียมปั้นส่งประกวด คือสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะที่เพื่อนของตอเฮ ซึ่งเรียนอยู่ชั้น ป.6 เหมือนกัน แต่ตัวเล็กกว่าเขามาก และเอาแต่ประหม่าไม่ยอมบอกชื่อ แต่ก็ยอมพูดถึงความรู้สึกที่โรงเรียนหยุดบ่อยๆ ว่า "เครียดและสงสารครู"
นาฎลดา เดชอรัญ เป็นครูประจำชั้นของตอเฮและเพื่อนๆ เธอสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านคลองช้างก็จริง แต่พักอยู่ใน "ศูนย์ครูใต้" จ.ปัตตานี เนื่องจากไม่ใช่คนท้องถิ่น แต่มาจาก จ.ตรัง แม้เธอจะจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) และคุ้นชินกับสถานการณ์ในพื้นที่มาบ้าง แต่การมีข่าวยิงครูแทบจะรายวัน ย่อมเป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรเสี่ยง ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจเข้าไปพักอาศัยใน "ศูนย์ครูใต้" เพื่อความปลอดภัย
นาฎลดา ยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการเรียนการสอนมากพอสมควร และต้องนัดนักเรียนมาติวเพิ่ม โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.6 ที่ต้องสอบโอเน็ต ส่วนนักเรียนที่ต้องไปประกวดปั้นดินน้ำมัน ก็ต้องให้มาฝึกปั้นที่บ้าน
"ไม่เข้าใจว่าคนก่อเหตุทำร้ายครูทำไม เพราะครูเป็นผู้ให้ความรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน" เธอตั้งคำถามที่ดูจะหาคำตอบยากเต็มที
ที่โรงเรียนพระราชดำริ "ศูนย์ครูใต้" จังหวัดปัตตานี แม้ตลอดสัปดาห์ที่แล้วจะปิดการเรียนการสอนตามมติสมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ประตูรั้วโรงเรียนกับห้องพักครูไม่ได้ปิด ทำให้ รุ่งนภา คงสุวรรณ นักเรียนหญิงชั้น ป.4 ขอเข้าไปนั่งอ่านหนังสือในห้องพักครู
เด็กหญิงรุ่งนภา บอกว่า ไม่อยากให้โรงเรียนหยุดเลย เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้เจอเพื่อนๆ แต่เมื่อเกิดเหตุรุนแรง โรงเรียนก็ต้องหยุด มันเลี่ยงไม่ได้ วิธีแก้คือต้องอ่านหนังสือเอาเอง
ในมุมของผู้ปกครองอย่าง คอลีเยาะ หะหลี แกนนำกลุ่มสตรีแห่งบ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เธอเห็นว่า เมื่อครูถูกทำร้าย โรงเรียนปิด ก็ต้องเพิ่มบทบาทชุมชนให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา อย่างที่ควนโนรีบ้านเกิดของเธอ ชุมชนกับโรงเรียนร่วมกันจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ในยามที่ไม่ได้ไปโรงเรียน
"อยากให้สมาพันธ์ครูฯและรัฐบาลลงมาสัมผัสพื้นที่จริง เมื่อโรงเรียนปิด ชุมชนกับโรงเรียนก็ต้องช่วยกันจัดกิจกรรมให้เด็ก ทำให้เด็กมีความสุข ไม่เครียด อย่างที่ผ่านมาก็จัดกิจกรรมจูงมือเด็กเข้าหมู่บ้าน ไปเยี่ยมคนป่วย คนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ถือเป็นการสร้างความอบอุ่นผูกพันกันในชุมชน ฉะนั้นผู้มีอำนาจอย่าเอาแต่สร้างกระแส แต่ควรเปิดพื้นที่โรงเรียนให้กว้าง ให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเป็นเสาเป็นรั้วให้โรงเรียน" คอลีเยาะ กล่าว
ความสำคัญของเด็กและการศึกษาเป็นประเด็นที่ทหารซึ่งอยู่ในพื้นที่มาหลายปีอย่าง น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ เล็งเห็นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เขาจึงจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ พาเด็กๆ ขึ้นรถบัสของกองทัพเรือไปเที่ยวกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญแต่ดีที่กิจกรรมทัศนศึกษารุ่นที่ 1 ของปีงบประมาณ 2556 นี้ จัดขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤติความรุนแรงที่กระทำต่อครูในพื้นที่พอดี ทำให้เด็กๆ ไม่ต้องรับรู้และเครียดกับเรื่องราวร้ายๆ
นักเรียนที่ร่วมคณะไปทัศนศึกษามีทั้งหมด 34 คน จากโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ โรงเรียนบาเจาะ โรงเรียนอนุบาลนราธิวาส จ.นราธิวาส โรงเรียนไม้แก่นกิตติวิทย์ อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และโรงเรียนอิสลามบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส
กิจกรรมลักษณะนี้จัดมาหลายปี มีเด็กๆ จาก 5 อำเภอในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน กองทัพเรือ คือ อ.ไม่แก่น อ.สายบุรี จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ และ อ.เมือง จ.นราธิวาส เข้าร่วม นับถึงปัจจุบันมากกว่า 1,600 คนแล้ว
น.อ.สมเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้ต้องแก้ที่เด็กและเยาวชน การคุ้มครองครู เฝ้าถนน เป็นปลายทางเท่านั้น แต่ต้นทางคือแก้ที่เด็ก ถ้าเด็กไม่ไหลเข้าขบวนการที่ใช้ความรุนแรง สถานการณ์ใต้ก็จะเบาลงไปเอง
"จะส่งทหารลงมาอีกกี่แสนนาย เอาซีซีทีวี เอารถหุ้มเกราะลงมาเท่าไหร่มันก็แก้ไม่ได้ ถ้ายังมีเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปเติมเชื้อไฟ"
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ตอเฮ บิแล (ขวาสุด) และเพื่อนๆ กับงานปั้นดินน้ำมันแบบนูนต่ำเป็นรูปสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ชายแดนใต้
2 เด็กหญิงรุ่งนภา คงสุวรรณ