เยียวยาสูญเปล่า…ความจริงอันปวดร้าวของเหยื่อไฟใต้
“รัฐเลือกความต้องการของเขา แทนที่จะเลือกความต้องการของเรา...บางทีเราดิ้นรนมาก รัฐก็หาว่าเราก้าวก่าย ทั้งๆ ที่เราแค่เรียกร้องสิทธิ์ที่พึงได้ก็เท่านั้นเอง...รัฐเสริมอาชีพด้วยการให้เป็ด ให้วัวมาเลี้ยง ถามว่าคนพิการเลี้ยงได้ไหม”
เป็นความรู้สึกที่พรั่งพรูจากความอัดอั้นของ สมพร ณ ตะกั่วป่า หนุ่มใหญ่วัย 40 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปลายปี 2549 จนร่างกายพิการ ต้องใช้รถเข็นเคลื่อนที่แทนเท้า
เช้าวันที่ 27 พ.ย.2549 คือวันเปลี่ยนชะตาชีวิตของสมพร วันนั้นเขาขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านใน อ.ยะหริ่ง มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองปัตตานี โดยใช้เส้นทางสาย 42 มีภรรยานั่งซ้อนท้ายมาด้วย เมื่อถึงหมู่ 1 บ้านบางปู ต.บางปู อ.ยะหริ่ง มีคนร้าย 2 คนขี่รถจักรยายนต์ตามประกบและใช้อาวุธปืนยิงสมพร กระสุนเจาะเข้าที่หน้าอก 2 นัด แผ่นหลัง 1 นัด และต้นคออีก 1 นัด ส่วนภรรยาถูกยิงที่ข้อมือและข้อเท้าจนกระดูกร้าว
จากเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้ร่างกายท่อนล่างของสมพรไร้ความรู้สึก เขาต้องกลายเป็นคนพิการ แต่นั่นก็แค่ร่างกาย เพราะจิตใจของเขาไม่เคยย่อท้อ พยายามช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัด นั่งรถเข็นไปอาบน้ำ กระทั่งปัจจุบันสภาพร่างกายดีขึ้นพอสมควร
“ตอนนี้อาการปวดไม่มีแล้ว มีแต่เส้นตึงบ้างเล็กน้อย ก็ต้องเรียกหมอบ้านมาบีบนวดอาทิตย์ละครั้งเป็นอย่างต่ำ ถ้าไม่นวดเลยเส้นมันจะตึง แต่ถ้าขายของชำได้เงินหน่อยก็เรียกมา 2 ครั้ง มากกว่านั้นคงไม่ไหว เพราะนวดครั้งหนึ่งก็ 150 บาท”
การเยียวยาตัวเองเพื่อต่อสู้กับความพิการ ดูจะไม่มีปัญหาสำหรับสมพร แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและทำให้เขาทดท้อ กลับเป็นการเยียวยาจากภาครัฐ...
สมพรเล่าว่า เมื่อกลางปีที่แล้ว (ก.ค.2552) ทางจังหวัดสอบถามมายังผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงว่า อยากจะทำอะไรกับโครงการ 5 หมื่นบ้าง เขาก็เสนอไปว่าอยากขายของชำในบ้าน แต่ข้อเสนอของเขาโดนตีกลับ และในที่สุดก็ได้รับการแจ้งกลับมาว่า ทางจังหวัดให้เลือกอาชีพอะไรก็ได้ตามที่กำหนดมาให้ เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ สุดท้ายเขาจึงเลือกเลี้ยงปลาทับทิม เพราะน่าจะพอไปไหวกับร่างกายของเขามากที่สุด
กระทั่งเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน รัฐมอบกระชังปลามาให้บ่อหนึ่ง พร้อมอาหาร 7 กระสอบ อยู่ได้ 2 วันเท่านั้น น้ำขึ้น ท่วมปลาก็ตายหมด จึงได้แจ้งให้ทางการทราบ เจ้าหน้าที่ก็นำกระชังปลาและอาหารปลามาให้อีกเหมือนครั้งแรก เหตุการณ์ก็เกิดซ้ำอีก สิ่งที่รัฐให้มาจึงสูญเปล่า
“รัฐให้เป็ด ให้วัว ให้ปลามาเลี้ยง ถามว่าคนพิการเลี้ยงได้ไหม เขาเคยถามพวกเราบ้างไหมว่าพวกเราเลี้ยงได้ไหม มันอาจจะเลี้ยงได้ แต่อาชีพอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่ายังมีอีกเยอะ ก็ควรจะให้อาชีพอย่างอื่นบ้าง แต่รัฐเคยถามพวกเราไหม ทั้งหมดเขาเลือกตามความต้องการของเขา แทนที่จะเลือกความต้องการของเรา สิ่งนี้ต่างหากที่ผมรู้สึกเจ็บปวดกับการเยียวยา”
“เวลามีโครงการ คุณเคยถามชาวบ้านบ้างไหมว่าเขาทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ให้วัว ให้ควายให้เป็ดไปเลี้ยง อย่างนี้มันไม่ใช่ เพราะบางคนไม่มีสถานที่เลี้ยง อย่างให้วัวมา คนพิการเขาจะไปเลี้ยงได้ไหม ปัญหาที่รัฐก่อขึ้นนี้อยากให้กลับไปคิดใหม่ ถ้าจะช่วย ควรช่วยให้ตรงเป้า ตามความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ” สมพรกล่าว ก่อนจะเปรยถึงตัวเอง
“บางทีเราดิ้นรนมาก รัฐก็หาว่าเราก้าวก่าย แต่สิ่งที่เราดิ้นรนเพราะเป็นสิทธิ์ของเรา ผมแค่เรียกร้องความถูกต้อง แต่ดิ้นรนแล้วผมก็ยังคิดเลยว่าในสายตาเขามันดีหรือเปล่า บางทียังรู้สึกว่าเราเป็นขอทาน ทำให้ทุกวันนี้ไม่สนใจแล้ว อยู่ตามประสาผมดีกว่า ขายของชำได้ประมาณวันละ 300-400 บาท เอาตัวเราและสมาชิกครอบครัวอีก 5 คนให้รอดก็พอ อย่างอื่นไม่สนใจแล้ว”
สำหรับโครงการห้าหมื่นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ได้รับผลกระทบ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 เป็นโครงการเยียวยาของจังหวัดที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ด้วยการเข้าไปเสริมอาชีพให้พวกเขาเหล่านั้นมีรายได้ อาทิ เลี้ยงเป็ด วัว แพะ ไก่ ปลา เป็นต้น
สิ่งที่สมพรประสบพบเจอ ไม่ต่างอะไรกับคุณป้าชาวปัตตานีที่รู้สึกไม่ค่อยดีกับโครงการเยียวยาของรัฐเช่นกัน...
“เข้าใจว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ผู้ได้รับผลกระทบมีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน แต่บางคนเขาไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเลี้ยง แล้วสุดท้ายจะเลี้ยงได้หรือไม่ อันนี้ไม่อยากให้รัฐมองข้าม” หญิงวัยล่วงกลางคนซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงในพื้นที่ กล่าว
“ตัวป้าเองตอนนั้นได้วัวมา ตอนนี้ขายไปหมดแล้ว เพราะว่าเลี้ยงไม่ได้ เราไม่มีความชำนาญ ซึ่งถ้าถามความคิดของป้าแต่แรก ป้าจะบอกว่าไม่อยากได้วัวเลย แต่มันไม่มีตัวเลือก เมื่อเขาแจกก็เลยต้องเอามาก่อน เพราะคิดว่าอย่างไรเสียเขาก็ให้มาแล้ว”
“ป้ารู้ว่ารัฐพยายามจะเยียวยาพวกเรา แต่ทำไมตอนทำโครงการไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเราต้องการอะไร รัฐไม่เคยมาถามพวกเราเลยว่าอยากทำอาชีพอะไร มาแจกเป็ด แจกวัว ชาวบ้านไม่ค่อยอยากได้กัน ป้ามองว่าทำไมรัฐไม่สนับสนุนตามความถนัด ใครถนัดอะไรก็สนับสนุนไปทางนั้น เช่น คนถนัดทำการเกษตร ก็สนับสนุนเขาให้ทำเกษตร ประโยชน์ก็จะเกิดกับทุกฝ่าย เงินก็ไม่สูญเปล่า ไม่ใช่อยากให้เราทำอะไรก็เอามาให้ พอให้มาไม่โดนใจ พวกเราเลี้ยงไม่ได้ ผู้ได้รับผลกระทบก็โดนต่อว่าอีกว่าให้แล้วทำไมคุณทำไม่ได้ สรุปก็คือผู้ได้รับผลกระทบผิดหมด”
ความรู้สึกอัดอั้นเจ็บปวดของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้พิการเท่านั้น แต่ผู้ได้รับผลกระทบทั่วไปรวมถึงผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจก็รู้สึกไม่แตกต่างกัน
วรรณา ศิริกานนท์ ประธานกลุ่มชอแม บ้านรอตันบาตู ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส หรือหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า รู้ดีว่าภาครัฐไม่ได้เพิกเฉยดูดายกับการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ เพียงแต่หน่วยงานไหนที่จะเข้ามาช่วยเหลือนั้น น่าจะถามตรงๆ เลยว่าผู้ได้รับผลกระทบแต่ละรายต้องการอาชีพ อุปกรณ์ หรือเครื่องมืออะไรบ้าง เพราะไม่อยากให้สิ่งที่รัฐช่วยไปแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบกลับใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือบางคนแทบไม่ได้ใช้เลย เพราะเป็นการให้ที่ไม่ตรงกับความต้องการ
ด้าน เจ้าหน้าที่จากศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า หลักการสำคัญที่สุดคือการเยียวยาต้องยึดความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
“อย่างเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้ชาวบ้านกู้คนละ 5,000 บาทโดยไม่มีดอกเบี้ย ผู้ได้รับผลกระทบจะเอาไปทำอะไรก็ได้ตามที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของตัวเอง โครงการแบบนี้ประสบความสำเร็จมาก และรัฐน่าจะศึกษาหรือนำไปเป็นแบบอย่าง”
“รัฐควรเอื้อต่อความต้องการของประชาชนและให้ความจริงใจ ถ้าทำตรงนี้ได้ รัฐจะลดภาระลงได้เยอะ ไม่อยากให้รัฐมองแค่ตัวเอง แต่รัฐควรมองว่าคนรับจะรับไปอย่างไร และต้องการอะไรแน่”
ฟาร่า นิบือซา เจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งของ ศวชต. ให้ทัศนะว่า เท่าที่ติดตามงานเยียวยาของรัฐ พบปัญหาคือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไม่ต่อเนื่อง และความช่วยเหลือก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบเลย บางทีผู้ได้รับผลกระทบพิการ แต่เอางานที่คนพิการทำไม่ได้ไปให้ทำ ซึ่งมันไม่เกิดผลประโยชน์อะไรเลย แถมยังเป็นการละลายงบประมาณด้วยซ้ำ
“อยากให้รัฐมองให้ถึงตัวผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ว่าเขาต้องการอะไรที่สามารถช่วยเหลือหรือเป็นอาชีพถาวรให้กับเขาได้ แล้วก็ช่วยเหลือครอบครัวของเขาอย่างยั่งยืนด้วย ไม่ใช่ช่วยเหลือเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น” ฟาร่า กล่าว
อย่าให้การเยียวยาเป็นเพียงความสูญเปล่า และซ้ำเติมความปวดร้าวให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอีกเลย...
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สมพร ณ ตะกั่วป่า และภรรยา หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงและการเยียวยาที่สูญเปล่า