เปิดเส้นทางสายฮัจญ์...คราบน้ำตาของผู้แสวงบุญบนความทุจริตของผู้ประกอบธุรกิจและ จนท.รัฐ
เส้นทางสายวิบากของการเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะ (มักกะฮ์) ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมนั้น ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะ “วีซ่า” อันสืบเนื่องมาจากประเด็นทางการเมืองจากปม พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม เท่านั้น แต่กระบวนการพาผู้แสวงบุญเดินทางไปซาอุฯ ซึ่งกลายเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาลไปแล้วในปัจจุบัน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พี่น้องมุสลิมต้องพบเจอ
คำสอนในศาสนาอิสลามระบุว่า ฮัจญ์และอุมเราะฮ์เป็นบทบัญญัติอันประเสริฐที่จะลบล้างความผิดและการทำบาป และจะได้เข้าสวนสวรรค์ของพระองค์ (อัลเลาะฮ์) ดังนั้นผู้ที่ไปทำฮัจญ์ควรหลีกเลี่ยงการกระทำและคำพูดที่จะทำให้การทำฮัจญ์ของเขาไร้ผลและไม่เป็นที่ตอบรับ
การมุ่งสู่หรือการตั้งใจไปยังจุดหมายบัยตุลลอฮ์ อัลลอฮ์ตะอาลาทรงกำหนดให้การทำฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิม และจำเป็นต้องปฏิบัติโดยทันทีสำหรับผู้ที่มีความสามารถที่จะเดินทางไปได้ ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮ์อาลอิมรอน อายะฮ์ที่ 97
นี่เองที่ทำให้เหล่าผู้แสวงบุญจากทุกสารทิศมีจุดหมายเดียวกันคือนครมักกะฮ์ และส่งผลให้ธุรกิจที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์เกิดขึ้นทันที!
ทั้งนี้ รูปแบบของผู้แสวงบุญจากประเทศไทยที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ มี 2 ส่วน คือ
1.รัฐบาลเป็นผู้ดูแลการเดินทางให้ โดยจ้างบริษัททัวร์รับเป็นผู้ดำเนินการ ผู้แสวงบุญกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นต้น
2.ผู้แสวงบุญเดินทางไปเอง โดยจ่ายเงินให้กับบริษัททัวร์ที่รับงานจัดการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ทุกปี
เส้นทางสู่มักกะฮ์
การเดินทางในรูปแบบแรก คือรัฐบาลเป็นผู้ดูแลนั้น โดยมากไม่ค่อยมีปัญหา แต่ปัญหามาปรากฏชัดและมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากทุกปีในกลุ่มที่เดินทางไปเองกับบริษัททัวร์
เส้นทางสายฮัจญ์เริ่มต้นด้วยการจัดเครื่องบินแบบเหมาลำจากท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา หรือท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ไปลงที่ท่าอากาศยานเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ปัญหาแรกที่พบคือบางบริษัทไม่จองตั๋วล่วงหน้า โดยบริษัททัวร์มักจะพาผู้แสวงบุญขึ้นรถทัวร์จากชายแดนใต้ไปต่อเครื่องบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเลย เพราะราคาจะถูกกว่าการเช่าเหมาลำ จึงทำให้เกิดปัญหาการลอยแพผู้แสวงบุญ หรือต้องใช้เวลา 2-3 วันที่สนามบินกว่าจะได้เดินทาง ส่งผลให้ผู้แสวงบุญแต่ละคนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
นอกจากนั้นยังมีปัญหาเครื่องบินแต่ละเที่ยวมีที่นั่งไม่เพียงพอสำหรับผู้แสวงบุญ เพราะบริษัทไปซื้อตั๋วให้ที่สนามบิน ไม่ได้จองหรือเหมาล่วงหน้า บางคนต้องพลัดกันกับคนในครอบครัวหรือญาติมิตร คนที่ต้องรอเที่ยวบินต่อไป บริษัทจะให้ผู้แสวงบุญไปพักตามมัสยิดในกรุงเทพฯ เช่น มัสยิดดินแดง และระหว่างรอผู้แสวงบุญต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น
นี่คือปัญหาขั้นต้นที่ผู้แสวงบุญต้องเผชิญเมื่อตัดสินใจไปกับบริษัททัวร์
บริษัท-จนท.จับมือกันโกง
ครั้นเมื่อเดินทางถึงประเทศซาอุดิอาระเบียแล้ว ผู้แสวงบุญจะต้องเข้าพักยังที่พักตามที่ทางบริษัทจัดเตรียมเอาไว้ โดยหลักเกณฑ์ที่กระทรวงฮัจญ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียกำหนด คือที่พักของผู้แสวงบุญต้องมีความมั่นคง ต้องมีลิฟต์ขึ้นลง ต้องมีเครื่องปรับอากาศ สาธารณูปโภคน้ำไฟสะดวก พักห้องละไม่เกิน 4 คน และที่สำคัญต้องอยู่ห่างจากมัสยิดอัลฮะรอมไม่เกิน 500 เมตร
ในช่วงฤดูของการประกอบพิธีฮัจญ์ ทางการซาอุดิอาระเบียไม่อนุญาตให้โรงแรมเล็กๆ หรืออพาร์ทเมนท์ที่ไม่มีลิฟต์ขึ้นลง เป็นที่พักของผู้แสวงบุญ เพราะเห็นว่าไม่มีความปลอดภัย และอยู่ห่างไกลจากมัสยิดอัลฮะรอมเกินกว่า 500 เมตร
ทว่าในความเป็นจริงมีบริษัทบางแห่งสมคบกับเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมบางคนที่รัฐบาลส่งไปเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องที่พักและความเป็นอยู่ให้กับผู้แสวงบุญจากประเทศไทย นำบ้านหรือที่พักแบบที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และได้ทำสัญญาเช่าไว้แล้ว ไปขายต่อให้กับคณะผู้แสวงบุญจากประเทศอื่นเพื่อหากำไร ส่วนผู้แสวงบุญจากเมืองไทยก็พาไปเช่าห้องราคาที่ถูกๆ ซึ่งไม่ตรงตามระเบียบของทางการซาอุดิอาระเบียเป็นที่พักอาศัยแทน
วิธีการแบบนี้ทำให้บริษัทผู้ฉ้อฉลได้กำไรถึง 2 ต่อ และแบ่งปันผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่สมรู้ร่วมคิด!
เสียงจากผู้แสวงบุญ...
นายการีม รายีกัน ผู้แสวงบุญจาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์คนละ 150,000 บาท เขาเดินทางไปพร้อมกับภรรยา ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 300,000 บาท เป็นเงินที่ต้องเสียให้กับบริษัท ซึ่งบริษัทจะรับผิดชอบทั้งหมด ทั้งเรื่องค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก อาหารการกิน รวมเวลาทั้งสิ้น 45 วันในซาอุดิอาระเบีย แต่ข้อสังเกตก็คือในรายการทำสัญญาไม่มีการแจ้งรายละเอียดใดๆ ที่ชัดเจน ทำให้รู้สึกว่าผู้แสวงบุญเสียเปรียบ
“หากเป็นไปได้อยากให้ทางรัฐบาลจัดตั้งสำนักกิจการฮัจญ์ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากฮัจญ์เป็นพิธีกรรมระดับโลก การจัดการหากทำได้ดีก็จะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เพราะคนที่ไปก็จะนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ที่สำคัญคือเงินที่จ่ายไปจำนวน 150,000 บาทต่อคนนั้น เราไม่รู้เลยว่าเสียไปกับอะไรบ้าง หากเป็นไปได้น่าจะบังคับให้บริษัทชี้แจงละเอียดด้วย”
นายการีม ซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เมื่อปีที่แล้ว บอกด้วยว่า ระหว่างที่พักอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนามาเยี่ยมเยียนหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ เลย
“ผมคิดว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ไทยไปด้วยซ้ำ ซึ่งต่างจากผู้แสวงบุญจากประเทศมาเลยเซียที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเป็นอย่างดี ตลอด 45 วันที่อยู่มักกะฮ์ บอกได้เลยว่าไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ไทยไปสอบถามความเป็นอยู่ของผู้แสวงบุญ จนทำให้บริษัททำตามอำเภอใจ หาผลประโยชน์โดยมิชอบ บางบริษัทจัดให้อยู่ห้องหนึ่งถึง 8 คน บ้างก็จัดให้อยู่ห่างจากมัสยิดที่ต้องไปประกอบพิธีไกลมาก”
“ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เท่าที่ควร จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องตั้งสำนักกิจการฮัจญ์ขึ้นในประเทศไทย และควรเป็นหน่วยงานอิสระ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญ และต้องมีกฎหมายรองรับ มีโครงสร้างการบริหารงาน มีบุคลากรอย่างชัดเจน และสามารถตั้งงบประมาณได้ด้วยตนเองด้วย”
“ถ้าเรามีสำนักกิจการฮัจญ์ ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ได้ ขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาระบบการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจทำงานกันปีละครั้งเช่นนี้ ผมยังอยากเสนอด้วยว่า ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนี้จะต้องมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อการเจรจาในนามประเทศไทยบนเวทีโลกมุสลิม”
จี้แก้ปัญหา...รักษาหน้าประเทศ
ขณะที่ นายอัสรี บินอับดุลเลาะห์ ผู้แสวงบุญอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า จากสภาพปัญหาที่ต้องเจอ ความรู้สึกของผู้แสวงบุญชาวไทยเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ ก็อดคิดไม่ได้ว่าเรายังด้อยกว่า ฉะนั้นหากรัฐจัดตั้งหน่วยงานราชการขึ้นมาดูแลเรื่องฮัจญ์เป็นการเฉพาะ มีความเป็นอิสระ และทำงานอย่างต่อเนื่อง ก็จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่ดูแลพี่น้องมุสลิม ได้ประโยชน์เรื่องเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศด้วย จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้นอย่างมากในสายตาของโลกมุสลิม
“ที่ผ่านมาองค์กรเกี่ยวกับฮัจญ์ที่รัฐบาลตั้งขึ้น เป็นเหมือนองค์กรเฉพาะกิจ ทำงานปีละครั้ง ไม่มีความต่อเนื่อง เมื่อครบวาระหรือหมดเทศกาลฮัจญ์ หน่วยงานนี้ก็หมดภารกิจไป ปัญหาที่ผู้แสวงบุญประสบก็ไม่มีใครนำไปแก้ไขจริงจัง เมื่อถึงเทศกาลฮัจญ์ปีหน้า รัฐก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ คนก็ใหม่ แต่ปัญหาต่างๆ ยังเหมือนเดิม ไม่ได้รับการแก้ไข วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอด”
“การเมือง”ร่วมวงทำวุ่นหนัก
อุสตาซอายูดิง เดเฮะลีเอ ผู้ประกอบการฮัจญ์จาก จ.ปัตตานี ซึ่งมีประสบการณ์พาผู้แสวงบุญไปประกอบพิธีฮัจญ์มานานหลายปี กล่าวว่า ได้เสนอความเห็นกับรัฐบาลไปว่า ควรจัดตั้งสำนักงานเพื่อดูแลเรื่องฮัจญ์เป็นการถาวร เพราะที่ผ่านมารัฐอาจคิดว่าการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้นับถือศาสนาอิสลาม จึงส่งเสริมในลักษณะแค่อำนวยความสะดวกในปัจจัยบริการขั้นพื้นฐานเท่านั้น
“แม้แต่ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม อย่างฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ก็ยังให้ความสำคัญต่อการจัดการเรื่องฮัจญ์มากกว่าประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มีผู้แสวงบุญเข้าร่วมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงถือเป็นหน้าตาและศักดิ์ศรีของประเทศ”
“กระบวนการฮัจญ์จริงๆ ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะมีข้อกำหนดตายตัวให้ทุกคนจากทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม ก่อนที่จะเข้ากระบวนการฮัจญ์ที่มุตารีฟะห์ กระทรวงฮัจญ์ของซาอุฯจะจัดเต็นท์ให้ เขาจะแบ่งเลยว่าบริษัทนี้อยู่เต็นท์นั้นเต็นท์นี้ จะมีเป็นจุดๆ และจะมีเจ้าหน้าที่ของไทยรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของอามีรุฮัจญ์แบ่งหน้าที่รับผิดชอบแต่ละกลุ่ม ช่วงนี้จะไม่มีปัญหา แต่ปัญหามักเกิดช่วงที่อยู่มักกะฮ์ คือบ้านพักอยู่ไกลบ้าง อยู่กันแออัดบ้าง ที่อยู่คับแคบบ้าง เพราะผู้ประกอบการบางรายมองแต่กำไรมากกว่าผู้แสวงบุญ”
“สิ่งสำคัญคือไม่มีใครแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะกระบวนการส่งคนไปดูแลผู้แสวงบุญจะผ่านกระบวนการทางการเมือง พรรคไหนเป็นรัฐบาล พรรคนั้นจะส่งคนของเขาไปในฐานะเป็นคณะกรรมการอามีรุฮัจญ์ การไปในฐานะคณะกรรมการฮัจญ์จะมีรายได้ดีพอสมควร ประกอบกับโดยข้อเท็จจริงการรายงานกลับมาที่กรมการศาสนามันอยู่ที่คนๆ เดียว หนำซ้ำเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่มุสลิม ทำให้ไม่เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้แสวงบุญ”
อุสตาซอายูดิง กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาสภาพความเป็นอยู่ของผู้แสวงบุญแย่มาก อยากให้มองว่าคนที่ไปแสวงบุญเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่รู้เรื่องอะไร การไปแสวงบุญครั้งหนึ่งต้องเก็บเงินตลอดชีวิต เมื่อไปแล้วก็อยากให้เกิดความสมบูรณ์ในการประกอบศาสนกิจ
“คือคนไปมักกะฮ์เขาไม่คิดอย่างอื่นแล้ว คิดแต่ว่าต้องทำให้ครบองค์ประกอบของฮัจญ์ เขาจะต้องละหมาดให้ครบทุกวักตูที่มัสยิดฮะรามที่มักกะฮ์ แต่บ้างคนไปแล้วไปละหมาดที่มัสยิดก็ไม่ได้ เพราะว่าบ้านพักมันอยู่ไกล นี่คือผลที่รัฐบาลไทยต้องแก้ในส่วนนี้”
“ส่วนผู้ประกอบการบางรายที่มองแต่เรื่องผลประโยชน์นั้น คนกลุ่มนี้เขาไม่กลัวบาป ถ้ารัฐบาลไทยมีกระทรวงหรือกรมฮัจญ์ทำหน้าที่ดูแลผู้แสวงบุญเป็นการเฉพาะ ก็จะสามารถตั้งคณะกรรมการที่มีความหลากหลาย เอาคนที่มีความรู้ในหลายๆ สาขามาร่วมกันพัฒนาระบบงานให้ดีขึ้นได้"
“งานฮัจญ์ไม่ใช่แค่ไปดูแลที่นครมักกะฮ์อย่างเดียว แต่ต้องทำงานตลอดทั้งปี ต้องมีการเตรียมและกำหนดจำนวนผู้แสวงบุญที่จะเดินทางไปในแต่ละปีล่วงหน้า เพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารตกค้างที่สนามบิน หรือเมื่อถึงเวลาไปกลับไม่มีชื่อ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเรามีกระทรวงฮัจญ์หรือหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง จะทำให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าทำดีก็ได้ผลงานไป แต่ถ้าทำไม่ดีก็ต้องถูกลงโทษทางวินัยตามกระบวนการของทางราชการ ไม่ใช่ใช้กระบวนการทางการเมือง คือพรรคไหนเป็นรัฐบาล พรรคนั้นก็หาคนไป บางปีเอาหัวคะแนนของพรรคการเมืองไปซึ่งไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการฮัจญ์ในต่างประเทศเลย แม้กระทั่งภาษาก็ฟังไม่รู้เรื่อง นี่คือความจริงที่เราเจอ” อุสตาซอายูดิง กล่าว
ได้เวลาที่รัฐจะต้องหาทางสะสางปัญหาฮัจญ์ที่หมักหมมมานานเสียที!
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ผู้แสวงบุญจากประเทศไทย
2 ผู้แสวงบุญตกค้างตามสนามบิน
3 พิธีอันศักดิ์สิทธิ์
ขอบคุณ : ภาพประกอบทั้งหมดจากอินเทอร์เน็ต