“ลิมอ ดาซาร์” ไทย-มาเลย์ นับหนึ่งเปลี่ยนบังเกอร์เป็นเคาน์เตอร์ฟื้น ศก.ชายแดนใต้
ยุทธศาสตร์เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า หรือที่ล่าสุดใช้วลีเก๋ๆ ว่า “เปลี่ยนบังเกอร์ เป็นเคาน์เตอร์เศรษฐกิจ” โดยใช้ความคึกคักทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบ เป็นแนวคิดที่ใช้กันมาเนิ่นนาน และขณะนี้ได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมแล้วที่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดพิธีเปิดการประชุมสุดยอดลิมอ ดาซาร์ ครั้งที่ 1 (The 1 Lima Dasar Summit ) พร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ หรือ Business Matching และงานแสดงสินค้า ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย Dato Mukhriz Mahathir รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ มาเลเซีย และ H.E.Othsman Hassan รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงานกัมพูชา เข้าร่วมงาน
กิจกรรมที่สร้างความคึกคักอย่างยิ่งคือ “กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ” ซึ่งมีผู้ประกอบการจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และผู้ประกอบการจาก 5 รัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย กว่า 600 รายได้พบปะและจับคู่ธุรกิจกัน ภายในงานยังมีการจัดแสดงสินค้าและอาหารทั้งจาก 5 รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจำนวนกว่า 300 คูหา มีประชาชนสนใจเข้าร่วมชมและจับจ่ายซื้อสินค้ากันอย่างล้นหลาม
ใบเบิกทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นายไตรรงค์ กล่าวถึงทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียว่า เนื่องจากประเทศไทยและประเทศมาเลเซียเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งระดับทวิภาคีและเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งมีเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปี ค.ศ.2015 การจัดงานในครั้งนี้จึงถือเป็นใบเบิกทางอันสำคัญเพื่อมู่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“ผมเชื่อมั่นว่าเป้าหมายของอาเซียนคงไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงปี ค.ศ.2015 เราต้องกำหนดทิศทางว่า ก้าวเดินของอาเซียนต่อไปข้างหน้าเมื่อบรรลุการเป็นประชาคม เศรษฐกิจแล้วจะเป็นอย่างไร โดยในส่วนของไทยให้ความสำคัญกับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง”
สนอง 2 ยุทธศาสตร์เชื่อม 2 ระเบียงเศรษฐกิจ
ขณะที่ นายอลงกรณ์ ในฐานะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นแม่งาน กล่าวว่า ต้องการเปิดประตูการค้าระหว่าง 2 ประเทศ และมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และ 5 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ตามยุทธศาสตร์ลิมอดาร์ซาร์ 5 จังหวัด 5 รัฐ และยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 5–5–5 ตามนโยบายเปลี่ยนบังเกอร์เป็นเคาน์เตอร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 5 รัฐทางภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย ได้แก่รัฐเคดาห์ ปะลิส เปรัค กลันตัน และปีนัง กับทาง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สงขลา ยะลา และสตูล ใน 5 สาขาเศรษฐกิจ ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และโลจิสติกส์
“ยุทธศาสตร์นี้เป็นการเชื่อมโยงแบบคู่ขนานระหว่างภูมิภาคระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ และภูมิภาคระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งตะวันออกของประเทศมาเลเซีย กับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ 3 วงแหวน 5 ประตู” นายอลงกรณ์ ระบุ
“ตัวช่วย”ดับไฟใต้-ขยายตลาดสู่เวทีโลก
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดหวังที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด้านการค้าชายแดน การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา และอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่และแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมาเลเซียทั้งในภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน
“ประโยชน์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับจากการจัดงาน นอกจากสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศในเชิงการค้าและการพาณิชย์แล้ว ยังเป็นการขยายขอบเขตการค้าของทั้งไทยและมาเลเซียไปสู่ตลาดโลกอีกด้วย โดยการนำจุดแข็งของแต่ละประเทศมาเป็นกุญแจสำคัญเพื่อเปิดประตูสู่เวทีการค้าโลก โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลางที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทั้งนี้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และใช้ความเชี่ยวชาญด้านการ ตลาดของมาเลเซียเป็นตัวจักรขับเคลื่อน”
ผู้ประกอบการ 2 ชาติกับ 60 คู่ธุรกิจ
นายวิรัช อัศวสุขสันต์ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวถึงการประชุมสุดยอดลิมอ ดาซาร์ ครั้งที่ 1 ว่า เป็นประโยชน์กับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก หากย้อนกลับไปเรามีโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย หรือ ไอเอ็มที-จีที (IMT-GT) อยู่แล้ว แต่กรอบค่อนข้างจะกว้าง ส่วน “ลิมอร์ ดาซาร์” เป็นการพัฒนาร่วมตามของระเบียงเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งที่ผ่านมาไทยและมาเลเซียมีการค้าระหว่างกันปีละหลายแสนล้านบาท เรามีด่านชายแดนติดต่อกับมาเลเซีย 7-8 ด่าน
“ในการประชุมครั้งนี้ มีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยกับมาเลเซียแล้ว 60 กว่าคู่ ซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกันของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย พร้อมสร้างความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นกว่าเก่า และเป็นการร่วมธุรกิจกันในภาคปฏิบัติ เป็นรูปธรรม สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจชายแดนของสองประเทศ” นายวิรัช ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับรัฐมนตรีจากไทย มาเลเซีย และกัมพูชา ที่เข้าร่วมงาน
2 นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปาฐกถา
3 นักธุรกิจและผู้แทนภาครัฐจากทั้งไทยและมาเลเซียถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน