สมัชชาสุขภาพ เสนอ เอ็มโอยู เพื่อนบ้านแก้หมอกควัน
เวทีสมัชชาสุขภาพปี 55 ถกปัญหาหมอกควันจากไฟป่า-เผาเตรียมพื้นที่เกษตร เสนอเซ็นเอ็มโอยูประเทศเพื่อนบ้านร่วมแก้ปัญหา-เร่งทำความเข้าใจชาวบ้าน
วันที่18 ธ.ค. 55 ในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มีการสัมมนา ‘เปิดพรมแดนความรู้ สู้ปัญหาหมอกควัน’ นายศิริ อัคคะอัคร ส่วนวิชาการด้านไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ภาครัฐได้ดำเนินการชิงเผาเพื่อสร้างแนวป้องกันก่อนถึงฤดูไฟป่าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามตนไม่แน่ใจว่าไฟป่า หรือไฟที่เกษตรกรจุดในพื้นที่เกษตรกรรมนั้นจะเป็นบ่อเกิดของหมอกควันที่ปกคลุมภาคเหนือของไทย เพราะปัญหาหมอกควันในเมืองอาจเกิดจากความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ขยายลงมาปกคลุม เมื่อเกิดการเผาไหม้ทำให้ไฟพยายามหาที่เย็นจึงลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อหาไม่เจอก็กักตัวอยู่ด้านล่าง เพราะฉะนั้นไม่ว่าไฟจะไหม้มากไหม้น้อยหมอกควันก็เกิดได้ทุกเวลา เช่น กรุงเทพฯ ไม่มีไฟป่า ไม่มีพื้นที่เกษตร แต่เมื่อความกดอากาศสูงเข้ามาปกคลุม กรุงเทพฯ จะเหมือนเชียงใหม่ทันที
ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การไม่มีไฟป่าเลยเป็นสิ่งอันตราย ทำให้ชุมชนต้องเผชิญกับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากความรุนแรงของไฟป่าที่จะเกิดขึ้นครั้งใหญ่ ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาจะต้องรู้จักบริหารจัดการเวลาในการกำจัดเชื้อเพลิงเพื่อเป็นแนวป้องกันไฟป่าช่วงต้นฤดู คือ ตั้งแต่ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี จะสามารถลดไฟป่าในช่วง ก.พ. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นสาเหตุของหมอกควันจนบั่นทอนสุขภาพ ควรบริหารจัดการโดยปรับวิถีของไฟให้อยู่ในวิสัยที่ชุมชนควบคุมได้ โดยสร้างแนวป้องกันไฟ และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือวิถีเกษตรที่มีไฟเป็นเครื่องมือในการเตรียมพื้นที่ ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ
นายผจญ ชาติชายเจริญ ชาวบ้านต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มีการประชุมกันระหว่างชาวปกากะญอต้นน้ำกับกลางน้ำเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาไฟป่า จนเกิดเครือข่ายท้องถิ่นเฝ้าระวังอันตรายที่อาจเกิดจากไฟป่า ส่วนนโยบายส่งเสริมการเกษตรของรัฐบาลที่ต้องการให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดนั้น แม้จะได้รับการประกันราคาเกษตรพืชผลระดับดี แต่พืชเหล่านี้จะส่งเสริมให้ชาวบ้านต้องเผาพื้นที่เกษตรทุกครั้ง จึงอยากให้หันมาส่งเสริมการปลูกพืชที่ไม่ต้องเผาพื้นที่ดีกว่า และจะช่วยลดปัญหาหมอกควันด้วย แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการ
ทั้งนี้เวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้พิจารณาวาระ "การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ" โดยมีข้อเสนอให้จัดทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและปัญหาไฟป่า
นอกจากนี้ เครือข่ายสมัชชาสุภาพจาก จ.ลำปาง เสนอให้จัดทำความรู้เรื่องการเผาให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันมีความรู้ทั้ง 2 ด้าน คือการเผาเป็นสิ่งที่ไม่ดี และการไม่เผาเป็นสิ่งที่ไม่ดี ขณะที่เครือข่ายสมัชชาสุภาพจาก จ.แม่ฮ่องสอน เสนอว่าต้องเร่งรัดนำภูมิปัญญามาใช้ เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักป่าอย่างแท้จริง เนื่องจากป่ามีหลายชนิด บางชนิดเผาได้ บางชนิดเผาไม่ได้ บางชนิดเผาได้เฉพาะตอนกลางคืน .