'มูลนิธิสุขภาพไทย'เร่งเก็บข้อมูลภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านลงดิจิตอล
'มูลนิธิสุขภาพไทย'เร่งเก็บข้อมูลภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านจากตำราลงดิจิตอลก่อนสูญหาย-ไร้คนสืบทอด ม.มหาสารคามเผยสังเคราะห์ 300 ตำรับยาไทยโบราณรักษาโรค
วันที่ 18 ธ.ค. 55 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ มูลนิธิสุขภาพไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุม ‘คุณค่าและประโยชน์ของการเก็บบันทึกข้อมูลภูมิปัญญา’ สืบเนื่องจากการที่แผนงานฯได้จัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญารูปแบบข้อมูลดิจิตอลในระบบ TKDI (Traditional Knowledge Digital Information)
โดยรศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานฯกล่าวว่า องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาไทยในปัจจุบันยังมีการเก็บบันทึกที่กระจัดกระจายในรูปแบบของตำราโบราณ เช่น สมุดข่อย ใบลาน และแม้กระทั่งตัวบุคคล ได้แก่ หมอพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่สูงวัย ทำให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้กำลังสูญหาย เนื่องจากผู้รู้มีอายุมากขึ้นและเอกสารโบราณเก่าชำรุด ดังนั้นสิ่งที่แผนงานฯและเครือข่ายทำคือการจัดเก็บและประมวลข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการอย่างเป็นระบบเพื่อปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ให้ถูกละเมิดและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง
นายสมชาย ชินวานิชย์เจริญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เครือข่ายหมอพื้นบ้านจ.อุดรธานี กล่าวถึงการเข้าไปส่งเสริมการเก็บข้อมูลภูมิปัญญาจากหมอพื้นบ้านว่า การเข้าไปบันทึกข้อมูลประวัติหมอพื้นบ้านและส่งเสริมให้หมอบันทึกประวัติการรักษาคนไข้ของตนนั้น มีประโยชน์ต่อการสังเคราะห์องค์ความรู้การรักษาด้วยภูมิปัญญาที่สังคมส่วนใหญ่มักไม่เชื่อถือให้มาตรฐานและอยู่ในรูปแบบที่สามารถสืบค้นได้ โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระจายภาระการรักษาพยาบาลสู่ชุมชน โดยเฉพาะโรคพื้นบ้านที่ชาวบ้านต้องเผชิญ เช่น ไข้หมากไม้ ซึ่งเป็นโรคพื้นบ้านอีสานที่มีวิธีการรักษาด้วยสมุนไพรที่เชื่อถือได้และไม่สิ้นเปลือง ซึ่งหากชาวบ้านไปรักษาที่โรงพยาบาลและถูกให้น้ำเกลือตามแบบแพทย์สมัยใหม่อาจทำให้ถึงตายได้
ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงการเก็บรวบรวมและแปลตำรายาในภาคอีสาน 5 จังหวัดว่า อักษรและภาษาที่บันทึกในตำรายามักเป็นอักษรโบราณ เช่น อักษรขอม อักษรไทน้อยและเป็นภาษาที่หลากหลายเช่น ภาษาสันสกฤต บาลี เขมร ลาว ซึ่งพบได้เป็นจำนวนมากตามวัดต่างๆที่ลูกหลานของหมอพื้นบ้านนำมาฝากเก็บไว้ โดยที่ผ่านมาสถาบันฯได้แปลและสังเคราะห์ตำรายาอีสานซึ่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับโรค อาการ วิธีการรักษา คาถาอาคมและวิธีการเก็บยาไปแล้วกว่า 300 ตำรับ โดยมีเอกสารที่ยังไม่ได้แปลอีกว่า 3,000 กว่าชิ้น
อย่างไรก็ดีการดำเนินต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากการแปลตำราโบราณต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางภาษาโบราณ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังขาดนักวิชาการที่เข้าใจภาษาถิ่นอยู่มาก ประกอบกับเป็นเรื่องเฉพาะด้านการรักษาจึงต้องมีการสังคายนาองค์ความรู้โดยการเชิญหมอพื้นบ้านมาร่วมสังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากการแปลตำรา ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างหมอพื้นบ้านในภาคอีสาน โดยภูมิปัญญาด้านการรักษาที่สังเคราะห์ได้ได้นำไปศึกษาวิจัยและสร้างมูลค่าผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจำหน่าย เช่น ยาดม ลูกประคบสมุนไพร
ทั้งนี้มองว่าแม้หมอพื้นบ้านจะมีภูมิความรู้ในการผลิตยาสมุนไพรที่รักษาโรคได้จริง แต่กลับพบความยากลำบากมากในการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานระดับจังหวัดต้องให้ความช่วยเหลือดูแล มิเช่นนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาที่มีคุณภาพคงจะไม่เกิดขึ้น
ด้านนางสาวเพ็ญพรรณ เครือไทย สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาหมอพื้นบ้านในปัจจุบันว่า กำลังขาดผู้สืบต่อภูมิปัญญา เนื่องจากทายาทไม่รับช่วงเพราะเป็นอาชีพที่ไม่มีรายได้(คิดเฉพาะค่าครูเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เช่น 9 บาท 108 บาท) และมีแนวปฏิบัติในวิชาชีพที่เข้มงวด เช่น การรักษาศีล ห้ามกินของงานศพ ห้ามลอดใต้ราวตากผ้า ฯลฯ เป็นต้น ประกอบกับเมื่อมีระบบการรักษาหลักสมัยใหม่ตามโรงพยาบาลชาวบ้านจึงรักษากับหมอพื้นบ้านน้อยลง ทำให้องค์ความรู้ทั้งด้านการรักษาและตำรายาสมุนไพรอาจหมดไปพร้อมๆกับอาชีพหมอพื้นบ้าน
ขณะที่ดร.อุษา กลิ่นหอม ประธานมูลนิธิรักษ์อีสาน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาต่อความอยู่รอดของภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิชาชีพหมอพื้นบ้าน คือ ภาคราชการและแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ไม่ยอมรับวิธีการรักษาของหมอพื้นบ้านโดยคิดว่าการใช้สมุนไพรพื้นบ้านควบคู่คาถาอาคมในการรักษาเป็นวิธีคร่ำครึที่อันตรายต่อผู้ป่วย นำไปสู่การจับกุมหมอเถื่อนและการไม่ส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้านเท่าที่ควร ทั้งๆที่องค์ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์มากต่อการพัฒนาประเทศ เช่น ตำรายาสมุนไพร สามารถนำไปผลิตเป็นยารักษาโรคใช้ในประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพายาจากต่างชาติเพียงอย่างเดียวได้
โดยเห็นว่าภาครัฐโดยรพ.สต.ควรดึงหมอพื้นบ้านเข้าสู่ระบบการรักษาหลักให้มากขึ้น โดยต้องมีการพูดคุยกันว่าโรคชนิดใดบ้างที่สามารถรักษาต่อยอดโดยหมอพื้นบ้านได้ เช่น การนวดคลายเส้นอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของประชาชน กระจายภาระด้านสาธารณสุขสู่ชุมชน รักษาองค์ความรู้พื้นบ้าน และทำให้คนรุ่นใหม่สนใจสานต่อภูมิปัญญา
ทั้งนี้แม้ปัจจุบันจะมีการนำภูมิปัญญามาต่อยอดด้านการรักษาและผลิตเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวนหนึ่งแล้ว แต่กลับพบว่าองค์ความรู้เหล่านี้ยังไม่เป็นที่รู้จักและใช้ในวงกว้างเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่จริงจังจากภาครัฐ ดังนั้นรัฐต้องให้การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การนำภูมิปัญญาด้านการรักษาไปใช้ให้มากขึ้น