กวีหนุ่มมุสลิมจากนราธิวาสคว้ารางวัล"ซีไรต์" เปิดประตูวรรณกรรมชายแดนใต้
"ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" งานกวีนิพนธ์ของ ซะการีย์ยา อมตยา กวีหนุ่มจากดินแดนเทือกเขาบูโด จ.นราธิวาส คว้ารางวัลซีไรต์ประจำปี 2553 ด้วยมติเอกฉันท์ ขณะที่ มนตรี ศรียงค์ เจ้าของฉายา "กวีหมี่เป็ด" ในฐานะซีไรต์รุ่นพี่ ชี้ การได้รางวัลของกวีมุสลิมจากปลายด้ามขวาน คือการเปิดประตูช่องทางวรรณกรรมให้แก่พื้นที่ชายแดนใต้
เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.ย.2553 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) เป็นประธานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี 2553 ที่ห้องเจ้าพระยา โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
กวีนิพนธ์ 6 เล่มที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือก ได้แก่ 1.ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ 2.เดินตามรอย ของ วันเนาว์ ยูเด็น 3.ในความไหวนิ่งงัน ของ นายทิวา 4.เมืองในแสงแดด ของ โกสินทร์ ขาวงาม 5.ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา และ 6.รูปฉายลายชีพ ของ โชคชัย บัณทิต
ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2553 ซึ่งมี อดุล จันทรศักดิ์ เป็นประธาน และมีกรรมการได้แก่ ประภัสสร เสวิกุล, ชมัยภร แสงกระจ่าง, รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ, รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์, ผศ.ดร.เสาวณิต วิงวอน และโกศล อนุสิม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้กวีนิพนธ์รวมเล่มเรื่อง “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ของ ซะการีย์ยา อมตยา ได้รับรางวัล
“ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” เป็นกวีนิพนธ์นำเสนอภาพและแนวคิดเพื่อการดำรงอยู่และดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขที่ผสมผสานวรรณศิลป์ ปรัชญา และศิลปะเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลายมิติ ตั้งแต่ปัจเจกบุคคลจนถึงระดับสังคม ไม่ผูกกับยุคสมัย ไม่มีพรมแดน ข้ามมิติเวลา และมิติพื้นที่ มีความลุ่มลึก กระตุ้นให้เกิดจินตนาการ ขบคิดและคิดต่อ
“กวีนิพนธ์เล่มนี้เป็นบทร้อยกรองอิสระ (free verse) มีความสอดคล้องระหว่างรูปแบบกับเนื้อหาที่มีความหลากหลาย แม้ไม่มีจังหวะของฉันทลักษณ์ แต่ผู้เขียนสามารถวางจังหวะคำกวีได้อย่างทรงพลัง และสามารถใช้ภาษาที่ทำให้เกิดจินตภาพ มีการสร้างภาพพจน์ที่ลุ่มลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้การอ้างถึง (allusion) และปฏิทรรศน์ (paradox)" มติของคณะกรรมการตัดสินรางวัล ระบุตอนหนึ่ง
อดุล จันทรศักดิ์ กล่าวว่า “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” แม้จะเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ และไม่ถึงกับเป็นมิติใหม่หรือปรากฎการณ์ใหม่ของบทกวี แต่ผู้ประพันธ์เลือกคำได้อย่างมีพลัง มีความเป็นสากล สามารถสร้างจังหวะคำในความไร้ฉันทลักษณ์นั้นได้ ทำให้ถ้อยคำมีพลังในทางกวีและในทางวรรณศิลป์สูงมาก ทั้งยังเป็นงานที่ไร้มิติ หมายความว่าคุณจะคิดว่ามันเป็นที่นั่นก็ได้ ที่นี่ก็ได้ มันเป็นปรัชญา
"กวีนิพนธ์ไม่ได้หมายความว่าเป็นฉันทลักษณ์อย่างเดียว คุณค่าของกวีนิพนธ์ไม่ได้อยู่ที่ฉันทลักษณ์เท่านั้น คำที่ผู้ประพันธ์สร้างโดยไม่ต้องอาศัยฉันทลักษณ์นั่นแหละคือความช่ำชอง คือความเจนจัดในการใช้ภาษา ซึ่งคณะกรรมการลงคะแนนลับกัน โดยทั้ง 7 เสียงมีมติเป็นเอกฉันท์" อดุล กล่าว
ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์คนล่าสุด เติบโตที่หมู่บ้านเล็กๆ ริมเขาบูโด อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส สนใจศึกษางานเขียนของกวีต่างประเทศ เคยมีผลงานแปลใน “จุดประกายวรรณกรรม" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ “ปาจารยสาร” มีผลงานบทกวีตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารเป็นครั้งคราว โดยนอกจากเขียนและแปลบทกวีแล้ว ซะการีย์ยายังเป็นเว็บมาสเตอร์และผู้ก่อตั้งเวบไซต์ www.thaipoetsociety.com เพื่อเป็นสาธารณรัฐกวีนิพนธ์หรือชุมชนทางเลือกสำหรับผู้นิยมชมชอบงานเขียนกวี และยังจัดกิจกรรมส่งเสริมกวีนิพนธ์อีกด้วย
ซะการีย์ยา เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะกวีเมื่อหลายปีก่อน โดยใช้นามปากกาว่า "ปุถุชน" เคยศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่แล้วก็หันหลังให้กับระบบการศึกษาไทย บินไปค้นหาความหมายจนจบปริญญาตรีด้านอิสลามศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีอาหรับ จากวิทยาลัยนัดวะตุล อุลามาอ์ ประเทศอินเดีย
ผลงานจากปลายปากกาที่ชื่อ "บอกพระเจ้าด้วยหิวข้าว" เป็นหนึ่งในบทกวีที่ชนะการประกวดบทกวีความหวังในเทศกาลฤดูใบไม้ผลิแห่งบทกวี 2004 (พ.ศ.2547) เช่นเดียวกับ "ในนามของกวีผู้ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง" จากรวมบทกวี "สนามเด็กเล่นของหนูจะมีกับระเบิดไหมหนอ?" ก็เคยได้รับรับรางวัลชมเชยจาก MBK Indy Book Awards ในปีเดียวกัน
"ในนามของกวีผู้ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง" เคยโพสต์ไว้ในกระดานของ "M-e-e P-e-d" http://softganz.com/meeped/paper/395 ของ มนตรี ศรียงค์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2547 หลังเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 เพียง 1 วัน
เหตุการณ์กรือเซะ คือกรณีสลดที่เยาวชนมุสลิมนับร้อยคนใช้มีด กริช และดาบ เข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่นับ 10 แห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนเกิดการปะทะกับฝ่ายความมั่นคง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 108 ราย โดย ซะการีย์ยา ใช้นามปากกาว่า "ปุถุชน" เขียนลงท้ายบทกวีเอาไว้ว่า "28 เม.ย.2547 ป.ล.แด่โศกนาฏกรรมของสรรพชีวิตที่ถูกพรากวิญญาณด้วยอยุติธรรม" และนี่คือบทกวีชิ้นที่ว่านั้น...
"ประวัติศาสตร์จารึกไว้
ความน่ากลัวเกิดขึ้นได้เสมอ
การฆ่าห้ำหั่นกันด้วยนามของเหตุผล
สงครามเล็กและใหญ่จึงเกิดขึ้นได้เสมอ
เพียงแค่สะดุดต้นหญ้าแห่งเขตแดน
ธงรบก็ถูกชักขึ้น
ในนามของกวีผู้ไม่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง
ฉันอยากเขียนบทกวีไว้สักบท
แต่มันล้วนเป็นความรู้สึก
อาจเป็นเพียงบันทึกทางประวัติศาสตร์
ยุคที่มนุษยชาติมีอารยธรรมรุ่งเรือง
และพากันออกจากถ้ำมาสู่เมือง
แล้วอวดอ้างว่ามีวัฒนธรรม
มนุษย์เราอาจฆ่ากัน
ด้วยเหตุผลหลายหลายอย่าง
ซึ่งก็น่ากลัวมากพอแล้ว
แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า
คือการถูกทำให้เชื่อ
ว่าการฆ่านั้น
เป็นเรื่องที่ถูกต้องและชอบธรรม
และก็ปล่อยให้ใครสักคนตัดสินใจ
ว่าใครที่ควรจะฆ่าและถูกฆ่า"
ในกระดาน "M-e-e P-e-d" เมื่อวันที่ 6 ก.ย. มนตรี ศรียงค์ หรือ "กวีหมี่เป็ด" เจ้าของรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2550 จากบทกวีร่วมสมัย "โลกในดวงตาข้าพเจ้า" โพสต์ในกระดานข่าวของตนเองว่า "มีน้องและพี่โทรฯมาแจ้งข่าวว่าผลประกาศซีไรต์ได้แก่ซะการียาห์ ซึ่งไม่นับเป็นเรื่องน่าแปลกหรือตกใจสำหรับผม เพราะได้อ่านแล้ว และได้เอ่ยกับใครหลายคนว่าเล่มนี้ดีจริง"
"ที่สำคัญก็คือ กวีมุสลิมผู้นี้มาจากบาเจาะ มีเหตุผลบางประการสำหรับผมที่ยินดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะนั่นคือการเปิดประตูทางช่องทางวรรณกรรมให้แก่พื้นที่ชายแดนใต้"
-------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
- เนื้อหาข่าวบางส่วนจาก นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ จุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และกระดานข่าว "M-e-e P-e-d" http://softganz.com/meeped/
- ภาพประกอบจากบล็อกโอเคเนชั่น http://www.oknation.net/blog/nity/2010/09/06/entry-1