บันทึกใสๆ จากชายแดนใต้...กลิ่นอายความศรัทธาและภาพชีวิตช่วงรอมฎอน
การถือศีลอดเป็นหลักปฏิบัติในศาสนบัญญัติ 1 ใน 5 ประการของอิสลาม คือ 1.นับถือพระเจ้า (อัลลอฮฺ) องค์เดียว และนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย 2.ดำรงละหมาด 3.บริจาคทาน 4.ถือศีลอด 5.บำเพ็ญฮัจญ์ที่นครมักกะฮฺ และเดือนนี้คือเดือนแห่งการถือศีลอด เรียกว่า "เดือนรอมฎอน"
รอมฎอนเป็นเดือนที่จูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดือนอื่นๆ และเป็นเดือนแห่งการฝึกตน อดอาหารและน้ำดื่มในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้งอดทนต่อสิ่งรอบตัว หยุดทำความชั่ว และออกห่างจากสิ่งหรือคนที่จะชักนำเราไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ไม่ว่าจะโดยประสาทสัมผัสใด ทั้ง มือ เท้า ตา หู ปาก ถือได้ว่ารอมฎอนเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจ รวมทั้งจะได้รับรู้ความยากลำบากของคนที่ยากไร้ด้วย
ช่วงเดือนรอมฏอนของทุกๆ ปี บรรยากาศตอนเช้าๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเงียบเงามาก ร้านอาหารส่วนใหญ่จะปิด เพราะเป็นช่วงเวลาของการถือศีลอด แต่เมื่อตกเย็น ผู้คนจะพากันออกมาจับจ่ายซื้อของตามตลาดที่เปิดขึ้นทั่วพื้นที่ ยิ่งในเดือนรอมฎอนนี้จะมีอาหารทั้งคาวหวานหน้าตาแปลกๆ มาวางขายเป็นจำนวนมาก หลังละศีลอดในแต่ละวัน (หลังพระอาทิตย์ตกดิน) ผู้คนทั้งชายหญิงต่างมุ่งหน้าไปยังมัสยิด และทุกมัสยิดจะเต็มไปด้วยผู้มีจิตศรัทธาเพื่อร่วมกันละหมาด อย่างที่มัสยิดกลางปัตตานี ผู้คนจะไปกันจนล้น เป็นภาพที่หาดูได้ยากมาก มีเพียงเดือนรอมฎอนเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้
ความรู้สึกของคนนอกพื้นที่ ส่วนใหญ่จะทึ่งกับการถือศีลอด และตะลึงกับบรรยากาศที่เต็มไปด้วยศรัทธา...
น.ส.กมลวรรณ เอี่ยมสำอางค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สาวอุดรธานีที่เดินทางมาหาวิชาความรู้ไกลถึงชายแดนใต้ บอกว่า ตลอดเวลา 2 ปีที่มาศึกษาและใช้ชีวิตที่ปัตตานี ได้เจอกับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะวิถีชีวิตแบบอิสลาม รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่เป็นมุสลิม ทำให้เห็นความแตกต่าง แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้ เวลาเพื่อนๆ ไปละหมาดตะรอเวียะฮฺ (ละหมาดในช่วงเดือนรอมฏอน) เธอก็จะไปด้วย โดยจะนั่งรออยู่หน้าประตูมัสยิด
“รู้สึกนับถือพี่น้องมุสลิมในพื้นที่มาก เพราะเคร่งศาสนา ผิดกับพื้นที่อื่นๆ ที่เคยเห็นมา พี่น้องที่ชายแดนใต้จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอย่างเคร่งครัดแทบทุกคน และทำกันเอง ไม่ต้องมีคนมาควบคุมดูแล ถึงเวลาละหมาดทุกคนก็ไปกันจนแน่นมัสยิด เวลาถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน ทุกคนก็ปฏิบัติกันด้วยความศรัทธาต่อพระเจ้า"
ในความแปลกใหม่ที่ได้พบเจอ กมลวรรณ บอกว่าบรรยากาศบางด้านของรอมฎอนยังเป็นเรื่องสนุกสำหรับเธอด้วย
"ในเดือนนี้มีอาหารคาวหวานมากมายที่ชาวบ้านทำออกมาขาย อาหารแปลกๆ ที่ไม่เห็นในเดือนอื่นๆ ก็จะมีให้เห็น ทำให้รู้สึกว่าเดือนนี้มีสีสันกว่าเดือนอื่นๆ แม้ไม่ใช่มุสลิมแต่ก็ทำให้สามารถหาซื้อของกินอร่อยๆ และเป็นอาหารพื้นเมืองได้ง่ายขึ้น"
ความน่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งของเดือนรอมฎอนก็คือ ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะเห็นคนตั้งใจอ่านอัลกุรอานกันอยู่ทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งที่โรงเรียนดารุลบารอกกัส หรือศูนย์เด็กกำพร้าและยากจนอนาถาสุไหงปาแน อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับมัสยิดกรือเซะ โรงเรียนแห่งนี้รับสอนเด็กกำพร้าและเด็กก่อนวัยเรียน มีนักเรียนกว่า 1 พันคน ช่วงรอมฎอนในโรงเรียนจะมีเด็กๆ นั่งอ่านอัลกรุอานกันเป็นกลุ่มๆ
น.ส.อาตีกะห์ อาบะห์ วัย 16 ปี นักเรียนในศูนย์เด็กกำพร้าฯสุไหงปาแน บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่เดือนรอมฎอนอันประเสริฐมาถึง เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการทำความดี เป็นเดือนแห่งการอ่านอัลกุรอาน และละหมาดตะรอเวียะฮฺในเวลากลางคืน ซึ่งจะทำให้ได้ฝึกจิตใจให้เข็มแข็ง เป็นผู้ศัรทธาที่ดี และเป็นอิสลามที่บริสุทธิ์
“ถึงแม้เราจะเป็นเด็กกำพร้า แต่เมือถึงเดือนรอมฎอน จะเป็นผู้มีจิตศรัทธามาบริจาคของให้ทุกวัน อาหารก็จะมีหน้าตาแปลกๆ สีสันสดใสน่าทานมาก จะหาทานในช่วงเดือนปกติไม่ได้”
พูดเรื่องเรื่องอาหาร คงไม่อาจละเลยที่จะพูดถึงตลาดจะบังติกอ ในเขต อ.เมืองปัตตานี ซึ่งเป็นตลาดขายอาหารก่อนละศีลอดในแต่วันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
นางฟาติมะ เจ๊ะและ แม่ค้าขนมหวานในตลาดจะบังติกอ บอกว่า จะมาเปิดร้ายขายขนมเฉพาะช่วงเดือนรอมฏอนทุกปี เพราะช่วงนี้ผู้คนไม่ว่าจะศาสนาไหนต่างก็จะมาจับจ่ายซื้ออาหารการกิน มีของแปลกๆ ให้เลือกมากมาย ตกเย็นคนแน่นจนเดินแทบไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าต่างขายดิบขายดีไปตามๆ กัน ยิ่งเป็นขนนหวานด้วยแล้วจะขายดีเป็นพิเศษ เพราะว่าการละศีลอดต้องมีขนมหวานไว้แก้คาว
“ขนนหวานของก๊ะขายหมดทุกเย็น ก๊ะจะทำมา 15-20 อย่างต่อวัน แต่ปีนี้ของแพงกว่าปีที่แล้ว ทั้งน้ำตาลทรายและไข่ไก่ขึ้นราคาแพง ทำให้เราต้องขึ้นราคาขนมตามไปด้วย รู้สึกสงสารลูกค้าเหมือนกัน แต่หากไม่ขึ้นราคาเราก็อยู่ไม่ได้” ฟาติมะบอก
นายอิสมะแอ สะอุ ชาวบ้านปัตตานี บอกว่า ออกมาหาซื้อของละศีลอดในตลาดจะบังติกอทุกวัน เพราะเป็นตลาดที่ขึ้นชื่นเรื่องอาหารการกิน มีขายทุกอย่างทั้งคาวหวาน ผลไม้ก็มีให้เลือกหา ยิ่งช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น.เป็นต้นไป ผู้คนจะเริ่มแน่น มีทั้งประชาชนทั่วไป และข้าราชการทหาร ตำรวจ มาซื้อเพื่อกลับไปละศีลอด
"รอมฏอมปีนี้ข้าวของราคาแพงกว่าปีที่แล้ว แต่เราไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องซื้อ ยิ่งมาหาซื้อเองด้วย เห็นอะไรก็อยากกินไปหมด วันนี้หมดไป 500 บาทแล้ว" อิสมะแอล กล่าวพร้อมเปิดกระเป๋าให้ดู
เมื่อเดือนรอมฎอนดำเนินมาระยะหนึ่ง พี่น้องมุสลิมก็ต้องเริ่มเตรียมการสำหรับต้อนรับเทศกาลฮารีรายออิดิลฟิตรี้ หรือการเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งจะต้องมีการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ พร้อมเครื่องประดับประเภททองรูปพรรณ ทำให้บรรยากาศการซื้อขายทองคำเริ่มคึกคัก
ที่ตัวเมืองยะลา แต่ละวันมีพี่น้องมุสลิมออกมาเลือกซื้อทองกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะย่านถนนสายกลาง ถนนระนอง ถนนพังงา และถนนปราจิน ในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นศูนย์รวมร้านทอง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง บางร้านเป็นที่นิยม ถึงขั้นมีลูกค้าเลือกซื้อกันจนแน่นขนัด เครื่องประดับที่ขายดีก็คือสร้อยคอทองคำ กำไลทองคำ และแหวนทองคำ สนนราคาอยู่ที่ราวๆ บาทละ 18,000-19,000 บาท
นายธีรวิทย์ เจริญดำรงทรัพย์ เจ้าของร้านทองสีดา 2 ถนนปราจิน กล่าวว่า ช่วงใกล้วันรายอ ก็จะมีลูกค้ามากกว่าช่วงปกติ แต่เท่าที่สังเกตดู ลูกค้าที่เข้ามาในร้านปีนี้มักจะมาเปลี่ยนทองมากกว่าซื้อใหม่ อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก และทองแพง จึงนำทองเก่าที่ใส่เบื่อแล้วมาเปลี่ยนใหม่ หรือบางทีก็ซื้อเส้นหนึ่งแต่ใส่ 2 คน
ทั้งหมดนี้เป็นบรรยากาศน่ารักๆ และอบอุ่นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเดือนรอมฎอนดูจะทำให้คนในพื้นที่ลืมเรื่องร้ายๆ ไปได้บ้างเหมือนกัน...
----------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศที่มัสยิดกลางปัตตานี
2 ร้านขายขนมหวานที่จะบังติกอ (ภาพ 1-2 ถ่ายโดย อับดุลเลาะ หวังนิ)
3 สาวๆ มุสลิมเลือกซื้อทองรูปพรรณเตรียมต้อนรับฮารีรายอ (ถ่ายโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)