สมัชชาเอกชนฯ ชี้รัฐมุ่งสร้างเขื่อนใหญ่ ต่อไปเป็นแค่อนุสาวรีย์
เอ็นจีโอจี้รัฐเลิกสร้างเขื่อนใหญ่อ้างแก้น้ำท่วม แนะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก-จัดผังเมืองใหม่ ชูรูปธรรมชุมชนจัดการน้ำสะเอียบทานกระแสแก่งเสือเต้น
วันที่ 15 ธ.ค. 55 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จัดประชุมเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาบทบาทองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ
นายสุรจิต ชิรเวทย์ รองประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวปาฐกถา ‘การเมืองเรื่องน้ำ ๆ ทำอย่างไรให้มีอนาคต’ ใจความตอนหนึ่งว่า การเมืองไม่มีอนาคตอยู่แล้ว เพราะการเมืองไม่เคยเข้าใจเรื่องน้ำ คิดแต่จะต่อสู้ โดยไม่เคยเรียนรู้ว่าอดีตนั้นบรรพบุรุษอาศัยอยู่กับน้ำอย่างไร เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำขึ้นมาหลายชุด เพื่อสร้างเขาวงกตไม่ให้ประชาชนหาเจอว่าผู้ที่นั่งอยู่บนยอดสุดคือใคร โดยขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ทั้งนี้เห็นว่าพื้นที่ของไทยเหมาะแก่การเกษตรกรรม แต่กลับสร้างแหล่งอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อเกิดน้ำท่วมนายทุนเลือกที่จะก่อกำแพงทำสงครามป้องค่าย ภาครัฐเลือกออกนโยบายกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง โดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งคาดว่าการกระทำดังกล่าวอาจนำมาสู่การฟ้องร้องภาครัฐได้
รองประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวต่อว่า ตามปกติเมื่อเกิดน้ำท่วมในไทยจะมีกฎหมาย 3 ฉบับรองรับ ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่รัฐบาลหวั่นว่าหากประกาศกฎหมายดังกล่าวออกไป อาจสร้างความเสียหายแก่ประเทศได้ ส่วนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ผู้สั่งการยังขาดอำนาจการบังคับบัญชา ซึ่งอยู่ในระดับกรม จึงยากที่หลายคนจะเชื่อถือ ดังนั้นรัฐบาลจึงเลือกใช้พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2553 ที่มีพล.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พร้อมด้วยทีมงานอย่างนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงกลาโหม และปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่สุดท้ายศอฉ.กลับถูกน้ำท่วม และยังขาดความน่าเชื่อถือในข้อมูล จนประชาชนต้องหันไปติดตามการรายงานสถานการณ์น้ำจากดร.เสรี ศุภราทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสแทน
ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างการใช้ชีวิตร่วมกับน้ำของชาวบ้านอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และอ.เสนา จ.อยุธยา ที่สร้างบ้านใต้ถุนสูง ทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน ไม่สร้างระบบสาธารณูปโภคกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่ควรยึดถือในการอยู่กับน้ำ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการเสวนา ‘ทรัพยากรน้ำมองไปให้ไกลกว่าการบริหารจัดการ’ โดยภิกษุณีธัมมนันทา เจ้าอาวาสวัดทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม อ.พระประโทน จ.นครปฐม กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาด เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ อย่าลืมว่าธรรมชาติมีให้เราพอใจ แต่ไม่มีให้เราพอถลุง จงใช้ด้วยความพอเพียง การใช้น้ำอยู่ที่ท่าทีของคนเรา แม้ปัจจุบันหลายคนจะบริหารจัดการน้ำทำเป็นระบบด้วยความฟุ่มเฟือยจนเป็นความฉิบหายแล้วก็ตาม แต่อาตมาคิดว่าหากเราหันมาประหยัดน้ำ โดยเริ่มจากครอบครัว ก่อนขยายไประดับประเทศก็จะรักษาทรัพยากรน้ำได้
นายสุข จันทร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราศีไศล กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนมาก เพราะไปปิดกั้นทางไหลของน้ำตามคูคลองต่าง ๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างแม่น้ำโขง ชี มูล จนสัตว์น้ำไม่สามารถอาศัยได้ตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ยุติการสร้างเขื่อน และหยุดบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ
ขณะที่นายกมล เปี่ยมสมบูรณ์ สภาลุ่มน้ำท่าจีน จ.นครปฐม กล่าวว่า ภาคประชาชนกำลังทำข้อเสนอให้กับภาครัฐว่าหากคิดจัดการน้ำโดยการทำกำแพงกั้น แล้วไม่ปล่อยให้น้ำเข้าพื้นที่เลย อาจเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ได้ เพราะคนที่อาศัยใกล้เคียงคงไม่มีใครยอมจมน้ำ หลายคนจึงมีความรู้สึกอยากทำลายกำแพงน้ำที่กั้นไว้ เพื่อให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่ ถึงตอนนั้นภาครัฐจะจัดการอย่างไร
“หากคิดว่าจะบริหารจัดการน้ำโดยใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง โดยไม่คำนึงถึงภาพรวมในการจัดการ สิ่งที่ตามมาคืออนุสาวรีย์ชิ้นหนึ่งที่สร้างแล้วไม่ใช้งานเหมือนที่มีปรากฎอยู่ทั่วไป ภาครัฐจะคิดอะไรขอให้คิดอย่างละเอียดรอบคอบว่าอนาคตข้างหน้าเมื่อเกิดสิ่งปลูกสร้างใหม่ขึ้นมาแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่” ผู้แทนสภาลุ่มน้ำท่าจีน กล่าว
นายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า แม่น้ำยมเป็นลุ่มน้ำเดียวที่ไม่มีเขื่อนกั้น แต่กลับได้รับรางวัลบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กดีที่สุดปี 55 เพราะเราสร้างเครือข่ายชุมชนในการดูแลรักษาแหล่งน้ำ ทำฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก จัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำ พิธีบวชป่า ส่งผลให้ปัจจุบันในพื้นที่ยังมีป่าสักทองที่สมบูรณ์อยู่ รวมถึงผักหวาน เห็ดป่า ปลาคัง และแหล่งอาหารธรรมชาติอีกมากมาย ซึ่งล้วนมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น
นางวิษา ช่างประดิษฐ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเทือกเขาตะนาวศรี กล่าวเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อน แต่ให้หันสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแทน โดยให้ชุมชนดูแล พร้อมให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งจัดทำผังเมืองประเทศกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์จริงจังต่อไป.