เปิดเส้นทาง “นักสิทธิมนุษยชนดีเด่นไทยปี 2555”
กว่าครึ่งศตวรรษที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ 10 ธันวาคมเป็น ‘วันสิทธิมนุษยชนสากล’ และเป็นปีที่ 9 แล้วที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอบรางวัลให้คนทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนไทย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดงานฉลองเนื่องในวาระวันสิทธิมนุษยชนสากลมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเชิงรุก เน้นมาตรการป้องกัน สร้างภูมิรู้แก่ประชาชน เพื่อลดปัญหาในอนาคตและเห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนแท้จริง สำหรับปีนี้ไฮไลท์การจัดงานคือการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น
หนึ่งในนั้นคือบุคคลและองค์กรที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ‘ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา’ พาไปรู้จักเส้นทางของผู้อุทิศตนเหล่านี้
‘อรุณี ศรีโต’ สตรีนักสู้เพื่อสิทธิแรงงานไทย
อรุณี ศรีโตนายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนาเจ้าของรางวัลประเภทบุคคลหญิงวัย 59 ปี ชาวพระประแดง ผู้เรียกร้องสิทธิแรงงานมายาวนานกว่า 40 ปีนับตั้งแต่เริ่มทำงานที่บริษัท ไทยเกรียงสิ่งทอ จำกัด และได้มีโอกาสเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ จนได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง และรับเลือกเป็นประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา
ซึ่งผลงานเป็นที่ประจักษ์ คือ การเรียกร้องรัฐบาลแก้ไขกฎหมายแรงงาน 2 เรื่อง เมื่อปี 2536 ได้แก่ กรณีนายจ้างบริษัทไทยเกรียงนำเครื่องจักรรุ่นใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตแทนคนงาน โดยนายจ้างต้องเพิ่มค่าชดเชยแก่คนงาน หากถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและกรณีแรงงานหญิงให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างลาคลอดบุตรได้ 90 วัน ที่สำคัญยังเป็นแกนนำช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ จนทำให้นายจ้างยอมจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต การศึกษาของบุตร และภาครัฐยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าทำขวัญให้อีกด้วย
นอกจากนี้ภายหลังออกจากโรงงานไทยเกรียง เมื่อปี 2543 ได้รวมกลุ่มคนงานฝึกอาชีพและระดมทุนช่วยเหลือเครือข่ายแรงงาน พร้อมจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ในชุมชน และสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา โดยมีตนเองเป็นนายกสมาคมฯ เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย และมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจนถึงปัจจุบัน
‘เสด็จ เขียวแดง’ ประเทศจะพัฒนาต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
“การทำงานเพื่อบ้านเมือง หากได้เริ่มในชุมชนก่อน ให้เข้มแข็งที่สุด ดีที่สุด มีความสุขที่สุด ย่อมทำให้ภาพรวมทั้งประเทศดีขึ้นอย่างแน่นอน” เป็นแนวคิดเจ้าของรางวัลประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนชาย‘เสด็จ เขียวแดง’ข้าราชการกรมป่าไม้วัยปลดเกษียณ มีผลงานเพื่อชุมชนมากว่า 25 ปี โดยทำหน้าที่ประธานชุมชนโคราชคฤหาสน์ทอง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมาโดยเฉพาะการจัดสวัสดิการชุมชน ทำทะเบียนหมู่บ้าน เก็บเงินสวัสดิการ จัดประเพณีและในช่วงอุทกภัยได้จัดตั้งกองทุนอาหาร เครื่องใช้ในชุมชน เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชนข้างเคียง รวมถึงออกระเบียบชุมชนให้ชาวบ้านปฏิบัติอย่างมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม โดยไม่รับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทน
นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหายาเสพย์ติดในระดับชุมชน โรงเรียน และสถาบันการศึกษาในภาคอีสาน โดยเน้นการทำลายแหล่งผลิต พร้อมเสนอให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาของชุมชนเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐ อีกทั้งช่วยแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยแก่คนจน กระทั่งปี 2547 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ มีผลงานโดดเด่นที่สำคัญ คือ การผลักดันออกโฉนดที่ดินนอกเขตป่าอย่างเท่าเทียม
‘ณาตยา แวววีรคุปต์’ สื่อหญิงเหล็กผู้อุทิศใจเพื่อชุมชน
‘ณาตยา แวววีรคุปต์’ เจ้าของรางวัลประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน เธอเป็นบรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หรือที่หลายคนคุ้นเคยในฐานะพิธีกรรายการ ‘เวทีสาธารณะ’ ซึ่งเป็นรายการที่เปิดพื้นที่สาธารณะหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิสนทนาสะท้อนสถานการณ์ และร่วมหาทางออกอย่างเท่าเทียม อีกทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะต่อไป เช่น เทือกเขาบรรทัด เดินหน้าต่อโฉนดชุมชน, กลับถิ่น กระจกสะท้อนแรงงาน, 2 ปี ตามหาความหวัง ศักดิ์ศรีชนเผ่าพื้นเมือง หรือเชียงใหม่มหานคร คืนอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง
ส่วนรายการ ‘เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย’ เป็นอีกหนึ่งรายการที่ณาตยารับหน้าที่ดำเนินรายการ มุ่งเสนอประเด็นกระแสทางเลือกของสังคมที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และในทุกระดับการพัฒนาให้เป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบ เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับผู้ชมทุกระดับในทางที่ดีขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเช่น พลังพลเมืองอีสาน ฐานรากสู่การเปลี่ยนแปลง, ฟังเสียงคนไทยกับเรื่องคอรัปชั่น,ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร, แรงงานข้ามชาติในสังคมไทย หรือมรดกจากคนกะเหรี่ยง มรดก (รักษา) โลก
นอกจากนี้สิ่งที่การันตีอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อชุมชน คือ การได้รับรางวัลจากสถาบันชั้นนำของชาติ เช่นรางวัลผลงานดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์การนิรโทษกรรมสากลรางวัลชนะเลิศสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ‘เยาวชนไทยกับยาเสพย์ติด’จากมูลนิธิแสงชัยสุนทรวัฒน์– สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย
สมาคมต้านโลกร้อนยืนหยัดสู้เพื่อสิทธิประชาชน-ชุมชน
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เจ้าของรางวัลประเภทองค์กรภาคเอกชน จัดตั้งเมื่อพ.ศ.2550 จากการรวมตัวของนักพัฒนาและนักกฎหมายที่ทำงานมายาวนานกว่า 20 ปี มีนายศรีสุวรรณ จรรยา เป็นนายกสมาคมฯ ยึดภารกิจหลัก 2 ประการ คือ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับสาธารณชน เกี่ยวกับวิกฤตการณ์โลกร้อนและทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่นที่กระทำการผิดกฎหมาย รวมถึงเอกชนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้เป็นตัวแทนประชาชนในการเรียกร้อง ฟ้องร้อง ปกป้องสิทธิภาคประชาชนและชุมชน โดยใช้หลักกระบวนการยุติธรรมเป็นแนวทางยุติข้อขัดแย้งและประเด็นพิพาทด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม มากกว่า 60คดี เช่น คดีมลพิษทางเสียงสนามบินสุวรรณภูมิ คดีน้ำท่วมปี 2555 คดีโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน คดีสารแคดเมียม จังหวัดตากคดีแม่เมาะจังหวัดลำปาง คดีโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คดีเขื่อนแม่วงก์ คดีป่าพรุแม่รำพึง
แต่คดีที่นับเป็นความสำเร็จของการต่อสู้เพื่อสิทธิ คือ ‘คดีมาบตาพุด’ ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการดำเนิน 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนรุนแรงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67
‘เทศบาลบ้านกลาง’ ท้องถิ่นแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตตัวอย่าง
เทศบาลตำบลบ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มุ่งพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเจ้าของรางวัลประเภทองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะการดูแลและเรียกร้องสิทธิกลุ่มแรงงานต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยหน้าบ่อขยะ เพื่อเก็บขยะหาเลี้ยงชีพ ด้วยการจัดตั้งโครงการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนเร่ร่อนและกลุ่มเสี่ยง เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทะเบียนราษฎร์ การจัดการที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมป้องกันการถูกล่อลวง และเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิและสวัสดิการทางสังคม รวมทั้งได้รับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองจัดสร้างบ่อน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค
นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมกับกลุ่มผู้พ้นโทษ โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการประสานงานสังคมสงเคราะห์ในงานราชทัณฑ์กับเรือนจำจ.ลำพูน ให้มีการติดตามเยี่ยมครอบครัวผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษจัดทำโครงการช่วยเหลือครอบครัวผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจนและผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน จัดตั้งกลุ่มทานตะวัน(กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ที่เปิดเผยตนเอง) ตำบลบ้านกลางขึ้น เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลรักษาตนเอง นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการเทศบาลใสสะอาด คิดดี ทำดี มีคุณธรรม เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยการจัดทำกล่องรับบริจาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดจิตอาสาในการช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส
อีกทั้งยังเคยได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศ ด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน จากสถาบันพระปกเกล้า รางวัลสุดยอดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานดีเด่นด้านสตรีและครอบครัว ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น ด้านการป้องกันการทุจริต จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอีกด้วย
......................................................
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังปรากฏให้เห็นในสังคมไทยอยู่ แต่ทางกลับกันหากยังมีกลุ่มคนและองค์กรที่ยืนหยัดอุทิศแรงกายแรงใจปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์เช่นพวกเขาเหล่านี้แล้ว เชื่อว่าบ้านเมืองคงเจริญได้อย่างเท่าเทียม
ล้อมกรอบ
บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555
1.ประเภทบุคคลชาย ได้แก่นายวีระ สมความคิด
2.ประเภทบุคคลหญิง ได้แก่นางสาวอรุณี ศรีโต
3.ประเภทเด็กและเยาวชนชาย ได้แก่นายพีรพลบงค์บุตร
4. ประเภทเด็กและเยาวชนหญิง ได้แก่นางสาวมินตรา จันทร์นวล
5. ประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชนได้แก่ นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์
6.ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนชาย ได้แก่นายเสด็จ เขียวแดง
7.ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนหญิงได้แก่ นางเกษร ศรีอุทิศ
8.ประเภทองค์กรภาครัฐ ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านกลางจังหวัดลำพูน
9.ประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
10.ประเภทองค์กรสื่อสารมวลชนหรือรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้แก่ สถาบันอิศรา
11.รางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” บุคคลชาย ได้แก่ พระมหาวุฒิชัยวชิรเมธี บุคคลหญิง ได้แก่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และนางสายสุรี จุติกุล.