ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปํญญา เทศมหาชาติ-ผูกเสี่ยว-ส้มตำ ปลาร้า
ก.วัฒนธรรมฯ ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาไทยปี 55 นี้ 7 สาขา 70 รายการ นิทานกาลเล่นท้องถิ่น เทศมหาชาติ ผูกเสี่ยว ดนตรีชาติพันธุ์ ผ้าทอไท ภาษาถิ่น หมอกระดูกพื้นบ้าน แกงเขียวหวาน ส้มตำ ปลาร้า
วันที่ 14 ธ.ค.55 ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวว่ากรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติปี มาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2542 รวม 80 รายการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและยกย่องภูมิปัญญาบรรพบุรุษและอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ภาคภูมิใจและยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และยังเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกในอนาคต
ทั้งนี้ในปี 2555 ได้ประกาศขึ้นมรดกภูมิปัญญาไทย 70 รายการใน 7 สาขา ดังนี้ 1.สาขาศิลปะการแสดง 13 รายการ 2 ประเภท คือ ประเภทดนตรี 5 รายการ ได้แก่ ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู, ซอสามสาย, เพลงหน้าพาทย์, กันตรึม, เจรียง และกาหลอ ประเภทการแสดง 7 รายการ ได้แก่ ก้านกกิงกะหร่า, ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา, รำฝรั่งคู่, ละครดึกดำบรรพ์, โนราโรง ครู, มะโย่ง และรองเง็ง
2. สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม 11 รายการ 4 ประเภท คือ ประเภทผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า 5 รายการ ได้แก่ ผ้าทอไทครั่ง, ผ้าทอไทลื้อ, ผ้าทอกะเหรี่ยง, ผ้าทอไทยวน และผ้าทอผู้ไทย ประเภทเครื่องรัก 2 รายการ ได้แก่ เครื่องมุกไทย และเครื่องรัก ประเภทเครื่องโลหะ 2 รายการ ได้แก่ ขันลงหินบ้านบุและบาตรบ้านบาตร ประเภทงานศิลปกรรมพื้นบ้าน 2 รายการ ได้แก่ สัตตภัณฑ์ล้านนาและโคมล้านนา
3.สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน 14 รายการ 2 ประเภท คือ ประเภทนิทานพื้นบ้าน 12 รายการ ได้แก่ นิทานพระร่วง, นิทานตาม่องล่าย, พระสุธนมโนห์ราภาคใต้, วันคาร, ตำนานเจ้าหลวงคำแดง, ตำนานพระธาตุดอยตุง, ตำนานเจ้าแม่สองนาง, ตำนานอุรังคธาตุ, ตำนานหลวงปู่ทวด, ตำนานนางโภควดี, ตำนานสร้างโลกของภาคใต้และวรวงศ์ประเภทตำรา 2 รายการ ได้แก่ ปักขะทึนล้านนา และตำราศาสตรา
4.สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย 8 รายการ 3 ประเภท คือ ประเภทการเล่นพื้นบ้าน 3 รายการ ได้แก่ ไม้หึ่ม, หมากเก็บ และเสือกินวัว ประเภทกีฬาพื้นบ้าน 4 รายการ ได้แก่ หมากรุกไทย, ตะกร้อลอดห่วง, วิ่งวัว และวิ่งควาย และประเภทศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ เจิง
5.สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม 7 รายการ 2 ประเภท คือ ประเภทขนบธรรมเนียมประเพณี 5 รายการ ได้แก่ การผูกเกลอ, การผูกเสี่ยว, เทศน์มหาชาติ,พิธีทำบุญต่ออายุ และการแต่งกายบาบ๋า เพอนารากัน ประเภทงานเทศกาล 2 รายการ ได้แก่ สารทเดือนสิบ และประเพณีรับบัว
6.สาขาความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 11 รายการ 4 ประเภท คือ ประเภทอาหารและโภชนาการ 6 รายการ ได้แก่ สำรับอาหารไทย, แกงเผ็ด, แกงเขียวหวาน, ส้มตำ, น้ำพริก และปลาร้า ประเภทการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน 3 รายการ ได้แก่ ลูกประคบ, ยา หอมและหมอพื้นบ้านรักษากระดูกหัก ประเภทโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และไสยศาสตร์ ได้แก่ คชศาสตร์ชาวกูย และประเภทชัยภูมิและการตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ ดอนปู่ตา และ
7.สาขาภาษา 6 รายการ 2 ประเภท คือ ประเภทภาษาไทยถิ่น 3 รายการ ได้แก่ อักษรธรรมล้านนา, อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมอีสาน ประเภทภาษากลุ่มชาติพันธุ์ 3 รายการ ได้แก่ ภาษาชอง,ภาษาญัฮกุร และภาษาก๋อง
รมว.วัฒนธรรมฯ กล่าวอีกว่าการประกาศครั้งนี้ถือเป็นหัวใจในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมสู่รุ่นลูกหลาน เพราะสิ่งที่เป็นมรดกวัฒนธรรม ชื่อบ้านนามเมือง ภาษา การแสดงพื้นบ้านค่อยๆ จากหายไป เนื่องจากเทคโนโลยี วัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามา เช่น กังนัมสไตล์เข้ามาเด็กเต้นได้ จึงต้องหันมาคิดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันเด็กอย่างไร วธ.จึงกำหนดยุทธศาสตร์การสืบสานรักษาเนื้อแท้ดั้งเดิมไว้ และสร้างสรรค์นำมาเสนอในรูปแบบทันสมัย บูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานเรื่องการนำวัฒนธรรมไปต่อยอดทางเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว สร้างรายได้ เพราะการปกป้องภูมิปัญญาเป็นสิ่งสำคัญมาก .
ที่มาภาพ : http://bit.ly/TZViRb