เรื่องของหมา เงินเยียวยา และไฟใต้
นาซือเราะ เจะฮะ / สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ความอ่อนไหวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่แค่ศาสนาต่าง ภาษาต่าง หรือวัฒนธรรมต่างเท่านั้น แต่ยังปรากฏความต่างทางความรู้สึก ซึ่งหลายๆ ครั้งบาดลึกยิ่งกว่า ดังเช่นการจ่ายเงินเยียวยาให้ "หมา" ที่ปัตตานี
ข่าวเล็กๆ แต่ฮือฮาจากดินแดนปลายขวานเมื่อไม่นานมานี้ คือข่าวที่ทางจังหวัดปัตตานีมอบเงินเยียวยาให้กับสุนัขพันธุ์ไทยแท้ที่ชื่อ "เจ้าตูม" จาก อ.สายบุรี หลังจากที่มันสร้างวีรกรรมช่วยเหลือครูและ ชรบ.ที่ถูกคนร้ายถล่มยิงคาป้อมจุดตรวจ จนตัวมันเองได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการ กลายเป็น "หมาสามขา"
เรื่องราวการดูแลเอื้อเฟื้อแบ่งปันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่ใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุดนี้ แม้จะเรียกรอยยิ้มและความอิ่มใจจากคนทั่วไปนอกพื้นที่ชายแดนใต้ แต่มันกลับทำให้คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งเพ่งมองแบบไม่สบายใจและตั้งคำถาม
เหมือนกับกรณี "จ่าเพียร" พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีตผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ที่กลายเป็นวีรบุรุษสีกากีในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ แต่มีใครเคยย้อนกลับไปถามความรู้สึกของคนในพื้นที่บ้างหรือไม่ว่า "จ่าเพียร" เป็นวีรบุรุษของพวกเขาหรือเปล่า...
เรื่องราวของ "เจ้าตูม"
ชื่อ "เจ้าตูม" กลายเป็นที่รู้จักผ่านสื่อ เมื่อจังหวัดปัตตานีจัดพิธีมอบเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกิจกรรมเรียบๆ ง่ายๆ เพราะจัดกันทุกเดือน แต่เดือนนี้กลับไม่เหมือนทุกเดือน เมื่อหนึ่งใน 9 ของผู้มีสิทธิ์รับเงินเยียวยา เป็น "หมา" ไม่ใช่ "คน"
เอกสารแถลงข่าวของทางจังหวัดให้ข้อมูลว่า เป็นการมอบเงินเยียว "กรณีพิเศษ" สำหรับ "เจ้าตูม" สุนัขไทยใจกล้าที่พยายามช่วยเหลือ ครูปราณี ปางวิภาค ครูโรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร ซึ่งตกเป็นเหยื่อกราดยิงด้วยอาวุธสงครามของคนร้ายในท้องที่บ้านปากน้ำ ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2553 ทำให้ ครูปราณี รอดชีวิตจากการถูกถล่มยิงซ้ำ ขณะที่ "เจ้าตูม" ได้รับบาดเจ็บสาหัส และต้องสูญเสียขาหน้าข้างขวาไป
ทว่า "เจ้าตูม" ไม่ได้มารับเงินด้วยตัวเอง แต่เป็น พ.ต.อ.วัลลพ จำนงค์อาสา อดีตผู้กำกับการ สภ.สายบุรี ซึ่งให้ความช่วยเหลือ "เจ้าตูม" ทั้งพาไปหาหมอ และดูแลประคบประหงมมันจนแข็งแรงดังเดิม
ตัวเลขเงินเยียวยาที่ได้รับ ซึ่งทั้งหมดเป็นค่ารักษาพยาบาล "เจ้าตูม" อยู่ที่ 6,418 บาทถ้วน
ชีวิตของ "เจ้าตูม" เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2553 จะบอกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือก็คงไม่ผิด เพราะเดิมมันเป็นแค่ "หมาจรจัด" หมายถึงสุนัขไม่มีเจ้าของ ชอบอาศัยนอนและหอนเห่าอยู่แถวๆ ป้อมจุดตรวจของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านปากน้ำ ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี เท่านั้น แม้แต่ "ชื่อ" ของมันก็ยังไม่ชัดว่ามันชื่ออะไรกันแน่ เพราะทางจังหวัดเรียกมันว่า "เจ้าตูบ" ส่วน พ.ต.อ.วัลลพ เรียกมันว่า "เจ้าตูม" ขณะที่ชาวบ้านปากน้ำบอกว่ามันชื่อ "เจ้าจิ๊ก"
พ.ต.อ.วัลลพ เล่าว่า ได้พบหน้า "เจ้าตูม" ครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์กลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุยิงถล่ม ชรบ.ที่ป้อมจุดตรวจบ้านปากน้ำ ทำให้ ครูปราณี ซึ่งเดินออกกำลังกายอยู่แถวๆ นั้นได้รับบาดเจ็บ
"คนร้ายมากัน 4 คน ขี่รถจักรยานยนต์ 2 คัน มาถึงก็ใช้ปืนอาก้ายิงถล่มป้อมจุดตรวจ ครูปราณีถูกยิงที่ขา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณทุ่มเศษๆ ตำรวจเข้าไปถึงก็พาคนเจ็บส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จากนั้นรุ่งเช้าก็เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุกันอีกรอบ เพราะคิดว่าน่าจะมีปลอกกระสุนหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ปรากฏว่าไปเจอหมาสีดำ ขนตรงคอสีขาว เพศผู้ อายุประมาณ 2-3 ปี ซึ่งก็คือเจ้าตูม พอเข้าไปดูใกล้ๆ จึงเห็นว่ามันบาดเจ็บที่ขาหน้าขวา กระดูกแตกหมด"
"ผมเลยสอบถามชาวบ้านว่าเป็นหมาของใคร ชาวบ้านก็บอกว่ามันเป็นหมาไม่มีเจ้าของ ชอบมาอยู่แถวๆ ป้อม ชรบ.ทุกวัน เวลามีคนแปลกหน้าผ่านมามันก็จะเห่า วันเกิดเหตุมันก็เห่า พอป้อม ชรบ.ถูกยิง มันยิ่งเห่าจนคนร้ายไม่กล้าเข้าไปยิงซ้ำ ทำให้ครูปราณีและคนอื่นๆ รอดชีวิต"
พ.ต.อ.วัลลพ บอกว่า เมื่อได้รับรู้ถึง "วีรกรรม" ของเจ้าตูม ทำให้ พ.ต.อ.วัลลพ ตัดสินใจนำมันไปรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลสัตว์ปัตตานี โดยรับจะออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เพียงแต่ขอสัญญาจากชาวบ้านว่า เมื่อมันหายดีแล้ว ก็ให้ช่วยเลี้ยงมันต่อก็แล้วกัน
กระทั่ง "เจ้าตูม" หายดี แต่มีขาเหลือแค่ 3 ขา พ.ต.อ.วัลลพ ก็พามันกลับถิ่นเก่า โดยมีเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน รับมันไปดูแล...
ทีมสุนัขพิทักษ์ชุมชน
ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ พ.ต.อ.วัลลพ พูดถึง คือร้าน "เจ๊เอี่ยน" ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านปากน้ำ ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นร้านที่อยู่ติดกับป้อม ชรบ.ที่ถูกคนร้ายยิงถล่มนั่นเอง
แต่ชาวบ้านที่นี่เรียกเจ้าตูมว่า "เจ้าจิ๊ก" ฟังแล้วอยากหัวเราะคิกๆ เพราะไม่ได้ให้อารมณ์ดุดันวิ่งผ่านดงกระสุนเหมือนชื่อ "ตูม" แม้แต่น้อย
เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "เจ้าจิ๊ก" ที่ชาวบ้านย่านนั้นถ่ายทอดให้ฟัง ทำให้รับรู้แง่มุมน่าสนใจอีกหลายๆ อย่าง ทั้งยังพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า "หมาจะดัง รั้งไม่อยู่" จริงๆ
“เจ้าจิ๊กมีขาอยู่เพียงสามขา เพราะขาหน้าด้านขวาของมันถูกตัดทิ้งเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงป้อม ชรบ. ติดกับร้านก๋วยเตี๋ยวชองฉันนี่เอง เมื่อค่ำๆ วันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา” เจ๊เอี่ยน เริ่มเล่าถึงวีรกรรมของเจ้าจิ๊ก
หากยังจำกันได้ วันที่ 7 ม.ค.2553 เป็นวันเดียวกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่เพื่อทำพิธีเปิดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 หรือถนนสายปัตตานี-ยะลาสายใหม่ ซึ่งในวันเดียวกันนั้น "เจ้าจิ๊ก" ก็สร้างวีรกรรม
“จริงๆ แล้วเจ้าจิ๊กเป็นหมาไม่มีเจ้าของ แต่อาศัยอยู่ในละแวกนี้กับหมาอีกหลายๆ ตัว ชาวบ้านก็สงสารจึงให้เศษอาหารกินทุกวัน จนทำให้พวกมันอาศัยนอนอยู่ใกล้ๆ ป้อม ชรบ.ของชุมชนมาตลอด และมันจะช่วยเห่าเตือนเวลามีคนแปลกหน้าผ่านมา เหมือนทำหน้าที่เป็นยามคอยเดือนชาวบ้านด้วย ทำให้ชาวบ้านชอบและเอ็นดูมัน เพราะชุมชนของเราเคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมาแล้วหลายครั้ง ทั้งลอบยิงและวางระเบิด เมื่อมีหมาอยู่ก็อุ่นใจขึ้น กลางคืนไม่ต้องกลัวว่ากลุ่มคนร้ายจะเข้ามาก่อเหตุ เพราะเจ้าหมาพวกนี้มันจะเห่าไล่ให้ตลอด”
“ช่วงค่ำๆ วันที่ 7 ม.ค. มีคนร้ายใช้อาวุธปืนอาก้ายิงถล่มป้อม ชรบ. ทำให้ครูปราณี ได้รับบาดเจ็บ ถูกกระสุนปืนของกลุ่มคนร้ายยิงเข้าที่ขาซ้าย วันนั้นเจ้าจิ๊กก็ช่วยเห่าเตือนและเห่าไล่จนคนร้ายหลบหนีไป” เจ๊เอี่ยนบอก
ลุงสวัสดิ์ ปางวิภาค ชรบ.วัย 59 ปี สามีของครูปราณี เล่าเสริมว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 1 ทุ่ม ชรบ.ก็มาเข้าเวรกันที่ป้อมตามปกติ และนั่งคุยสัพเพเหระกันไปเรื่อย
“ตอนนั้นภรรยาของผมก็มาเดินออกกำลังกายอยู่ใกล้ๆ ป้อม ชรบ. ส่วนเจ้าจิ๊กกับหมาตัวอื่นๆ ก็วนเวียนอยู่ใกล้ๆ ป้อมซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามแยกพอดี จังหวะนั้นเองมีรถมอเตอร์ไซค์ของคนร้ายมาจอดตรงสามแยก ห่างจากป้อมประมาณ 60 เมตร ตอนแรกพวกเราก็ไม่ได้มีใครสังเกตเห็น แต่เจ้าจิ๊กกับหมาตัวอื่นๆ ที่อยู่แถวๆ นั้นมันเห็น และพากันเห่าขึ้น ทำให้เราหันไปดู ก็พบว่ามีรถมอเตอร์ไซค์จอดอยู่ แต่ยังไม่ทันได้ตั้งตัว คนร้ายก็ใช้อาวุธสงครามยิงกราดเข้ามาในป้อม ทำให้กลุ่ม ชรบ.แตกกระจาย และพยายามยิงต่อสู้กลุ่มคนร้ายกระทั่งล่าถอยไป โดยเจ้าจิ๊กกับพวกก็ช่วยกันเห่าไล่คนร้ายด้วย”
ลุงสวัสดิ์ เล่าต่อว่า หลังจากเหตุการณ์สงบลง ก็พบว่าภรรยาได้รับบาดเจ็บ ถูกยิงเข้าที่ขาซ้าย จึงช่วยกันนำส่งโรงพยาบาล โดยในตอนนั้นไม่มีใครทราบเลยว่าเจ้าจิ๊กได้รับบาดเจ็บด้วย ได้แต่คิดว่าเจ้าจิ๊กและสุนัขตัวอื่นๆ คงตกใจเสียงปืนจนหนีหายไป
“รุ่งเช้าอีกวันหนึ่งเจ้าจิ๊กจึงปรากฏตัว ทางเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเห็นมันนอนร้องอยู่ข้างๆ โต๊ะ ที่ขาด้านขวาบริเวณข้อเท้าถูกยิงได้รับบาดเจ็บ จึงได้พยายามช่วยเหลือใส่ยาให้ แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก จนกระทั่งผู้กำกับฯวัลลพเข้ามาในพื้นที่ เห็นเจ้าจิ๊กได้รับบาดเจ็บจึงสอบถามความเป็นมา และอาสาพามันไปรักษา โดยตอนแรกพาไปหาหมอทหาร แต่ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดีพอ สุดท้ายทางผู้กำกับฯวัลลพ จึงพาเจ้าจิ๊กไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ในตัวเมืองปัตตานี โดยหมอต้องตัดขาข้างขวาทิ้ง เพราะกลัวว่าแผลจะติดเชื้อและลุกลามจนมันบาดเจ็บมากกว่าเดิม”
ลุงสวัสดิ์ บอกว่า วันนี้ "เจ้าจิ๊ก" หายดีแล้ว และยังกลับมาทำหน้าที่เป็น "สุนัขพิทักษ์ชุมชน" คอยระแวดระวังคนแปลกหน้าให้กับชาวบ้านเหมือนเดิม
“สำหรับเจ้าจิ๊กและหมาตัวอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกนี้ เราถือว่ามันได้ช่วยให้ทุกคนรอดพ้นจากเหตุการณ์รุนแรงในวันนั้นมาได้ หากพวกมันไม่เห่า ชรบ.ทุกคนก็จะไม่เห็นคนร้ายก่อน อาจจะบาดเจ็บกันหลายคนกว่านี้ หรืออาจจะมีคนเสียชีวิตก็ได้ นอกจากนั้น หมาเหล่านี้ยังเคยช่วยเห่าไล่กลุ่มผู้ไม่หวังดีที่พยายามลอบนำระเบิดมาฝังเพื่อก่อเหตุด้วย”
เยียวยาสองมาตรฐาน?
จริงๆ เรื่องราวของ "เจ้าจิ๊ก" หรือ "เจ้าตูม" น่าจะจบลงด้วยรอยยิ้มของคนที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องเป็นข่าวโด่งดัง หากจังหวัดปัตตานีไม่จ่ายเงินเยียวยาให้มัน "เป็นกรณีพิเศษ" เพราะ พ.ต.อ.วัลลพ เองก็ออกตัวว่าตั้งใจช่วยเหลือเอาบุญ ไม่ได้หวังว่าจะได้รับเงินชดเชยกลับมา
เจ้าหน้าที่เยียวยาของ จ.ปัตตานี อธิบายถึงสาเหตุที่มอบเงินเยียวยาเป็นกรณีพิเศษสำหรับ "เจ้าตูม" ว่า สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงประเภทหนึ่ง จึงเข้าข่ายเป็นทรัพย์สิน เมื่อได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจนเกิดความเสียหายขึ้น จึงมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาด้วย ซึ่งกรณีนี้ พ.ต.อ.วัลลพ ในฐานะที่พามันไปรักษา ก็ต้องได้รับเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาล
นายเอก ณัฐทิพชาติ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยา จ.ปัตตานี กล่าวเสริมว่า การเยียวยา "เจ้าตูม" เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกประการ โดยพิจารณาจากใบเสร็จโรงพยาบาลสัตว์ปัตตานี ออกเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2553 ระบุว่า เป็นค่ารักษาพยาบาล 4,480 บาท ค่าที่พัก 150 บาทต่อวัน จำนวน 11 วัน เป็นเงิน 1,650 บาท ค่าอาหาร 288 บาท รวมทั้งสิ้น 6,418 บาท
"ทุกอย่างเข้าข่ายหลักเกณฑ์เยียวยาทรัพย์สิน หมาก็เป็นทรัพย์สิน จึงต้องเยียวยาเช่นเดียวกัน" หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยา จ.ปัตตานี กล่าว
แต่ดูเหมือนสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐจะละเลยไป คือความรู้สึกของ "คน" ในพื้นที่ ซึ่งกำลังมีปัญหาว่าด้วย "เงินเยียวยา" อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
นายทะนง ไหมเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลำพญา จ.ยะลา มองว่า ไม่เห็นด้วยและเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จ่ายเงินเยียวยาให้กับหมา เพราะยังมีคนเดือดร้อนอีกมากที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา แต่เจ้าหน้าที่กลับไปพิจารณาช่วยเหลือสุนัขไม่มีเจ้าของก่อน
"เมื่อข่าวออกมา ทำให้ชาวบ้านพูดกันว่าในพื้นที่นี้เงินสะพัดมากขนาดไหน แม้แต่หมาจรจัดยังได้รับการเยียวยา แต่กับผู้ที่เดือดร้อนและยังต้องการความช่วยเหลืออีกมากกลับไม่ได้รับเงิน มีบางคนถามว่าหลักเกณฑ์มันอยู่ตรงไหน"
เช่นเดียวกับ นางยูนัยดะห์ มามะ ชาวบ้าน ต.ตาแกะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับที่เจ้าหน้าที่มอบเงินเยียวยาให้กับหมา เพราะคนในชุมชนหรือผู้พบเห็นสามารถแสดงน้ำใจให้ความช่วยเหลือมันได้ แต่ไม่ใช่การจ่ายเงินของรัฐเพื่อเยียวยาแบบนี้ เนื่องจากในพื้นที่ยังมีประชาชนอีกนับพันคนรอคอยความช่วยเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กกำพร้า หรือครอบครัวของผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำ
ตลอด 6 ปีเศษของสถานการณ์ไฟใต้ รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทั้งในแง่ชีวิตและร่างกาย ทรัพย์สิน หญิงหม้าย และเด็กกำพร้าไปแล้วทั้งสิ้น 2,225 ล้านบาท เฉพาะ จ.ปัตตานี จังหวัดเดียว 497 ล้านบาท แต่การช่วยเหลือก็ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสียหายที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเบื้องต้นว่าเกิดจากเหตุขัดแย้งส่วนตัว และกลุ่มที่เป็นครอบครัวของบุคคลที่ถูกรัฐ "ขึ้นบัญชีดำ" ว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
เรื่องราวดีๆ ที่มาจากเจตนาดี แต่ไม่ระมัดระวังเรื่อง "อารมณ์-ความรู้สึก" จึงถูกแปรเจตนาไปเป็นประเด็น "สองมาตรฐาน" ได้เหมือนกัน
ถือเป็นบทเรียนอันสำคัญของภาครัฐ หากต้องการดับไฟที่ปลายขวาน หรือสร้างความสมัครสมานหลังกรณี "ม็อบเสื้อแดง"
------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : "เจ้าตูม" หมาสามขา ขณะถ่ายรูปกับ ลุงสวัสดิ์ ปางวิภาค
หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ