เยือน "ศูนย์ครูใต้" ปัตตานี...อีกหนึ่งความหวังรักษาชีวิตครู
"วันเกิดของข้าพเจ้ามีผู้คนถวายเงินกันหลายคน แล้วเงินนั้นข้าพเจ้ารวบรวมไปสร้างศูนย์ครูที่ จ.ปัตตานี ไปเห็นแล้วสงสารพวกครูที่สุดที่ว่าเดี๋ยวโดนฆ่าๆ อยู่อย่างนี้ ก็คงจะโดนฆ่าตลอดไป ก็เอาเงินที่ท่านทั้งหลายให้ในวันเกิดปีที่แล้วสร้างศูนย์ครู... "
เป็นความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2551 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงห่วงใย "ครู" ผู้เสียสละปฏิบัติหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับเด็กๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางเงาทะมึนแห่งความรุนแรง
ผ่านมา 4 ปีเศษ...ครูยังคงถูกทำร้าย ล่าสุดคือเหตุสลดที่คนร้ายบุกเข้าไปยิงครูถึงในโรงเรียนบ้านบาโง อ.มายอ จ.ปัตตานี ทำให้แนวคิดการหาที่พักสำหรับครู เพื่อให้ครูได้พักอยู่รวมกัน อย่างน้อยก็ในห้วงเวลาวิกฤติ เพื่อให้ง่ายต่อการรักษาความปลอดภัย ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดจากหลายฝ่าย โดยมี "ศูนย์ครูใต้" เป็นดั่งโครงการนำร่องให้เดินตามรอยพระยุคลบาท
"ศูนย์ครูใต้จังหวัดปัตตานี" ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริ ที่บ้านน้ำดำ หมู่ 3 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เนื้อที่รวม 220 ไร่ ปัจจุบันสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีบ้านพักครูครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และ 1 ที่จอดรถ พร้อมเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ปลูกเรียงกันเป็นแถวตามแนวคลองชลประทานทั้งหมด 150 หลัง มีร้านค้า ร้านเสริมสวย โรงยิมสำหรับออกกำลังกาย ห้องสมุด และอินเตอร์เน็ตพร้อมห้องฝึกภาษาถึง 7 ภาษา
ที่สำคัญยังมีโรงเรียนพระราชดำริศูนย์ครูใต้ฯ เปิดการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 สำหรับเด็กๆ ในละแวก อ.หนองจิก โดยรับโอนครูส่วนหนึ่งมาจากครูที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเดิมด้วย
พ.อ.ณรงค์กร พุทธสงกรานต์ ผู้อำนวยการศูนย์ครูใต้ฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดศูนย์ฯเมื่อปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีครูจากทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน รวมทั้งครอบครัวของครูมาพักอยู่ 35 ครอบครัว จึงยังมีบ้านว่างอีกเยอะสำหรับรองรับครูที่รู้สึกไม่ปลอดภัย
สำหรับการมาตรการ รปภ.ที่ศูนย์ครูใต้ฯนั้น พ.อ.ณรงค์กร บอกว่า มีถึง 4 ชั้น คือ รอบนอกเป็นพื้นที่รับผิดชอบของทหารราบ คอยลาดตระเวนดูแลเส้นทางและจุดเสี่ยงต่างๆ รอบกลางในพื้นที่ของศูนย์ครูใต้ฯ ก็จะมีกองร้อยทหารพรานรับผิดชอบตรวจตรา ส่วนรอบในเป็นอาสารักษาดินแดน (อส.) และยังมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) คอยเสริมอีกชั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ดี พ.อ.ณรงค์กร ยอมรับว่า ยังไม่มีมาตรการจัดชุดรักษาความปลอดภัยครู (ชุด รปภ.ครู) เพื่อพาไปส่งที่โรงเรียน เพราะครูยังมีจำนวนน้อย ปัจจุบันใช้วิธีลาดตระเวนเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่เจ้าหน้าที่แนะนำให้ใช้เดินทาง คือออกด้านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 การันตีว่ายังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงเลย
"ในจำนวนครู 35 ราย ส่วนใหญ่เป็นครูที่สอนอยู่ในพื้นที่ อ.หนองจิก อยู่แล้ว แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่สอนอยู่ใน จ.ยะลา ทุกวันนี้ก็เดินทางกันเอง แต่หากมีครูมาอยู่มากขึ้น การ รปภ.ก็จะง่าย และจะกำหนดแผน รปภ.ใหม่ร่วมกับกองกำลังที่รับผิดชอบพื้นที่ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยอาจจัดเป็นกองกำลังไปส่งครู เหมือนรถนักเรียนไปรับส่งนักเรียน" พ.อ.ณรงค์กร ระบุ
ผู้อำนวยการศูนย์ครูใต้ฯ กล่าวด้วยว่า อยากเชิญชวนครูทุกคนไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม หากไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทางศูนย์ฯก็ยินดีต้อนรับ เพราะตั้งแต่เปิดศูนย์ครูใต้ฯ เมื่อปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงขึ้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
"ผมเชื่อว่าการสร้างศูนย์ครูใต้ฯ เป็นคำตอบของปัญหาครูถูกลอบทำร้าย ทราบว่าขณะนี้ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็เดินหน้าจัดทำโครงการก่อสร้างศูนย์ครูใต้ที่ จ.นราธิวาส และยะลาแล้ว โดยเฉพาะที่ จ.ยะลา คืบหน้าไปมาก" พ.อ.ณรงค์กร ระบุ
ด้าน ครูเสริม ยอดรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพระราชดำริศูนย์ครูใต้จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2552 เดิมมีนักเรียน 23 คน ปัจจุบันมีนักเรียน 60 คน ในจำนวนนี้มีเด็กมุสลิม 4 คน การมีศูนย์ครูใต้ฯทำให้ครูรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และเริ่มมีครูขอย้ายเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ครูนาฎลดา เดชอรัญ ครูโรงเรียนบ้านคลองช้าง อ.หนองจิก ซึ่งเพิ่งย้ายมาพำนักอยู่ในศูนย์ครูใต้ฯ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า การได้อาศัยในศูนย์ครูฯ ซึ่งมีบ้านและมีเจ้าหน้าที่คอยคุ้มครองดูแล ทำให้มั่นใจในความปลอดภัย การเดินทางไป-กลับก็สะดวก เพราะมีทหารประจำการตลอดเส้นทาง จึงอยากให้มีการสร้างศูนย์ครูฯลักษณะเดียวกันนี้ในจังหวัดอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลความปลอดภัย
"ฉันไม่เข้าใจคนที่ก่อเหตุรุนแรงว่าพุ่งเป้าทำร้ายครูทำไม เพราะครูคือผู้ให้ความรู้และพัฒนาชีวิตเด็กๆ และเยาวชน เมื่อทำร้ายครู โรงเรียนก็ต้องปิดการเรียนการสอน ผลกระทบก็เกิดกับเด็กที่ต้องหยุดเรียนตามไปด้วย โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.6 ที่ต้องสอบเข้าเรียนต่อในชั้น ม.1 ทำให้ช่วงนี้ครูหลายคนต้องนัดเด็กไปติวพิเศษที่บ้าน จึงอยากให้ช่วยกันดูแลครูมากกว่าทำร้ายครู"
ขณะที่ ครูบุณณดา รักจันทร์ ซึ่งเคยสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านน้ำดำ อ.หนองจิก แต่ไม่มั่นใจในความปลอดภัย จึงขอย้ายเข้าไปพำนักและสอนหนังสือในศูนย์ครูใต้ฯ กล่าวว่า ความรู้สึกของครูหากให้เทียบระหว่างอดีตกับปัจจุบันต้องยอมรับว่าแตกต่างกันมาก ในอดีตครูระแวงภัยเฉพาะช่วงเวลาเดินทาง ตอนเช้าเมื่อไปถึงโรงเรียนก็โล่งใจ ตกเย็นถ้ากลับถึงบ้านได้ก็บอกกับตัวเองว่ารอดมาอีกวันหนึ่งแล้ว แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น เพราะแม้แต่อยู่ในโรงเรียนก็ไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีคนร้ายบุกยิงครูถึงในโรงเรียน
"รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ครูใต้ฯ ทั้งพักอาศัยและสอนหนังสืออยู่ที่นี่ เพราะมั่นใจเรื่องความปลอดภัยมาก แม้จะยังมีช่วงที่ต้องระวังตัวมากเป็นพิเศษคือช่วงเวลาที่ต้องออกไปทำธุระส่วนตัวข้างนอก ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ แต่ก็ยังน้อยกว่าเพื่อนครูในพื้นที่อื่นๆ" ครูบุณณดา กล่าว
และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวดีๆ ของโครงการพระราชดำริศูนย์ครูใต้จังหวัดปัตตานี อีกหนึ่งความหวังรักษาชีวิตครูที่ปลายด้ามขวาน!
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ศูนย์ครูใต้จังหวัดปัตตานี
2 พ.อ.ณรงค์กร
3 ครูเสริม
4 ครูนาฎลดา
5 โรงเรียนพระราชดำริ "ศูนย์ครูใต้" จังหวัดปัตตานี (ภาพทั้งหมดโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)