บันทึกวันแม่...เจาะชีวิต "โต๊ะบีแด" หมอตำแยที่ชายแดนใต้
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
คำว่า “เมาะ” ในภาษามลายูถิ่นของพี่น้องไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหมายว่า “แม่ผู้ให้กำเนิดลูกๆ” ฉะนั้นการที่ เจ๊ะซง ลาเต๊ะ หญิงชราวัย 70 ปีแห่งบ้านกาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา ถูกชาวบ้านกว่าค่อนหมู่บ้านเรียกขานว่า “เมาะซง” นั้น จึงเท่ากับเป็นการยกย่องให้เกียรตินางว่าเป็นเสมือนแม่คนที่สองของพวกเขาเลยทีเดียว
สาเหตุที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกเจ๊ะซงว่า “เมาะ” หรือ “แม่” นำหน้าชื่อนั้น มาจากการที่นางมีส่วนช่วยให้กำเนิดสมาชิกใหม่ของชุมชน ซึ่งภาษามลายูถิ่นเรียกว่า “โต๊ะบีแด” แปลว่า “หมอตำแย” หรือหมอทำคลอดพื้นบ้านนั่นเอง
"คนไหนที่เรียกฉันว่าเมาะซง จะเป็นคนที่ฉันทำคลอดให้ ตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่เป็นโต๊ะบีแดมา ฉันทำคลอดเด็กในหมู่บ้านมาแล้วหลายร้อยคน เท่าที่จำได้ไม่ต่ำกว่า 300 คนแน่นอน" เจ๊ะซงเริ่มเล่าด้วยภาษามลายูถิ่น
นางยังย้อนอดีตถึงเส้นทางของการเป็นโต๊ะบีแดประจำหมู่บ้านว่า เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยโต๊ะบีแดเมื่ออายุได้ประมาณ 25-26 ปีเท่านั้น
“ตอนแรกฉันยังไม่ได้เป็นโต๊ะบีแดเต็มตัว แต่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยโต๊ะบีแดก่อน ทำให้ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องการทำคลอด ฉันเป็นผู้ช่วยโต๊ะบีแดอยู่นานประมาณ 10 ปี จึงมีความรู้เพียงพอและเริ่มเป็นโต๊ะบีแดตั้งแต่นั้น เพราะสามารถทำคลอดได้เอง”
“โต๊ะบีแดต้องมีความรู้ทุกๆ อย่างเกี่ยวกับเรื่องการทำคลอดเด็ก ต้องดูท้องของแม่เป็น รู้ว่าเด็กอยู่ในท่าไหน เมื่อทำคลอดออกมาจะได้ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด” เมาะซง กล่าว
การทำหน้าที่เป็น “โต๊ะบีแด” เปรียบเสมือนผู้กำหนดชะตาของทารกที่จะเกิดมาว่าปลอดภัยหรือไม่ ทำให้ เจ๊ะซง ให้ความสำคัญและตั้งใจกับการทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด
“ทุกครั้งที่ฉันทำคลอด หญิงที่มาให้ทำคลอดส่วนใหญ่ไว้วางใจฉันมาก ทุกอย่างจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ทุกครั้งที่มีหญิงท้องแก่มาคลอดลูกกับฉัน พวกเขาจะเบ่งลูก ฉันจะคอยให้กำลังใจและคอยเบ่งไปกับเขาด้วยเสมอ เหมือนกับเบ่งเองเลย เมื่อเด็กคลอดออกมาได้ด้วยดี ฉันรู้สึกดีใจไม่ต่างจากพ่อกับแม่ของเด็กคนนั้น” เจ๊ะซงอธิบายความรู้สึก
ถึงแม้ชีวิตใหม่จะลืมตาขึ้นดูโลกกว้างแล้ว แต่หน้าที่ของโต๊ะบีแดยังไม่จบ เพราะยังต้องคอยดูแลให้คำแนะนำหญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ ต่อไปอีกด้วย
“หลังคลอดลูกแล้ว แม่ของเด็กต้องอยู่ไฟไปอีก 4-5 วันเพื่อพักพื้นร่างกาย ตรงนี้ฉันก็จะมาช่วยดูแลทั้งแม่และลูก รวมไปถึงให้คำแนะนำแม่มือใหม่ให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้ ถึงจะเรียกว่าทำหน้าที่ได้อย่างเสร็จสมบูรณ์”
และแม้ว่า “โต๊ะบีแด” จะถือเป็นวิชาการทำคลอดแบบโบราณที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนในสังคมมลายูมุสลิม กระทั่งปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่กระจายเข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศแล้วก็ตาม แต่ “โต๊ะบีแด” ก็ยังคงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านอยู่นั่นเอง
“ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงเชื่อถือและให้โต๊ะบีแดทำคลอดให้ เพราะแม่บางคนก็เกิดมาจากการทำคลอดของโต๊ะบีแด เมื่อตัวเองเป็นแม่ก็อยากให้ลูกคลอดกับโต๊ะบีแดเหมือนกัน อย่างบางครอบครัวฉันทำคลอดให้จนถึงรุ่นหลานเลย ทั้งครอบครัวก็เลยมีความเชื่อมั่นว่าเป็นการทำคลอดที่ปลอดภัย”
“ถึงจะเป็นการทำคลอดแผนโบราณ แต่ฉันก็ได้รับการอบรมจากทางหน่วยงานสาธารณสุขอย่างถูกต้องในเรื่องสุขอนามัย หลังทำคลอดเสร็จจะต้องวัดตัวเด็ก ชั่งน้ำหนัก จดวันเดือนปีเกิดให้ได้ข้อมูลครบ เพื่อไปแจ้งเกิดกับทางทะเบียนราษฎรด้วย”
เจ๊ะซง เล่าว่า การทำคลอดของนางที่ผ่านมาร่วมๆ 40 ปี มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่สุดความสามารถจริงๆ ที่จะเอาเด็กออกมาได้ เนื่องจากเด็กอยู่ผิดท่า จึงต้องส่งตัวไปโรงพยาบาล ส่วนที่เหลืออีกมากกว่า 300 คน ผ่านไปได้ด้วยดีทุกครั้ง
“ฉันจะจำเด็กๆ ในหมู่บ้านที่ฉันทำคลอดให้ได้ทุกคน บางคนก็ยังพบเจอกันอยู่บ่อยๆ บางคนก็ได้ทราบข่าวคราวว่ามีหน้าที่การงานดีๆ เป็นข้าราชการ ฉันก็รู้สึกดีใจกับเด็กๆ เหล่านั้นด้วย” เจ๊ะซง แง้มความรู้สึกจากก้นบึ้งของหัวใจแม่คนที่สอง
ด้านความรู้สึกของผู้เป็นแม่ ฟาต๊ะอียะห์ อาแด วัย 39 ปี ซึ่งไว้วางใจให้เจ๊ะซงทำคลอดลูกๆ มาถึง 4 คน บอกว่า ครั้งแรกที่ให้เจ๊ะซงทำคลอด คือตอนตั้งท้องลูกคนแรกเมื่อ 17 ปีที่แล้ว รู้สึกกลัวที่จะไปคลอดที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังเชื่อถือการทำคลอดแบบโบราณ จึงเลือกคลอดลูกกับโต๊ะบีแด เมื่อลูกคนแรกคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์ปลอดภัย เมื่อตั้งท้องคนถัดมาจึงเลือกใช้บริการโต๊ะบีแดมาตลอด
“การทำคลอดกับโต๊ะบีแด สามารถทำคลอดที่บ้านได้เลย ทำให้รู้สึกอุ่นใจกว่าไปนอนที่โรงพยาบาล อีกทั้งสมัยก่อนนั้นไม่รู้ว่าค่าคลอดลูกต้องเสียเงินเท่าไหร่ แต่คลอดกับโต๊ะบิแดไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะค่าตอบแทนที่มอบให้โต๊ะบิแดแล้วแต่กำลังของแต่ละครอบครัวเท่าที่พอจะมีให้ได้ บางรายให้เงินใส่ในถ้วยเป็นเหมือนค่าครู 3 ถ้วย ถ้วยละ 12 บาท โต๊ะบีแดก็ไม่เคยว่าอะไร” ฟาต๊ะอียะห์ กล่าว
ระหว่างการพูดคุย ฟาต๊ะอียะห์ หันไปหยิบภาพถ่ายที่ถ่ายเก็บเอาไว้ในวันที่คลอดลูกสาวคนเล็ก ด.ญ.อะห์ลาน อาแด ซึ่งขณะนี้อายุได้ 3 ขวบ แล้วถือให้ลูกสาวดู เมื่อถามลูกว่าหญิงชราในรูปเป็นใคร ด.ญ.อะห์ลาน ตอบทันทีว่า “เมาะซง”
“ฉันรู้สึกผูกพันกับเจ๊ะซง เหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งในครอบครัว เจ๊ะซงทำคลอดลูกให้ฉันมาแล้วถึง 4 คน ลูกๆ ของฉันทุกคนจะเรียกเจ๊ะซงว่าเมาะซงเหมือนเป็นแม่อีกคนของพวกเขา ซึ่งหลายๆ คนที่ผ่านการทำคลอดจากเจ๊ะซงก็จะเรียก เมาะซงทุกคน เพื่อให้เกียรติเจ๊ะซง” ฟาต๊ะอียะห์ บอก
ความรู้สึกของคุณแม่วัย 39 ไม่ต่างอะไรกับคุณแม่ยังสาวอย่าง ซาการียะ เล๊ะอะ วัย 25 ปีซึ่งใช้บริการเจ๊ะซงเช่นกัน
“เมาะซงเป็นเหมือนแม่ของฉัน และแม่ของลูกสาวฉัน เพราะทั้งฉันและลูกสาวต่างได้รับการทำคลอดจากเจ๊ะซง” ซาการียะกล่าวถึงตัวเองและ ด.ญ.นรูฮาฟาฐี ลูกสาววัย 7 เดือนที่อยู่ในอ้อมแขน
หากนับตามศักดิ์แล้ว เจ๊ะซงเป็นยายของซาการียะ เพราะซาการียะเป็นลูกของลูกสาวแท้ๆ ของเจ๊ะซง แต่เธอกลับเรียกเจ๊ะซงว่า “เมาะซง” เหมือนคนอื่นๆ ในชุมชนที่ผ่านการทำคลอดจากเจ๊ะซง
ด้วยความรู้สึกทั้งรักทั้งผูกพัน จากการที่ เจ๊ะซง เป็นยายและยังเป็นแม่คนที่สอง ทำให้ ซาการียะ เป็นห่วงสุขภาพของโต๊ะบีแดวัย 70 อย่างมาก
“ทุกวันนี้เมาะซงอายุมากแล้ว นอกจากจะเป็นโต๊ะบีแด เมาะซงยังออกไปทำสวนยาง ทุกคนจึงเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของเมาะซง อยากให้เมาะซงได้พักผ่อนอยู่กับบ้าน ไม่อยากให้ออกไปทำสวน ส่วนการทำหน้าที่โต๊ะบีแดนั้น เมาะซงเคยบอกเอาไว้เสมอว่า จะเป็นโต๊ะบีแดไปจนไม่มีเรี่ยวแรงจะทำ เพราะเมาะซงมีความสุขทุกครั้งที่ได้มีส่วนช่วยทำคลอดเด็กๆ ให้ได้เกิดออกมาอย่างปลอดภัย” ซาการียา กล่าว
เรื่องราวของ “เจ๊ะซง” โต๊ะบีแดแห่งบ้านกาตอง คืออีกหนึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนที่แม้จะไม่ได้เกี่ยวพันกันทางสายเลือดโดยตรง แต่ก็เชื่อมร้อยหัวใจกันเสมือนหนึ่งเป็น “แม่กับลูก” จริงๆ ได้ เพราะการทำหน้าที่ของโต๊ะบีแด...
-------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เมาะซง
2 ด.ญ.อะห์ลาน อาแด ซึ่งเมาะซงทำคลอดเมื่อ 3 ปีก่อน
3 ฟาต๊ะอียะห์ อาแด หยิบรูปที่ถ่ายเก็บไว้ในวันคลอดอะห์ลานให้ดู
4 เมาะซงอุ้ม ด.ญ.นรูฮาฟาฐี ซึ่งเป็นเหลนของนาง เพราะซาการียะแม่ของเด็กมีศักดิ์เป็นหลาน และทั้งคู่ผ่านการทำคลอดจากโต๊ะบีแด