นักศึกษาบรูไนที่ชายแดนใต้....ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากบ้านเกิด
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย นักศึกษาจากประเทศบรูไนดารุสลามได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้ในบ้านเกิด โดยเฉพาะการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมอันมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งแทบไม่มีดินแดนอื่นใดเสมอเหมือน
พวกเขาและเธอในวัยหนุ่มสาวเลือกเดินทางเยือนปัตตานีด้วยความสมัครใจเพื่อให้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษและภาษามลายูแก่น้องๆ ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแต่เพียง “ผู้ให้” เท่านั้น ทว่ายัง “ได้รับ” น้ำจิตน้ำใจ และมิตรภาพคืนกลับไปจากผู้คนที่ปลายด้ามขวานด้วย
นักศึกษากลุ่มนี้มี 10 คน มาจากมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสลาม (Universiti Brunei Darussalam – UBD) มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และใหญ่โตที่สุดของประเทศบรูไน พวกเขากำลังศึกษาในชั้นปีที่ 3 และ 4 แต่ละคนสมัครใจเข้าร่วมโครงการ Community Service (บริการชุมชน) ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสลาม กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชุมชนโดยการสอนภาษาอังกฤษและภาษามลายูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสตรีพัฒนศึกษา โรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ โรงเรียนอามานะศักดิ์ และโรงเรียนสาธิต ม.อ.ปัตตานี
พวกเขาเก็บกระเป๋าเดินทางมาที่ชายแดนใต้โดยใช้ทุนส่วนตัว และปักหลักอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.ถึง 9 ก.ค.ที่ผ่านมา แม้มหาวิทยาลัยของพวกเขาจะไม่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัย แต่สิ่งที่พวกเขาปรารถนายิ่งใหญ่มากกว่านั้น...นั่นคือการได้บำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมตามที่ตนเองใฝ่ฝัน และได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป
อาซีมะห์, โนรัยมะห์, มูฮัมหมัด, ฟีนา และอัสรี คือนักศึกษา 5 คนที่ได้พูดคุยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงการตัดสินใจมาค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต
อาซีมะห์ บอกว่า ตอนแรกรู้สึกกลัวอยู่เหมือนกัน เพราะเรื่องราวจากชายแดนภาคใต้ของไทยที่รับรู้ผ่านสื่อคือประเด็นความขัดแย้ง การลอบยิงและวางระเบิด แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้อยากรู้ข้อเท็จจริงว่าความจริงในพื้นที่เป็นอย่างที่สื่อรายงานหรือไม่ เมื่อทางมหาวิทยาลัยให้เลือกระหว่างการฝึกวิชาชีพในบรูไนกับการเข้าร่วมโครงการนี้ พวกเธอทั้งหมดจึงเลือกประเทศไทย
"ยอมรับว่าแรกๆ ก็รู้สึกกลัว แต่เมื่อได้มาเห็นวิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามปกติของผู้คนที่นี่ ก็ไม่รู้สึกหวาดหวั่นอีกเลย" อาซีมะห์ บอก พร้อมขยายความต่อ
"ก่อนเดินทางมาก็ได้รับรู้ข่าวสาร ทั้งเรื่องระเบิดและคาร์บอมบ์ แต่ก็ไม่ได้กลัวอะไรมากมาย เพราะทุกอย่างเรามอบแด่อัลลอฮ์ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เมื่อได้มาจริงๆ ได้เห็นชีวิตของมุสลิมในปัตตานี หญิงมุสลิมคลุมฮิญาบ ขายของ เห็นเด็กๆ รู้จักช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน จึงรู้สึกประทับใจ"
ด้วยความเป็นพลเมืองบรูไนที่จัดเป็นประเทศมั่งคั่ง เพราะมีทรัพย์ในดินคือน้ำมัน รัฐบาลจึงดูแลประชากรในประเทศเป็นอย่างดี และมีสวัสดิการมากมาย นักศึกษากลุ่มนี้เองก็มาจากครอบครัวฐานะปานกลางที่มีพ่อแม่คอยดูแล และนี่คือความแตกต่างที่พวกเขาและเธอได้สัมผัสที่ชายแดนใต้
“ที่นี่แม้แต่เงินสิบบาทก็มีค่า ต่างจากบรูไนที่ประชาชนจะได้รับสวัสดิการจากรัฐทุกด้าน ทำให้พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างตามใจ ส่วนเด็กชายแดนใต้ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ทำให้มีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็มีความคิดสร้างสรรค์ และมีศิลปะในตัวเอง เสียแต่ว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจ ไม่กล้าพูดหรือแสดงออกมากนัก” อาซีมะห์ กล่าว
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อพี่น้องชายแดนใต้ หนุ่มสาวจากบรูไนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ประทับใจในอัธยาศัยไมตรีและน้ำจิตน้ำใจของผู้คน ทุกๆ ที่ที่เดินทางไปสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรและการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ทั้งในโรงเรียน ในชุมชน หรือแม้แต่ในเขตเมือง ยิ่งไปกว่านั้นในวันสุดท้ายของการเรียนการสอน พวกเขายังได้รับของขวัญจากนักเรียนที่นำมามอบให้คนละถุงสองถุง ยิ่งทำให้ไม่อยากแม้แต่จะเอ่ยคำลา
“พวกเราทุกคนเปลี่ยนทัศนคติไปเลย จากที่เคยคิดว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนต้องห้าม พวกเรากลับคิดว่าที่นี่เป็นดินแดนปกติ สวยงาม และน่าอยู่ เราได้เรียนรู้ภาษาไทยและการทำอาหารไทย รู้จักชีวิตของพี่น้องในชนบท เรียนรู้ทักษะชีวิตและได้รับผิดชอบชีวิตตัวเอง หากมีโอกาสจะกลับมาเยือนชายแดนใต้อีกแน่นอน และเมื่อกลับไปบรูไนก็จะไปบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ที่ชายแดนใต้ให้ทุกคนได้รับรู้” เป็นเสียงจากกลุ่มนักศึกษาบรูไนก่อนจากลา
ผศ.อาริน สะอีดี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ม.อ.ปัตตานี ผู้ดูแลโครงการนี้ กล่าวว่า นักศึกษาจากบรูไนตั้งใจที่จะมาแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนคติกับนักเรียนและครูอาจารย์ในพื้นที่ ทั้งเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม ประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิต อยากให้นักศึกษาในชายแดนใต้ได้หาโอกาสเติมเต็มชีวิตแบบนี้บ้าง...
โดยเฉพาะการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งทำได้มากมายในวัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียน.
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-2 นักศึกษาบรูไนที่เดินทางมาค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ชายแดนใต้