อ่าน ‘โดเรมอน’ ผ่านสายตาผู้ใหญ่ คิดไกลกว่าแค่การ์ตูน
เมื่อพูดถึงการ์ตูน “โดราเอมอน” หรือ “โดเรมอน” ที่เรียกกันจนคุ้นปาก เรียกได้ว่า วัยรุ่นไทยไปจนถึงคนวัยทำงานแทบจะทุกคนคงเคยอ่าน ชม หรืออย่างน้อยก็เคยได้ยินชื่อเป็นแน่ ไม่ใช่แค่คนไทย แต่โดเรมอนยังเป็นการ์ตูนระดับ “ตำนาน” ของโลกที่ยังคงมีชีวิต..
แม้ผู้เขียน “ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ” (Hiroshi Fujimoto) และ “อาบิโกะ โมโตโอะ” (Motoo Abiko) จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบัน ผู้อ่านโดเรมอนหลากหลายมาก มีทุกเพศ และทุกช่วงอายุ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีมุมมองต่อเรื่องของของการ์ตูนเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป
นี่จึงเป็นที่มาของงานเสวนาในหัวข้อ “Rereading Doraemon through the eyes of grown-ups" (ย้อนอ่านโดราเอมอนกันดูไหม?) จัดโดย ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ และ ชมรมสนทนาภาษาสิงห์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมีวิทยากรเข้าร่วม 3 ท่าน ได้แก่ นายเอกวีร์ มีสุข นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายภูมิ น้ำวล นักวิชาการและบรรณาธิการอิสระ และนายเสกสรร อานันทศิริเกียรติ จากศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาฯ ดำเนินรายการโดย นายวรพจน์ ทีปจิรังกูล อดีตประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ
นายเอกวีร์ เล่าถึงที่มาที่ไปของการ์ตูน “โดเรมอน” ว่า รูปลักษณ์ของตัวโดเรมอนนั้นเกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ เนื่องจาก ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ หนึ่งในผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “แมว” และ ”ตุ๊กตาล้มลุก” ซึ่งก่อนหน้านั้นได้วาดตัวโนบิตะรอไว้นานแล้ว เมื่อปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวได้สำเร็จก็นำออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1970 ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น
นิสิตปริญญาโทผู้ชื่นชอบโดเรมอน อธิบายว่า สาเหตุที่โดเรมอน รวมถึงการ์ตูนหลายๆ เรื่อง “บูม” มากในญี่ปุ่นช่วงนั้น อาจเนื่องมาจากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโดอย่างมากในยุค 70s-80s ทำให้คนญี่ปุ่นหันมาเสพการ์ตูนกันมากจนวัฒนธรรมการ์ตูนซึมซับไปจนถึงชั้นรากหญ้าในที่สุดอย่างเช่นปัจจุบัน
หลังจากนั้นไม่นาน ญี่ปุ่นก็ได้ส่งออกโดเรมอนในฐานะ “สินค้าวัฒนธรรม” กระทั่งกลายเป็นสินค้าเพียงไม่กี่ชนิดที่ประเทศในเอเชียอาคเนย์ไม่ต่อต้าน (เพราะหลายประเทศในเอเชียอาคเนย์รวมทั้งไทย เคยถูกญี่ปุ่นรุกรานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ด้วยมีองค์ประกอบที่ทำให้คนเอเชียเข้าถึงได้ง่าย 4 ประการ ได้แก่
1.ความเจ็บปวดจากสงครามคลี่คลายลงไปในระดับหนึ่งแล้ว
2.โดเรมอนมีความเป็น Soft Power อยู่ในตัว
3.การละเมิดลิขสิทธิ์โดเรมอนในหลายๆ ประเทศ ทำให้คนยิ่งเข้าถึงได้มากขึ้น
4.การแปลที่มีลักษณะ Localization เช่น คนฮ่องกงเรียกโดเรมอนว่า “ดิงดอง” คนจีนเรียกโนบิตะว่า “ต้าฉง” เป็นต้น
นอกจากละแวกเอเชียแล้ว โดเรมอนยังได้รับความนิยมอย่างมากในแถบยุโรปใต้และละตินอเมริกา ส่วนในวัฒนธรรมแบบ Anglo-Saxon แถบอังกฤษและอเมริกาเหนือกลับไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะมีวัฒนธรรมที่ต่างกันมากเกินไป
บทบาทตัวละครแบบมาร์กซิสม์
และหากจะให้อดีตประธานชมรมวรรณศิลป์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการและบรรณาธิการอิสระอย่าง "ภูมิ น้ำวล" จัดประเภทหรือ Genre ให้โดเรมอนแล้วล่ะก็
เขาบอกว่า คงหนีไม่พ้นการเป็นการ์ตูนประเภท “แฟนตาซี” อย่างแน่นอน พร้อมกับแยกประเภทแฟนตาซีออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ แฟนตาซีโลกต่าง แฟนตาซีโลกเสมือน และ แฟนตาซีระหว่างโลก ซึ่งหากมองลึกลงไปจะพบว่า โดเรมอนเป็น “แฟนตาซีโลกเสมือน” คือ ตัวเนื้อเรื่องเป็นมายาคติอย่างหนึ่งที่ทำให้เรา (ผู้อ่าน) มองชีวิตประจำวันของตัวเองเปลี่ยนไปในช่วงเวลาที่อ่าน อาทิ มองประโยชน์ใช้สอยของลิ้นชักเปลี่ยนไป เป็นต้น
“โดเรมอนเป็นศิลปะที่เหมือนอยู่ในร่างทรงของอะไรบางอย่าง” นายภูมิ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังถ่ายทอดแนวทางการอ่านโดเรมอนแบบ “มาร์กซิสม์” (Marxism) ไว้อย่างน่าสนใจว่า ตัวละครแต่ละตัวในโดเรมอนนั้นแฝงไปด้วยองค์ประกอบที่เป็นตัวแทนชนชั้นต่างๆ ในสังคมตามแนวคิดใน Communist Manifesto ที่ว่า “ประวัติศาสตร์ของมนุษย์คือการต่อสู้ระหว่างชนชั้น” ของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ได้อย่างชัดเจน ดังนี้
เป็นร่างทรงของผู้เขียนทั้งสองคนเอง คือเป็น “คนชั้นกลางใหม่” มีพ่อทำงานบริษัท ส่วนแม่ลาออกมาเป็นแม่บ้านตามขนบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชนชั้นที่ปะทะกับตัวละครอย่าง ซูเนโอะ และ ไจแอนท์
-ซูเนโอะ :
เป็นตัวแทนของชนชั้นกลางเก่า หรือชนชั้น “นายทุน” ที่มีฐานะดี มีชีวิตที่สุขสบาย และสามารถชี้เป็นชี้ตายคนระดับต่ำกว่าได้ด้วยเงิน
-ไจแอนท์ :
เป็นตัวแทนของชนชั้น “กรรมกร” โดยจะเห็นว่า ที่แม่ไจแอนท์เปิดร้านขายของ พ่อทำงานก่อสร้าง และไจแอนท์เองเป็นคนมีพละกำลังมาก แต่ไม่มีความรู้ เวลาโกรธทุกคนมักจะต้องกลัว
-ชิซุกะ :
เป็นตัวละครแบบ “ชนชั้นสูง” หรือกลางค่อนข้างสูง เห็นได้จากการที่ชิซุกะเป็นคนเรียบร้อย พูดจาไพเราะแบบชาววัง นอกจากนี้ นามสกุล “มินาโมโตะ” ของชิซุกะยังพ้องกับสกุลของนักรบผู้สถาปนาระบอบโชกุนในญี่ปุ่นเมื่อปี 1735 อีกด้วย
-โดเรมอน :
เป็นตัวแทนของระบบทุนนิยม กล่าวคือ การที่โนบิตะมีโดเรมอนเข้ามาช่วยเหลือทำให้สมหวังจนได้แต่งงานกับชิซุกะในอนาคตนั้นแฝงนัยยะของการกระตุ้นให้ชนชั้นกลางต้องพัฒนาตัวเองไปตามระบบทุนนิยมสมัยใหม่นั่นเอง เพียงแต่โดเรมอนไม่ใช่ทุนนิยมแบบกดขี่อย่างนายทุนแบบซูเนโอะ
...หากแต่เป็น “ทุนนิยมมีหัวใจ” คือ เป็นมิตรกับคน มีของวิเศษที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และทำให้การบริโภคดูเป็นสิ่งสวยงาม
นอกจากนี้ ในเนื้อเรื่องของโดเรมอนตอนที่เล่าว่า หากโนบิตะไม่เจอโดเรมอน ในอนาคตจะต้องแต่งงานและกลายเป็นทาสของ “ไจโกะ” น้องสาวของไจแอนท์นั้น ก็เป็นการแฝงนัยยะว่า ชนชั้นกลางย่อมแพ้พ่ายต่อชนชั้นกรรมาชีพหากไม่มีทุนนิยมแบบโดเรมอนเข้ามาช่วยไว้นั่นเอง
ภาพสะท้อนญี่ปุ่น ไม่เลือกข้าง หนีความขัดแย้ง
ด้าน นายเสกสรร อานันทศิริเกียรติ มีมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนแมวหุ่นยนต์ชื่อกระฉ่อนโลกเรื่องนี้
"ในช่วงที่โดเรมอนเริ่มโด่งดังตรงกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดความแตกแยกลึกๆ อยู่ในสังคมญี่ปุ่น ด้านหนึ่ง คือ มีการรับเอาระบบสังคมแบบอเมริกันมาใช้ มีการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน สร้างโตเกียวทาวเวอร์อันเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังของคนญี่ปุ่นให้มองไปข้างหน้า ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งกลับเป็นกระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้มีการนำระบบจักรพรรดิมาใช้อีกครั้ง"
นักวิชาการจากศูนย์อาเซียนศึกษา ลองจินตนาการจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ พร้อมกับเชื่อว่า
"มีความเป็นไปได้ที่คนญี่ปุ่นในยุดนั้นจะเบื่อการเมือง ดังนั้น บทบาทที่โดเรมอนเลือก คือ การไม่เลือกข้าง และวางเรื่องราวให้ดูกลางๆ ระหว่างสองขั้วแนวคิดนั้น ที่สำคัญ คือ การนำผู้อ่านหลีกหนีความขัดแย้งภายในและสงครามเย็นภายนอก เพื่อกลับเข้าสู่วัยเด็กอันบริสุทธิ์อีกครั้ง
ตอนจบทุกตอนของโดเรมอนก็จะจบแบบ “สันติ” คือ ไม่รุนแรงจนมีคนตาย คนญี่ปุ่นที่เบื่อการเมืองจึงมักมีโดเรมอนเป็นหนึ่งในที่พึ่งที่สำคัญ"
นายเสกสรร ยังตั้งข้อสังเกต เมื่อเทียบกับสังคมญี่ปุ่นแล้ว โดเรมอนกับสังคมไทยไม่น่าจะมีบทบาทมากไปกว่าการเป็นตัวการ์ตูนที่สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และเป็นต้นแบบด้านคุณธรรมให้แก่เด็ก เพราะเท่าที่สืบค้น พบวิทยานิพนธ์ไทยที่ศึกษาเกี่ยวกับโดเรมอนเพียง 1 ชิ้น ซึ่งจัดทำโดยนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เท่านั้น
ข้อคิดเรื่องเทคโนโลยี
ขณะที่นายเอกวีร์ วิเคราะห์การ์ตูนโดเรมอนที่ยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย นั่นคือ การโยนเทคโนโลยีลงไปในกลุ่มคนที่ยังไม่พร้อมจะใช้แบบ "โนบิตะ" ก็รังแต่จะมำให้เกิดแต่ผลเสีย
นิสิตปริญญาโท ยกตัวอย่างต่อว่า หากประเทศไทยมี “ไทม์แมชชีน” ก็คงมีคนใช้ย้อนเวลาไปแก้ไขประวัติศาสตร์หรือไปฆ่านักการเมืองที่ตนไม่ชอบกันวุ่นวายดังนั้น ถึงแม้จะมีการสร้างไทม์แมชชีน หรือแม้กระทั่งของวิเศษชิ้นอื่นๆ ได้จริง ย่อมมีการปกปิดไม่ให้คนทั่วไปใช้อย่างเปิดเผยแบบในการ์ตูนอย่างแน่นอน
"การที่คนอ่านชาวไทยมองโดเรมอนเป็นแค่การ์ตูนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากเกินไปนี่เอง อาจะทำให้เกิดการหลงลืมที่จะศึกษาแง่มุมอื่นๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้ไป และอาจเป็นเหตุผลของข้อสังเกตของ นายเสกสรร ที่ว่าคนไทยศึกษาโดเรมอนน้อยก็เป็นได้"
นอกจากนี้ เขาชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่แง่มุมทางเทคโนโลยีของโดเรมอนค่อนข้างชัดเจน กลับมีผลทำให้แง่มุมทางศาสนา ”เบาบาง” ลง
กล่าวคือ ในโดเรมอนแทบจะไม่มีการกล่าวถึงหลักคำสอนทางศานาเลย ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ เซ็น หรือชินโต ซึ่งประเด็นนี้สามารถเป็นแง่คิดให้กับสังคมมนุษย์โลกในอนาคตได้ว่า เทคโนโลยีที่สูงขึ้นอาจทำให้ความเชื่อทางศาสนาอยู่ไม่ได้
อาทิ หากวันหนึ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้คนเป็นอมตะ ศานสนาก็อธิบายเรื่องนรกและสวรรค์ไม่ได้อีกต่อไป เป็นต้น
ตอกย้ำ...ขนบของผู้หญิงแบบญี่ปุ่น
นอกจากนี้ การ์ตูนโดเรมอน ก็ได้ตอกย้ำค่านิยมของผู้หญิงแบบญี่ปุ่นในสมัยนั้นที่ต้องแต่งงาน มีลูก และลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านที่ดีของสามีและครอบครัว
เราจะเห็นได้จากตัวละครแม่ของโนบิตะและแม่ของชิซูกะ
เว้นก็แต่...แม่ของไจแอนท์ที่เป็นผู้หญิงทำงาน เนื่องจากครอบครัวใจแอนท์เป็นชนชั้นกรรมาชีพนั่นเอง
ส่วนตัวชิซูกะเองที่เป็น “นางเอก” ของเรื่องนั้น ก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในเรื่องไปกว่าการเป็น “เป้าหมาย” (Object) ของโนบิตะที่ต้องการแต่งงานด้วยเท่านั้น ยกเว้นในยุคหลังๆ ที่มีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมของผู้ชายกับผู้หญิงมากขึ้น ทีมงานที่รับช่วงต่อจากผู้เขียนสองคนที่เสียชีวิตไปแล้วได้เพิ่มบทบาทให้กับตัวละครผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะโดเรมอนในภาคภาพยนตร์
โดเรมอนกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นายภูมิ ได้วิเคราะห์การ์ตูนโดเรมอนเพิ่มเติม ด้วย “ทฤษฎีจิตวิเคราะห์” ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่แบ่งระดับจิตใจของคนออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ id, ego และ super-ego
เขามองว่า ของวิเศษของโดเรมอนเป็นเหมือนสิ่งที่คอยตอบสนองความต้องการแบบเด็กๆ และไร้เหตุผลหรือ id ของโนบิตะ ส่วนตัวโดเรมอนเป็นเหมือนกับสิ่งที่คอยควบคุมไม่ให้ id ได้รับการตอบสนองตามใจชอบ ซึ่งเป็นลักษณะของ super-ego เห็นได้จาก การที่โนบิตะไม่เคยประสบความสำเร็จในการใช้ของวิเศษของโดเรมอนเลย !!
เมื่อเรียนรู้ว่าของวิเศษไม่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้จริง โนบิตะจึงต้องเรียนรู้การพึ่งพาตนเองอย่างสมดุลระหว่าง id และ super-ego หรือที่เรียกว่า “ego” นั่นเอง
ทั้งนี้ นายเสกสรร จากศูนย์อาเซียนศึกษา ชี้ให้เห็นว่า ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าอย่างไร การ์ตูนโดเรมอนจะยังคงอยู่ไปอีกนาน
“ถ้ายังได้รับการฉายต่อไปเรื่อยๆ มันก็น่าจะยังอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งต้องเลิกฉายไป โดเรมอนก็ยังอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเด็ก หาได้ตลอดเวลาโดยไม่ได้หายไป ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น” นายเสกสรร สรุปทิ้งท้าย
หลายคนที่ชื่นชอบโดเรมอนมาตั้งแต่เด็ก เมื่อลองย้อนกลับไปอ่าน ชม ดูการ์ตูนเรื่องโปรดนี้อีกครั้งก็จะพบว่า โดเรมอนที่ดูเหมือนจะเป็นการ์ตูนเบาสมองสำหรับเด็กกลับแฝงไปด้วยแง่มุมต่างๆ มากมายที่เปิดโอกาสและรอให้ผู้อ่านค้นหาได้อย่างไม่รู้จบเลยทีเดียว