ชะตาชีวิตไทยพุทธสองตายาย...เมื่อไฟใต้กระหน่ำซ้ำซากพรากชีวิตคนในครอบครัว
อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ทำร้ายทำลายชีวิตและร่างกายของผู้คนจำนวนมากเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนต่างศาสนาและวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิมก็ถูกสะบั้นลงด้วยความหวาดระแวง และคนที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือจนยากที่จะยอมรับได้ก็คือ...คนชรา
ณ บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สีขาวหน้าโรงเรียนบ้านนาเกตุ ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี คนที่สัญจรผ่านไปมาหากไม่ใช่คนในพื้นที่คงไม่รู้ว่าที่นี่คือบ้านของ ลุงอ้อน บุญมี ผู้เฒ่าวัย 82 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับ ป้าฉ่ำ บุญมี ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากวัย 72
ลุงอ้อนเป็นอดีตกำนันตำบลนาเกตุ เคยใช้ชีวิตอย่างสุขสงบกับลูกๆ หลานๆ ในอำเภอที่ว่ากันว่ามีแต่ความสมานฉันท์ของผู้คนถึง 3 วัฒนธรรม คือไทยพุทธ มุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีน
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ลูกสะใภ้ของลุงอ้อนถูกคนร้ายประกบยิงเสียชีวิตขณะออกจากบ้านไปกรีดยาง ต่อมาไม่นาน หลานชายซึ่งเป็นลูกจ้างในโครงการจ้างงานเร่งด่วนของทางการก็จากไปอีกคน เพราะถูกคนร้ายบุกสังหารถึงในบ้านซึ่งปลูกอยู่ไม่ห่างจากบ้านหลังสีขาวของลุงอ้อนที่เคยอยู่กันอย่างสงบสุขนั่นเอง
“คืนที่หลานชายถูกยิง ลุงได้ยินเสียงปืนดังกึกก้อง แต่ไม่กล้าออกไปดู กระทั่งมีคนมาบอกว่าคนที่ถูกยิงคือหลานชายของลุงเอง จำได้ว่าตอนนั้นตกใจแทบเป็นลมล้มทั้งยืน แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องพบกับความสูญเสีย เพราะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมีสมาชิกในครอบครัวถูกฆ่าไปทีละคนๆ จนเกือบจะหมดอยู่แล้ว ลุงเคยหวังว่าวันหนึ่งสถานการณ์ในพื้นที่จะกลับมาสงบเหมือนเดิม แต่มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น” ลุงอ้อนเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ความสูญเสียเที่ยวล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
ชายชราเล่าต่อด้วยเสียงแหบแห้งว่า ชีวิตของคนที่นี่ดูเหมือนไม่มีทางเลือก จะหนีก็หนีไม่ได้ เพราะไม่รู้จะหนีไปไหน...
“มีคนเคยบอกให้ลุงหนี แต่ลุงไม่ไป เพราะที่นี่คือบ้านเกิดของลุง อีกอย่างหนึ่งคือความตายนั้น อยู่ที่ไหนก็ตายถ้าถึงเวลา ฉะนั้นลุงขอตายที่บ้านเกิดดีกว่าหนีปัญหา”
กับความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกิดกับคนในครอบครัว ลุงอ้อนเผยความรู้สึกว่า หน่วยงานรัฐดูจะช่วยอะไรไม่ได้เลยนอกจากจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
“ลุงเข้าใจว่าเงินเยียวยาก็จำเป็นสำหรับหลายๆ ครอบครัว แต่สิ่งที่อยากบอกก็คือ สิ่งที่ผู้สูญเสียอย่างพวกเราต้องการมากที่สุดคือกำลังใจ ลุงอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐแวะเวียนมาถามสารทุกข์สุขดิบกันบ้าง ให้เราได้เห็นว่าแม้บ้านเมืองเกิดปัญหาแย่ขนาดไหน เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองก็ไม่ได้ทอดทิ้งเรา แต่นี่พอจ่ายเงินเยียวยาแล้วถือว่าจบกัน ไม่เคยดูแลหรือมาเยี่ยมเยียนเลยแม้แต่ครั้งเดียว” ลุงอ้อนบอก
หากเหลียวมองสภาพบ้านของลุงอ้อนที่ต่อเติมจน (เคย) โอ่โถงบนเนื้อที่ราวไร่เศษๆ ต้องเข้าใจว่าบ้านหลังนี้น่าจะเป็นครอบครัวใหญ่ มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่นับสิบคน แต่แท้ที่จริงแล้วคนที่อยู่กับลุงอ้อนและป้าฉ่ำทุกวันนี้ คือหลานสาวกับสามี และลูกสาวของหลานเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆ ถ้าไม่ตายก็ย้ายถิ่นฐานไปหมด
ที่สำคัญและเป็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งลุงอ้อนไม่อยากจะยอมรับก็คือ บ้านที่เคยปลูกเอาไว้ใหญ่โตนี้ สำหรับเตรียมต้อนรับเพื่อนบ้านทั้งไทยพุทธด้วยกันและต่างศาสนิกที่เคยแวะเวียนมาหากันไม่เว้นแต่ละวัน ทว่าปัจจุบันมีแต่ความเงียบและว่างเปล่า
“สมัยสิบปีที่แล้ว บ้านของลุงมีเพื่อนพ้องเครือญาติมาเที่ยวตลอด ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนมุสลิม เรียกว่าเฮฮากันทั้งกลางวันกลางคืน โดยเฉพาะช่วงที่มีเทศกาลหรืองานประเพณีของจังหวัดและอำเภอ แต่เดี๋ยวนี้หายไปหมด โดยเฉพาะเพื่อนมุสลิมแทบไม่เคยมาหาเลยแม้แต่คนเดียว” ลุงอ้อนบอก
ชายชราเล่าความหลังให้ฟังว่า เมื่อก่อนพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิมไม่เคยมีปัญหากัน แต่วันนี้กลับเหมือนจะบาดหมางกัน ไม่รู้ว่าทำไมหรือมีใครกำหนดให้เป็นแบบนี้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ลุงอ้อนก็ไม่เคยเชื่อว่าคนมุสลิมคือคนร้ายที่ลอบทำร้ายคนในครอบครัวครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ผู้ต้องหาที่ถูกทางการจับกุมดำเนินคดีนับร้อยนับพันคนล้วนเป็นคนมุสลิมทั้งสิ้นก็ตาม
“ลุงไม่เชื่อว่าพี่น้องมุสลิมจะฆ่าคนในครอบครัวของลุง เพราะเราอยู่ด้วยกันอย่างพี่น้อง มีอะไรแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ตลอด ที่ผ่านมาก็มีพี่น้องมุสลิมมาบอกว่าไม่อยากให้ลุงไปไหนมาไหน โดยเฉพาะไปทำสวนในที่ลับตา เพราะกลัวคนร้ายจะเข้ามาฆ่ามาทำร้าย พวกเขายังเตือนลุง มีอะไรก็ยังพูดกัน ฉะนั้นลุงไม่เคยเชื่อว่าคนอิสลามจะเป็นคนไม่ดี”
ปัจจุบันลุงอ้อนกับป้าฉ่ำชรามากจนกรีดยางเองไม่ไหว ต้องจ้างคนมาช่วยกรีด ซึ่งคนที่รับจ้างก็ล้วนเป็นพี่น้องมุสลิมที่อยู่ในละแวกเดียวกันทั้งสิ้น ฉะนั้นกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ลุงอ้อนจึงเทน้ำหนักไปที่เรื่องผลประโยชน์ ยาเสพติด และการเมืองมากกว่า
“ยาเสพติดตอนนี้มันมากเหลือเกิน ยิ่งปราบยิ่งเยอะ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ลุงเคยตั้งคำถามแบบนี้กับหลายๆ คน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่เคยมีคำตอบ”
แม้จะยังมีสวนยางพาราอยู่อีกหลายสิบไร่ และลุงอ้อนกับป้าฉ่ำก็ยังมีรายได้ถึงเดือนละหมื่นกว่าบาท ทว่ากับภาระมากมายที่ต้องแบกรับ โดยเฉพาะหลานและเหลนกำพร้าที่ทั้งคู่ต้องรับส่งเสีย ทำให้เงินที่ดูเหมือนมากกลับแทบไม่พอใช้จ่าย
ขณะที่ป้าฉ่ำเองก็สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก สามวันดีสี่วันไข้ โดยเฉพาะอาการไอเรื้อรังทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง ยิ่งต้องพบกับความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งทำให้สภาพจิตใจบอบช้ำหนัก
“ป้าไอจนแทบจะทนไม่ไหวอยู่แล้ว กินยามากจนกระเพาะเป็นแผล จะทำอะไรก็ไม่มีแรง ยิ่งมาเจอปัญหาในครอบครัวอีกยิ่งรู้สึกท้อใจ เสียใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ภาวนาให้บ้านเมืองสงบเร็วๆ ทุกคนจะได้อยู่กันอย่างมีความสุขเสียที ไม่ต้องหลบซ่อนอยู่แต่ในบ้านเหมือนทุกวันนี้” ป้าฉ่ำบอก
“ตลอดชีวิตของป้าไม่เคยทำร้ายใครเลย ไม่เคยไปเบียดเบียนใครแม้แต่ครั้งเดียว ทำไมป้าต้องมาเจอสภาพแบบนี้ด้วย อยากถามคนที่ทำว่าทำไมต้องมาฆ่าแกงกันด้วย” ป้าฉ่ำกล่าวอย่างอัดอั้น
กับสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่เห็นแววเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ลุงอ้อนกับป้าฉ่ำบอกว่าคงทำอะไรไม่ได้นอกจากให้กำลังใจตัวเอง และก็ได้แต่หวังว่าจะได้รับการเหลียวแลจากเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง...ก็เท่านั้น
“ไม่จำเป็นต้องเอาเงินทองมาให้ ขอแค่กำลังใจ มาเยี่ยมกันบ้างก็พอ” ป้าฉ่ำกล่าว
เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เพรียกหาการเยียวยาทางจิตใจเพื่อต่อลมหายใจให้ยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางความโหดร้ายและความรุนแรง...
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยาภาพ :
1 ป้าฉ่ำกับลุงอ้อน สองตายายที่เฝ้ารอกำลังใจจากภาครัฐ
2 ลุงอ้อนในวัย 82