ปลาทับทิมเนื้อหวานแห่งบ้านมือลอ อีกหนึ่ง“ของดี”เมืองกะพ้อริมแม่น้ำสายบุรี
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“ปลาทับทิมเนื้อหวาน รสชาติอร่อย ไม่คาว” คือความพิเศษและการันตีจากการได้ไปชิมเนื้อปลาทับทิมในกระชังริมแม่น้ำสายบุรีแห่งบ้านมือลอ ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เป็นปลาทับทิมที่เกิดจากความตั้งใจของชาวบ้านและสานต่อความสำเร็จด้วยโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้าน หรือที่รู้จักกันในนาม “โครงการพนม.” ของ ศอ.บต.
ในอดีตชาวบ้านมือลอประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ แต่รายได้ไม่พอกับรายจ่าย กระทั่งปี 2548 จึงพยายามหาอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังไม้ไผ่ มีชาวบ้านเลี้ยงกันประมาณ 5-6 ราย
ต่อมาในปี 2550 เมื่อ ศอ.บต.มีโครงการพนม. "เข้าถึง" ทุกหมู่บ้านใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ยกเว้นชุมชนในเขตเทศบาล เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีของหมู่บ้านโดยตรง และทุกหมู่บ้านได้รับเงินเท่ากันคือหมู่บ้านละ 228,000 บาท นับตั้งแต่นั้นโครงการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังที่บ้านมือลอก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
วัตถุประสงค์หลักของ ศอ.บต.คือต้องการให้ประชาชนในหมู่บ้านได้คิด ศึกษา และมองเห็นปัญหาของตนเอง เพื่อร่วมกันแก้ไขด้วยมือของตนเอง โดยมีทีมข้าราชการเข้าไปให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญกับ “เวทีประชาคม” ตลอดจน “แผนหมู่บ้านและชุมชน” ที่เปรียบเสมือนแผนชีวิตที่ประชาชนร่วมกันค้นหาตัวเอง โดยมีผู้นำ 4 เสาหลักในหมู่บ้าน คือ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำศาสนา และผู้นำทางธรรมชาติที่คนในหมู่บ้านเชื่อถือศรัทธา ร่วมมือกันกำหนดแนวทางการพัฒนา
และบ้านมือลอก็เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีคุณสมบัติทุกอย่างครบถ้วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
ชาวบ้านมือลอได้รวมตัวกันทำ “เวทีประชาคม” เพื่อบริหารจัดการเงินงบประมาณจำนวน 228,000 บาทนี้ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าควรส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังเพื่อเพิ่มรายได้ให้แต่ละครัวเรือน จากนั้นโครงการพนม.จึงต่อยอดโดยการเพิ่มกระชังและปรับเปลี่ยนกระชังไม้ไผ่ให้เป็นกระชังถาวร ทำด้วยเหล็ก และขยายกลุ่มเลี้ยงปลาครอบคลุมทุกครัวเรือน จาก 16 กระชังในปี 2550 เพิ่มอีก 12 กระชังในปี 2551 กระทั่งปัจจุบันมีทั้งหมด 120 กระชัง ทำให้ชาวบ้านมือลอมีรายได้ครัวเรือนเพิ่มจากรายได้ปกติเฉลี่ยปีละ 20,000-40,000 บาท
นายรอสดี อาแว หนึ่งในผู้เลี้ยงปลาทับทิมในกระชังมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิก เล่าให้ฟังว่า การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นอาชีพที่ไม่ต้องดูแลทั้งวัน ถือเป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านมือลอหันมาเลี้ยงกันทุกครัวเรือน
“หลังจากกรีดยางเสร็จในช่วงเช้า ก็จะมาให้อาหารปลากันวันละ 3 เวลา โดยนัดมาให้อาหารพร้อมๆ กัน เพื่อนบ้านก็ได้พูดคุยกัน ตอนนี้มีประมาณ 120 กระชัง มีการจัดสรรเงินจากโครงการพนม.ในการสร้างกระชัง ทำตาข่าย ซื้อพันธุ์ปลาและอาหาร โดยชาวบ้านจะช่วยกันออกค่าใช้จ่ายด้วยครึ่งหนึ่ง และได้ครัวเรือนละหนึ่งกระชัง หากใครจะเลี้ยงมากกว่านั้นต้องลงทุนเอง เราเลี้ยงกัน 4 เดือนจับได้ 1 ครั้ง ปีหนึ่งเลี้ยงได้ 2 รุ่น เพราะบางช่วงต้องหยุดเนื่องจากน้ำแห้งหรือไม่ก็น้ำท่วม เลี้ยงปลาไม่ได้”
รอสดี บอกว่า แต่ละกระชังลงปลาทับทิมได้ประมาณ 1,500 ตัว อัตรารอดพันกว่าตัว ต้นทุนประมาณตัวละ 40 บาท ลงทุนสร้างกระชังครั้งเดียวใช้ได้ 3 ปี น้ำหนักปลาที่จับประมาณครึ่งกิโลถึง 1 กิโลกรัม หนึ่งกระชังประมาณ 700-800 กิโลกรัม ขณะนี้ราคาขายส่งประมาณ 60-65 บาทต่อกิโล เมื่อปลาในกระชังของใครโตเต็มที่และจับขายได้ เพื่อนบ้านก็จะไปช่วยกันจับ โดยมีพ่อค้าคนกลางจากปัตตานีมารับซื้อถึงริมฝั่ง ชาวบ้านจะจับปลาใส่กระสอบแล้วดึงด้วยเชือกขึ้นบนฝั่ง
“เราเลี้ยงกันมา 5 ปีแบบพอเพียง ไม่ลงทุนมาก ทำให้ทุกคนพอใจกับอาชีพเสริมนี้เป็นอย่างมาก และเป็นที่รู้กันว่าปลาทับทิมจากบ้านมือลอเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและนอกพื้นที่ เพราะเลี้ยงในแม่น้ำที่มีน้ำไหลผ่านตลอด ทำให้เนื้อปลาหวาน อร่อยและไม่คาว”
ขณะที่ นายอายัน ฮะสะนิ ผู้ใหญ่บ้านบ้านมือลอ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เปิดกว้างให้ชาวบ้านคิดและบริหารจัดการกันเอง ต้องรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ละลายงบประมาณเหมือนโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ
แม้ช่วงหลังการเลี้ยงปลาทับทิมจะได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้บางช่วงประสบปัญหาราคาปลาตกต่ำ และมีปัญหาปลาตาย แต่แม่บ้านมือลอก็ไม่ยอมแพ้ หันมาช่วยกันแปรรูปปลา โดยนำมาทำ “ปลาส้ม” จนสามารถแกปัญหาไปได้ ทั้งยังเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้มากขึ้น จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในเรื่องผลิตภัณฑ์ชุมชนพอเพียงของจังหวัดปัตตานี ได้เงินรางวัลจำนวน 300,000 บาท
ต้นทุนหลักในการเลี้ยงปลาทับทิมอยู่ที่อาหารปลาที่มีราคาสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันจัดตั้ง “กองทุนอาหารปลาทับทิมบ้านมือลอ” ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงปลา ทำให้ได้ผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยการลงเงินกองกลางเพื่อซื้ออาหารปลาทีละมากๆ มาขายให้สมาชิกในราคาต่ำกว่าท้องตลาด
จากความสำเร็จของการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ทำให้บ้านมือลอได้รับรางวัลชนะเลิศของจังหวัดปัตตานี ได้รับเงินรางวัลอีก 600,000 บาท
ปัจจุบันคณะกรรมการหมู่บ้านเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มเยาวชนในชุมชนที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด จึงนำเงินรางวัลจำนวนหนึ่งรวมกับเงินของชาวบ้านมาสร้างสนามกีฬาประจำหมู่บ้าน ชื่อสนาม "ประชารัฐร่วมใจ" ให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดปัญหายาเสพติดในพื้นที่ลงได้ระดับหนึ่ง
“ชาวบ้านตกลงกันสร้างสนามกีฬาในหมู่บ้าน โดยซื้อที่นาจำนวน 3 ไร่กว่า ราคา 160,000 บาท แล้วถมดินและปรับพื้นให้เรียบ ใช้เล่นกีฬาและจัดกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านเป็นประจำ ถือเป็นดอกผลจากการเลี้ยงปลาที่ทุกคนภาคภูมิใจ” ผู้ใหญ่บ้านอายัน กล่าว
ความสุขสงบด้วยวิถีพอเพียงที่บ้านมือลอ คืออีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ที่ยังมีอยู่มากมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกชุมชนก็ประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้ หากร่วมแรงร่วมใจและสามัคคี...
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กระชังเลี้ยงปลาทับทิมยาวเหยียดริมแม่น้ำสายบุรี
2 ปลาทับทิมสดๆ ที่จับขึ้นมาจากกระชัง
3 สนามกีฬาประจำหมู่บ้านที่สร้างจากดอกผลของการเลี้ยงปลาในกระชัง