เด็กชายแดนใต้ชอบเป็นครู สวนกระแส “แม่พิมพ์ชาติ” เหยื่อความรุนแรง
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุการณ์คนร้ายลอบยิง ครูพิชัย เสือแสง อายุ 55 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนดุซงปาแย อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะขับรถกลับบ้าน เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครูรายที่ 131 แล้วที่ต้องตกเป็นเหยื่อสถานการณ์ไฟใต้ จนสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงไปทั่ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า “อาชีพครู” กลับเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆ และเยาวชนในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พบว่าเด็กนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการศึกษาต่อในสาขาวิชาที่เกี่ยวกับ “ครู” เพิ่มขึ้นทุกปี โดยล่าสุดในปีการศึกษา 2553 มีนักเรียนสมัครเข้าศึกษาต่อในคณะวิชานี้ถึง 4,700 คน
“เด็กในพื้นที่ส่วนใหญ่เลือกเรียนครูเพราะรักในอาชีพนี้” เป็นเหตุผลของ นอร์รีฮัน บินสาหะ นักศึกษาสาวชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่อธิบายเหตุผลแทนเด็กๆ บ้านเดียวกันกับเธอที่ฝันอยากเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ”
“แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งที่เด็กเลือกเรียนคือเรียนจบแล้วมีงานทำ แต่ที่จะลืมไม่ได้ก็คืออาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของชาติ” นอร์รีฮัน บอก
กับสถานการณ์ความไม่สงบที่ครูตกเป็นเป้าสังหารไปแล้วถึงกว่า 130 ชีวิต ว่าที่ครูคนใหม่อย่างนอร์รีฮัน บอกอย่างเด็ดเดี่ยวว่าเธอไม่กลัว เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือประกอบอาชีพอะไร ถ้าเหตุร้ายจะเกิดกับตัวเองมันก็ต้องเกิด
“แต่การเป็นครูถือว่าเราได้ทำความดี ฉะนั้นจึงไม่กลัวถ้าเราได้ทำในสิ่งถูกต้อง ตอนที่เลือกเรียนสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยก็เลือกเป็นอันดับแรกและอันดับเดียว ถือเป็นความตั้งใจที่ต้องการเรียนสาขานี้” นอร์รีฮัน กล่าว
3 เหตุผลอาชีพครูยอดฮิต
ผศ.กฤษฎา กุณฑล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เด็กและเยาวชนชายแดนใต้อยากเรียนครูกันมาก โดยเขาประเมินว่าน่าจะมีเหตุผลหลักๆ อยู่ 3 ประการ
เหตุผลอันดับแรก ประเทศไทยยังขาดแคลนครูอีกมาก เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ณ ปี 2552 พบว่าในพื้นที่นี้ยังขาดแคลนครูมากถึงกว่า 900 อัตรา
“สาเหตุก็มีหลายประการ หนึ่งคือโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือเออร์ลี่ รีไทร์ และสองอัตราการสูญเสียของครูจากสถานการณ์ความรุนแรงมีสูง เท่าที่มีการสำรวจพบว่า จ.ยะลา ขาดแคลนครูทั้งสิ้น 57 คน จ.ปัตตานี 188 คน และ จ.นราธิวาสมากถึง 714 คน” ผศ.กฤษฎา กล่าว
เหตุผลประการที่สอง คือนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการสนับสนุนวิชาชีพครูมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการผลิต “ครูพันธุ์ใหม่” เริ่มรุ่นแรกเมื่อปีการศึกษา 2547 และใช้หลักสูตร 5 ปีเป็นครั้งแรก ปีนั้นมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้รับทุนจำนวน 50 ทุน และเมื่อออกไปปฏิบัติงานจริงก็ได้รับคำชมว่าเป็นครูที่มีทั้งความรู้และคุณธรรมจริยธรรม
“ล่าสุดในปี 2552 กระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้มีครูพันธุ์ใหม่นำร่องอีก 2 ปีการศึกษา คือปี 2552 และ 2553 โดยมีมหาวิทยาลัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ 2 มหาวิทยาลัย คือ ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา”
เหตุผลประการที่สาม คือแนวโน้มของการปฏิวัติครูในทศวรรษหน้า เนื่องจากมีนโยบายชัดเจนตั้งแต่ปี 2553 ถึงปี 2562 ที่จะส่งเสริมเรื่องวิทยฐานะครู และให้ครูมีบัญชีเงินเดือนแยกออกมาต่างหาก ซึ่งจะเอื้อกับสภาพการทำงานจริง ทำให้อาชีพครูมีความมั่นคงขึ้นในอนาคต
“ทั้งหมดนี้คือ 3 เหตุผลหลักที่ผมมองว่าทำให้เด็กในพื้นที่อยากเรียนครูกันมากขึ้น ปีที่แล้วมีเด็กสมัครเข้าเรียนถึง 4,700 คน เฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเปิดสอน 3 สาขา คือ การศึกษาปฐมวัย ภาษาไทย และสาขาวิทยาศาสตร์ โดยสาขาที่เด็กเลือกเรียนสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 คือสาขาการศึกษาปฐมวัย มีผู้สมัครเรียนทั้งหมด 697 คน แต่ทางมหาวิทยาลัยรับได้เพียง 2 ห้อง ประมาณ 90 คนเท่านั้น”
หางานง่าย-ตกงานน้อย
อีกเหตุผลหนึ่งที่มิอาจมองข้ามก็คือ เรียนครูมาแล้วตกงานน้อย เนื่องจากระบบการศึกษาของชาตินับวันจะยิ่งขยายตัว ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจและการเมืองจะเป็นเช่นไร ก็มักไม่ได้รับผลกระทบ
ผศ.กฤษฎา เล่าว่า จากการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ.ล่าสุดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา พบว่าบัณฑิตสายการศึกษามีงานทำเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว จากร้อยละ 72 เพิ่มเป็นร้อยละ 79
“ตัวเลขนี้บ่งบอกว่า นักศึกษาในสาขาวิชาชีพครู เมื่อเรียนจบก็จะได้ทำงานในวิชาชีพนี้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ มีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง” คณบดีคณะครูศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีคำอธิบายอื่นๆ ที่เกื้อหนุนให้บัณฑิตสายการศึกษามีงานทำมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับมาตรฐานการเรียนการสอนใหม่หมด แม้ในมหาวิทยาลัยภูธรอย่างราชภัฏยะลา
“เรามีการปรับพื้นฐานให้กับนักศึกษาทุกคน เมื่อปรับพื้นฐานแล้วก็ต้องปูพื้นเด็กแต่ละคนให้ตรงกับสาขาวิชาที่เลือกเรียน ต่อมาเมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต ก็มีการควบคุมคุณภาพการเรียนการสอน พยายามใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย ให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ และพัฒนาภาษาอังกฤษ ที่สำคัญเรายังส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาได้ทำกิจกรรมร่วมกันนอกเหนือจากการบรรยายในชั้นเรียน เพราะฉะนั้นผู้เรียนจะมีโอกาสได้ปฏิบัติจริง ได้สาธิต ได้มีโอกาสลงชุมชน ทั้งยังมีการเชิญประชาชนเข้ามาร่วมเสนอแนะหลักสูตรด้วย” ผศ.กฤษฎา ระบุ
ครู 1.4 หมื่น นักเรียน 2.5 แสน
ข่าวคราวจากชายแดนใต้ที่เกี่ยวกับครู มักเป็นเรื่องที่ “ครู” ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า มีครูและนักเรียนจำนวนเท่าไหร่ที่อยู่ในกระบวนการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอน ณ ปลายด้ามขวาน
ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค.2552 มีนักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ประถมศึกษาตอนต้นจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 255,000 คน มีครูทั้งหมด 14,600 คน โดยครูในพื้นที่จำแนกได้ 3 ประเภท คือ 1.ครูที่เป็นข้าราชการ 2.ครูที่เป็นพนักงานราชการ และ 3.ครูอัตราจ้างที่โรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเปิดรับเข้าไปสอน
“เฉพาะครูอัตราจ้างในปี 2552 มีไม่ต่ำกว่า 1,660 คน เพราะฉะนั้นถ้ามองแนวโน้มในอนาคต ทางกระทรวงศึกษาธิการเองจะต้องพัฒนาและเพิ่มช่องทางให้ครูเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้ครูมีความมั่นคงในอาชีพ อันจะนำไปสู่ความตั้งใจในการสอนนักเรียน” ผศ.กฤษฎา กล่าว
คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงสถานภาพของครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลายเป็นเหยื่อความรุนแรง
“ผมมองว่าครูส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำอะไรร้ายๆ ให้กับสังคม เพราะครูเปรียบเสมือนผู้ให้...ให้ทั้งความรู้ ให้คำปรึกษา แม้แต่ปัญหาส่วนตัว จึงไม่แปลกที่ครูจะได้รับการยอมรับนับถือจากสังคมและชุมชน แต่ในทางกลับกันครูก็ตกเป็นเป้าถูกทำร้าย อาจเป็นเพราะครูเปรียบเสมือนผู้ให้ ไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ทำให้หลายๆ ครั้งดูเหมือนไม่ได้ป้องกันตัวเอง จึงเกิดการทำร้ายครูอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย”
ถือเป็นวิบากกรรมของ “แม่พิมพ์ชาติ” ที่ชายแดนใต้ ซึ่งยังคงรอคอยการช่วยเหลือดูแล
-----------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบ “ครู” จากบล็อกเกอร์โอเคเนชั่น http://www.oknation.net/blog/chainews/2009/01/16/entry-1
บรรยายภาพ :
2 นอร์รีฮัน บินสาหะ
3 ผศ.กฤษฎา กุณฑล