ม็อบสวนปาล์มพอใจ รบ.รับปากพยุงราคา กก.ละ 5บาท กษ.ชี้ทั้งระบบใช้เงิน 1 พันล้าน
รมว.กษ. แนะหลาย กท.ร่วมแก้ราคาปาล์มตก เหตุผลผลิตมาก-ราคาโลกดิ่ง ชี้ถ้าพยุงทั้งระบบต้องใช้เงิน 1 พันล้านบ. ด้านม็อบชาวสวนพอใจ รบ.รับปากพยุงกิโลละ 5 บ.
วันที่ 12 ธ.ค. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 2.8 บาทเป็นเหตุให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า มีสาเหตุมาจากผลผลิตปาล์มในประเทศและทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการลดลง โดยขณะนี้ไทยมีสต็อกผลผลิตปาล์มค้างไว้ราว 3.5 แสนตันซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนตันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยผลผลิตล้นตลาดส่งผลให้ราคาปาล์มตลาดต่างประเทศลดลงจาก 3,200 เหรียญดอลล่าสหรัฐต่อตัน เหลือ 2,600 -2,700 เหรียญดอลล่าสหรัฐ ขณะที่การผลิตปาล์มน้ำมันขณะนี้มีต้นทุนสูงเกือบ 4 บาทต่อกิโลกรัม
โดยที่ผ่านมา กษ.ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการปลูกปาล์มจนสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 2.2 ตันต่อไร่ เป็น 2.8 ตันต่อไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับมาเลเซียอยู่ที่ 3.2 ตันต่อไร่ อย่างไรก็ดีแม้จะมีผลผลิตที่ดีแต่การแก้ปัญหาเรื่องการตลาดซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานและอาหารต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน ภายใต้การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยกษ.มีหน้าที่หลักส่งเสริมการผลิต
ทั้งนี้การที่เกษตรกรขอให้รัฐบาลอุดหนุนส่วนต่างราคาปาล์มเป็นกิโลกรัมละ 5 บาทนั้น อยู่ในดุลยพินิจของกนป.ซึ่งกษ.ทำได้เพียงเสนอแนวทางแก้ไข หากที่ประชุมกนป.เห็นชอบก็สามารถสั่งการไปยัง คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)เพื่อให้เงินอุดหนุนส่วนต่างราคากิโลกรัมละ 1 บาทซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 1 พันล้านบาทในการพยุงราคาปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตราว 11 ล้านตันต่อปี
โดยเห็นว่าจุดอ่อนของการผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศไทย คือ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อย ทำให้การบริหารจัดการเมื่อราคาปาล์มทั้งระบบตกต่ำทำได้ยาก การให้ความช่วยเหลือด้วยการอุดหนุนราคาจึงต้องมีความละเอียดอ่อน ต้องมีการแย่งประเภทของเกษตรกรให้ดีโดยตรวจสอบจากทะเบียนบัญชีเกษตรกร เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงเกษตรกรผู้ปาล์มรายย่อยอย่างแท้จริงไม่ใช่ได้ประโยชน์เพียงเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มรายใหญ่ ทั้งนี้หากมีการอุดหนุนราคารัฐบาลต้องเตรียมการบริหารจัดการปาล์มในสต็อกซึ่งจะมีปริมาณค้างเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้อาจแก้ไขโดยการนำผลผลิตปาล์มไปผลิตน้ำมันไบโอดีเซล B7 ซึ่งไทยมีศักยภาพผลิตได้ แต่ต้องดูว่าระบบเครื่องจักรกลในประเทศจะสามารถรองรับการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B7 หรือ B10 หรือไม่ซึ่งต้องอาศัยงานวิจัยรองรับ ทั้งนี้แนวทางด้านพลังงานดังกล่าวอยู่ในดุลยพินิจของกระทรวงพลังงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ดังกล่าวโรงสกัดน้ำมันจะรับซื้อผลปาล์มในราคาที่เกษตรกรมีกำไร และโรงกลั่นจะรับซื้อจากโรงสกัดและบรรจุขวดขายลิตรละ 42 บาทตามราคาเพดาน โดยกรมการค้าภายในจะไม่ลดราคาเพดานเหลือ 38 บาทเพื่อให้มีช่องว่างดึงราคาปาล์มทั้งระบบ
ด้านความเคลื่อนไหวม็อบเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจาก 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.ระนอง, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, พังงา, กระบี่, ตรังและนครศรีธรรมราชประมาณ 4,000 คน ยังคงรวมตัวชุมนุมที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด (โคออป) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นวันที่ 2
ขณะที่สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ส่งนาย สิทธิพร จริยพงษ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและนาย สุคนธ์ เฉลิมพิพัฒน์ พร้อมตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดอื่นๆ จังหวัดละ 23 คน เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอข้อเรียกร้องและรับฟังแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรจากรัฐบาล ผลปรากฎว่ารัฐบาลรับปากพยุงราคาปาล์มในราคากิโลกรัมละ 5 บาท สร้างความพอใจแก่ม็อบเกษตรกรชาวสวนปาล์ม 8 อำเภอของจังหวัดชุมพร โดยยืนยันว่าจะปักหลักชุมนุมต่อไปจนกว่าจะมีเอกสารสำเนาผลข้อตกลงการเจรจาระหว่างรัฐบาลและกลุ่มตัวแทนเกษตรกรมาชี้แจง
ที่มาภาพ ::: http://www.rsunews.net/index.php/news/detail/1175