ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (5) "ขวัญ" และ "ขวง" ในโลกทัศน์ของคนไท-มลายู
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ตั้งแต่ยุคโบราณมาแล้ว เชื่อกันว่า ‘ตัวตน’ ของคนทุกคนมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ ‘ร่างกาย’ กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือ ‘ขวัญ’ และยังเชื่อกันอีกว่า ‘ขวัญ’ มีอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ โดยนัยนี้ ‘ขวัญ’ (ภาษาไท) จึงมีความหมายเท่ากับ ‘จิต’ หรือ ‘วิญญาณ’ (ภาษาบาลึสันสกฤต)
ต่อไปจะลองพิเคราะห์ถึงความเชื่อเรื่อง ‘ขวัญ’ (ที่ถูกควรสะกดว่า ‘ขวัน’ เพราะเป็นคำไทยแท้) ของคนชาติพันธุ์ไทและมลายู-อินโดนีเซียน
‘ขวัญ’ แสดงถึงสำนึกในตัวตนของคนไทที่มีชีวิตผูกพันกับสิ่งที่มองไม่เห็น เชื่อว่ามีอยู่จริง ทว่าแฝงลึกอยู่ ‘ใน’ ตัวตน ซึ่งต่างจาก ‘ผี’ ซึ่งอยู่ ‘นอก’ ตัวตน หรือแยกตัวตนออกไป คนไทเชื่อว่า ‘ขวัญ’ มีอยู่ประจำชีวิตของคนเราตั้งแต่เกิด อาจหมายถึง ‘พลังชีวิต’ หรือ ‘จิตวิญญาณ’ (spirit) ในตัวเอง ซึ่งตรงกับคำว่า semangat (สมางัต) ในโลกทัศน์ของพวกมลายู-อินโดนีเซียน; หรือหมายถึง ‘ปัจเจกภาพ’ (individuality), ‘ตัวตน’ (self) และ ‘การยอมรับในตัวเอง’ ซึ่งตรงกับคำว่า akuan (อากูวัน) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน (จะใช้แทน ‘ภาษาออสโตรนีเซียน’ เป็นบางแห่งเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น)
น่าเชื่อว่า ‘ขวัญ’ เกี่ยวข้องความเป็น ‘ไท’ ตามคำอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ใน ความเป็นมาของคำสยาม ไท ลาว และชื่อชนชาติ คำว่า ‘ไท’ หมายถึง ที่ (ในความหมายว่า ถิ่น หรือพื้นเมือง/native), คน (ในความหมายว่าไม่ใช่สัตว์หรือผี) และ อิสระ (ในความหมายว่าไม่เป็นทาส ไม่ขึ้นต่อผู้อื่น และมีความเป็น ‘ตัวเอง’ หรือ ‘ปัจเจก’ สูง)
ในมโนภาพของคนไท ‘ขวัญ’ ต่างจากวิญญาณ เพราะเมื่อคนตายไปวิญญาณก็ดับหายไป แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ส่วนไหนของโลก ‘ขวัญ’ มีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน ร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต (โปรดดู เอกสาร แบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สาธารณะ ชุดประเพณี 12 เดือน ภาควิชามนุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
เนื่องจากร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ ดังจะเห็นได้ว่า มีการใชัคำว่า ‘ขวัญ’ เป็นคำประกอบในภาษาไทซึ่งแสดงถึงนัยยะดังกล่าวจำนวนมาก เช่น จอมขวัญ มิ่งขวัญ ขวัญเมือง ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา (เช่นเรามีพิธีแรกนาขวัญ) ข้าวขวัญหรือขวัญข้าว ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญมือ ขวัญแขน ขวัญขา ขวัญใจ ลูกขวัญ เมียขวัญ ขวัญดี ขวัญหนี ขวัญร้าย ขวัญหาย เสียขวัญ ขวัญอ่อน ขวัญแขวน ไข่ขวัญ รับขวัญ ผูกขวัญ เรียกขวัญ สู่ขวัญ ทำขวัญ และหมอขวัญ ซึ่งเป็นหมอที่ทำพิธีเกี่ยวกับ ‘ขวัญ’
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกๆ คงมีความหมายไม่ต่างกับคำว่า ‘วิญญาณ’ เท่าใดนัก หากวิเคราะห์แล้วคำว่า ‘ขวัญ’ น่าจะเป็นศัพท์โบราณที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่คนไท-อินโดนีเซียน (ใช้แทน ‘ภาษาออสโตรนีเซียน’ ในทำนองเดียวกับที่ใช้ภาษามลายู-อินโดนีเซียน เพราะถือว่าเป็นภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียนเหมือนกัน) เริ่มรู้จักหยั่งรู้ในตนเอง นั่นคือมีสำนึกในความเป็นคนที่มี ‘ตัวตน’ และ ‘ความเป็นไทแก่ตัว’ สามารถแยกแยะหรือจำแนกตัวเองออกจากผู้อื่น พร้อมๆ กับการยอมรับความมี ‘ตัวตน’ ของตนเอง ก็สามารถยอมรับความมี ‘ตัวตน’ ของคนอื่นได้ด้วย ซึ่งในภาษาออสโตรนีเซียนคำว่า ความเป็นตัวตนของตนเอง เรียกว่า akuan (<*akuaŋ) คำนี้ยังมีความหมายถึงการยอมรับและการยืนยันความเป็นเจ้าของ ‘ตัวเอง’ หรือ ‘กู’ (aku, ku) อีกด้วย การสร้างคำด้วยการเพิ่มหน่วยเติมหน้า (อุปสรรค) peng- และหน่วยเติมหลัง (ปัจจัย) –*an(ŋ) กับคำแกน aku เป็นคำว่า pengakuan < peng+aku+aŋ (อ่านว่า เปอ-งา-กูวัน) มีความหมายถึง การยอมรับ ‘ความเป็นตัวตน’ ของทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าความเป็นตัวตนของ ‘ตนเอง’ หรือความเป็นตัวตนของ ‘คนอื่น’ ดังนั้นคำนี้จึงมีความหมายไม่เพียงแต่เป็น การยอมรับ แต่หมายถึง การยอมจำนน หรือ ยอมแพ้ ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (ซึ่งมีความเป็นตัวตนที่เข้มแข็งกว่า) ก็ได้ด้วย
คำว่า pengakuan ในระยะหลังที่พวกมลายู-อินโดนีเซียนส่วนใหญ่เข้ารับศาสนาอิสลาม คำนี้กลับมีความหมายตรงกับคำว่า Islam (อิสลาม) หมายถึง การยอมรับและการยอมจำนนต่อพระเจ้า ดังนั้น มนุษย์แต่ละคนก็จะได้รับการยอมรับถึงความมีตัวตนในตนเอง มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน นี่คือคำอธิบายคำว่า akuan และคำว่า pengakuan ในภาษาออสโตรนีเซียนในบริบทที่กว้างขึ้น ต่อไปเราจะกลับไปวิเคราะห์คำว่า ‘ขวัญ’ ในมิติทางภาษาศาสตร์ซึ่งสัมพันธ์กันเชิงสังคมด้วย
ในสังคมของคนชาติพันธุ์ไทตั้งแต่สมัยบุพกาล คำว่า ‘ตัวตนของตนเอง’ หรือ ‘ตัวตนของกูเอง’ คงใช้คำว่า กู (เช่นเดียวกับพวกออสโตรนีเซียน) คือเป็นสรรพนามเรียกตัวเอง (เอกพจน์บุรุษที่ 1) คำสรรพนามมีใช้ในชนเผ่าไทอื่นๆ อย่างแพร่หลายว่า กู (ku) บ้าง, เกา (kau) บ้าง, ข้อย (khoj) บ้าง, เก (ke) บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วใช้คำว่า กู (ku) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียนใช้ว่า อากู (aku) ซึ่งเป็นคำสองพยางค์เป็นสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่ 1 เช่นกัน
โปรดสังเกต คำสองพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยเติมหน้า *a-, *i-, *e-, *u- (o-) ในภาษามลายู-อินโดนีเซียน (ออสโตรนีเซียน) จะหายหรือไม่ปรากฏในภาษาไท ยกตัวอย่างเช่น
*(h)abu(a) > /phaw/, /faw/ เผ่า, เฝ่า (ขี้เถ้า, เถ้าธุลี)
*/acaw (ภาษา Cham) > /caw/ เจา (เจ้า, จ้าว)
*/adaw > /daw/ ดาว
*/adek > /dek/ เด็ก (ใช้เรียกน้อง)
*/agak > /ka?/ กะ (คาด, คะเน)
*/aguŋ> /kung/ กุง, /krung/ กรุง (กรุงกษัตริย์ เช่น กุงชิง, กรุงลาว, กรุงสทิงพระ)
*/ajak > /chak/ ชัก (ชักนำ, ชักชวน)
*/aku > /ku/ กู (กู, ฉัน)
*/akuaŋ > /khuaŋ/ ขวง, /khwan/ ขวัน (ผีขวง, ขวัน-->ขวัญ)
*(w)?alak > /lek/ เล็ก, lu:k ลูก (ลูก)
*?api, apui > /vaj/ ไว, /faj/ ไฟ (ไฟ)
*?asam > /som/ ส้ม (เปรี้ยว)
*(h)ataj > /taj/ ไต (หัวใจ)
*/atap > /tap/ ตับ (ตับจาก/เครื่องมุงหลังคา; ลักษณนาม ‘ตับ’,)
*(h)ayun > /yo:n/ โยน (โยน-คำกริยา)
*(h)iduŋ > /dom/ ดม, dang ดั้ง (จมูก)
*/iŋin > /ŋian/ เงี่ยน (อยาก, ต้องการ)
*/inaŋ > /naŋ/ นาง (ไทดำ: คำนำหน้าหญิงสูงศักดิ์ หมายถึง เจ้าหญิง; มลายู: นางในวัง)
*/ini > /ni/ นี่, นี้
*/elaŋ > /ræ:ŋ/ แร้ง
ฯลฯ
ดังกล่าวแล้วว่า ในภาษามลายู-อินโดนีเซียนมีเกณฑ์ทางวจีวิภาคในการประกอบคำโดยอาศัยหน่วยคำเติม (affixation) คือการนำอุปสรรค (prefix) อาคม (infix) และปัจจัย (suffix) มาเติมหน้า กลาง และหลังหน่วยคำแกน (root) ดังนั้นหน่วยคำแกน aku (อากู = กู) เมื่อเติมปัจจัย –an(ŋ) ที่ท้ายคำกลายเป็น akuan < aku+*aŋ (อากูวัน <อากูวัง) ความหมายจะขยายเป็น ความเป็น ‘กู’, ความเป็น ‘ฉัน’ หรือ ความเป็นปัจเจก (ตรงกับภาษาอังกฤษว่า individuality) จากการศึกษาเรื่อง ‘ขวัญ’ ตั้งแต่เริ่มหัวข้อนี้ เราทราบแล้วว่า ‘ขวัญ’ ก็คือตัวตนที่เป็นของตัวเอง เปรียบดังพลังชีวิต แสดงถึงศักดิ์ศรี และการยืนยันถึงสิทธิในตัวเองเช่นเดียวกับความหมายของคำว่า akuan จากนี้จึงเห็นได้ว่า คำว่า ‘ขวัญ’ มีความสัมพันธ์กับคำว่า akuan ทั้งในรูปคำและความหมายอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับคำว่า แถน กับ tuhan นั่นเอง
ขอให้ดูการสืบสานในทางภาษาศาสตร์ดังนี้
*(a)kuwaŋ > khwán (‘ขวัน’ -รูปคำที่ถูกต้อง) และ ขวัน-->ขวัญ
การสืบสานทางสังคม-มานุษยวิทยาของคำว่า akuan ซึ่งพบร่องรอยในปัจจุบัน พบที่รัฐเนกรีเซมบีลัน ประเทศมาเลเซีย ในบริบทของสังคมดังกล่าว akuan คือผีประเภทหนึ่งซึ่งมีเจ้าของครอบครอง ไม่ใช่ผีเร่ร่อน คล้ายกับ ‘ขวัญ’ แต่ ‘ขวัญ’ ไม่ใช่ผีและมีสถานภาพที่สูงส่งกว่า อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ขาดหายไปของ akuan กลับไปปรากฏในคำว่า semangat (สมางัต ‘spirit’) ซึ่งใกล้เคียงกับ ‘ขวัญ’ มาก (ตัวอย่างเช่นคำว่า ข้าว ‘ขวัญ’ เรียกว่า นาซิ ‘สมางัต’) สาเหตุที่ความหมายของ akuan กลายไปเช่นนี้ คงเป็นเพราะอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่มีแรงกระทำต่อความเชื่อที่นอกรีต เช่นผีหรือไสยศาสตร์ ซึ่งอิสลามถือเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรง
อนึ่ง ยังมีคำที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคำว่า ขวัน (ขวัญ) คือ ขวง และคำว่า akuan กับ kuwong ดังนี้
คำว่า ขวง หมายถึง ‘ผี’ คล้าย ขวัน (ขวัญ) นั่นแหละ คือเป็นผีแห่งตนหรือผีประจำตน เมื่อมองเชิงเปรียบเทียบทางภาษาศาสตร์และมองเข้าไปในโลกทัศน์ของพวกออสโตรนีเซียนนี้จะเห็นได้ว่า ทั้งสี่คำที่เสนอนี้ล้วนมีที่มาเดียวกัน กล่าวคือ
*akuwaŋ > akaun, kuwoŋ (kuwong-กูวง), kuwoŋ (wong-วง), khwan (ขวัน), khuaŋ (ขวง)
ในภาษาชวาคำว่า wong (วง) แปลว่า ‘คน’ ทำให้เห็นเค้าของ ‘ความเป็นคน’ หรือ ‘ความมีตัวตน’ ในภาษามลายูถิ่นปัตตานีคำว่า kuwong (กูวง) หมายถึง ‘ผี’ โดยเฉพาะผีคนตาย เช่นมีการอธิบายคำว่า lekat kuwong (เลอกะกูวง) หรือ ‘ติดขวง’ หมายถึง อาการที่ผู้กระทำผิดเช่นกรณีของฆาตกร ‘ติดขวง’ มีอาการคือไปไหนไม่รอด เฝ้าวนเวียนอยู่ในบริเวณที่ตั้งของศพที่ถูกฆาตกรรม
ขวง จึงได้แก่ ‘ผี’ หรือ ‘ตัวตน’ ประจำตัวคนตาย (ความหมายเดียวกับ ‘ขวัญ’ สำหรับคนเป็น) ทำให้ผู้กระทำผิดหรือฆาตกรไม่สามารถหนีพ้นไปจากบริเวณหรือวังวน (kuwong ‘ขวง’) นั้นได้
มองในแง่นี้การฆ่าจึงเป็นกิจกรรมของนักฆ่า ‘มืออาชีพ’ หรือมือสังหารโดยเฉพาะ ไม่ใช่สำหรับมือสมัครเล่น เพราะนักฆ่า ‘มืออาชีพ’ เรียนรู้ที่จะฆ่า จึงเรียนรู้คาถาอาคมเพื่อป้องกันตัวเอง ตามความเชื่อพวกนี้สามารถแก้อาคมของ ‘ผีขวง’ ทำให้สามารุถหลุดพ้นจากอำนาจสะกดของผีขวง (หรือผีคนตาย) ได้ จึงสามารถหนีไปได้อย่างปลอดภัย
ลองมาดูพิธีกรรมเกี่ยวกับ ‘ขวัญ’ ซึ่งยังพอหลงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบัน
ในท้องถิ่นชนบทบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันนี้ ยังพอพบเห็นวิธีรักษาโรคด้วยหมอพื้นบ้านที่เรียกว่า ‘โต๊ะหมอ’ หรือ โต๊ะบอมอ (tok bomoh) บางแห่งก็เรียกว่า ปะวัง (pawang) หรือ โต๊ะปะวัง คำว่า pawang (<pak awang) น่าจะสืบสานทางภาษาได้ดังนี้
โปรดดู: pa(k) (‘ปะ=พ่อ’)+a(k)uaŋ > pa(ka)waŋ>pawang (ปะวัง)
ดังนั้น pawang ก็คือ หมอขวัญ หรือ ‘หมอทำขวัญ’ นั่นเอง
การรักษาโรคแบบพื้นบ้านเริ่มต้นโดย tok bomoh (พ่อหมอ) หรือ (tok) pawang ร่ายคาถาเรียก ‘ขวัญ’ ซึ่งบางทีก็สับสนกับการอัญเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษ (ปู่ย่าตาทวด) ที่เรียกว่า nenek moyang/ปู่ย่าตายาย (ชาวไทยภาคใต้เรียกคณะหมอที่ประกอบพิธีเรียกวิญญาณบุพชนว่า คณะหมอลิมนตร์ และเรียกพิธีนี้ว่า พิธีกรรมเรียกผีตายาย) แต่ในพิธีเรียกขวัญจะมีการรำประกอบดนตรีพื้นบ้านและมีการเข้าทรงด้วยเรียกว่า main teri (<main peteri/ <*main per+tarian) มายนฺ ตือฆี (เล่นรำ) คล้ายกับการ รำผีฟ้า ของชาวไทล้านนา-อีสาน
ปัจจุบันนี้โลกกำลังเคลื่อนย้ายสู่สังคมหลังสมัยใหม่ (post-modern) ร่องรอยของศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของสังคมมุสลิมเช่นในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย กำลังตกอยู่ในท่ามกลางการต่อต้านของขบวนการฟื้นฟูอิสลามใหม่ซึ่งถือว่า ศิลปะและวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่างขัดต่ออิสลาม ดังนั้นศิลปะและพิธีกรรมพื้นบ้านจำนวนมากจึงพยายามปรับให้เข้ากับหลักการและแนวทางของศาสนาอิสลาม กระนั้นก็ค่อยๆ มลายหายไปอยู่ทุกวี่ทุกวัน
------------โปรดอ่านตอนที่ 6 เรือนใต้ถุนสูง วัฒนธรรมร่วมไท-มลายู-------------------
หมายเหตุ : โปรดดาวน์โหลด IPA หรือ “อักษรโฟเนติคส์สากล” (157 kb) เข้าใน Fonts ในเครื่องของท่านเพื่อใช้ในการอ่านข้อเขียนบางส่วนในบทความนี้ (โหลดเข้าครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป) linked text
บรรยายภาพ :
1 พระราชพิธีแรกนาขวัญจัดขึ้นติดต่อกันมานานนับร้อยปี
2 พิธีทำขวัญนาในระดับชาวบ้าน
3 คณะแหล่ในพิธีทำขวัญนาค (ภาพ Chim photo)
อ่านประกอบ :
- ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (4) ผีฟ้า แถน และมะโย่ง รากร่วมทางวัฒนธรรมไท-มลายู
- ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (3) นาลุ่ม บ้าน และเมิง (เมือง) รากร่วมทางวัฒนธรรมไท-มลายู
- ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (2) ภาษาไท-กะได ออสโตร-ไท และตระกูลภาษาไท
- ภาษาไทย-มลายูมีรากเหง้าเดียวกัน? (1)...ย้อนอดีตภาษาและชนชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์